HISTORY OF JUNGHANS เล่าขานถึงหนึ่งในตำนานนาฬิกาเยอรมัน (ตอนที่ 2)
บทความว่าด้วยความเป็นมาของ JUNGHANS แบรนด์นาฬิกาเก่าแก่จากเยอรมนีในคราวก่อนนั้น เราหยุดไว้ตรงช่วงกลางทศวรรษที่ 60 ซึ่งเป็นยุคปลายแห่งความรุ่งเรืองของนาฬิกาจักรกล บทความนี้เรามาต่อกันกับเรื่องราวของเหตุการณ์หลังจากนั้น เริ่มต้นจากการที่ Diehl Group เจ้าสังกัดของ JUNGHANS ได้นำพา JUNGHANS เข้าสู่โลกอิเล็คโทรนิกส์อันเป็นกระแสความนิยมที่เริ่มมาแรงในช่วงนั้นและเป็นที่มาแห่งการล่มสลายของนาฬิกาจักรกลในช่วงทศวรรษที่ 1970 จนถึงช่วงกลางทศวรรษ 1980 ต่อเนื่องผ่านยุคที่นาฬิกาจักรกลฟื้นคืนชีพกลับมาได้รับความนิยมกันอีกครั้งและก้าวเดินอย่างมั่นคงควบคู่กับนาฬิกาอิเล็คโทรนิกส์สุดล้ำมาจนถึงทุกวันนี้
จากพื้นฐานแห่งการผลิตนาฬิกา ATO นาฬิกาคล็อกอิเล็กโทร-เม็คคานิคอลซึ่งเป็นนาฬิกาแบบเพนดูลัมความเที่ยงตรงสูงลูกผสมไร้บาร์เรลแต่ใช้คอยล์อิเล็กโทคนิกส์เป็นตัวสร้างสนามแม่เหล็กมาผลักดันแม่เหล็กที่ติดอยู่บนลูกตุ้มเพื่อเป็นกำลังขับเคลื่อนให้กลไกนาฬิกาทำงานที่ JUNGHANS เริ่มผลิตขึ้นจำหน่ายมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930 จนถึงทศวรรษที่ 1960 (ATO มาจากการออกเสียงของคำว่า Hatot อันเป็นนามสกุลของ Léon Hatot ผู้คิดค้นระบบนี้ โดย JUNGHANS ได้ถือสิทธิ์ในการสร้างนาฬิกาที่ใช้ระบบนี้ในเยอรมันร่วมกับ Hamburg-Amerikanische Uhrenfabrik (HAU) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตนาฬิกาคล็อกอีกแห่งหนึ่งใน Schramberg) ทำให้แผนกเทคนิคของ JUNGHANS ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาระบบอิเล็คโทรนิกส์เพื่อนำมาใช้กับนาฬิกาของตน จึงได้คิดค้นวิธีการใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นระบบขึ้นลานด้วยไฟฟ้าหรือการนำทรานซิสเตอร์มาควบคุมการทำงานของบาลานซ์ ซึ่งนำพลังงานมาจากแบตเตอรี่ ตลอดจนการพัฒนาระบบควอตซ์ ทำให้ JUNGHANS เดินหน้าเข้าสู่โลกอิเล็คโทรนิกส์อย่างเต็มตัวตั้งแต่ช่วงหลังกลางทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา
นาฬิกาคล็อก ATO ของ JUNGHANS จากปี 1951
ศักราชแห่งยุคอิเล็คโทรนิกส์ของ JUNGHANS เริ่มต้นขึ้นในปี 1967 เมื่อ JUNGHANS ได้เปิดตัวเครื่องนาฬิกาข้อมือระบบอิเล็คโทร-เม็คคานิคอล ทำงานด้วยทรานซิสเตอร์ร่วมกับมอเตอร์และบาลานซ์จากพลังงานแบตเตอรี่แบบแรกของตนออกมาภายใต้ชื่อรหัสว่า Calibre W600 (ทำงานที่ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง) โดยปีถัดมาก็ได้นำมาประจำการในนาฬิกาข้อมือที่ให้ชื่อว่า ATO-Chron เพื่อเชื่อมโยงสัมพันธ์กับนาฬิกาคล็อกอิเล็กโทร-เม็คคานิคอลแบบ ATO อันโด่งดังของตน ให้หลังไม่นานก็มีรุ่น Dato-Chron ที่มากับดิสเพลย์แสดงวันที่ตามออกมาด้วย โดยเครื่องที่ใช้ในนาฬิกาทั้ง 2 แบบบางล็อตนั้นยังถูกนำไปทดสอบเพื่อให้ได้รับการรับรองความเที่ยงตรงในระดับโครโนมิเตอร์ด้วย และตลอดช่วงเวลาที่ผลิตนั้นก็ได้มีการพัฒนาเครื่องอย่างต่อเนื่องทำให้ได้รับการตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มียอดขายจนถึงปี 1975 เป็นจำนวนถึง 150,000 เรือน
Dato-Chron นาฬิกาข้อมือเวอร์ชั่นมีวันที่ของ ATO-Chron นาฬิกาข้อมือระบบอิเล็กโทร-เม็คคานิคอลแบบแรก เริ่มผลิตเมื่อปี 1967 ใช้เครื่อง W600.12 ที่นำการสร้างพลังงานจากระบบ ATO มาเป็นกำลังในการขับเคลื่อนกลไกนาฬิกา
