วินเทจวันละนิด วันนี้เสนอตอน ไขคดีฆาตกรรมด้วยนาฬิกา ROLEX
By: Rittidej Mohprasit
ก่อนจะว่ากันถึงเรื่องคดีนี้ ขอบอกกันก่อนว่าไม่ต้องห่วงเลยว่าบทความนี้จะมีภาพประกอบหรือเนื้อหารุนแรงอย่างแน่นอนครับ สบายๆ เล่ากันพอเป็นเกร็ดความรู้นะครับ
เชิญพบกับ นายอัลเบิร์ท วอล์คเกอร์
เรื่องของเรื่องคือ ชายคนหนึ่งชื่อ อัลเบิร์ต วอล์คเกอร์ ชาวแคนาดา มีอาชีพเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุนในเมืองแฮมิลตัน ออนตาริโอ ประเทศแคนาดา หลังจากที่นายวอล์คเกอร์ได้ผ่านประสบการณ์การทำงานเป็นพนักงานธนาคารและกองทุนต่างๆ มานิดหน่อย ก็ลาออกมาเปิดบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการเงินและการลงทุนของตัวเอง
สิบปีหลังจากนั้น ในปี 1990 นายวอล์คเกอร์ก็ต้องประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก เนื่องจากเขาพลาดลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงกลุ่มหนึ่ง ซึ่งภายหลังก็กลายเป็นหุ้นเสีย เป็นเหตุให้เขาต้องตกเป็นหนี้จำนวนมหาศาล ทรัพย์สินส่วนตัวและบริษัทของเขาต้องถูกนำไปจำนำ/จำนองเพื่อผัดผ่อนการชำระหนี้ แต่ดูท่าทางแล้วคงน่าจะไม่มีวันชำระได้ครบ นายวอล์คเกอร์เลยตัดสินใจโกงเงินลูกค้าของบริษัทตัวเองซะ และด้วยความที่เขาเป็นผู้ที่มีอาชีพให้คำปรึกษาทางการเงินอยู่แล้ว จึงมีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อการโกงทั้งหมดกว่า 70 ราย ตีมูลค่าความเสียหายเป็นเงินปัจจุบันถึงเกือบ 200 ล้านบาทเลยทีเดียว แถมเมื่อเสร็จกิจ นายวอล์คเกอร์ก็เปิดแน่บ หนีไปพร้อมลูกสาว (ซึ่งถูกบังคับไปด้วย โดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่) ไปอาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ในประเทศอังกฤษ แล้วเปลี่ยนไปใช้ชื่อปลอมว่า นายเดวิส ดาวิส เพื่อหนีการจับกุมของตำรวจ
คดีนี้ถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ใหญ่มากของประเทศแคนาดา หลังจากที่นายวอร์คเกอร์หนีไปแล้ว ศาลก็ได้ตัดสินให้นายวอล์คเกอร์มีความผิดคดีอาญาฐานฉ้อโกง ลักทรัพย์ และฟอกเงินจำนวน 18 กระทง ในช่วงนั้นนายวอล์คเกอร์ก็ได้รับเกียรติจากสำนักงานตำรวจแคนาดา ให้เป็นผู้ต้องหาที่เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดอันดับหนึ่งของประเทศแคนาดา แถมยังกลายเป็นผู้ต้องหาที่เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดเป็นอันดับสองตามการจัดลำดับของตำรวจสากลอีกด้วย
อัลเบิร์ต วอล์คเกอร์ตอนหลบหนีไปอยู่ประเทศอังกฤษ
หลังจากหนีไปอยู่ประเทศอังกฤษได้สักพัก นายวอล์คเกอร์ก็ได้พบกับนายโรเบิร์ต แพลตต์ ช่างซ่อมทีวีที่มีพื้นเพเป็นชาวแคนาดาเหมือนกัน ก็ไม่รู้ว่าสองคนนี้ถูกชะตากันอีท่าไหน ทั้งคู่เลยตกลงจะทำธุรกิจร่วมกัน แต่ไม่นานหลังจากนั้น นายแพลตต์ก็เริ่มคิดถึงแคนาดาบ้านเกิด นายวอล์คเกอร์สบโอกาสเลยคิดที่จะสวมรอยเป็นนายแพลตต์ (จากเดิมที่ต้องใช้ชื่อปลอมและไม่มีหลักฐานที่เป็นทางการใดๆ เกี่ยวกับการมีตัวตนของตัวเอง) เขาจึงสนับสนุนอย่างแข็งขันให้นายแพลตต์เดินทางกลับบ้านที่แคนาดา พร้อมรับปากที่จะออกเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมด แถมแบ่งกำไรจากธุรกิจที่ทำมาด้วยกันให้ โดยมีข้อแม้ว่า นายแพลตต์จะต้องทิ้งใบขับขี่ สูจิบัตร และตราประทับลงนามของเขาไว้กับนายวอล์คเกอร์ โดยอ้างว่าจำเป็นต้องเก็บไว้ใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการบริษัท ซึ่งนายแพลตต์ตอบตกลงและบินกลับไปแคนาดาในปี 1992 โดยเขาตั้งใจว่าจะอยู่แคนาดาไปตลอดชีวิต
