INTERVIEW WITH Nicholas J. Hoffman of H.Moser & Cie.
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2013 ทาง IAMWATCH มีโอกาสได้พบและสัมภาษณ์คุณ Nicholas J. Hoffman ผู้เป็น Regional Sales Director ของแบรนด์นาฬิกาสวิสหรู H.Moser & Cie. อันเป็นแบรนด์นาฬิกาที่มุ่งมั่นผลิตนาฬิกาคุณภาพสูงตามแบบฉบับแห่งการประดิษฐ์นาฬิกาชั้นสูงแห่งสวิตเซอร์แลนด์ในแบบนาฬิกาเดรสเป็นหลัก โดยถือเป็นอีกแบรนด์ที่ผู้ซึ่งซาบซึ้งในความละเอียดพิถีพิถันแห่งการผลิตและขัดแต่งรวมถึงชื่นชมในรายละเอียดของส่วนประกอบและกลไกต่างนิยมชมชอบกันมาก เพราะภายใต้รูปโฉมอันเรียบง่ายของนาฬิกานั้นล้วนเปี่ยมไปด้วยรายละเอียดอันงดงามแบบไม่โอ้อวด อันเป็นสไตล์ที่มีรสนิยมเป็นอย่างยิ่ง และด้วยจำนวนการผลิตที่ไม่มากนัก ก็ยิ่งทำให้ H.Moser & Cie. เป็นนาฬิกาที่คนรักนาฬิกาซึ่งรู้ซึ้งถึงคุณค่าต่างถวิลหาและหมายจะมีไว้ในครอบครอง
มาติดตามบทสัมภาษณ์ชายผู้มีประสบการณ์การทำงานในวงการนาฬิกากับแบรนด์ใหญ่มากว่า 8 ปี ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งที่มีส่วนอย่างมากในการขับเคลื่อนแบรนด์หรูขนาดเล็กแต่ผลงานไม่เล็ก H.Moser & Cie. สู่ข้อมือของคนรักนาฬิกาในแถบเอเชีย ตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบัน ว่าทิศทางการดำเนินการและผลงานใหม่ๆ ของแบรนด์หลังจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของบริษัทเมื่อปี 2012 ด้วยการเข้าครอบครองหุ้นหลักโดยกลุ่มทุนสวิส ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่เข้าถือครองแบรนด์สุดแนวอย่าง Hautlence นำโดย Georges-Henri Meylan อดีตซีอีโอผู้โด่งดังแห่ง Audemars Piguet จะเป็นอย่างไรกันบ้าง
IAW: จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ H.Moser & Cie. เมื่อปีที่ผ่านมา เชื่อว่าคุณต้องมีอะไรใหม่ๆ ที่อยากจะบอกกับทุกคนอย่างแน่นอน ใช่มั้ยครับ
ใช่เลยครับ บริษัทของเรามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว (2012) อย่างที่คนในวงการทราบกันแล้วว่า แบรนด์ของเรารวมถึง Precision Engineering AG (บริษัทในเครือที่เชี่ยวชาญด้านการผลิตชิ้นส่วนกลไก โดยมีผลิตผลสำคัญอย่าง Straumann Hairspring ซึ่งถูกเรียกตามนามของ Thomas Straumann ผู้ถือหุ้นหลักคนก่อนเป็นสินค้าหลัก) มีกลุ่มผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งก็ยังคงเป็นกลุ่มอิสระที่มีเจ้าของเป็นบุคคล มิได้เป็นกรุ้ปบริษัทใหญ่ใดๆ โดยผู้ที่เป็นเจ้าของก็คือ Georges-Henri Meylan อดีตซีอีโอของ Audermars Piguet ซึ่งนอกจาก H.Moser แล้วกลุ่มนี้ยังเข้าถือครองแบรนด์นาฬิกา Hautlence และร่วมถือหุ้นในแบรนด์โทรศัพท์มือถือสุดไฮเอนด์ Celcius ด้วย ซึ่งการที่ Meylan เล็งเห็นถึงศักยภาพของแบรนด์และก้าวเข้ามาดูแล Moser นั้นถือเป็นข่าวดีของทุกคนในบริษัทและแบรนด์ เพราะเขาเป็นผู้ที่รู้และเข้าใจในเรื่องของนาฬิกาเป็นอย่างดี ทั้งในด้านการผลิตและการตลาดจากประสบการณ์อันยาวนานในวงการนาฬิการะดับสูง ซึ่งเชื่อว่าจะนำพา H.Moser & Cie. ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง จึงอยากให้ความมั่นใจกับทุกท่านว่า H.Moser & Cie. มีความแข็งแกร่งและพร้อมที่จะนำแบรนด์ก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้พาร์ทเนอร์ของเราซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาที่แข็งแกร่งในประเทศต่างๆ อย่างเช่น PMT The Hour Glass ในประเทศไทยก็ยังคงให้การสนับสนุนเราเป็นอย่างดีเหมือนเดิม
IAW: แล้วทิศทางการทำตลาดต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรครับ จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิมบ้าง
แบรนด์ของเรามีจุดแข็งอยู่ที่คุณภาพของนาฬิกาที่มากับกลไกที่เยี่ยมยอด จุดที่เราขาดก็คือผู้คนส่วนใหญ่ที่ยังไม่รู้จักแบรนด์ของเราดีนัก เพราะเรายังทำการตลาดได้ไม่ทั่วถึงด้วยงบประมาณที่จำกัดจึงยากที่จะถูกนำเสนอออกมาต่อผู้คนในวงกว้าง เนื่องจากก่อนหน้านี้เราใช้เงินลงทุนจำนวนมากไปกับเครื่องจักรและการใช้ชิ้นส่วนที่ดีที่สุด รวมถึงทองคำที่มาใช้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อให้นาฬิกาของเราเป็นนาฬิกาที่มีคุณภาพสูงสุดดังที่ตั้งใจ นาฬิกาของเราไปถึงจุดนั้นแล้ว แต่การตลาดเรายังไปไม่ถึง ดังนั้นงานด้านการตลาดจะเป็นสิ่งที่ต้องถูกปรับปรุงอย่างเร่งด่วน จากนี้เป็นต้นไปเราจะมีการสื่อสาร อธิบาย และประชาสัมพันธ์มากยิ่งขึ้นให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้ว่า H.Moser & Cie. เป็นแบรนด์นาฬิกาชั้นนำของโลกอย่างแท้จริง
IAW: แล้วด้านผลงานนาฬิกาใหม่ๆ สำหรับปี 2013 นี้ จะมีอะไรออกมาให้ชื่นชมกันบ้าง
ขณะนี้ แผนกวิจัยและพัฒนาของเรากำลังดำเนินการคิดค้นและพัฒนาโปรเจ็คต์ใหม่ๆ อยู่ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าจะมีอะไรที่ใหม่จริงๆ ออกมา ดังนั้นในปี 2013 นี้คงยังไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ออกมานำเสนอกัน จะมีก็เป็นเวอร์ชั่นใหม่ๆ ของไลน์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเราก็ได้นำเสนอต่อสื่อมวลชนและตัวแทนจำหน่ายไปแล้วในงาน GTE (Geneva Time Exhibition) ที่เจนีวา เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งนาฬิกาเหล่านี้ก็จะถูกนำเสนอต่อสาธารณชนในวงกว้างอีกครั้งที่งานบาเซิลเวิลด์ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้โดยถือเป็นการเปิดตัวเวอร์ชั่นใหม่เหล่านี้อย่างเป็นทางการ IAW: ช่วยแนะนำหน่อยครับ ว่ามีเวอร์ชั่นใหม่ของรุ่นใดบ้าง เริ่มที่ Monard ก่อนนะครับ เวอร์ชั่นใหม่นี้จะมากับหน้าปัดแล็กเกอร์ดำที่มีหลักชั่วโมงซึ่งเรียงด้วยเพชรทรงบาแกตต์รวม 32 เม็ด ตัวกลไกก็ยังคงเป็นเครื่องเดิมที่มีกำลังสำรองถึง 7 วัน พร้อมเข็มแสดงกำลังสำรองที่ด้านหลัง เวอร์ชั่นนี้ทำให้นาฬิกาเดรสที่มีบุคลิกเฉพาะตัวของ H.Moser & Cie มีความหรูหรายิ่งขึ้นแบบไม่เยอะจนเกินไป ความคลาสสิกที่ Moser เป็นเสมอมาจึงยังคงมีอยู่ในนาฬิกาเรือนนี้อย่างเต็มเปี่ยม หน้าปัดของนาฬิกาเรือนนี้ทำยากมากเลยทีเดียวเพราะเป็นการจัดเรียงหลักชั่วโมงที่เป็นเพชรทรงบาแกตต์ลงในช่องของหน้าปัดเลย ไม่ได้เป็นการจัดวางบนแผ่นหน้าปัดเหมือนที่พบเห็นได้ทั่วไป ลองมองดูสิครับจะเห็นว่าวางได้แนบเนียนเป็นอย่างยิ่ง ไม่ได้ดูเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ยื่นขึ้นมาจากพื้นหน้าปัดเหมือนหน้าปัดนาฬิกาหลักชั่วโมงเพชรทั่วไป
หลังตัวเรือนของ Monard กรุแซฟไฟร์มองเห็นงานขัดแต่งสุดประณีตและเข็มแสดงกำลังสำรอง
Monard ตัวเรือนไวท์โกลด์ กลไกไขลาน กระปุกลานคู่ กำลังสำรอง 7 วัน มีเข็มแสดงกำลังสำรองอยู่ด้านหลังของเครื่อง พาลเล็ทฟอร์คและเอสเคปเม้นท์วีลทำจากทองคำ เรือนซ้ายเป็นแบบหน้าปัดอีนาเมลดำฝังเพชรทรงบาแกตต์เรียงเป็นหลักชั่วโมง เรือนขวาเป็นแบบหน้าปัดเงิน
IAW: จริงครับ หากมองไกลๆ แล้วแทบจะดูไม่ออกว่าเป็นเพชร แล้วรุ่นอื่นๆ มีอะไรอีกบ้าง
นอกจากนี้ยังมี Monard ในเวอร์ชั่นหน้าปัดสีเงินด้วย ก่อนหน้านี้เรามีหน้าปัดเคลือบโรเดียมคู่กับตัวเรือนไวท์โกลด์อยู่แล้ว แต่หน้าปัดสีเงินที่มากับตัวเรือนโรสโกลด์ของเวอร์ชั่นใหม่นี้จะให้สีเงินที่สว่างกว่าทำให้ดูมีประกายสดใสยิ่งขึ้น ถัดมาเป็นรุ่น Mayu ในเวอร์ชั่นปรับปรุงหน้าปัดใหม่ที่มากับหลักชั่วโมงแบบติดลงบนหน้าปัด ต่างกับแบบเดิมที่เป็นการผสมกันระหว่างแบบติดกับแบบพิมพ์ และก็มีเวอร์ชั่นตัวเรือนโรสโกลด์กับหน้าปัดสีทองแดง (ค้อปเปอร์) เพิ่มขึ้นมาด้วย ทั้งหมดนี้มาในลักษณะของตัวเรือนที่บ่งบอกความเป็น Moser อย่างเด่นชัด จะเห็นว่าเราใช้ตัวเรือนที่มีดีไซน์ลักษณะเดียวกันตั้งแต่รุ่นเอ็นทรี่อย่าง Mayu ไปจนถึงรุ่นสูงสุดของเราอย่าง Perpetual 1
(ภาพซ้าย) Mayu ในตัวเรือนไวท์โกลด์ และหน้าปัดสีทองแดงในตัวเรือนโรสโกลด์ มากับหลักชั่วโมงแบบติดตั้งบนพื้นหน้าปัด กลไกไขลานอินเฮ้าส์ กำลังสำรอง 3 วัน มีเข็มแสดงกำลังสำรองอยู่ทางด้านหลังของเครื่องซึ่งสามารถมองเห็นได้ผ่านทางฝาหลังกรุแซฟไฟร์ พาลเล็ทฟอร์คและเอสเคปเม้นท์วีลทำจากทองคำ
(ภาพขวา) ลักษณะของตัวเรือนอันเป็นเอกลักษณ์ของ H.Moser & Cie