ขณะเดียวกันในปี 1967 นาฬิกาคล็อก ATO-Chron ซึ่งเป็นนาฬิกาสำหรับวางบนชั้นที่ทำงานด้วยระบบควอตซ์สำหรับใช้ส่วนตัวแบบแรกก็ถูกเปิดตัวออกมาในชื่อ Astro-Chron อีกด้วย และปีเดียวกันนี้เองที่ทาง JUNGHANS ได้หยุดผลิตนาฬิกาข้อมือจักรกลโครโนมิเตอร์เนื่องจากทางศูนย์ทดสอบได้หยุดการทดสอบลงเพราะปริมาณเครื่องที่ส่งเข้าทดสอบมีจำนวนลดลงอย่างมาก
Astro-Chron นาฬิกาคล็อกระบบควอตซ์สำหรับใช้งานส่วนตัวแบบแรกของเยอรมันที่ JUNGHANS เริ่มต้นผลิตในปี 1967
ปลายทศวรรษที่ 1960 JUNGHANS ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการสำหรับการแข่งขันกีฬาต่างๆ ทั้งในประเทศเยอรมนีเองและในระดับนานาชาติ โดยใช้เครื่องจับเวลาที่ทำงานด้วยระบบควอตซ์ที่ JUNGHANS คิดค้นและผลิตขึ้น และด้วยความรู้ที่มีนี้เองทำให้ JUNGHANS ทำการผลิตนาฬิกาข้อมือเครื่องควอตซ์ขึ้นได้สำเร็จในปี 1970 (ตามหลังสวิส 1 ปี) ซึ่งถือเป็นนาฬิกาข้อมือเยอรมันเครื่องควอตซ์แบบแรก ใช้ชื่อว่า Astro-Quartz โดยเครื่องที่ใช้มีชื่อว่า Calibre W666 โดยนำมาเปิดตัวต่อสื่อมวลชนในปี 1971 และสามารถผลิตออกจำหน่ายได้จริงในปี 1972 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เยอรมนีได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนขึ้น ณ เมืองมิวนิค โดย JUNGHANS ก็ได้รับเกียรติให้เป็นผู้จับเวลาการแข่งขันอย่างเป็นทางการร่วมกับแบรนด์สวิสชื่อดังด้วย โดยทาง JUNGHANS ได้นำนาฬิกาดิจิตอลที่เรียกว่า Indicators ซึ่งสามารถแสดงเวลาบนจอโทรทัศน์ สามารถพิมพ์เวลา และทำงานร่วมกับกล้องถ่ายภาพความเที่ยงตรงสูงที่เส้นชัยได้ มาใช้ในการจับเวลาด้วย
Astro-Quartz เป็นนาฬิกาข้อมือควอตซ์รุ่นแรกที่ผลิตในประเทศเยอรมนี ใช้เครื่อง W666 ผลิตขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1970
(ซ้าย) JUNGHANS ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ณ เมืองมิวนิคในปี 1972
(ขวา) นาฬิการะบบควอตซ์ที่ใช้จับและแสดงเวลาสำหรับการแข่งขันกีฬาที่พัฒนาโดย JUNGHANS
และก็มาถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่วิกฤตควอตซ์ออกฤทธิ์ถล่มผู้ผลิตนาฬิกาฝั่งยุโรป ก็ทำให้ทาง JUNGHANS ต้องยุติการผลิตนาฬิกาเครื่องจักรกลลงชั่วคราวโดยหันมาเน้นพัฒนานาฬิกาเครื่องควอตซ์ของตนอย่างเต็มที่ และในปี 1976 ก็ได้เปิดตัวนาฬิกาควอตซ์ความเที่ยงตรงสูง Calibre W667 ตามมาด้วย Calibre W667.26 ในปี 1978 ซึ่งพัฒนาให้มีความคลาดเคลื่อนเพียงไม่กี่วินาทีต่อปีเท่านั้นจนกลายเป็นเครื่องควอตซ์เครื่องแรกของ JUNGHANS ที่ผ่านการทดสอบความเที่ยงตรงในระดับโครโนมิเตอร์ นาฬิการุ่นนี้ถูกวางตลาดไว้ในระดับไฮเอนด์และผลิตขึ้นมาในแบบลิมิเต็ดซีรี่ส์ด้วยจำนวนเพียง 2,000 เรือนเท่านั้น ซึ่งบางเรือนยังถูกผลิตในตัวเรือนทองคำอีกด้วย แต่เนื่องจากการผลิตเครื่องควอตซ์ขึ้นใช้เองนั้นมีต้นทุนที่สูงมากและไม่น่าทำราคาแข่งขันในตลาดได้ หลังจากนั้นไม่นาน JUNGHANS ก็หยุดผลิตเครื่องควอตซ์และในปี 1982 ก็เริ่มซื้อเครื่องนาฬิกาควอตซ์จากสวิสและญี่ปุ่นมาใช้ในนาฬิกาของตน ทำให้จำนวนพนักงานในบริษัทที่ทำงานด้านการผลิตนาฬิกาลดลงจนเหลือไม่ถึง 1,000 คนในปี 1985
