ข้อชวนคิดเมื่อจะซื้อนาฬิกามีราคา (หลักหมื่น) เรือนแรก
หลายคนคงเคยผ่านช่วงเวลาวัยรุ่นวัยเรียนที่นิยมชมชอบและสวมใส่นาฬิกาแบรนด์แฟชั่นราคาหลักพันหรือ Swatch รุ่นต่างๆ หรือไม่ก็นาฬิกาดิจิตอลอย่าง G-Shock หรือรุ่นต่างๆ จาก Casio กันมาแล้ว (ไม่นับรวมบางท่านที่รสนิยมวิไลโดยมีคุณพ่อคุณแม่หรือพี่ๆ เพื่อนๆ ให้แนวทางตั้งแต่เด็ก) เมื่อวันหนึ่งเติบโตขึ้นเริ่มเข้าสู่มหาวิทยาลัยหรือล่วงเลยมาถึงวัยเริ่มทำงานแล้ว บางท่านก็เริ่มที่จะอยากได้นาฬิกาที่มีราคาขึ้นมาอีกนิดมาประดับข้อมือกันบ้าง ซึ่งอย่างน้อยก็น่าจะเริ่มที่หลักหมื่นขึ้นไป แล้วก็มาถึงคำถามที่ว่า จะเริ่มด้วยนาฬิกาอะไรดี จึงขอสรุปออกมาเป็นข้อชวนคิดเผื่อจะเป็นแนวทางคร่าวๆ ได้ว่าถ้าจะเสียเงินหลักหมื่นเพื่อซื้อนาฬิกาสักเรือนแล้ว นาฬิกาเรือนนั้นควรจะให้อะไรได้บ้างและควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร โดยจะขอกำหนดราคารีเทลของนาฬิกาต่างๆ ในบทความนี้ไว้ที่ไม่เกินราว 50,000 บาท (ก่อนที่จะหักส่วนลดซึ่งแต่ละแบรนด์ก็มักจะมีส่วนลดให้อยู่แล้ว) จะได้ดูกลางๆ ไม่แพงเกินไปสำหรับการเป็นนาฬิกาหลักหมื่นเรือนแรกของผู้คนส่วนใหญ่
(ซ้าย) Longine Hydro Conquest ; (ขวา) Mondaine
(ซ้าย) Gucci Bamboo ; (กลาง) Salvatore Ferragamo 1898 Chronograph ; (ขวา) Issey Miyake TO Automatic
ด้านผู้ผลิต
เมื่อมองถึงนาฬิกาหลักหมื่น จะสามารถแบ่งออกคร่าวๆ ได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ นาฬิกาที่ทำโดยบริษัทที่ทำนาฬิกาเป็นหลักจริงๆ กับนาฬิกาที่ทำออกมาโดยแบรนด์แฟชั่นที่มีระดับขึ้นมาจากพวกนาฬิกาแฟชั่นหลักพัน ซึ่งจะเลือกแบบไหนนั้นก็อยู่ที่ความชอบส่วนบุคคลครับ แต่ข้อแนะนำของเราก็คือ ในกลุ่มนาฬิกาหลักหมื่นนี้ นาฬิกาที่ทำโดยบริษัทที่ทำนาฬิกาเป็นหลัก น่าจะได้ความเป็นนาฬิกาจริงๆ มากกว่าครับ ซึ่งก็ยังแบ่งย่อยได้เป็นอีกหลายแบบ ได้แก่ แบรนด์ที่มีชื่อเสียงและผลิตนาฬิกามาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งจะมีปูมประวัติศาสตร์และผลงานต่างๆ ในอดีตของบริษัทเป็นเครื่องยืนยันความขลัง โดยหลายแบรนด์ก็มีรุ่นเริ่มต้นระดับเอนทรี่เลเวลของเขาที่มีราคาไม่สูงมากนักให้เป็นเจ้าของด้วย อาทิ Tissot (อ่านว่า ทิสโซต์), Longines, Mido, Hamilton, TAG Heuer, Junghans, Seiko หรือ Citizen