วินเทจวันละนิด วันนี้เสนอตอน เมื่อ Omega Speedmaster กลายเป็น Moonwatch
By: Rittidej Mohprasit
เป็นความเชื่อที่เล่าว่ากันว่าองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือนาซ่า ส่งคนไปซื้อนาฬิกา Omega Speedmaster จากร้านคอริแกนส์ในบอสตัน (ร้านขายเครื่องประดับ) เพื่อนำไปทดสอบและใช้ในโครงการสำรวจอวกาศช่วงปี 1960’s แต่ความเป็นจริงนั้น อย่างที่เรารู้กันดีว่าองค์กรที่ใช้เงินหลวงอย่างนาซ่า ถ้าจะซื้ออะไรทั้งที ก็ต้องผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐทั้งนั้น (อย่างเช่นเครื่อง GT-200 ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน)
ดังนั้น การจัดซื้อนาฬิกาข้อมือเพื่อใช้ในภาระกิจสำรวจอวกาศ เริ่มต้นอย่างจริงจังในปี 1964 จากการเปิดเผยเป็นข่าวสาร (Declassification) พบว่านาซ่าเริ่มจากการกำหนดตัวผู้ผลิตนาฬิกาข้อมือแบบโครโนกราฟซึ่งมีตัวตนในสหรัฐและเชื่อว่าน่าจะมีความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ในภาวะสุญญากาศที่ไร้แรงดึงดูดได้ดี โดยทำหนังสือคำร้องขอให้เสนอขาย (Request for Proposal) ไปถึงผู้ผลิตนาฬิกามีชื่อดังนี้
“สำเนาหนังสือ Request for Quotation” จากนาซ่าถึง Omega USA ระบุว่าขอซื้อนาฬิกา 2 เรือน จากผู้ผลิต 6 ราย (ซึ่งไม่แน่ใจว่าทำไมจากรายชื่อทั้งหมดข้างบนเหลือแค่ 6 ราย) โดยขอซื้อเฉพาะตัวเรือน เพราะจะต้องนำไปใส่สวมทับชุดอวกาศอีกที จึงต้องใช้สายเวลโคร่ที่มีความยาวและมีความแข็งแรงอย่างเหมาะสมแทน
ปรากฏว่าจากทั้งหมดในรายชื่อ มีผู้ผลิตเพียง 4 ราย ที่ตอบรับหนังสือคำร้องของนาซ่าคือ 1. Omega USA 2. Longines-Wittnauer (Longines USA) 3. Rolex USA และ 4. Hamilton ซึ่งมาแปลกเพราะนาซ่าระบุค่อนข้างชัดเจนว่าต้องการจัดซื้อนาฬิกาข้อมือแบบโครโนกราฟ (แม้คำนี้ไม่ปรากฏในเอกสารข้างบน) แต่ Hamilton กลับเสนอนาฬิกาพกมา จึงถูกตัดสิทธิในการเข้าร่วมการทดสอบไปเป็นรายแรก
นาฬิกาที่ได้เข้าร่วมการทดสอบของนาซ่าจริงๆ จึงมีแค่ 3 โมเดลจาก 3 ผู้ผลิตคือ Longines-Wittnauer ซึ่งเชื่อกันว่าส่งรุ่น 235T ที่มาพร้อมกลไก Valjoux 72 แต่บางคนก็อ้างโดยไม่ระบุแหล่งที่มาข้อมูลว่าเป็นรุ่น 242T (กลไก Valjoux 72 เหมือนกัน) แต่ตามความเชื่อส่วนตัวคิดว่าไม่น่าใช่รุ่น 242T เพราะปกติรุ่นนี้จะไม่มีวงมาตรวัดความเร็ว (Tachymeter Scale) แต่ก็ยังไม่แน่ชัดนักเพราะรุ่นที่ส่งให้นาซ่าทดสอบอาจมีการดัดแปลงหน้าปัดเพื่อให้เหมาะสมกับการทดสอบเป็นพิเศษก็ได้
คู่แข่งรายที่สองคือยักษ์ใหญ่แห่งวงการนาฬิกาอย่าง Rolex ซึ่งตอนแรกเข้าใจกันว่าส่งรุ่น Cosmograph Daytona เข้ารับการทดสอบ แต่จากข้อมูลหลายๆ ทาง (ทางนาซ่าเองก็ระบุว่าไม่ใช่ Daytona) จึงเชื่อว่าน่าจะเป็น Ref. 6238 ซึ่งมาพร้อมกลไก Valjoux 72 อีกแล้ว โดยเป็นนาฬิกาจับเวลาซึ่งมีวงมาตรวัดความเร็วอยู่บนหน้าปัด ก่อนที่ต่อมาจะขยับเอามาตรวัดออกมาไว้บนขอบเบเซิลและกลายมาเป็น Cosmograph Daytona อีกทีในเวลาต่อมา