ในปี 1985 นั้นเองที่ JUNGHANS เริ่มปล่อยผลงานชิ้นใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีด้านคลื่นวิทยุมาใช้ในนาฬิกา โดยเริ่มแนะนำเทคโนโลยีนี้ด้วยนาฬิกาสำหรับวางบนชั้นที่ใช้เครื่องควอตซ์ซึ่งรับสัญญาณเวลาทางคลื่นวิทยุจากนาฬิกาอะตอมิกของสถาบัน German National Metrology (PTB) ที่ตั้งอยู่ที่ Braunschweig ในเยอรมนี ซึ่งส่งผ่านสถานีส่งสัญญาณที่เรียกว่า DCF77 ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมืองแฟรงก์เฟิร์ต (เวลาจากนาฬิกาอะตอมิกของสถาบันนี้ถูกยึดถือเป็นเวลาอย่างเป็นทางการของประเทศเยอรมนีมาตั้งแต่ปี 1978) มาแสดงผลบนหน้าปัดอนาล็อกขนาดใหญ่ 2 หน้าปัด โดยหน้าปัดแรกจะบอกชั่วโมงกับนาทีขณะที่อีกหน้าปัดจะบอกวินาที และผลงานชิ้นนี้ก็คือต้นแบบของนาฬิกาคล็อกที่ควบคุมด้วยคลื่นวิทยุ (Radio-controlled clock) ในปัจจุบันนั่นเอง ต่อมาไม่นาน JUNGHANS ก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ก้าวไกลไปอีกขั้นด้วยการนำโซลาร์เซลล์มาใช้ร่วมกับนาฬิกาชนิดนี้จนกลายมาเป็นนาฬิกาตั้งโต๊ะทำงานด้วยพลังงานแสงที่มีชื่อว่า RCS1 (Radio Controlled Solar 1) อีกไม่กี่ปีต่อมาก็มีนาฬิกาปลุกควบคุมด้วยคลื่นวิทยุตามออกมาสมทบอีก
(ซ้าย) นาฬิกาคล็อกเรดิโอคอนโทรลแบบแรกของเยอรมนีจากปี 1985
(ขวา) RCS1 นาฬิกาคล็อกเรดิโอคอนโทรลทำงานด้วยพลังงานแสงจากแผงโซลาร์เซลล์ จากปี 1986
จุดมาร์กสำคัญอีกจุดของ JUNGHANS ก็คือปี 1990 อันเป็นปีที่ได้ผลิตนาฬิกาข้อมือดิจิตอลหน้าจอแอลซีดีควบคุมด้วยคลื่นวิทยุ (เรดิโอคอนโทรล) แบบแรกของโลกออกมาสู่ตลาด นาฬิการุ่นนี้ใช้ชื่อว่า Mega 1 มาในตัวเรือนทรงแปลกตาคือฝั่งซ้ายโค้งฝั่งขวาตรงอันเป็นผลงานการออกแบบของสตูดิโอชื่อดัง Frog Design Studio ทำให้เป็นที่จดจำของผู้คนได้อย่างรวดเร็ว นาฬิการุ่นนี้ได้ฝังตัวรับสัญญาณคลื่นวิทยุเอาไว้ภายในสายหนัง ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะในช่วงแรกนั้นตัวรับสัญญาณยังมีขนาดใหญ่เกินที่จะซ่อนเอาไว้ภายในตัวเรือนแต่ต่อมาไม่นานก็พัฒนาให้มีขนาดเล็กลงได้สำเร็จจนสามารถบรรจุไว้ในตัวเรือนของรุ่นหลังๆ ที่ตามออกมาได้ ในปี 1992 รุ่น Mega 2 ก็ตามออกมาแต่คราวนี้มาในรูปแบบนาฬิกาเรือนกลมผสมเหลี่ยมซึ่งยังคงมีกลิ่นอายของ Mega 1 ซ่อนอยู่ การแสดงผลของ Mega 2 จะเป็นแบบลูกผสมระหว่างแบบเข็มที่แสดงชั่วโมงกับนาทีกับตัวเลขดิจิตอลบนหน้าจอแอลซีดีที่จะแสดงวินาที วันที่ และวัน พร้อมกันนี้ก็ออกรุ่น Mega-Ceramic ซึ่งมีตัวเรือนขนาดเล็กสำหรับให้คุณผู้หญิงสวมใส่มาด้วย อีกปีถัดมาก็ออกรุ่น Mega-Solar ที่นำโซลาร์เซลล์มาเป็นตัวสร้างพลังงานจากแสงมาขายด้วย ส่วนรุ่นใส่ถ่านก็ยังคงผลิตอยู่เช่นเดิม
(ซ้าย) Mega 1 จากปี 1990 นาฬิกาข้อมือเรดิโอคอนโทรลแสดงผลแบบดิจิตอลแบบแรกของโลก
(ขวา) Mega 2 จากปี 1992 ผสมผสานการแสดงผลแบบอนาล็อกเข้ากับหน้าจอดิจิตอล
(ซ้าย) Mega Solar จากปี 1993 เป็นนาฬิกาข้อมือระบบเรดิโอคอนโทรลที่ทำงานด้วยพลังงานแสงแบบแรกของโลก ซึ่งจุดขายก็คือ มีขนาดเล็ก ให้ความเที่ยงตรงสูงสุด และไม่ต้องใช้แบตเตอรี่
(ขวา) Mega Star นาฬิกาเรดิโอคอนโทรลแบบแรกที่มาในสไตล์นาฬิกาแฟชั่นตัวเรือนพลาสติก วางขายในราคาไม่แพง
ปี 1994 ก็ได้ออกนาฬิกาแนวแฟชั่นรุ่นแรกให้กับนาฬิกาเรดิโอคอนโทรลด้วยรุ่น Mega-Star โดยมาในตัวเรือนพลาสติกสีสวย วางขายในราคาไม่แพงนัก และในปีถัดมาก็ได้ออกขั้วตรงข้ามมาด้วยนาฬิกาเรดิโอคอนโทรลพลังงานแสงราคาแพงในตัวเรือนเซรามิกชื่อว่า Mega Solar Ceramic และต่อมาก็มีการนำวัสดุชนิดอื่นๆ อย่าง คาร์บอน อลูมิเนียม และไทเทเนียม มาใช้ทำตัวเรือนด้วย ข้อดีอีกอย่างของนาฬิการะบบเรดิโอคอนโทรลนอกจากจะบอกเวลาอย่างแม่นยำแล้ว สัญญาณวิทยุที่ส่งมายังมาพร้อมกับวันที่ วัน เดือน และเลขสองหลักท้ายของปีด้วย นาฬิกาเรดิโอคอนโทรลจึงจะบอกวันที่ได้ถูกต้องเสมอโดยผู้ใช้ไม่ต้องคอยปรับตั้งวันที่ในเดือนที่ลงท้ายด้วยคมหรือเดือนกุมภาพันธ์แต่อย่างใด