เป็นต้น แบบถัดมาก็คือ แบรนด์นาฬิกาที่เพิ่งถือกำเนิดมาไม่นานมากนักซึ่งก็จะมีทั้งแบรนด์ที่ตั้งใจผลิตนาฬิกาจริงๆ ตามแบบฉบับการผลิตนาฬิกาอย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น Epos, Frederique Constant (เฟรเดอริค คองสตองท์), Alpina, Victorinox Swiss Army (อันนี้ขยายไลน์มาจากสินค้ามีดพับที่เรารู้จักกันดี), Mondaine, Luminox กับแบรนด์ที่เน้นดีไซน์รูปโฉมโฉบเฉี่ยวออกแนวเอาใจแฟชั่นนิสต้าและผู้นิยมความหวือหวามากขึ้นอย่าง TechnoMarine (ยุคปัจจุบัน), Glamrock, Tendence, TW Steel เป็นต้น
ส่วนนาฬิกาจากแบรนด์แฟชั่นที่มีราคาหลักหมื่นก็มักจะเป็นแบรนด์ดังระดับบนๆ หน่อย อาทิ Gucci, Issey Miyake, Salvatore Ferragamo, Gc และ Emporio Armani เป็นต้น แต่ถ้าจะฟันธงว่าแบบไหนดีกว่ากันนั้นคงยากครับ ต้องแล้วแต่ความชอบ ซึ่งหากจะให้แนะนำแล้วเราก็ยังเทใจให้กับแบรนด์ที่ตั้งใจผลิตนาฬิกาจริงๆ มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เก่าแก่หรือแบรนด์ที่เกิดมาไม่นานมากก็ตาม เพราะดูจะได้จิตวิญญาณแห่งความเป็นนาฬิกาแท้ๆ มากกว่า
(ซ้าย) Alpina Startimer Pilot Automatic ; (กลาง) Frederique Constant Classic Automatic ; (ขวา) Seiko Monster The Fang
หลายคนยังยึดติดว่า นาฬิกาแท้ๆ ต้องมาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งนาฬิกาเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้ว บางส่วนก็ถูกเพราะประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นเป็นประเทศต้นกำเนิดของนาฬิกาแบรนด์ดังหลากหลายยี่ห้อและบางแบรนด์ก็มีอายุเกินศตวรรษแล้ว แต่โดยแท้จริงแล้วประเทศเก่าแก่ต่างๆ ในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนีหรือฝรั่งเศส ต่างก็มีประวัติศาสตร์ด้านนาฬิกาอันเก่าแก่ด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่อเมริกาหรือประเทศฝั่งเอเชียอย่างญี่ปุ่นเอง ก็มีประวัติการผลิตนาฬิกามาเป็นเวลาเกินกว่าร้อยปีแล้วเช่นกัน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นแบรนด์อย่าง Hamilton, Junghans หรือ Seiko ก็ล้วนมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นผู้ผลิตนาฬิกาเก่าแก่ของโลกอย่างเต็มเปี่ยม ส่วนแบรนด์ที่เกิดใหม่นั้นจะต้องดูเป็นแบรนด์ๆ ไปครับว่าเค้าเกิดที่ประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตนาฬิกาแล้วมีโรงงานหรือผลิตโดยเวิร์คช็อปที่ทำการผลิตนาฬิกาจริงจังยกตัวอย่างเช่น Frederique Constant, Alpina และ Epos จากสวิสหรือไม่ หรือเพียงแต่ตั้งเป็นบริษัทนาฬิกาแล้วให้ซัพพลายเออร์ต่างๆ ทั่วไปผลิตให้ ซึ่งก็เป็นจุดที่ควรนึกถึงในหัวข้อนี้ครับ
ประเภทของนาฬิกาแบ่งตามการใช้งาน
ประเภทของนาฬิกาสามารถแบ่งออกแบบง่ายๆ ได้ตามวัตถุประสงค์การใช้งานเป็นหลัก ดังนี้
- นาฬิกาเดรสที่เหมาะกับสวมใส่ทำงานในชุดทำงานหรือเครื่องแบบไปจนถึงใส่กับชุดเนี้ยบๆ ออกงาน
(ซ้าย) Junghans Max Bill Automatic ; (ขวา) Hamilton Intra Matic
- นาฬิกาใส่ลำลองหรือนาฬิกาสปอร์ตทั่วไปที่เหมาะกับสวมใส่ในวันหยุดพักผ่อนหรือเล่นกีฬาเบาๆ ทั่วไป
(ซ้าย) TAG Heuer Formula 1 ; (กลาง) Victorinox Swiss Army Summit XLT Series ; (ขวา) Emporio Armani
- นาฬิกาเฉพาะทาง คือ นาฬิกาที่ออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์เฉพาะทาง เช่น นาฬิกาดำน้ำ, นาฬิกาสไตล์นักบิน, นาฬิกาเดินป่า, นาฬิกาความทนทานสูงสำหรับใส่ลุยหนักๆ เป็นต้น
(ซ้าย) Alpina Extreme Diver Midsize; (ขวา) Epos Sportive Pilot
- นาฬิกาประเภทที่พยายามออกแบบมาให้เป็นเรือนเดียวจบครบทุกลักษณะ คือ ออกแบบมาให้กึ่งๆ ไปเสียหมด สามารถใส่ได้ในทุกโอกาสอย่างไม่ขัดเขิน คือ จะเป็นเดรสก็ได้เพราะไม่ได้ใหญ่และหนาเกินไปที่จะอยู่ใต้แขนเสื้อ จะเป็นลำลองหรือสปอร์ตก็ได้เพราะก็จะมากับสายโลหะหรือสายยางที่หน้าตาทะมัดทะแมงใช้ได้ จะใส่ลงน้ำนิดๆ ก็ได้ด้วยเพราะกันน้ำได้เป็นร้อยเมตรเหมือนกัน
(ซ้าย) Citizen Eco-Drive Super Titanium Chronograph ; (ขวา) TW Steel CEO Tech Chronograph Renault F1
ดังนั้นจุดที่ควรนึกถึงอย่างแรกเลยก็คือ หาความต้องการให้เจอครับว่าอยากได้นาฬิกาสไตล์ไหน
ฟังก์ชั่นที่ต้องการ
เมื่อได้สไตล์นาฬิกาที่ต้องการแล้ว ก็มาถึงฟังก์ชั่นการใช้งานกันบ้าง ซึ่งในราคานาฬิกาที่ต่ำกว่าสี่หมื่นนั้น หากเป็นนาฬิกาจักรกลแล้ว ก็มักจะได้นาฬิกาบอกเวลาสามเข็มหรือสองเข็มครึ่ง แบบไม่มีวันที่ หรือมีวันที่ หรือไม่ก็มีทั้งวันกับวันที่ เท่านั้น หาค่อนข้างยากที่จะได้ฟังก์ชั่นโครโนกราฟมาด้วย ซึ่งถ้าอยากได้ฟังก์ชั่นโครโนกราฟ หรืออื่นๆ มากขึ้นกว่านี้ล่ะก็ คงต้องกลับไปมองที่เครื่องควอตซ์ครับ เพราะเครื่องควอตซ์ในราคานี้ก็มีนาฬิกาที่มากับฟังก์ชั่นโครโนกราฟให้เลือกกันมากมาย หรือแม้แต่ฟังก์ชั่นปฏิทินตลอดชีพ บอกวัน วันที่ และเดือน แบบไม่ต้องปรับตั้งก็ยังหาได้อย่างใน Seiko Premier Kinetic Perpetual Calendar เป็นต้น หรือถ้าอยากได้การบอกค่าต่างๆ สารพัดค่า พวกนาฬิกาควอตซ์ดิจิตัลอุดมเทคโนโลยีอย่างใน Tissot T-Touch หรือ Casio Pro Trek ก็สามารถตอบสนองได้ดี
(ซ้าย) Seiko Premier Kinetic Perpetual ; (ขวา) Tissot T-Touch Expert Titanium
วัสดุตัวเรือน
หากจะมองถึงความคงทนแล้ว ตัวเลือกอันดับต้นๆ ก็จะต้องเป็นตัวเรือนที่ทำจากสเตนเลสสตีลซึ่งนาฬิการาคาหลักหมื่นขึ้นก็ควรที่จะมองที่วัสดุนี้เป็นหลักครับ โดยบางรุ่นก็อาจจะมาพร้อมการเคลือบดำด้วยกรรมวิธีพีวีดี บางรุ่นก็อาจจะมาพร้อมการเคลือบทองด้วย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว แบรนด์เก่าแก่และแบรนด์ที่จริงจังกับการผลิตนาฬิกาตามแบบฉบับดั้งเดิมทั้งหลายก็มักจะมีกรรมวิธีการเคลือบที่มีมาตรฐานสูงไม่หลุดลอกหรือเปลี่ยนสีโดยง่ายเพราะเค้าก็ต้องรักษาชื่อเสียงของเค้าอย่างแน่นอน ดังนั้นหากจะมองนาฬิกาสเตนเลสสตีลที่มีการเคลือบดำหรือเคลือบทองแล้วก็อยากแนะนำให้เลือกแบรนด์นาฬิกาเก่าแก่และแบรนด์ที่จริงจังกับการผลิตนาฬิกามากกว่าเน้นที่ดีไซน์เพราะน่าจะให้ความมั่นใจได้มากกว่า และก็มีบางแบรนด์ก็นำเสนอในวัสดุสมัยใหม่อย่างไทเทเนียม ที่มีคุณสมบัติเด่นคือ เบา และไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ใดๆ ส่วนนาฬิกาที่มาในตัวเรือนวัสดุอื่นๆ เช่น คอมโพสิตเรซิน ในนาฬิกาสปอร์ตแนวทหารอย่างของ Luminox รุ่นยอดนิยมนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีนะครับ เพราะมันก็มากับคุณสมบัติเด่นซึ่งก็คือความเบานั่นเอง ซึ่งก็เหมาะสมกับความเป็นสปอร์ตอย่างที่เค้าอยากให้เป็น ถ้าเป็นรุ่นที่มีราคาไม่สูงเกินไปก็ไม่ได้น่ารังเกียจแต่อย่างใด ส่วนบางแบรนด์ยังมีการนำเซรามิกสีขาวหรือสีดำมาใช้บนขอบตัวเรือนอีกด้วย เช่น Gc เป็นต้น
(ซ้าย) Gc Sport Class XXL Ceramic ; (ขวา) Luminox Color Mark 3050 Series
วัสดุของสายนาฬิกา
