A. LANGE & SӦHNE Triple Split นาฬิกาจับเวลาฟังก์ชั่น ทริปเปิ้ล สปลิต รุ่นแรกของโลก ยอดเรือนเวลาที่นักสะสมนาฬิกาทั่วโลกต้องสนใจ

 

หากเป็นผู้ที่สนใจในเรื่องกลไกนาฬิกาหรือเป็นนักสะสมนาฬิกาตัวจริงเสียงจริงก็น่าจะพอจำกันได้ว่าแบรนด์นาฬิการะดับสูงแห่งถิ่นกลาสฮุตเตอของเยอรมัน A.LANGE & SӦHNE ได้เปิดตัวนาฬิกาโครโนกราฟรุ่น Double Split ที่ใช้กลไกจักรกลแบบโครโนกราฟฟังก์ชั่นสปลิตเซ็กเกินด์ ที่สามารถสปลิตเข็มจับเวลานาทีได้ด้วย ซึ่งทำให้สามารถเปรียบเทียบเวลาได้สูงสุดเป็นช่วงเวลาถึง 30 นาที ออกมาเป็นแบบแรกของโลกเมื่อปี 2004 (ฟังก์ชั่นสปลิตเซ็กเกินด์โดยทั่วไปจะสปลิตแยกได้แค่เข็มจับเวลาวินาที ซึ่งทำให้เปรียบเทียบเวลาได้สูงสุดแค่ 1 นาที เพราะเมื่อเข็มเคลื่อนมาครบรอบจนเลยวินาทีที่หยุดไว้ก็จะไม่ใช่นาทีเดียวกันแล้ว) นั่นก็ถือได้ว่าเจ๋งแล้ว แต่มาปีนี้ที่งาน SIHH 2018 ทางแบรนด์ก็เปิดตัวอีกขีดขั้นความสามารถของฟังก์ชั่นสปลิตเซ็กเกินด์ด้วยนาฬิการุ่นใหม่ที่นอกจากจะสปลิตเข็มจับเวลานาทีได้อย่างรุ่นที่เปิดตัวในปี 2004 แล้ว ยังสามารถสปลิตเข็มจับเวลาชั่วโมงได้อีกด้วยโดยเข็มทั้งสามจะหยุดพร้อมกันหมดเมื่อกดปุ่มสั่งการที่ตำแหน่งราว 9.30 นาฬิกา (และจะกลับเข้ารวมกับเข็มที่ยังเดินอยู่เมื่อกดปุ่มนี้ซ้ำอีกครั้ง) ซึ่งก็ถือว่าเป็นกลไกนาฬิกาจักรกลแบบแรกของโลกที่ทำเช่นนี้ได้อีกเหมือนกัน และการสปลิตเข็มจับเวลาได้ทั้งสามเข็มก็เป็นที่มาของชื่อรุ่นที่ตั้งให้เรียกกันง่ายๆ ว่า Triple Split นี่ล่ะ

 

A Lange Sohne Triple Split 11

A Lange Sohne Triple Split 2

 

นอกจากความเจ๋งด้วยการมีฟังก์ชั่นสปลิตเข็มจับเวลาชั่วโมงแล้ว คุณสมบัติและฟังก์ชั่นอันยอดเยี่ยมที่มีอยู่ตั้งแต่ในกลไกแบบดับเบิ้ลสปลิต ก็ยังคงมีอยู่ในกลไกทริปเปิ้ลสปลิตเครื่องใหม่นี้ด้วย นั่นก็คือ เข็มจับเวลานาทีที่ขยับเคลื่อนแบบจัมปิ้งจังหวะละนาทีเพื่อความแม่นยำสูงสุดในการอ่านค่า กับฟังก์ชั่นฟลายแบ็ค ที่ทำให้สามารถรีเซ็ตเข็มทั้งสามกลับไปที่ศูนย์ได้ทันทีเมื่อกดปุ่มรีเซ็ตที่ตำแหน่ง 4 นาฬิกา ในขณะที่กลไกกำลังจับเวลาอยู่เพื่อให้เริ่มจับเวลาครั้งใหม่ได้อย่างต่อเนื่องในทันทีโดยไม่ต้องกดปุ่มให้หยุดจับเวลาก่อนแล้วค่อยกดรีเซ็ต และฟังก์ชั่นแสดงกำลังสำรองซึ่งเป็นฟังก์ชั่นที่จำเป็นต้องมีอย่างยิ่งเพื่อความสมบูรณ์แบบในการใช้งานเพราะคงไม่ใช่เรื่องที่น่าให้อภัยหากลานหมดโดยไม่รู้ตัวขณะที่กำลังจับเวลาเหตุการณ์สำคัญอยู่โดยเข็มของฟังก์ชั่นนี้ติดตั้งอยู่คนละตำแหน่งกับรุ่นดับเบิ้ลสปลิต