Moser Perpetual 1 ตัวเรือนโรสโกลด์ หน้าปัดแบบฟูเม่ กลไกไขลาน กระปุกลานคู่ กำลังสำรอง 7 วัน ฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์แสดงวันที่ถาวรผ่านช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกา โดยทาง Moser เรียกว่า เพอร์เพทชวลแฟลชคาเลนดาร์ สามารถปรับตัวเลขไปข้างหน้าหรือย้อนกลับ ณ เวลาใดก็ได้ มีเข็มแสดงกำลังสำรองอยู่ที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา ฝาหลังกรุแซฟไฟร์ พาลเล็ทฟอร์คและเอสเคปเม้นท์วีลทำจากทองคำ
IAW: แล้วรุ่นเด่นของแบรนด์ Perpetual 1 มีเวอร์ชั่นใหม่ด้วยมั้ยครับ
สำหรับ Moser Perpetual 1 เราก็ออกเวอร์ชั่นตัวเรือนโรสโกลด์คู่กับหน้าปัดฟูเม่ (Fumé) มาเพิ่มด้วย จากที่ก่อนหน้านี้ หน้าปัดฟูเม่จะมาคู่กับตัวเรือนพัลลาเดียมเท่านั้น
IAW: เท่ากับว่าปีนี้เหมือนจะมีแต่รุ่นไมเนอร์เชนจ์ออกมา
ใช่ครับ และที่บาเซิลก็น่าจะมีออกมาให้เห็นเพิ่มเติมอีก ปีนี้เราจะเน้นหนักไปที่การสร้างการรับรู้ในแบรนด์ของเรา รวมถึงปรับปรุงแพ็คเกจจิ้ง คู่มือ เอกสารต่างๆ ตลอดจนแค็ตตาล็อกไปถึงหน้าเว็บไซต์ของเราให้มีข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นและสวยงามยิ่งขึ้น เพราะเราตระหนักดีว่า นอกจากนาฬิกาจะยอดเยี่ยมแล้ว รายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ก็มีส่วนช่วยสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้เป็นเจ้าของนาฬิกาของเราด้วย และก็ต้องหาทางให้ผู้ขายนาฬิกาสามารถอธิบายสิ่งพิเศษที่อยู่ภายในนาฬิกาของเราให้ลูกค้าเห็นภาพได้ด้วย
จากซ้าย: Moser Perpetual 1 ตามด้วย Mayu 2 แบบ และ Monard อีก 2 แบบ
เกี่ยวกับ H.Moser & Cie
ผู้ให้กำเนิด H.Moser & Cie คือ นักประดิษฐ์นาฬิกาชื่อ Heinrich Moser ผู้ซึ่งมีความมุ่งมั่นในการยื่นความจำนงที่จะตั้งโรงงานผลิตนาฬิกาประจำเมืองชาฟเฮ้าเซ่น (Schaffhausen) สวิตเซอร์แลนด์ ขึ้นในปี ค.ศ. 1826 แต่ผู้มีอำนาจดูแลเมืองในตอนนั้นกลับปฏิเสธเขาและมอบหมายให้ผู้ผลิตนาฬิกาอีกแห่งหนึ่งเป็นผู้ผลิตนาฬิกาประจำเมืองแทน เขาจึงย้ายถิ่นฐานจากสวิตเซอร์แลนด์ไปยังเมือง เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ในรัสเซีย และเปิดบริษัทเทรดดิ้งชื่อ H.Moser & Co. ขึ้นมาเมื่อปลายปี 1828 เพื่อทำตลาดนาฬิกาพกในประเทศแถบยุโรปและเอเชียผ่านสาขาต่างๆ ของตนและช่องทางจำหน่ายต่างๆ ด้วยนาฬิกาที่ผลิตขึ้นเองจากโรงงานซึ่งก่อตั้งขึ้นในเลอลอคล์ สวิตเซอร์แลนด์ (Le Locle) เมื่อปี 1829 หรือผลิตโดยซัพพลายเออร์รายต่างๆ ด้วยแบรนด์ H.Moser & Cie