ด้านสายนาฬิกานั้น วัสดุที่นำมาใช้สำหรับนาฬิการาคาประมาณนี้ก็ได้แก่ ยาง หนัง สเตนเลสสตีล เซรามิก และไทเทเนียม ซึ่งแต่ละประเภทก็เหมาะกับนาฬิกาที่มีลักษณะต่างๆ กัน ซึ่งค่าตัวขนาดนี้ก็ควรจะได้สายที่ทำจากวัสดุเกรดดีพอสมควรแล้วครับ สำหรับสายหนังแล้วก็ควรจะเป็นหนังวัวที่ส่วนใหญ่ก็จะนำมาปั๊มเป็นลายหนังจระเข้กัน ไม่ควรจะเป็นหนังสังเคราะห์ และก็ควรมาพร้อมกับบานพับหรือหัวเข็มขัดสเตนเลสสตีลที่มีความหนาและแข็งแรงทนทาน ส่วนสายสเตนเลสสตีลนั้น แต่ละข้อก็ควรจะมาในแบบตันๆ มีน้ำหนักและมากับบัคเกิ้ลที่มีความหนาและแข็งแรงทนทานเช่นกัน
ด้านระบบกลไก
หากเป็นคอนาฬิกาแล้วก็มักจะเทใจให้นาฬิกาเครื่องจักรกลไม่ว่าจะเป็นกลไกไขลานหรือกลไกขึ้นลานอัตโนมัติมากกว่านาฬิกาเครื่องควอตซ์อยู่แล้ว แต่จริงๆ แล้วแต่ละแบบก็มีข้อดีที่แตกต่างกัน โดยปกติแล้วนาฬิกาที่ใช้เครื่องจักรกลมักจะมีราคาค่าตัวที่สูงกว่าเครื่องควอตซ์ ดังนั้นในงบประมาณขนาดนี้ แน่นอนว่านาฬิกาเครื่องควอตซ์จะมีตัวเลือกในตลาดให้มากกว่า ข้อแนะนำของเราก็คือ ถามตัวผู้ใส่เป็นหลักครับว่ามีพฤติกรรมในการใส่นาฬิกาอย่างไรและมีความชื่นชอบในความเป็นเครื่องจักรกลของมันมากน้อยแค่ไหนหรือมองกันที่รูปลักษณ์แต่เพียงอย่างเดียว ถ้าผู้ใส่ไม่มีความสนใจในเรื่องเครื่องจักรกลชิ้นเล็กๆ ร้อยๆ ชิ้นที่มารวมกันแล้วขับเคลื่อนให้นาฬิกาเดินได้ ใช้นาฬิกาแต่เพียงดูเวลาและเป็นเครื่องประดับที่ถูกใจ และไม่มีความสนุกในการขึ้นลานหรือตั้งเวลานาฬิกาหรือรู้สึกว่าเป็นเรื่องลำบากหรือเป็นภาระ และไม่ได้มองว่าจะใช้นาฬิกาเรือนนี้ไปนานๆ นับสิบๆ ปีก็น่าจะเหมาะกับนาฬิกาเครื่องควอตซ์กินถ่าน มากกว่าครับ แต่ก็ควรเลือกแบรนด์ที่สามารถหาข้อมูลได้หรือระบุในคู่มือมาให้ว่าใช้เครื่องควอตซ์คุณภาพดีที่ผลิตจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ เช่น ETA, Ronda สัญชาติสวิส หรือ Seiko, Citizen หรือ Miyota (เครือ Citizen) สัญชาติญี่ปุ่น เป็นต้น
(ซ้าย) TechnoMarine Cruise Sport ; (กลาง) Tendence Gulliver Round ; (ขวา) Glam Rock SoBe Collection
หรือหากยังติดใจการบอกเวลาแบบตัวเลขดิจิตอล ก็ยังมี พวก Casio บางรุ่นที่น่าสนใจอย่าง Pro Trek รุ่นสูงๆ ที่นิยมกัน หรือไม่ก็ Tissot T-Touch อ้อ Gucci ก็มีดิจิตอลดีไซน์สวยๆ ออกมาเรื่อยๆ นะครับ สำหรับพวกนาฬิกาควอตซ์กินแสงอย่าง Citizen ตระกูล Eco-Drive หรือ Seiko ตระกูล Solar ที่รับพลังงานจากแสงสว่างไปเก็บสะสมไว้ในแบตเตอรี่แล้วจึงนำมาเป็นพลังงานนั้น