Maximilian Büsser กับความไฝ่ฝันด้านยนตรกรรม
ช่วงเวลาก่อนที่จะจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยม Max ได้รู้ว่าวิทยาลัยการออกแบบ ArtCenter College of Design อันโด่งดังระดับโลกจากแพซาดีนา กำลังจะเปิดวิทยาเขตขึ้นในยุโรป และยังไม่ใช่เพียงแค่ในยุโรป แต่เป็น ณ ลาตูร์เดอแปลซ์ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านในวัยเด็กของเขาเลย นี่เองที่เป็นดั่งสัญญาณถึงบางอย่าง ที่เขาแทบเก็บความรู้สึกตื่นเต้นไว้ไม่ไหว กระทั่งพบว่าค่าธรรมเนียมของวิทยาลัยแห่งนี้สูงถึง 50,000 สวิสฟรังก์ ซึ่งนับเป็นจำนวนเงินที่มากแม้แต่ในวันนี้ และยังเป็นเงินก้อนโตยิ่งกว่าเมื่อย้อนกลับไปเมื่อปี 1985 ซึ่งจากการที่ทุกคนรู้ดีว่า Max ชื่นชอบในรถยนต์มากเพียงใด บิดามารดาของเขาจึงออกปากว่าพวกเขาจะพยายามหาวิธีให้ได้
แต่กระนั้นMax เองก็รู้ดีว่านั่นอาจจะมากเกินไปสำหรับพวกเขา และเพราะทุกคนต่างพากันบอกกับเขาเสมอว่าเขาจะกลายเป็นวิศวกรที่ดีแน่ จากการที่เขาเก่งด้านคณิตศาสตร์ซึ่งนั่นทำให้ Max ตัดสินใจสมัครเข้าเรียนที่ Swiss Federal Institute of Technology Lausanne - EPFL) แทนและนั่นควรจะเป็นตอนจบของเรื่องราวแต่กลับมิใช่“ผมหลงทางและแทบสิ้นหวัง แต่สุดท้ายเรื่องราวก็มาจบที่การที่ผมได้เข้าสู่อุตสาหกรรมนาฬิกา” Max เล่าพร้อมรอยยิ้ม “และด้วยเหตุนี้เมื่อผมตัดสินใจที่จะผสมผสานงานออกแบบรถยนต์ในเรือนเวลา นี่จึงเป็นความคิดอันยิ่งใหญ่มากสำหรับผม เพราะนี่คือทุกสิ่งที่ผมเคยใฝ่ฝันถึง” Max เล่าถึงเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ที่น่าจะไม่มีใครคาดคิดได้
เพราะ Maxค้นพบแรงบันดาลใจในงานออกแบบ อันแสนแปลกประหลาดนี้มาจากนาฬิกา AMIDA หรือที่เรียกกันว่า AMIDA Digitrend นาฬิกาที่เปิดตัวขึ้นในปี 1976 ก่อนที่บริษัทจะล้มละลาย โดยทำงานบนแนวคิดที่คล้ายกันนี้ที่ MB&F ได้ใช้ปริซึมแซฟไฟร์ในการช่วยให้การแสดงเวลาแบบจั๊มปิ้งอาวร์ และการแสดงนาทีแบบกวาด (Sweeping Minutes) นั้นสามารถแสดงผลในแนวดิ่งได้ แม้ว่าแท้จริงแล้ว กลไกต่างๆ จะแบนราบเหมือนกับแผ่นแพนเค้ก ณ ชั้นบนสุดของชุดกลไก ขณะที่เวลาจะถูกแสดงผ่านช่องหน้าต่าง ซึ่งดูคล้ายกับมาตรวัดความเร็วยุคเก่า โดยจัดวางไว้บนด้านหน้าของตัวเรือนเพื่อให้อย่างน้อยยังคงสามารถมองเห็นได้อย่างง่ายดายแม้ขณะขับรถ
กับความแตกต่างไปจาก AMIDA ซึ่งประกอบไปด้วยดิสก์ที่วางเรียงต่อกัน ทว่าในงานออกแบบของ MB&F นั้นจะประกอบไว้ด้วยดิสก์ที่วางซ้อนกัน เพื่อให้สามารถขยายขนาดของตัวเลขให้ได้มากที่สุด และยังช่วยให้สามารถอ่านค่าเวลาได้อย่างชัดเจนสูงสุดอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นแต่แนวคิดหลักคือ การทำให้บรรดาตัวเลขเหล่านี้ดูคล้ายตัวเลขดิจิทัลหรือตัวเลขแบบอีเลคทรอนิคส์ โดยแผ่นดิสค์แซฟไฟร์ซึ่งผ่านกระบวนการเคลือบโลหะสีดำ เพื่อให้ตัวเลขเหล่านั้นมีความคมชัดที่สุด จากนั้นจึงเติมด้วยสารเรืองแสงซูเปอร์-ลูมิโนวา® ไว้ใต้แผ่นดิสค์แซฟไฟร์ เพื่อให้เกิดการเรืองแสงในแนวราบได้อย่างสมบูรณ์แบบโดยไม่โป่งหรือนูนขึ้นเหมือนกับที่นำมาใช้บนหน้าปัด