เมื่อเขาประสบความสำเร็จทางด้านการค้านาฬิกาแล้ว เขาก็ได้กลับไปสวิตเซอร์แลนด์ในปี 1853 เพื่อตั้งเวิร์คช็อปขึ้นในชาฟเฮ้าเซ่นซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา เพื่อผลิตตัวเรือนนาฬิกาพกที่ทำจากเงิน จากนั้นอีกไม่กี่ปีถัดมาก็เป็นเวิร์คช็อปแห่งที่สอง กระทั่งปี 1863 ก็มีการใช้อุปกรณ์เครื่องจักรใหม่ๆ ที่ออกแบบขึ้นเอง จนทำให้เวิร์คช็อปของเขากลายมาเป็นโรงงานผลิตตัวเรือนในที่สุด เมื่อ Heinrich Moser เสียชีวิตลงในปี 1874 ภรรยาคนที่สองของเขาก็ได้ขายบริษัทเทรดดิ้งให้กับ Johann Winterhalter ซึ่งเป็นช่างนาฬิกาชาวสวิสที่เป็นพนักงานคนหนึ่งของบริษัท ส่วนโรงงานผลิตนาฬิกาในเลอล็อคล์ก็ขายให้กับชายชื่อ Paul Girard โดยมีเงื่อนไขที่ว่าจะต้องดำเนินกิจการภายใต้ชื่อแบรนด์เดิมต่อไปตามเจตจำนงค์ของสามีของเธอ ซึ่งก็กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทีสืบต่อตลอดมาไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้ถือครองบริษัทมากี่ครั้งก็ตาม ตระกูลสายตรงของ Moser สิ้นสุดลงในรุ่นของ Henri ลูกชายของ Heinrich นั่นเอง เพราะเขาไม่มีลูกชายสืบตระกูลต่อ
ในปี 1918 บริษัทในรัสเซียต้องปิดตัวลงสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติในรัสเซียเมื่อปี 1917 เพราะผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้ตลาดนาฬิกาในประเทศถูกครอบครองโดยผู้ผลิตนาฬิกาจากสวิสอีกต่อไป ตัวเจ้าของบริษัทในขณะนั้นก็ย้ายกลับไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ แต่กิจการธุรกิจนาฬิกาของ Moser ในมอสโคว์ รัสเซีย นั้นก็ถูกหน่วยงานของรัฐที่ตั้งขึ้นในปี 1920 โดยใช้ชื่อว่า Central Watch Repair Workshop ดำเนินการต่อ และก็ได้เริ่มผลิตนาฬิกาของตนเองขึ้นตั้งแต่ราวปี 1927 เป็นต้นมา ขณะที่โรงงานในเลอล็อคล์ สวิตเซอร์แลนด์ ที่อยู่ภายใต้การบริหารของตระกูล Girard ยังคงดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตทั้งนาฬิกาพกและนาฬิกาข้อมือ ซึ่งในปี 1953 ก็มีการผลิตนาฬิกาข้อมือกันน้ำและนาฬิกากลไกอัตโนมัติขึ้นมาด้วย จนมาถึงในปี 1979 โรงงานที่เลอล็อคล์ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัท Dixi-Mechanique Group
ประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของแบรนด์ H.Moser & Cie ถูกสานต่ออีกครั้งโดย Dr. Jurgen Lange ในปี 2002 เขาได้นำชื่อ H.Moser & Cie กลับมาสู่โลกใบนี้อีกครั้ง โดยได้ร่วมกับทายาทรุ่นเหลนของ Heinrich Moser คือ Roger Nicholas Balsiger และนักลงทุนกลุ่มเล็กๆ ก่อตั้งบริษัท Moser Schaffhausen AG ขึ้นมา ต่อมาก็ได้ทำการเปิดตัวนาฬิกาภายใต้แบรนด์ H.Moser & Cie ในปี 2005 ซึ่งถือเป็นการฉลองอายุครบ 200 ปีของ Heinrich Moser ด้วย ปีถัดมาก็ได้นำเสนอนาฬิกา 4 รุ่น คือ Moser Perpetual 1, Monard Date, Monard และ Mayu ที่งานบาเซิลเวิลด์ 2006 ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวสู่สาธารณชนอย่างกว้างขวางครั้งแรกของนาฬิกา H.Moser & Cie ยุคใหม่ โดย Moser Perpetual 1 ยังได้รับรางวัลอันดับสองจาก Montre de l’annee 2006 และรางวัลชนะเลิศในสาขานาฬิกาซับซ้อนจาก Grand Prix d’Horlogerie de Geneve 2006 อีกด้วย นับเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่โดยแท้ นาฬิกาของ H.Moser & Cie ยุคใหม่นั้นจะถูกผลิตขึ้นภายใต้หลักการสำคัญ 2 ประการ คือ ต้องใช้วัสดุและส่วนประกอบจากผู้ผลิตที่ดีที่สุด และผลิตส่วนประกอบขึ้นด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุดเพื่อที่จะได้สิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง และชิ้นส่วนกลไกต่างๆ จะต้องได้รับการขัดแต่งและประกอบด้วยมือจากช่างผู้เชี่ยวชาญอย่างพิถีพิถัน ดังนั้นนาฬิกาของ H.Moser & Cie จึงใช้แต่กลไกจักรกลที่ออกแบบและผลิตขึ้นเองแบบอินเฮ้าส์เท่านั้น
ต่อมาในงานบาเซิลเวิลด์ 2007 ทางบริษัทก็ได้แนะนำแฮร์สปริงที่เรียกว่า Straumann Hairspring (ตั้งชื่อตามนามของ Thomas Straumann ผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทในขณะนั้น) ซึ่งพัฒนาและผลิตขึ้นโดยบริษัทในเครือที่ชื่อ Precision Engineering AG ในชาฟเฮ้าเซ่น ให้โลกได้รู้จัก ทั้งยังเปิดตัวนาฬิกาทรงตอนโนรุ่น Henry Double Hairspring ที่ใช้เครื่องที่ออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับรุ่นนี้โดยเฉพาะ และเปิดตัวนาฬิกา Mayu ในตัวเรือนวัสดุพัลลาเดียมอันล้ำค่าด้วย ต่อมาในปี 2008 ก็มี Mayu Black Pearl กับ Mayu White Pearl ซึ่งมากับหน้าปัดเปลือกหอยมุกและสายนาฬิกาหนังกระเบน และ Mayu Palladium ในตัวเรือนพัลลาเดียมบรรจุกลไกที่ใช้ Straumann Double Hairspring และเอสเคปเม้นท์วีลที่ทำจากไวท์โกลด์ตามออกมา ในปี 2009 ก็ได้ออกรุ่น Henry กับ Monard ในตัวเรือนพัลลาเดียมบรรจุกลไกที่ใช้ Straumann Double Hairspring มาให้ชื่นชม ต่อด้วยปี 2010 กับนาฬิการุ่นใหม่ Perpetual Moon ที่ไม่ต้องการการปรับตั้งมูนเฟสอีกเป็นเวลากว่า 1,000 ปี มาถึงปี 2011 ก็เปิดตัวนาฬิการุ่น Monard Marrone, Pepetual 1 Golden Edition ที่มีเพลทและบริดจ์ทำจากทองคำและใช้ Straumann Double Hairspring ทั้งยังเป็นนาฬิกาเรือนแรกของโลกที่ใช้เพชรทำหน้าที่รองรับการสะเทือนอีกด้วย และก็มี Moser Perpetual 1 ในตัวเรือนพัลลาเดียมบรรจุกลไกที่ใช้ Straumann Double Hairspring ด้วย ส่วนในปี 2012 ที่ผ่านมาก็มีการเปิดตัวรุ่น Meridian ที่เป็นนาฬิกากลไกอัตโนมัติรุ่นแรกของตน ภายในงานบาเซิลเวิลด์ 2012 โดยมาพร้อมกับฟังก์ชั่นบอกเวลาไทม์โซนที่สองด้วย
By: Pramote R. & Viracharn T.