ก็มีข้อดีอยู่ตรงที่ไม่ต้องคอยเปลี่ยนถ่านทุกปีสองปีเหมือนเครื่องควอตซ์ปกติ แต่ก็ต้องดูที่การใช้งานของคุณด้วยครับว่าเหมาะหรือไม่ นาฬิกาจำพวกนี้ควรเป็นอย่างยิ่งที่จะนำออกมาใส่บ่อยๆ หรือไม่ก็ต้องคอยเอามาผึ่งแสงสว่างเพื่อมิให้พลังงานหมดจนนาฬิกาหยุดเดินครับ เพราะหากหยุดเดินไปแล้วการที่จะนำมาใส่ใช้งานบอกเวลาได้เหมือนเดิมจะต้องนำมาผึ่งแสงกันเป็นเวลานานเลยทีเดียว ลำพังการเอามาใส่ระหว่างวันนั้นไม่สามารถสร้างพลังงานไปเก็บได้มากพอที่จะไม่ทำให้มันเดินอย่างต่อเนื่องยามถอดทิ้งไว้หลายวันในครั้งต่อไปครับ อาจสร้างความหงุดหงิดใจได้มากพอควรเลยทีเดียว
ส่วนนาฬิกาควอตซ์ตระกูล Kinetic ของ Seiko ที่เป็นลูกผสมระหว่างกลไกกับอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งจะนำเอาพลังงานจากการเคลื่อนไหวไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่นั้นก็เป็นอีกแบบที่น่าสนใจครับ หากชอบอะไรล้ำๆ ในเชิงบูรณาการ แถมบางรุ่นยังมีฟังก์ชั่นปฏิทินตลอดชีพ บอกวัน เดือน ปี วันที่ แบบครบๆ โดยไม่ต้องมาคอยตั้งด้วย
(ซ้าย) Casio Pro Trek ; (ขวา) Gucci I-Gucci
แต่ถ้าอยากที่จะสัมผัสความเป็นนาฬิกาจริงๆ แล้วล่ะก็ แน่นอนว่าจะต้องเป็นนาฬิกาเครื่องไขลานหรือเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติ ถ้าวัดกันที่ความสะดวกแล้ว แน่นอนว่าเครื่องอัตโนมัติย่อมดีกว่าครับ เพราะหากคุณใส่นาฬิกาเรือนนั้นเป็นนาฬิกาประจำวัน คุณก็ไม่ต้องคอยมานั่งตั้งเวลามันใหม่แต่อย่างใด เรียกว่าใส่อย่างเดียวก็พอ เพราะโดยทั่วไปแล้ว อย่างน้อยๆ ก็มักจะมีกำลังสำรองอยู่ที่ราว 38 ชั่วโมงขึ้นไปกันทั้งนั้น การใส่ทุกวันจึงไม่ทำให้ลานหมดจนหยุดเดิน หรือหากไม่ได้ใส่ทุกวัน เพียงแค่คุณกลับมาบ้านและเอามันมาสวมใส่ทำกิจกรรมที่บ้านเล็กๆ น้อยๆ สักชั่วโมง (ไม่ใช่ใส่แล้วนั่งดูทีวีนะครับ ให้ใส่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหว) ก็เพียงพอที่จะไม่ทำให้มันหยุดเดินแล้วครับ แต่ถ้านานๆ ใส่ทีก่อนใส่ก็ต้องตั้งเวลาและเอามาเขย่าๆ หรือร่วมกับขึ้นลานมือช่วยสักเล็กน้อย (ในเครื่องที่สามารถขึ้นลานมือช่วยได้) นาฬิกาก็จะเดินต่อแล้วครับ ส่วนการเลือกซื้อนั้นก็อยากให้ทราบเบื้องต้นเอาไว้บ้างว่า เครื่องที่ใช้ในนาฬิกาที่จะซื้อนั้นเป็นเครื่องของผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือหรือไม่ โดยทั่วไปแล้วแบรนด์ต่างๆ มักจะระบุรหัส Calibre เครื่องเป็นรหัสของตนเองไว้ในสเป็ค แต่ด้วยราคาขนาดนี้ น้อยรายครับที่จะเป็นเครื่องอินเฮ้าส์หรือเครื่องที่ตนเองเป็นผู้ผลิตหรือเป็นเจ้าของจริงๆ มักจะซื้อมาจากโรงงานผลิตเครื่องด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งบางแบรนด์ก็บอกว่าโมดิฟายด์มาจากเครื่องอะไร แต่บางรายก็ไม่ได้บอก ที่ไม่ได้บอกนี้เราอาจจะเสิร์ชดูจากกูเกิ้ลเพื่อหาข้อมูลได้ครับ ส่วนที่เป็นเครื่องของตนเองจริงๆ นั้นจะเป็นนาฬิกาญี่ปุ่น อย่าง Seiko และ Citizen มากกว่า เมื่อพบว่านาฬิกาที่คุณสนใช้เครื่องที่นำมาจากผู้ผลิตเครื่องชื่อดังอย่าง ETA (รวม Valjoux และ Unitas ด้วย), Ronda, Sellita, Soprod หรือแม้แต่ Seiko, Miyota และ Orient ก็เป็นเครื่องที่ทนทานและมีคุณภาพเชื่อถือได้ แต่ถ้าหายังไงก็ไม่พบแล้วล่ะก็ เอ่อ ลองมองเรือนอื่นก่อนก็ดีนะครับ
ส่วนกลไกไขลานนั้นจะเหมาะกับคนที่ขยันไขลานทุกวัน หรือไม่รังเกียจที่จะมานั่งตั้งเวลาและไขลานยามจะหยิบขึ้นมาใส่ แต่จะได้ความคลาสสิกแห่งเครื่องนาฬิกาจักรกลแบบดั้งเดิมแท้ๆ มาเป็นข้อแลกเปลี่ยน ซึ่งนาฬิกาเครื่องไขลานส่วนใหญ่ก็มักจะมาพร้อมฝาหลังกรุกระจกใสให้ชื่นชมความสวยและการทำงานของเครื่องโดยไม่มีโรเตอร์ขึ้นลานอย่างในเครื่องอัตโนมัติมาบดบังด้วยครับ ส่วนผู้ผลิตเครื่องนั้นด้วยราคาประมาณนี้หากหาได้ก็คงจะหนีไม่พ้น ETA (Unitas) กันเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็เป็นเครื่องไขลานที่ได้รับความนิยมและมีความทนทานสูงครับ
(ซ้าย) Tissot Visodate Automatic ; (ขวา) Mido Multifort Automatic
สุดท้ายก็คือเรื่องของผู้ขายที่ทางเราอยากแนะนำให้ซื้อจากเคาน์เตอร์หรือร้านค้าที่ขายนาฬิกาของผู้แทนจำหน่ายนาฬิกาแบรนด์นั้นๆ อย่างเป็นทางการในประเทศไทยครับ เพราะหากนาฬิกามีปัญหาอะไรในระยะประกันแล้ว คุณสามารถเคลมหรือซ่อมแซมกับบริษัทได้อย่างสะดวกกว่านาฬิกาที่คุณไม่ได้ซื้อจากเค้านะครับ ถึงแม้โดยมากจะระบุในใบรับประกันว่าเป็นการรับประกันทั่วโลกก็ตาม บางตัวแทนถึงกับมีประกาศว่าไม่รับบริการนาฬิกาที่ไม่ได้ซื้อจากเค้าเลยด้วย อีกทั้งยังป้องกันการไปคว้าเอาของก็อปเกรดเอมาโดยความเข้าใจผิดด้วย ยิ่งแบรนด์ดังๆ เค้ายิ่งทำเหมือนนะครับ
ขอให้มีความสุขกับนาฬิกาหลักหมื่นเรือนแรกของคุณครับ
By: Viracharn T.