(ซ้าย) Mega Solar Ceramic ตัวเรือนและสายเซรามิกสุดไฮเทค
(ขวา) Mega Carbon อีกหนึ่งวัสดุใหม่ที่ JUNGHANS นำมาใช้ในตัวเรือนของนาฬิการะบบเรดิโอคอนโทรลเมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1990
แม้ตลาดนาฬิกาเรดิโอคอนโทรลของตนกำลังไปได้ดีแต่ JUNGHANS ก็ไม่เคยลืมรากเหง้าแห่งการผลิตนาฬิกาจักรกลของตน ดังนั้นเมื่อตลาดนาฬิกาจักรกลเริ่มฟื้นตัวกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง JUNGHANS จึงไม่ลังเลที่จะหวนกลับมาผลิตสิ่งที่ตนคุ้นเคยโดยเริ่มผลิตนาฬิกาเครื่องอัตโนมัติและเครื่องไขลานออกมาใหม่ในปี 1997 ซึ่งนาฬิกาที่ผลิตออกมาก็คือ นาฬิกาข้อมือรุ่นดังในอดีตที่ออกแบบโดย Max Bill เมื่อต้นทศวรรษที่ 1960 นั่นเอง และด้วยดีไซน์สะอาดตาแฝงกลิ่นเรโทรของนาฬิการุ่นนี้ก็ทำให้ได้รับเสียงชื่นชมและเป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้คนยุคใหม่ยิ่งกว่าครั้งออกมาใหม่ๆ เมื่อครั้งอดีตเสียอีก ถัดมาอีกปีก็ได้นำนาฬิกา Military Chronograph นาฬิกาโครโนกราฟรุ่นที่มีขอบตัวเรือน 12 หยักหมุนได้ซึ่งเคยผลิตให้กับทหารใช้ในยุคทศวรรษที่ 1950 กลับมาผลิตอีกครั้ง โดยนำเครื่องอัตโนมัติโครโนกราฟของ ETA มาประจำการ เป็นการเปิดศักราชใหม่แห่งนาฬิกาจักรกลของ JUNGHANS ด้วยนาฬิการุ่นประวัติศาสตร์ทั้ง 2 ไลน์นี้
นาฬิกา Military Chronograph ที่ JUNGHANS ผลิตขึ้นสำหรับให้ทหารใช้ในยุคทศวรรษที่ 1950 ซึ่งเป็นต้นแบบที่นำกลับมาผลิตใหม่
แต่การคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในนาฬิกาของ JUNGHANS ก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น ช่วงเดียวกันนั้นเองก็ได้พัฒนาไมโครชิปส์ที่สามารถโปรแกรมและตั้งค่าได้เพื่อนำมาใส่ในนาฬิกาข้อมือ เป็นการเพิ่มศักยภาพให้นาฬิกาสามารถใช้ได้ทั้งแสดงเวลาและใช้เป็นแท็กสำหรับบันทึกค่าต่างๆ ได้ด้วย ซึ่งในปี 1999 ทาง JUNGHANS ก็ได้รับคำสั่งซื้อล็อตใหญ่ที่สุดของบริษัทจากบริษัทที่เป็นผู้ดำเนินการรถไฟใต้ดินของฮ่องกง ให้ส่งนาฬิกาข้อมือที่ติดตั้งไมโครชิปส์จำนวนถึง 200,000 เรือน ไปให้กับผู้โดยสารใช้เพื่อเป็นแท็กแทนเงินสดในการใช้บริการรถไฟใต้ดิน (รถไฟฟ้าบ้านเราน่าเอานาฬิกาข้อมือแบบนี้มาขายแทนบัตรรถไฟฟ้าบ้างนะครับ)
เมื่อผ่านพ้นปี 2000 เจ้าสังกัดของ JUNGHANS ซึ่งก็คือ Diehl Group ได้ตัดสินใจขายบริษัทนาฬิกา JUNGHANS เพื่อไปมุ่งดำเนินการในธุรกิจหลักของตน ซึ่งก็คือธุรกิจด้านโลหะ วงจร และเครื่องจักร แต่เพียงอย่างเดียว JUNGHANS จึงมีเจ้าของใหม่คือกลุ่ม EganaGoldpfeil Group แต่ด้วยวิกฤตภายในกลุ่มบริษัทเองทำให้ต้องขาย JUNGHANS ต่อให้กับครอบครัว Steim ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจาก Schramberg ในเดือนมกราคม ปี 2009 ภายใต้การนำของ Dr. Hans-Jochem Steim กับลูกชายของเขา Hannes Steim ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นของบริษัท Kern-Liebers ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ใน Schramberg (Kern-Liebers ก่อตั้งขึ้นในปี 1888 ใน Schramberg โดยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตนาฬิกาคล็อกในแถบ Black Forest ก่อนจะพัฒนามาเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับเครื่องจักรในอุตสาหกรรมการทอ ผลิตเข็มขัดนิรภัย ลวดสปริง และสปริง รายใหญ่ที่มีโรงงานอยู่ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วย) และเป็นผู้ที่มีความชื่นชมในขนบการผลิตนาฬิกาอันเก่าแก่อันเป็นฐานรากดั้งเดิมที่บรรพบุรุษของพวกเขาเริ่มสร้างกิจการจนมาเป็น Kern-Liebers ในทุกวันนี้ ชายคู่นี้ได้ร่วมกันกอบกู้ Uhrenfabrik Junghans GmbH & Co. KG ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ตกอยู่ในความเงียบเหงามาเกือบตลอดทศวรรษ