ทั้งยังต้องทำให้ตัวเลขเรียงจากหลังสู่หน้า เพื่อให้เกิดภาพที่ปรากฏตรงกันข้ามภายในปริซึมซึ่งระบบเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในนาฬิการุ่น HM5 ด้วยแผ่นระแนงเปิดและปิด ที่ช่วยให้แสงสามารถเข้าสู่ชุดกลไกเพื่อชาร์จสารเรืองแสง โดยแผ่นระแนงเหล่านี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานออกแบบของ Marcello Gandini สำหรับ BERTONE LAMBORGHINI Miura ด้วยหลังคาแบบลูฟท็อปบนกระจกด้านท้าย และมอบสุนทรียะความสวยงามสไตล์ล้ำยุค แห่งอนาคตให้กับรถยนต์คันนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบนอกจากนี้แนวคิดของแผ่นระแนงเหล่านี้ยังถูกนำมาใช้ในผลงานรุ่นต่อมาอย่าง HMX โดยการใช้ตัวปิดกระจกแซฟไฟร์ที่ทำให้เห็นบางส่วนของชุดกลไกด้านในได้
ซึ่งผลงานนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากอีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญงานสร้างตัวถังรถชนิดพิเศษของอิตาลีอย่าง TOURING SUPERLEGGERAพร้อมแบบจำลองของฝาปิดถังน้ำมัน ที่สามารถขันสกรูว์ออกเพื่อเติมน้ำมันหล่อลื่นสำหรับชุดกลไกของนาฬิกาได้ ซึ่งถัดมาก็คือผลงานเลื่องชื่ออย่าง HM8 ‘Can-Am’ ที่มาพร้อมกระจกแซฟไฟร์ที่ช่วยให้สามารถมองเห็นโรเตอร์ซึ่งหมุนอยู่ภายในชุดกลไกได้ จากกลไกชุดที่พัฒนาต่อยอดมาจากกลไกพื้นฐานของ GIRARD-PERREGAUX และส่งมอบแนวทางมาจนถึง HM8 Mark 2 นี้โดย HM8 ได้ต้นแบบรวมถึงรหัสงานออกแบบมาจากรถแข่ง CAN-AM ที่เป็นที่มาของชื่อในรายการ CANADIAN AMERICAN RACING CHAMPIONSHIP อันโด่งดัง
ด้วยงานออกแบบพิเศษของรถยนต์และโรลบาร์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวที่ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับโรลบาร์ที่ผลิตจากไทเทเนียมทั้งสองด้านของนาฬิกา ในขณะเดียวกันที่ HM8 Mark 2 ยังค้นพบแรงบันดาลใจจากหลากหลายต้นกำเนิด อาทิ รถยนต์ PORSCHE 918 Spyder สำหรับการสร้างสรรค์รูปทรงของตัวเรือน และสำนักการออกแบบ ZAGATO กับหลังคาทรงดับเบิลบับเบิล ที่นำมาเป็นแรงบันดาลใจของการสร้างสรรค์กระจกแซฟไฟร์ของนาฬิกา ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถชี้ให้เห็นได้ถึง แนวคิดและสไตล์การนำแรงบันดาลใจมากมาย ของรถยนต์สู่เรือนเวลาจาก MB&F พร้อมสไตล์ที่บ่งบอกได้ถึงงานด้านมอเตอร์สปอร์ต ที่อยู่ในจิตใจของ Maximilian Büsser มาโดยตลอด