Rotor & Micro Rotor สิ่งเล็กๆ ที่ไม่เล็ก
By Dr. Attawoot Papangkorn
ผมเชื่อว่าผู้ที่กำลังอ่านคอลัมน์นี้อยู่ต้องเป็นคนที่หลงรักและหลงไหลในนาฬิกาไม่น้อยแน่ๆ แต่คุณเคยสังเกตุบ้างไม๊ครับว่าทำไมนาฬิกาบางเรือนของเรานั้น เวลานำมาใส่แล้วพลิกข้อมือไปมา จะสามารถรู้สึกได้ถึงแรงโน้มถ่วงคล้ายกับมีอะไรบางอย่างหมุนและเหวี่ยงอยู่ในตัวเรือนนาฬิกาแสนรักของเรา หรือว่านาฬิกาบางเรือนที่สามารถมองเห็นกลไกของนาฬิกาได้จากด้านหลังตัวเรือน จะเห็นว่ามีกลไกอยู่ชิ้นหนึ่งมีหน้าตาแปลกกว่าชิ้นอื่นๆ และสามารถหมุนไปหมุนมาตามองศาที่เราเอียงตัวเรือนได้อยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งเราก็เกิดความสงสัยว่าเจ้ากลไกชิ้นนี้มันคืออะไรกันแน่ มีหน้าที่อะไร มีความสำคัญขนาดไหน แล้วทำไมนาฬิกาบางเรือนถึงไม่มี ทำไมบางเรือนมีขนาดใหญ่แทบเต็มพื้นที่กลไก และทำไมบางเรือนถึงมีขนาดเล็กนิดเดียว บทความนี้จะนำคุณมาทำความรู้จักกับกลไกชิ้นนี้หรือที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “โรเตอร์ (Rotor)” กันครับ
Abraham Louis Perrelet
“โรเตอร์” ถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของนาฬิกาแบบกลไกไขลานอัตโนมัติ หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่านาฬิกาแบบออโตเมติก ซึ่งทำหน้าที่ขึ้นลานให้กับชุดกลไกโดยอาศัยหลักของแรงโน้มถ่วง โดยด้านปลายของโรเตอร์จะมีน้ำหนักมากกว่าแกนกลางซึ่งก็จะมีลักษณะการออกแบบให้คล้ายลูกตุ้มที่จะทำให้เกิดการเหวี่ยงหนีศูนย์ โดยแกนกลางของโรเตอร์นี้จะถูกเชื่อมเข้ากับระบบลานของชุดกลไก ซึ่งเมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อมือ โรเตอร์ก็จะหมุนตามแรงโน้มถ่วงและไปขึ้นลานให้กับบาลานซ์วีลในชุดกลไกต่อไป ผู้สวมใส่จึงไม่ต้องกังวลว่านาฬิกาจะหยุดทำงานลงเพราะลานหมดไปซะเฉยๆ เหมือนในกรณีของกลไกไขลาน โดยกลไกที่มาปฎิวัติโลกชิ้นนี้นี้ถูกคิดค้นขึ้นช่วงประมาณปี ค.ศ. 1777 โดยชาวสวิตเซอร์แลนด์ผู้มีนามว่า Abraham Louis Perrelet และถือเป็นต้นแบบของนาฬิการะบบกลไกออโตเมติกจวบจนทุกวันนี้
Roger Dubuis Excalibur 42, Micro-Rotor RD620
โรเตอร์แบ่งออกเป็นสองแบบหลักๆ ซึ่งแบบแรกก็คือ “ฟูลโรเตอร์ (Full Rotor)” ซึ่งจะมีขนาดใหญ่และครอบแท่นเครื่องด้านหลังอย่างเห็นได้ชัด และแบบที่สองคือ “ไมโครโรเตอร์ (Micro Rotor)” ที่มีขนาดเล็กและจัดวางอยู่ในระนาบเดียวกันกับแท่นเครื่อง ไมโครโรเตอร์นี้ถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ.1954 โดยบริษัท Buren Watch Company ซึ่งช่วยให้ผู้ผลิตนาฬิกาสามารถรังสรรค์ตัวเรือนได้บางลงเนื่องจากโรเตอร์อยู่ในระดับเดียวกับแท่นเครื่อง แต่ด้วยขนาดที่เล็กลงนี้ก็ทำให้เกิดความยุ่งยากในการออกแบบแถมยังประสบปัญหาในการที่จะทำให้ไมโครโรเตอร์นี้มีแรงเหวี่ยงที่เหมาะสมเพื่อขึ้นลานและเก็บพลังงานสำรองได้ดีเหมือนฟูลโรเตอร์อีก ทั้งนี้ผู้ผลิตจีงจำเป็นต้องหาวิธีชดเชยข้อด้อยสำหรับเรื่องของขนาดที่เล็กนี้โดยการเลือกใช้วัสดุที่มีน้ำหนักที่เหมาะสมเช่นทองคำหรือแพลทตินั่ม รวมไปถึงออกแบบให้สามารถขึ้นลานแบบสองทิศทางได้ เป็นต้น
Movement Patek Philippe Cal.240 Micro-Rotor
Patek Philippe Ref. 5712/1A-001
จากความยุ่งยากในการออกแบบ และวัสดุที่เลือกใช้ต้องมีราคาสูง อีกทั้งยังผลิตได้ยากอีกด้วย จึงทำให้นาฬิกาที่ใช้กลไกไมโครโรเตอร์มักจะมีอยู่ในแบรนด์นาฬิการะดับสูงเช่น Patek Philippe, Roger Dubuis หรือ Piaget เป็นต้น ดังนั้น จึงถือเป็นความท้าทายและศักดิ์ศรีของผู้ผลิตที่จะนำรูปแบบของไมโครโรเตอร์นี้มาใช้ และในขณะเดียวกัน ด้วยความสวยงาม หรูหรา และผลิตได้ยาก จึงทำให้กลไกชนิดนี้สามารถสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ที่ได้ครอบครองเช่นเดียวกันกับผู้ผลิต
Manufacture Piaget 1203P Micro-Rotor
PIAGET Altiplano
ยังมีต่อในเรื่องของโรเตอร์ในบทความเดือนหน้านะครับ