JUNGHANS ในปัจจุบันสมัย
จากวันนั้นเป็นต้นมา JUNGHANS ภายใต้การบริหารของครอบครัว Steim ก็ได้เริ่มขยายการผลิตนาฬิกาภายใต้แบรนด์ JUNGHANS อย่างต่อเนื่องซึ่งนอกจากนาฬิกาในไลน์ซึ่งถือเป็นซิกเนเจอร์ที่สืบทอดจากคอลเลคชั่นเดิมแห่งอดีตอันรุ่งเรืองในความเป็นนาฬิกาจักรกลของตนอย่าง Max Bill และ Meister แล้วก็ได้ออกนาฬิการุ่นและไลน์ใหม่ๆ มาอีกหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาจักรกลฟังก์ชั่นต่างๆ นาฬิกาควอตซ์ระบบเรดิโอคอนโทรลทั้งแบบข้อมือและแบบคล็อก จนถึงนาฬิกาเครื่องควอตซ์ปกติ ทั้งยังมีการร่วมผลิตนาฬิกากับแบรนด์เครื่องแต่งกาย เครื่องกีฬา และแอคเซสเซอรี่ส์ชั้นนำของเยอรมันอย่าง Bogner ด้วย ซึ่งการบริหาร ออกแบบ ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ จนถึงการประกอบนั้น จะถูกทำใน Schramberg อันเป็นถิ่นดั้งเดิมของ JUNGHANS และเป็นที่มาของประโยค Made in Germany บนนาฬิกา JUNGHANS ทุกเรือน
Apollo จากปี 2004 เป็นนาฬิกาแบบแรกที่ใช้เครื่องระบบเรดิโอคอนโทรลแบบ Multi-frequency
ปัจจุบันไลน์นาฬิกาของ JUNGHANS มีทั้งนาฬิกาที่ใช้เครื่องควอตซ์ซึ่งมากับเทคโนโลยีคลื่นวิทยุแบบ Multi-frequency ในการควบคุมเวลาที่สามารถรับสัญญาณเพื่อปรับเป็นเวลาท้องถิ่นของยุโรป อเมริกาเหนือ และญี่ปุ่น ได้เอง ทั้งยังสามารถปรับตั้งเวลาแบบแมนวลโดยตัวผู้ใช้เองได้ด้วยหากอยู่หรือเดินทางไปในประเทศที่ไม่มีเครื่องส่งสัญญาณเวลา ในนาฬิกาเรดิโอคอนโทรลรุ่นต่างๆ ตลอดจนรุ่น Worldtimer Chronoscope และ Aviator Chronoscope ที่มีฟังก์ชั่นจับเวลาและการแสดงค่าอื่นๆ เพิ่มเติมมาด้วยซึ่งทั้งหมดจะมีจุดเด่นอยู่ที่การแสดงผลร่วมกันของเข็มและหน้าจอตัวเลขดิจิตอล เครื่องนาฬิการะบบเรดิโอคอนโทรลที่รับคลื่นวิทยุแบบ Multi-frequency นี้เป็นผลงานจากทีมวิจัยของ JUNGHANS ที่ได้จดสิทธิบัตรเอาไว้ในปี 2004 โดยเครื่องจะทำการรับสัญญาณเวลาทุกวันในช่วงเวลาระหว่างตีสองถึงตีสามเพื่อให้เวลาในแต่ละวันเป็นไปอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีรุ่นที่ใช้พลังงานแสง และรุ่นที่ใช้วัสดุสมัยใหม่อย่างไทเทเนียมและเซรามิกมาทำตัวเรือนกับสาย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นการต่อยอดภูมิประดิษฐ์ที่ JUNGHANS เป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1980 จนถึงปี 2000 ดังที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ก็ยังมีบางรุ่นที่ใช้เครื่องระบบเรดิโอคอนโทรลแบบปกติด้วยเช่นกัน
(ซ้าย) Spektrum ในตัวเรือนสตีลขอบตัวเรือนเซรามิกขนาด 41.6 มม. พร้อมสายสตีลที่มีข้อกลางเป็นเซรามิก ใช้เครื่องอินเฮ้าส์ระบบเรดิโอคอนโทรลแบบ Multi-frequency ทำงานด้วยพลังงานแสง บอกเวลาแบบสามเข็มร่วมกับหน้าจอบอกวันที่ขนาดใหญ่ด้วยตัวเลขดิจิตัล มีกำลังสำรอง 21 เดือน
(ขวา) Mega Futura ตัวเรือนสตีลทรงเฉพาะขนาด 38.5 x 44 มม. ซึ่งปรับดีไซน์มาจากตัวเรือนของ Mega 1 นาฬิกาข้อมือเรดิโอคอนโทรลแสดงผลแบบดิจิตอลแบบแรกของโลกจากปี 1990 ใช้เครื่องอินเฮ้าส์เรดิโอคอนโทรลแบบ Multi-frequency แสดงค่าเวลา วันที่ และสัปดาห์ของปี ด้วยตัวเลขดิจิตอลแบบเปล่งแสง
