วินเทจวันละนิด วันนี้เสนอตอน ไขความลับ(ที่ไม่ลับ) ของนาฬิกาและการพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสท์
By: Rittidej Mohprasit
พูดถึงนาฬิกา Rolex รุ่น Explorer สิ่งแรกที่เรามักนึกถึงคือหน้าปัดสีดำเรียบๆ พร้อมเลข 3-6-9 ในตำนาน และความเกี่ยวพันระหว่างนาฬิการุ่นนี้กับการพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสท์ครั้งแรกโดยมนุษย์ในปี 1953
Rolex Explorer Ref. 6350
เรื่องนี้มีข้อมูลให้อ่านเยอะไปหมด ถ้าจะให้พูดสั้นๆ เพื่อปูท้องเรื่องก็คือ Rolex เป็นหนึ่งในสปอนเซอร์ให้กับมนุษย์กลุ่มแรกที่สามารถพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกได้ นั่นคือ เซอร์เอ็ดมุนด์ ฮิลารี่ ชาวนิวซีแลนด์และคุณเทนซิ่ง นอร์เกย์ ชนเผ่าเชอร์ปา โดย Rolex ได้มอบนาฬิการุ่น Oyster Perpetual (สังเกตุว่าไม่มีการใช้คำว่า Explorer) ให้กับทั้งคู่เพื่อใส่ทดสอบในการพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสท์ (ซึ่งจริงๆ แล้ว Rolex เป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมการสำรวจเทือกเขาหิมาลัยนี้มาตั้งแต่ปี 1933 แล้วด้วย)
เซอร์เอ็ดมุนด์ ฮิลารี่ และเทนซิ่ง นอร์เกย์
นาฬิกาโรเล็กซ์ที่เซอร์เอ็ดมุนด์ ฮิลารี่ใส่ ภาพโดย Hodinkee.com
จากข้อมูลทะเบียนการค้า พบว่าก่อนการขึ้นสำรวจและพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสท์ในเดือนพฤษภาคมปี 1953 Rolex ได้เตรียมการโดยจดทะเบียนชื่อทางการค้าคำว่า Explorer ล่วงหน้าไว้รอตั้งแต่เดือนมกราคมปี 1953)แต่ยังไม่ยอมผลิตนาฬิกาที่พิมพ์คำนี้ลงบนหน้าปัด จนกระทั่งท่านเซอร์และเชอร์ปาพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสท์ได้สำเร็จนั่นแหละ ถึงได้ออก Rolex Explorer ตัวแรกมาขายอย่างเป็นทางการ (น่าจะเป็น Ref. 6350) ซึ่งก็พอเข้าใจได้ เพราะถ้าเกิดทำขายไปก่อนหน้านั้น แล้วสองคนนั้นพิชิตยอดเขาไม่สำเร็จ หรือแม้พิชิตสำเร็จแต่นาฬิกากลับพัง Rolex ก็คงไม่ปลื้มแน่นอน
Rolex Explorer Ref. 1016
แต่... ในความเป็นจริง ณ วันประวัติศาสตร์ที่มนุษย์สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสท์ได้ เซอร์เอ็ดมุนด์ ฮิลารี่กลับไม่ได้ใส่นาฬิกา Rolex เรือนนั้นขึ้นไป ข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง รวมทั้งจากปากของ เซอร์เอ็ดมุนด์ เอง ปรากฏว่าแกถอดนาฬิกา Rolex ทิ้งไว้ที่เบสแคมป์สุดท้ายก่อนไปถึงยอดเขา และสวมนาฬิกา Smiths ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนการสำรวจในคราวนี้อีกรายหนึ่งขึ้นไปสู่ยอดเขาเอเวอร์เรสท์แทน
Smiths เป็นเจ้าเดียวที่พูดได้เต็มปากว่าเซอร์เอ็ดมุนด์ใส่ขึ้นไปถึงยอดเขาเอเวอร์เรสท์
แต่เอาน่า... แฟนๆ Rolex ก็ไม่ต้องน้อยใจ เพราะในความเป็นจริงเชอร์ปา เทนซิ่ง แกก็ใส่นาฬิกา Rolex ขึ้นไป ปัญหาคือทั้งสองคนไม่มีใครยอมปริปากว่าจริงๆ แล้ว ใครกันแน่ที่เป็นแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสท์ อีกทั้งต่างคนต่างยืนยันว่าทั้งคู่พิชิตเขาด้วยกันพร้อมกันทั้งคู่ ทุกวันนี้เราเลยยังไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเป็น Smiths หรือ Rolex กันแน่ ที่เป็นนาฬิกาเรือนแรกที่ไปถึงจุดที่สูงที่สุดในโลก
Rolex Explorer Ref. 6610
เรื่องนี้ก็คงเหมือนเรื่องอื่นๆ ที่ผู้ชนะย่อมมีมีสิทธิดีกว่าในการเขียนประวัติศาสตร์ Rolex อาศัยความคุมเครือในเรื่องนี้ ปูพรมโฆษณาอย่างหนักเพื่อผูกโยงความเกี่ยวพันระหว่างนาฬิกา Rolex Explorer กับการพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสท์ โดยไม่ได้บอกตรงๆ ว่าเป็นนาฬิกาเรือนแรกที่ได้ขึ้นไปอยู่บนยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก (ขณะที่ Smiths ประกาศตรงๆ ว่าเซอร์เอ็ดมุนด์ใส่ขึ้นไปพิชิตยอดเขา) ด้วยพลังอำนาจของการตลาดอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนภารกิจพิชิตหิมาลัยมาแต่แรก และภาพลักษณ์ที่ชัดเจนระหว่างกิจกรรมการปีนเขากับนาฬิการุ่นนี้ ทำให้ Rolex Explorer กลายเป็นสิ่งที่ผูกติดไปกับความโรแมนติคในการพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสท์ไปตลอดกาล ขณะที่นาฬิกาที่มีเกียรติเสมอกันอย่าง Smiths กลับถูกกลืนหายไปตามกาลเวลา
แนวทางการโฆษณานาฬิกาโรเล็กซ์ เอ็กซ์พลอเรอร์ จากอดีตถึงปัจจุบัน
แนวทางการโฆษณานาฬิกาโรเล็กซ์ เอ็กซ์พลอเรอร์ จากอดีตถึงปัจจุบัน
แนวทางการโฆษณานาฬิกาโรเล็กซ์ เอ็กซ์พลอเรอร์ จากอดีตถึงปัจจุบัน
นี่ละครับ หนึ่งในหลักฐานที่บอกว่า นอกจาก Rolex จะเป็นผู้สร้างนาฬิกาชั้นดีที่เปี่ยมไปด้วยความทรหด อึด ถึก ทน และพร้อมที่จะเผชิญสภาพแวดล้อมที่แสนจะเอ็กซ์ตรีมแล้ว ก็ยังมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการทำตลาดนาฬิกาให้มีสถานะเป็นไอคอนของการผจญภัย สมกับชื่อ Explorer ได้อย่างแท้จริง