Passion Investment vs. Passion Collectable
By Dr. Attawoot Papangkorn
เมื่อกระแสโซเชียลเข้ามาครอบงำการดำรงชีวิตของเราในปัจจุบันมากขึ้น ก็คงไม่แปลกที่ทุกวันนี้จากที่เคยนั่งเฝ้าเว็บบอร์ดนาฬิกาให้โพสต์กันสนุกๆ ว่าวันนี้ใส่นาฬิกาอะไร ก็กลายเป็นการประกาศให้โลกรู้ไปเลยว่าวันนี้ฉันใส่อะไร ไปทำอะไร ทั้งทาง IG หรือ Facebook ที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน ที่มีกันหลากหลายทั้งส่วนตัวหรือกลุ่มต่างๆ ของคนรักนาฬิกาแต่ละแบรนด์ แต่ละประเภท แล้วก็เพราะความรู้สึกของคนที่สนใจในเรื่องของนาฬิกา พอรับรู้ข้อมูลเข้าไปมากๆ ก็เหมือนกับว่าเป็นโรคติดต่อ เห็นแล้วก็อยากจะมีกับเค้ามั่ง อยากได้ดูกับเค้ามั่ง ซึ่งเรื่องนี้ก็คงไม่แปลกเท่าไหร่ เพราะก็ถือว่าเป็นความสุขอีกชนิดหนึ่งที่แต่ละคนจะเลือกเสพกันไปได้ตามความชอบส่วนบุคคล แต่ประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้ก็คือ เรือนที่เราซื้อราคาไม่ค่อยขึ้นหรือไม่ขึ้นเลย แต่ทำไมเรือนที่คนอื่นซื้อ คนอื่นสะสม ถึงราคาขึ้นดีจัง พอจะขายทีก็มีคนมาต่อคิวแบบว่าอยากได้จังเลย ผมเลยอยากจะบอกว่านี่เราคงถึงยุคที่ Passion investment เหนือกว่า Passion Collectable อย่างเต็มตัวไปแล้วหละ
ขอบคุณภาพจากงานบรรยาย หลักสูตรผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YECBK ในหัวข้อ "ของสะสม"
เพราะ Passion Collectable คือการที่เรารักที่จะสะสม เช่นเรารักที่จะสะสมนาฬิกาเพราะความสวยงาม เพราะเรื่องราว หรือเพราะความชอบ ซึ่งมีหลากหลายเหตุผล แต่สำหรับ Passion Investment คือเราอยากจะสะสมเพราะเราคิดว่านาฬิกาเรือนนั้นๆ จะเพิ่มมูลค่าในอนาคต ซึ่งก็คล้ายๆ กับหุ้นที่เราพอจะรู้และเข้าใจว่ารุ่นไหนน่าจะราคาขึ้นกว่ากัน เราก็พร้อมที่จะลงทุนซื้อและขายออกไปในช่วงเวลาที่ได้ราคาที่เหมาะสมซึ่งโดยมากก็คือผลกำไรนั่นแหละ
จึงไม่เป็นที่สงสัยว่าทำไมนาฬิกาที่ราคาขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงมีผู้คนนิยมกันมาก ก็เพราะกลไกตลาดที่สร้างอุปสงค์ และอุปทาน สร้างให้ผู้คนแสวงหา รวมถึงตลาดประมูลในต่างประเทศที่สร้างกระแสความนิยมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นกลไกตลาดที่เราพอจะรู้ๆ และเข้าใจกันอยู่พอสมควร แต่กับเรื่องนี้ ก็อย่าลืมเรื่องนึงนะครับ ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างถ้าเราเปรียบเทียบกับตลาดค้าหุ้น ถ้าเรายังไม่ขายมัน มันก็ยังอยู่กับเราและเป็นคุณค่าทางใจที่ยังไม่ได้ Realized gain หรือถ้ายังไม่ขายขาดทุนมันก็คือ Unrealized loss แต่จะ gain หรือ loss วันนี้เราให้ตลาดเป็นตัวกำหนด เพราะเราไม่ได้ใช้ความรู้สึกอยากได้หรืออยากเป็นเจ้าของเป็นตัวกำหนดเหมือนแต่ก่อนแล้ว ราคานาฬิกาในตลาดช่วงสองปีหลังจึงมีแต่การปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในหลายแบรนด์และหลายรุ่น และก็มีที่ราคาทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงในหลายๆ แบรนด์เช่นกัน ซึ่งนั่นก็เพราะความต้องการหรือการเล็งเห็นกำไรยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นในกรณีที่ทุกคนซื้อเรือนที่สุดฮ๊อทและหายากกันหมดทั่วทั้งโลก ราคาของนาฬิกาเรือนนั้นก็ยิ่งสูงขึ้นและสูงขึ้น และยิ่งถ้าทุกคนเก็บทุกเรือนเหล่านี้ไว้ ไม่ปล่อยออกสู่ตลาดมือสอง ให้หายากยิ่งขึ้นไปอีก นาฬิกาเรือนนั้นๆ ก็ยิ่งเพิ่มมูลค่าสูงยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งก็คล้ายๆ กันกับกรณีของ bitcoin ที่ถ้าทุกคนพร้อมใจกันซื้อ ราคาก็จะพุ่งทะยานไปอย่างรวดเร็ว และถ้าพร้อมใจกัน Realized gain ราคาก็จะตกลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน
MB&F MoonMachine 2
Urwerk UR-210
แต่ยังไงก็ตามถ้าเทียบกับนาฬิกา อย่างน้อยถ้ามันยังเป็น Passion Investment ของใครหลายๆคน อยู่ ก็ยังถือว่าดีกว่าการซื้อของอะไรที่จับต้องไม่ได้ และถึงแม้ราคานาฬิกาเรือนนั้นจะอยู่ระดับดอย แต่ก็ยังมีความหวังว่าซักวันนึงราคาก็ต้องไปถึงระดับดอยนั้นจนได้ อย่างสโลแกนของ Patek Phillippe ที่ว่า “You never own a Patek Phillippe, You merely look after it for the next generation” แต่ก็อาจไม่ได้หลายถึงว่า generation นั้นเป็นลูกเป็นหลานของเรานะครับ 5555