(ซ้าย) Worldtimer Chronoscope ตัวเรือนสตีลขนาด 43 มม.ที่มากับฟังก์ชั่นต่างๆ มากมายซึ่งจัดวางการแสดงผลได้อย่างแปลกตาชวนมอง เริ่มจากบอกชั่วโมงแบบจั้มปิ้งอาวร์ในช่องกลม ณ ตำแหน่ง 10 นาฬิกา บอกนาทีด้วยเข็มในวงหน้าปัดซึ่งจัดวางแบบเยื้องศูนย์มาทางด้านซ้าย ส่วนแถบด้านขวาจะแสดงวัน วันที่ สัปดาห์ของปี ไทม์โซนของเวลาที่แสดง และสามารถกดเข้าสู่โหมดจับเวลา นับเวลาถอยหลัง และตั้งเวลาอลาร์มได้ด้วย ใช้เครื่องอินเฮ้าส์เรดิโอคอนโทรลแบบ Multi-frequency มาพร้อมสายหนังจระเข้เส้นหรู
(ขวา) Aviator Chronoscope ตัวเรือนสตีลขนาด 42.5 มม.เคลือบพีวีดีดำ มาพร้อมขอบตัวเรือน 12 หยักหมุนได้อันเป็นดีไซน์เอกลักษณ์ของนาฬิกาโครโนกราฟสำหรับทหารที่ JUNGHANS ผลิตขึ้นในทศวรรษที่ 1950 ฝาหลังเป็นคาร์บอน มากับสายสตีลเคลือบพีวีดีดำ บอกเวลาปกติแบบสามเข็ม พร้อมหน้าจอดิจิตอลขนาดใหญ่ 2 จอ แสดงวันที่ วัน ไทม์โซน ค่าจับเวลา และจับเวลาถอยหลัง ใช้เครื่องเรดิโอคอนโทรลอินเฮ้าส์
(ซ้าย) 1972 Mega Solar ตัวเรือนสตีลขนาด 43.3 มม. ขอบตัวเรือนหมุนได้ ใช้เครื่องอินเฮ้าส์เรดิโอคอนโทรลแบบ Multi-frequency ทำงานด้วยพลังงานแสง บอกเวลาแบบสามเข็มร่วมกับหน้าจอบอกวันที่ขนาดใหญ่ กำลังสำรอง 21 เดือน
(ขวา) Milano ตัวเรือนสตีลขนาด 41 มม. ใช้เครื่องอินเฮ้าส์เรดิโอคอนโทรล บอกเวลาแบบสามเข็มร่วมกับหน้าจอบอกวันที่ มาพร้อมสายสตีลถักแบบมิลานีส
ไลน์นาฬิกาควอตซ์ระบบเรดิโอคอนโทรลของ JUNGHANS ไม่ได้ผลิตเฉพาะสำหรับคุณผู้ชายครับ เพราะแบบสำหรับคุณผู้หญิงก็มีให้เลือกหลายรุ่นด้วยกันซึ่งก็มีให้เลือกทั้งแบบที่มีดีไซน์เฉพาะตัวดูโมเดิร์นเข้ากับระบบที่ใช้กับแบบดีไซน์นาฬิกาดั้งเดิมที่ซ่อนความไฮเทคเอาไว้ภายใน
(ซ้าย) Aura Quadra ตัวเรือนเซรามิกขนาด 29.5 x 28.9 มม. พร้อมสายเซรามิกบานพับไทเทเนียม ใช้เครื่องเรดิโอคอนโทรลอินเฮ้าส์บอกเวลาแบบสองเข็มพร้อมหน้าต่างตัวเลขดิจิตอลแสดงวันที่หรือวินาที
(ขวา) Diplomat Radio-Control ในตัวเรือนสตีลเคลือบพีวีดีโรสโกลด์ขนาด 34 มม. ใช้เครื่องเรดิโอคอนโทรลอินเฮ้าส์บอกเวลาแบบสองเข็มพร้อมหน้าต่างตัวเลขดิจิตอลแสดงวันที่หรือวินาที มาพร้อมสายหนังวัวพิมพ์ลายหนังจระเข้
ส่วนไลน์นาฬิกาจักรกลนั้น นำทัพโดยนาฬิกาในคอลเลคชั่น Max Bill by Junghans ที่ยังคงนำมาผลิตอย่างต่อเนื่องในรูปโฉมเดิม โดยมีให้เลือกทั้งเครื่องอัตโนมัติ เครื่องอัตโนมัติโครโนกราฟ และเครื่องไขลาน โดยใช้เครื่องเบสของสวิส (ไม่พ้น ETA) ต่อด้วยคอลเลคชั่น Meister ซึ่งเป็นการนำชื่อคอลเลคชั่นนาฬิกาจักรกลระดับหรูอันเก่าแก่ของแบรนด์กลับมาสานตำนานต่อ ทำงานด้วยเครื่องจักรกลสวิสที่ได้รับการขัดแต่งอย่างประณีต นอกจากนั้นก็ยังมีคอลเลคชั่น Attaché ที่เป็นนาฬิกาแบบที่มีคอมพลิเคชั่นเพิ่มขึ้นมาจากการบอกเวลาตามปกติ และก็มีคอลเลคชั่น Bogner by Junghans ที่ JUNGHANS ทำการผลิตร่วมกับแบรนด์เครื่องแต่งกายและแอคเซสซอรีส์อันเก่าแก่ของเยอรมันที่ชื่อว่า Bogner
(ซ้าย) Max Bill by Junghans - Max Bill Hand-wound ตัวเรือนสตีลขนาด 34 มม. เดินด้วยเครื่องไขลาน Calibre J805.1 ซึ่งปรับปรุงมาจากเครื่อง ETA 2801 สวมใส่คู่กับสายสตีลถักแบบมิลานีส
(ขวา) Meister Chronometer ตัวเรือนสตีลขนาด 38.4 มม. เดินด้วยเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติ Calibre J820.1 ที่มากับแฮร์สปริงสีฟ้า และผ่านการทดสอบความเที่ยงตรงในระดับโครโนมิเตอร์ โดยปรับปรุงมาจากพื้นฐานของเครื่อง Soprod A10