 

A Lange Sohne Triple Split 3

 

A Lange Sohne Triple Split 4

 

กลไกโครโนกราฟแบบทริปเปิ้ลสปลิตเครื่องนี้เป็นกลไกไขลาน อินเฮ้าส์ ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง ที่มีรหัสเรียกขานว่า คาลิเบอร์ L132.1 ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ กลไกนี้ให้กำลังสำรองได้ถึง 55 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่ากลไกโครโนกราฟแบบดับเบิ้ลสปลิต คาลิเบอร์ L001.1 ของรุ่น Double Split ที่มีกำลังสำรองแค่ 38 ชั่วโมง และด้วยกลไกอันซับซ้อนของฟังก์ชั่นทริปเปิ้ลสปลิต ก็ทำให้ต้องมีชิ้นส่วนกลไกมากถึง 567 ชิ้น ซึ่งมากกว่าชิ้นส่วนกลไกแบบดับเบิ้ลสปลิตถึง 102 ชิ้นเลยทีเดียว ขณะที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของกลไกนั้นเท่ากัน คือ 30.6 มม. แล้วก็ยังมีความหนาที่แทบไม่ต่างกันเลย (กลไกทริปเปิ้ลสปลิตหนา 9.4 มม., กลไกดับเบิ้ลสปลิตหนา 9.5 มม.) แล้วก็ยังมากกว่าสุดยอดกลไกความซับซ้อนสูงอีกเครื่องหนึ่งของแบรนด์อย่างกลไกเพอร์เพทชวล คาเลนดาร์ โครโนกราฟ ที่ใช้กับรุ่น Datograph Perpetual ที่มีอยู่ 556 ชิ้นด้วยซ้ำ

 

A Lange Sohne Triple Split 8

 

A Lange Sohne Triple Split 7

 

ด้วยฟังก์ชั่นแบบ ทริปเปิ้ล สปลิต ของกลไกเครื่องนี้ทำให้นาฬิการุ่นนี้สามารถเปรียบเทียบค่าจับเวลาได้ตั้งแต่ 1/6 วินาที จนถึง 12 ชั่วโมง (ในทางทฤษฎี) ดังนั้นจึงสามารถใช้เปรียบเทียบเวลาของ 2 จุดเวลาในลักษณะการแข่งขันที่ใช้เวลานานๆ ได้ด้วยความละเอียดระดับ 1/6 วินาที อย่างเช่น วิ่งมาราธอน แข่งไตรกีฬา แข่งจักรยาน หรือการแข่งขันรถแบบเอ็นดูรานซ์ อะไรประมาณนี้

 

A Lange Sohne Triple Split 5

 

รูปแบบการจัดวางตำแหน่งการจับเวลา ยังคงอ่านค่าง่ายและไม่แตกต่างจากนาฬิกาจับเวลา 12 ชั่วโมงโดยส่วนใหญ่ นั่นก็คือ การใช้เข็มจับเวลาวินาทีแบบติดตั้งกลางหน้าปัด และใช้เข็มจับเวลานาทีกับเข็มจับเวลาชั่วโมงเป็นเข็มขนาดเล็กติดตั้งอยู่ในวงเคาน์เตอร์ขนาดเล็กแยกกันคนละวง โดยตำแหน่งการจัดวางเคาน์เตอร์นั้นเป็นแบบสามวง สองวงล่างที่มีขนาดใหญ่กว่านั้นอยู่ที่ตำแหน่งราว 4 กับ 8 นาฬิกา สำหรับเข็มวินาที กับเข็มจับเวลานาที ส่วนวงบนที่อยู่ตำแหน่ง 12 นาฬิกาเป็นเคาน์เตอร์สำหรับเข็มจับเวลาชั่วโมง อีกทั้งยังเพิ่มความสมดุลย์ให้กับองค์ประกอบบนหน้าปัดด้วยการวางเข็มแสดงกำลังสำรองไว้เป็นมาตรอีก 1 วงหน้าปัด ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกาโดยออกแบบให้มีขนาดวงที่เล็กกว่า พร้อมอักษรย่อระบุว่า AUF กับ AB ซึ่งเป็นภาษาเยอรมันที่หมายถึงมีพลังกับหมดพลัง