รายสุดท้ายคืออีกยักษ์ใหญ่แห่งวงการนาฬิกาและเป็นพระเอกของเราในบทความนี้นั่นก็คือ Omega ซึ่งก็ส่งนาฬิการุ่น Speedmaster Ref. ST105.003 เข้าประกวด (มาพร้อมกลไกคาลิเบอร์ 321 ในตำนาน ซึ่งพัฒนามาจากกลไก Lemania 27CHRO อีกที) แต่มีรูปทรงตัวเรือนแตกต่างจาก Speedmaster Moonwatch ที่เราคุ้นเคยกันอยู่ในปัจจุบันอยู่นิดหน่อย โดยจะเห็นได้ชัดว่าขาตรง (ขาไม่บิด) และส่วนข้างของตัวเรือนที่ไม่มีบ่ายื่นออกมากันเม็ดมะยมและปุ่มกดจับเวลา ตัวเรือนทรงนี้เรียกกันว่า “Ed White” (บ้านเราเรียก “ขาตรง”) เนื่องจากเป็นทรงของตัวเรือนที่นาวาตรี Edward “Ed” Higgins White สวมใส่ในภาระกิจจนกลายเป็นอเมริกันคนแรกที่ได้ขึ้นไปเดินในอวกาศ (Spacewalk) เป็นเหตุให้นาฬิกา Speedmaster ในปัจจุบันที่ทำขึ้นเพื่อฉลองเหตุการณ์อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นก่อนไปถึงดวงจันทร์ จึงมีตัวเรือนทรง Ed White นี้เกือบทั้งหมด (แต่ที่แปลกคือ Omega Speedmaster Gemini 4 "First Space Walk" Limited Edition กลับใช้ตัวเรือนแบบยุคหลัง หรือที่เรียกว่าทรงขาบิด)
ในชั้นการทดสอบนั้น บอกได้เลยว่าโหดหิน และมีรายละเอียดเยอะมากจนเขียนได้อีกหนึ่งตอน กล่าวโดยสรุปได้ว่าต้องมีความแม่นยำไม่เกิน +/- 5 วินาทีต่อวัน (แต่ถ้าไม่เกิน +/- 2 วินาทีต่อวันได้ยิ่งดี) อ่านง่าย เห็นชัดในแสงขาวและแสงแดง ที่สำคัญคือต้องผ่านการอบที่อุณหภูมิระหว่าง 71 ถึง 93 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 2 วัน แล้วเอาออกมาแช่แข็งที่อุณหภูมิ -18 องศา แล้วเอากลับไปอบที่ 93 องศาอีกรอบ ต่อมาก็เอามาทดสอบที่อุณหภูมิ 70 องศาสลับกับแช่แข็งที่ -18 องศาติดต่อกันอีก 15 ครั้ง นี่แค่ทดสอบอุณหภูมินะ ยังไม่รวมถึงการทดสอบแรงโน้มถ่วงสูงถึง 40G จากหกทิศทาง (40 เท่าของแรงโน้มถ่วงในภาวะปกติ) ทนความชื่นสูงถึง 93% ทนการกัดกร่อน 100% ทนการสั่นและแรงกระแทกรัวๆ ไม่เกิน 8.8G เป็นเวลา 90 นาที และอื่นๆ อีกมากมาย
ผลการทดสอบออกมาก็เป็นไปอย่างที่ทราบกันดีว่าสุดท้าย Speedmaster ก็ได้กลายมาเป็น Moonwatch โดยในส่วนของ Rolex นั้น ปรากฏว่าไม่อยู่ในสภาพที่สามารถทดสอบได้จนตลอดรอดฝั่งทั้งหมดทุกขั้นตอน เพราะในการทดสอบความชื้นปรากฏว่าเข็มหยุดเดินไปสองครั้ง และตอนทดสอบอุณหภูมิก็ปรากฏว่าเข็มบิดงอจนไปพันกันกับเข็มอื่นทำให้ใช้การต่อไม่ได้ ส่วนของ Longines-Wittnauer พบว่ากระจกบิดและละลายทั้งในการทดสอบอุณหภูมิและการทดสอบความดัน ทำให้ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถทดสอบต่อได้อีกต่อไปเช่นกัน ทาง Omega เองก็ใช่ว่าจะผ่านฉลุย เพราะในการทดสอบความดัน พบว่านาฬิกาเดินไวไป 21 นาที และในการทดสอบอัตราเร่งก็พบว่านาฬิกาเดินช้าไปถึง 15 นาที เมื่อทดสอบอุณหภูมิพบว่าสารเรืองแสงบนหน้าปัดและเข็มถูกทำลายจนหมด แต่สุดท้ายเมื่อทดสอบครบทั้งหมดแล้วOmega Speedmaster ก็ยังเป็นนาฬิการุ่นเดียวที่ยังสามารถเดินและกลไกจับเวลาก็ยังใช้งานได้ปกติ
ในปี 1967 ทีมทดสอบของทางนาซ่าแจ้งผลการทดสอบอย่างเป็นทางการด้วยความมั่นใจว่า นาฬิกา Omega Chronograph เป็นนาฬิกาข้อมือแบบจับเวลาเพียงโมเดลเดียวที่ยอมรับได้ในการใช้งานในอวกาศ
นี่จึงเป็นเรื่องราวและที่มาของ Speedmaster ที่ได้กลายมาเป็น Moonwatch ที่ในปัจจุบัน Omega เองก็ยังย้ำให้จำได้จนขึ้นใจว่า ถ้านึกถึงอวกาศและดวงจันทร์ ต้องนึกถึง Omega Speedmaster เป็นเรือนแรก