(ซ้าย) Bogner by Junghans - Willy Chronoscope ตัวเรือนสเตนเลสสตีลขนาด 44.5 มม. ใช้เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟที่ปรับปรุงจาก Valjoux 7750 ตัวโลโก้ B ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกาคือโลโก้ของแบรนด์เครื่องแต่งกายชั้นนำของเยอรมัน Bogner ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ในการร่วมผลิตและจำหน่ายนาฬิกาคอลเลคชั่นนี้
(ขวา) Attaché Agenda ตัวเรือนสตีลขนาด 41.5 มม. บอกเวลาแบบสามเข็มพร้อมหน้าต่างวันที่และมีหน้าปัดย่อยบอกวันกับสัปดาห์ของปีและมาตรกำลังสำรองมาด้วย ใช้เครื่องอัตโนมัติที่ปรับปรุงจาก ETA 2892 โดยติดตั้งโมดูล 9075 ของ Soprod
นาฬิกาควอตซ์ใส่ง่ายใส่สบายก็มีทำออกมาจำหน่ายด้วยเช่นกันโดยมีทั้งในแบบเครื่องควอตซ์ปกติทั่วไป และแบบเครื่องควอตซ์ที่ใช้พลังงานแสงซึ่งเป็นเครื่องอินเฮ้าส์พลังงานแสงที่ JUNGHANS ผลิตขึ้นใช้เอง
(ซ้าย) Milano Solar ในตัวเรือนสตีลขนาด 37 มม. เครื่องควอตซ์อินเฮ้าส์ทำงานด้วยพลังงานแสง บอกเวลาแบบสามเข็มพร้อมช่องแสดงวันที่ มีกำลังสำรอง 4 เดือน มาพร้อมสายสตีลถักแบบมิลานีส
(ขวา) Munchen ตัวเรือนสเตนเลสสตีลขนาด 32 มม. บอกเวลาแบบ 3 เข็มพร้อมหน้าต่างแสดงวันที่ด้วยเครื่องควอตซ์ มาพร้อมสายสเตนเลสสตีลแบบ 3 แถว
ก้าวสู่ความเป็นนาฬิการะดับสูงด้วย ERHARD JUNGHANS
หนึ่งในย่างก้าวใหม่ที่สำคัญของ JUNGHANS ยุคใหม่ก็คือการเปิดตัวแบรนด์ ERHARD JUNGHANS ในปี 2007 ซึ่งเป็นการแยกแบรนด์ออกมาต่างหากเป็นอีกแบรนด์หนึ่ง วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งแบรนด์ ERHARD JUNGHANS ขึ้นมาก็เพื่อเป็นเกียรติแก่ Mr. Erhard Junghans ผู้ให้ก่อตั้ง JUNGHANS ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1861 โดยนาฬิกาแต่ละแบบที่ผลิตขึ้นภายใต้แบรนด์ ERHARD JUNGHANS นั้นจะเป็นนาฬิการะดับสูงซึ่งถูกสร้างขึ้นด้วยความพิถีพิถันในดีไซน์สุดพิเศษที่แตกต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตนและมาพร้อมกับกลไกชั้นเยี่ยมที่ได้รับการขัดแต่งอย่างงดงามพร้อมสอดแทรกด้วยเทคโนโลยีก้าวล้ำอันเป็นหัวใจของแบรนด์เสมอมาในตัวเรือนสเตนเลสสตีลหรือทองคำ 18k
คอลเลคชั่นแรกที่เปิดตัวออกมาพร้อมกับแบรนด์ก็คือ Creator 1861 ที่มาในตัวเรือนทรงกลมร่วมสมัยขนาด 42 มม. โดยมีรูปแบบของหน้าปัดที่ดูโมเดิร์นสุดๆ ด้วยการยกแถบส่วนกลางทางแนวขวางขึ้นมาให้คล้ายกับสะพานเป็นจุดเด่นสำคัญประจำตัว ต่อด้วยคอลเลคชั่น Tempus ที่มาในสไตล์คลาสสิกด้วยตัวเรือนแบบเดียวกับ Creator 1861 แต่มากับหน้าปัดเรียบง่ายสะอาดตาและใช้หลักชั่วโมงเป็นเลขโรมันอันเป็นลักษณะของนาฬิกาพกสมัยก่อน
(ซ้าย) Creator 1861 Retrograde ในตัวเรือนสตีลที่เด่นด้วยมาตรแสดงวินาทีทรงพัดที่ส่วนบนของหน้าปัดซึ่งชี้ บอกด้วยเข็มวินาทีกลางสามแฉกซึ่งแต่ละแฉกจะมีความยาวต่างกันไว้ชี้บอกช่วง เลขวินาที 3 ระดับบนมาตร
(ขวา) Tempus Power Reserve ตัวเรือนสตีล บอกเวลาแบบสองเข็มครึ่งพร้อมมาตรแสดงกำลังสำรอง ทำงานด้วยเครื่องอัตโนมัติ ในแบบหน้าปัดลงอีนาเมลเคลือบเงาสีดำ
มาถึงปี 2008 ERHARD JUNGHANS ก็มอบเซอร์ไพรส์ให้กับแฟนๆ ด้วยนาฬิกาตัวเรือนไวท์โกลด์ 18k ทรงเหลี่ยมที่ผลิตขึ้นแบบลิมิเต็ดโปรดักชั่น โดยใช้ชื่อว่า Erhard Junghans 1 บรรจุเครื่องไขลาน 18 จิวเวลที่ได้รับการสลักตกแต่งด้วยมือ และขัดแต่งอย่างพิถีพิถันสุดๆ ทั้งยังระบุหมายเลขประจำตัวเรือนเอาไว้บนหน้าปัดด้วยการใช้อักษรย่อ Nr (ซึ่งมาจาก Number) วางแทนตัวเลขหลักชั่วโมงใดหลักชั่วโมงหนึ่งใน 12 หลัก ณ ตำแหน่งลำดับที่ของนาฬิกาเรือนนั้น นั่นหมายความว่านาฬิกาทั้ง 12 เรือน จะมีหน้าปัดที่ไม่เหมือนกันเพราะตำแหน่งอักษร Nr จะอยู่กันคนละตำแหน่งตั้งแต่ 1 ถึง 12 ในแต่ละเรือน
