ดูแลอย่างไรบ้าง ให้นาฬิกาของเราอยู่อย่างยืนยาว
By Dr. Attawoot Papangkorn
การมองหาซื้อนาฬิกาสักเรือน หลายๆ ท่านคงพยายามศึกษาหาข้อมูลของกลไก วัสดุ หรือรุ่นที่สนใจกัน แต่ทราบกันบ้างมั้ยครับว่า นาฬิกาเหล่านั้นควรมีวิธีดูแลรักษาอย่างไรกันบ้าง ต้องทำอย่างไรกันบ้างให้นาฬิกาของเรา ทำงานได้อย่างเที่ยงตรง และมีอายุการใช้งานที่ยืนยาวมากที่สุด
วิธีการดูแลรักษานาฬิกาเบื้องต้นกับนาฬิกาเรือนที่เป็นแบบสายหนัง ควรระวังไม่ให้ถูกน้ำ เพราะจะทำให้เกิดการอับชื้น และมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ซึ่งถ้าหากต้องถูกน้ำเป็นประจำ ก็จะส่งผลให้หนังของสายนาฬิกานั้นๆ มีอายุการใช้งานที่สั้นลง ดังนั้นการทำความสะอาดนาฬิกาที่เป็นสายหนัง วิธีที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้ง่ายๆ ก็คือการใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ เช็ดให้ทั่ว เพื่อให้คราบสกปรกถูกขจัดออกจากตัวเรือนนาฬิกา และสายนาฬิกา ส่วนนาฬิกาที่เป็นสายโลหะ ก็ควรหลีกเลี่ยงสเปรย์ และน้ำหอม โดยเฉพาะแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้สายเกิดสีดำขึ้น หรืออาจทำให้สีทองที่เคลือบไว้ซีดจางได้ การทำความสะอาดนาฬิกาที่เป็นสายโลหะ จึงสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการใช้ผ้านุ่มๆ เช็ดให้ทั่ว หากมีคราบสกปรก ก็ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ ค่อยๆ ถูคราบสกปรกออกอย่างเบามือที่สุด
ในกรณีที่เกี่ยวกับระบบการกันน้ำ และพบว่านาฬิกามีฝ้าขึ้นที่หน้าปัด เนื่องจากน้ำเข้า ให้รีบส่งนาฬิกาเข้าศูนย์บริการ หรือร้านซ่อมนาฬิกา เพื่อทำการตรวจเช็คโดยเร็วที่สุด โดยไม่ควรพยายามแก้ปัญหาเองเด็ดขาด เนื่องจากปัญหาหลักๆ จะอยู่ที่ยางกันน้ำทุกประเภท ในหลายส่วน ที่จะมีอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ปี ดังนั้นจึงควรนำนาฬิกามาตรวจเช็คและเปลี่ยนยางกันน้ำใหม่ในทุกๆ 2 ปี ซึ่งคล้ายคลึงกับกรณีที่นาฬิกาแบตเตอรี่หมด ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะในก้อนถ่านจะมีน้ำกรดที่สามารถกัดกร่อนชิ้นส่วนภายในให้เสียหายได้ จึงควรนำส่งเข้าศูนย์บริการ หรือร้านซ่อมนาฬิกา เพื่อเปลี่ยนถ่านนาฬิกาโดยเร็วที่สุด โดยอาจรวมความไปถึงการเปลี่ยนยางกันน้ำไปโดยปริยายไปพร้อมๆ กันด้วย
อีกเรื่องสำคัญที่หลายคนไม่ทราบ ก็คือนาฬิกาทุกประเภทไม่ควรวางใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ โทรศัพท์ ลำโพง ตู้เย็น หรือไมโครเวฟ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ ล้วนเป็นแหล่งสนามแม่เหล็ก หรือจุดกำเนิดคลื่นแม่เหล็ก ซึ่งคลื่นดังกล่าวจะมีผลกระทบกับนาฬิกาควอท์ซที่แสดงเวลาแบบเข็ม แต่จะไม่มีผลกระทบกับนาฬิกาควอท์ซที่แสดงเวลาแบบตัวเลข ซึ่งนาฬิกาที่มีเข็ม จะใช้พลังงานในการขับเคลื่อนเข็มนาฬิกา ด้วยมอเตอร์ขนาดเล็ก ที่ทำงานโดยอาศัยสนามแม่เหล็กในชุดควบคุม ดังนั้นหากมีสนามแม่เหล็กจากภายนอกมารบกวน ก็จะทำให้การทำงานของมอเตอร์ดังกล่าวเกิดความคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งจะยิ่งมีผลมากขึ้นสำหรับนาฬิกากลไก โดยในกรณีที่สนามแม่เหล็กมีความถี่สูง ก็ยิ่งจะเป็นผลทำให้นาฬิกาทำงานช้าหรือเร็วกว่าปกติ ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาวกับนาฬิกาประเภทกลไกเลย เนื่องจากนาฬิกาโดยทั่วไป จะสามารถทำงานได้ดีและเที่ยงตรงที่สุดในช่วงอุณหภูมิประมาณ 5-36 องศาเซลเซียส พร้อมสภาพการใช้งานแบบปกติทั่วไป
สำหรับนาฬิกากลไกอัตโนมัติ ก่อนการสวมใส่ควรไขลานนาฬิกา เพื่อเป็นการช่วยทำให้โรเตอร์ทำงานได้เร็วขึ้น เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการขึ้นลานได้ทันที และอาจเป็นสาเหตุทำให้นาฬิกาหยุดเดินหลังจากทำงานไปได้ซักพัก หรือหากนาฬิกามีการกระแทกในช่วงเวลานี้ ก็ยิ่งมีผลที่อาจทำให้อะไหล่ภายในหลุดจากชุดหรือคลายตัว ส่งผลให้กลไลต่างๆ ไม่ทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลรวมจากการล้างเครื่องหลังจากใช้งานไปประมาณ 3-5 ปี ซึ่งเป็นการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันหล่อลื่นตามจุดต่างๆ ใหม่ทั้งหมด เนื่องจากนาฬิกาจะมีการสะสมความชื้น คราบฝุ่นละออง และคราบน้ำมันตามจักรต่างๆ อันส่งผลให้นาฬิกาทำงานได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร และรวมไปถึงอัตราการขึ้นลานอย่างที่กล่าวไปแล้วในเบื้องต้น