 

A Lange Sohne Triple Split 6

 

นาฬิกาแบบแรกของรุ่น Triple Split นี้ เปิดตัวมาด้วยรหัส Ref. 424.038 ในตัวเรือนวัสดุไวท์โกลด์ ขนาด 43.2 มม. หนา 15.6 มม. ซึ่งเรียกได้ว่าแทบจะเท่ากับตัวเรือนของรุ่น Double Split เป๊ะๆ ด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่เท่ากัน แต่มีความหนากว่าเพียงแค่ 0.3 มม. เท่านั้น โดยสวมคู่มากับสายหนังจระเข้สีดำพร้อมตัวล็อควัสดุไวท์โกลด์ หน้าปัดวัสดุโซลิดซิลเวอร์ใช้เป็นสีเทา โดยมีสเกลกับตัวอักษรที่พิมพ์ด้วยสีขาว และติดตั้งแท่งหลักชั่วโมงทองคำเคลือบโรเดียม ขณะที่วงเคาน์เตอร์ 2 วงซ้าย-ขวานั้นใช้เป็นพื้นสีเงินพร้อมสเกลกับตัวเลขสีดำเพื่อสร้างความแตกต่าง สำหรับเข็มต่างๆ นั้นถูกเคลือบด้วยโรเดียม (เข็มแสดงเวลาและเข็มจับเวลานาทีเป็นทองคำ ส่วนที่เหลือเป็นสตีล) และมีสารเรืองแสงเคลือบอยู่บนเข็มชั่วโมงกับเข็มนาทีเช่นเดียวกับบนแท่งหลักชั่วโมงตำแหน่ง 12-3-6-9 นาฬิกา ส่วนเข็มจับเวลาทั้งสามชุดซึ่งมีอยู่ชุดละ 2 เข็มนั้นทางแบรนด์เลือกสร้างความแตกต่างให้แยกกันอ่านค่าเพื่อเปรียบเทียบเวลาได้อย่างสะดวกด้วยการใช้เข็มที่สปลิตแยกออกมาเพื่อจับค่าเวลาแรกเป็นวัสดุสตีลสีน้ำเงิน นอกจากนี้ยังเสริมเสน่ห์อีกเล็กน้อยด้วยการใช้สีแดงกับเลข 12 ของวงจับเวลาชั่วโมง เลข 30 ของวงจับเวลานาที และสเกลบริเวณตำแหน่งแจ้งกำลังสำรองต่ำอีกด้วย นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ขอบหน้าปัดยังพิมพ์มาตรสเกลทาคีมิเตอร์มาให้ด้วย ส่วนแผ่นฝาหลังนั้นแน่นอนว่าต้องผนึกด้วยกระจกแซฟไฟร์เพื่อให้สามารถมองเห็นกลไกอันยอดเยี่ยมที่ถูกประกอบขึ้นด้วยมือพร้อมรูปแบบงานตกแต่งอันเลอเลิศด้วยมือบนชิ้นส่วนแต่ละชิ้นและบนชิ้นเพลทกับบริดจ์วัสดุเยอรมันซิลเวอร์ได้อย่างชัดเจน

 

A Lange Sohne Triple Split 10.png

 

ความวิจิตรทั้งศาสตร์และศิลป์ของนาฬิกา Triple Split รุ่นนี้ถูกตั้งราคา   ไว้ที่ 147,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยจะผลิตขึ้นมาแบบ ลิมิเต็ด เอดิชั่น ด้วยจำนวนจำกัดเพียง 100 เรือน

 

A Lange Sohne Triple Split 9

 

By: Viracharn T.