Erhard Junghans 1 ตัวเรือนไวท์โกลด์ 18k ขนาด 35 x 51 มม. เปิดตัวในปี 2008 ด้วยการผลิตแบบลิมิเต็ดโปรดักชั่นเพียง 12 เรือนที่แน่นอนว่าจำหน่ายหมดไปนานแล้ว ใช้เครื่องไขลาน 18 จิวเวล Calibre J325 กำลังสำรอง 48 ชั่วโมง ที่ขัดแต่งและสลักลวดลายอย่างงดงาม
ส่วนคอลเลคชั่นล่าสุดที่ชื่อ Aerious นาฬิกาสไตล์นักบินซึ่งเริ่มออกขายในปี 2009 นั้นเป็นนาฬิกาโครโนกราฟในตัวเรือนสตีลทรงแปลกตาขนาด 46.6 มม. ที่ออกแบบองค์ประกอบได้อย่างมีเอกลักษณ์ เริ่มจากปุ่มกดเหลี่ยมทรงปีกโค้งรับนิ้วมือกับเม็ดมะยมพร้อมบ่าปกป้องซึ่งวางตำแหน่งอยู่ระหว่าง 3 ถึง 6 นาฬิกา ให้กดใช้งานได้อย่างถนัดนิ้วยิ่งขึ้น ต่อด้วยวงหน้าปัดย่อยแบบ 4 วงที่จัดวางอยู่กลางหน้าปัดชิดกับจุดกึ่งกลางให้อ่านค่าที่นาฬิกาแสดงทั้งหมดได้ในจุดเดียว เดินด้วยเครื่องอัตโนมัติโครโนกราฟแบบคอลัมน์วีล
Aerious ตัวเรือนสตีลขนาด 46.6 มม. มากับดีไซน์อันแปลกตาของปุ่มกดจับเวลาและตำแหน่งการจัดวาง เด่นด้วยหน้าปัดย่อย 4 วงตรงกึ่งกลางที่อ่านค่าต่างๆ ทั้งหมดได้ ณ จุดสายตาเดียว ไม่ว่าจะเป็นเวลาหลัก วินาที นาทีกับชั่วโมงจับเวลา กำลังสำรอง และวันที่
และในปีที่แล้ว (2011) ซึ่งเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองวาระครบ 150 ปีของแบรนด์ ก็ได้ออกนาฬิการะดับแฟล็กชิพรุ่นใหม่ในชื่อว่า Erhard Junghans 2 มาให้โลกได้ชื่นชมโดยคราวนี้มาในตัวเรือนโรสโกลด์ 18k ซึ่งผลิตในจำนวนจำกัดเพียง 12 เรือน โดยระบุอักษร Nr เป็นตัวบ่งหมายเลขประจำเรือน ณ หลักชั่วโมงนั้นๆ ว่าเป็นเรือนที่เท่าไหร่ใน 12 เรือน เช่นเดียวกับ Erhard Junghans 1 ในอดีต เดินด้วยเครื่องไขลานที่ได้รับการขัดแต่งอย่างพิถีพิถันและยังโดดเด่นด้วยการใช้แฮร์สปริงเบรเกต์ Nivarox สีฟ้าซึ่งมองเห็นได้จากทางฝาหลังกรุแซฟไฟร์ โดยผ่านการทดสอบความเที่ยงตรงระดับโครโนมิเตอร์จากสถาบันซึ่งตั้งอยู่ที่ Glashutte โดยเป็นการทดสอบในขณะที่เครื่องถูกประกอบในตัวเรือนเรียบร้อยแล้วด้วย
Erhard Junghans 2 ตัวเรือนโรสโกลด์ 18k ขนาด 40.4 มม. หน้าปัดสีกราไฟต์ ออกมาในวาระฉลองครบรอบ 150 ปีของแบรนด์เมื่อปี 2011 ผลิตแบบจำนวนจำกัดเพียง 12 เรือน ใช้เครื่องไขลาน Calibre J330 ที่ผลิตและขัดแต่งอย่างพิถีพิถันซึ่งผ่านการทดสอบความเที่ยงตรงในระดับโครโน มิเตอร์
ERHARD JUNGHANS ในแต่ละคอลเลคชั่น ยังมีรุ่นย่อยที่มากับฟังก์ชั่นต่างกันแยกออกไปอีกหลายแบบด้วยกันซึ่งในโอกาสต่อไปจะมาเจาะลึกในรายละเอียดที่น่าสนใจของแต่ละแบบกันอีกครั้งครับ
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของนาฬิกา JUNGHANS แบรนด์เยอรมันเก่าแก่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวทั้งจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดมาแล้วกว่า 150 ปี และก็เป็นนาฬิกาอีกแบรนด์หนึ่งในโลกใบนี้ที่ดำเนินการผลิตนาฬิกาออกสู่ตลาดมาอย่างต่อเนื่องแบบแทบไม่เคยขาดช่วง ก็ต้องดูกันต่อไปครับว่า สองพ่อลูกครอบครัว Steim จะนำพา JUNGHANS กลับขึ้นทวงบัลลังก์ความยิ่งใหญ่ดังเช่น JUNGHANS เคยเป็นในอดีตได้มากน้อยเพียงใด
By: Viracharn T.
(ภาพประกอบบางส่วนจาก Watch Time Special Issue: Junghans)