ตอนนี้เอง นายวอล์คเกอร์จึงเริ่มใช้ชีวิตใหม่ในนามโรเบิร์ต แพลตต์ แล้วทำธุรกิจที่ประเทศอังกฤษจนร่ำรวย (แต่จริงๆ คือโกงเขามาจากแคนาดาจนรวยจะแย่อยู่แล้ว)
โรเบิร์ต แพลตต์ ตัวจริง สังเกตข้อมือให้ดีๆ นะ
แต่นายแพลตต์ตัวจริงที่กลับแคนาดาไป อยู่ได้แค่สองปีก็เงินหมด ดังนั้นในปี 1995 เขาจึงต้องกลับมาหางานทำที่อังกฤษอีกครั้ง จึงเกิดปัญหาขึ้นว่า “แพลตต์สองคนอยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้” นายวอล์คเกอร์ซึ่งใช้ชื่อว่าโรเบิร์ต แพลตต์ ก็กลัวว่าฉากบังหน้าของเขาจะต้องถูกเปิดโปง เลยวางแผนจัดการขั้นเด็ดขาด หลอกนายแพลตต์ตัวจริงไปขึ้นเรือยอร์ชออกทะเล เพื่อไปตกปลาด้วยกันสองคน (เพื่อให้ไม่มีพยาน) และเขาลงมือสังหารนายแพลตต์โดยทุบหัวให้หมดสติ แล้วถ่วงร่างของนายแพลตต์ตัวจริงกับสมอเรือลงทะเลไป เพื่ออำพรางคดี การฆาตกรรมครั้งนี้เรียกได้ว่าเกือบสมบูรณ์แบบทีเดียว... แต่ก็แค่เกือบๆ อะนะ
เรือยอร์ชที่เป็นสถานที่ฆาตกรรม
สองสัปดาห์ผ่านไป ชาวประมงค์คนหนึ่งพบศพที่ถูกถ่วงน้ำอยู่จึงแจ้งตำรวจอังกฤษ เมื่อตรวจสอบสภาพศพแล้วก็พบว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะระบุตัวตน เพราะกระแสน้ำที่เชี่ยวกราดและสัตว์ทะเลที่หิวโหยได้ทำลายสภาพศพจนไม่สามารถระบุตัวตนได้... แต่ก็มีวัตถุสิ่งหนึ่งเหลืออยู่และคงสภาพอยู่อย่างสมบูรณ์ นั่นคือ นาฬิกา ROLEX OYSTER PERPETUAL เรือนหนึ่ง (พระเอกมาแล้วจ้า...)
คนที่รักนาฬิกาคงรู้กันดีว่า ROLEX เขาภาคภูมิใจหนักหนากับความแม่นยำและความคงทนของนาฬิกา เพราะอย่างนาฬิกาเรือนนี้ ที่หลังจากถูกเอาไปแช่น้ำทะเลกว่าสองสัปดาห์ ก็ไม่ปรากฎว่ามีน้ำหรือความชื้นแทรกซึมเข้าไปในตัวเรือน และเนื่องจาก ROLEX รับประกันว่านาฬิการุ่นนี้มีพลังสำรองลานที่ประมาณ 50 ชั่วโมง ตำรวจเลยอาศัยข้อมูลวันที่และเวลาที่ปรากฏบนหน้าปัด ไปคำนวณวันและระยะเวลาที่เกิดเหตุฆาตกรรมได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ เมื่อขอหมายศาลตรวจสอบเลขตัวเรือน (ซีเรียลนัมเบอร์) และเลขเครื่องของนาฬิกาเรือนนี้ที่ ROLEX USA ก็พบว่านาฬิกาเรือนนี้เป็นของนายโรเบิร์ต แพลตต์ และยังพบว่าถูกนำมาเซอร์วิสแล้วหลายครั้ง รวมถึงครั้งสุดท้ายก็ปรากฎชื่อผู้ที่ส่งไปเซอร์วิสว่า “โรเบิร์ต แพลตต์”
นาฬิกา ROLEX หลักฐานสำคัญของคดี
เมื่อเบาะแสที่ชี้ไปที่คนที่ใช้ชื่อว่า โรเบิร์ต แพลตต์ ตำรวจจึงสืบตามและกลับพบว่าเพื่อนบ้านของเขายืนยันว่าคนที่ใช้ชื่อว่า โรเบิร์ต แพลตต์ นั้นไม่ได้หายไปไหนเลย เขายังอยู่ที่บ้านเดิมพร้อมกับลูกสาว และยังคงใช้ชีวิตปกติ ไปไหนมาไหนให้เห็นทุกวัน รวมทั้งมีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านจนถึงปัจจุบัน เรื่องเลยมาโป๊ะแตกว่า จริงๆ คนที่เพื่อนบ้านเรียกเขาว่า โรเบิร์ต แพลตต์ นั้นจริงๆ แล้วเขาคือนายอัลเบิร์ต วอล์คเกอร์ ผู้ต้องหาคดีอาชญกรรมทางธุรกิจจากประเทศแคนาดา ที่ตอนนี้กำลังจะกลายเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมนายแพลตต์ตัวจริง และเป็นผู้ต้องหาฐานปลอมแปลงเอกสารในประเทศอังกฤษเพิ่มขึ้นมาอีกหลายกระทงด้วย
หลักฐานที่ได้จากนาฬิกา ROLEX เรือนนี้ ถูกใช้เป็นพยานหลักฐานชิ้นสำคัญในการพิสูจน์ว่า ณ เวลาที่เกิดเหตุนายวอล์คเกอร์ได้ออกเรือยอร์ชไปตกปลากับนายแพลตต์ เวลาฆาตกรรมก็สอดคล้องกับเวลาที่นายแพลตต์ตัวปลอมกลับบ้านตามคำให้การของเพื่อนบ้าน เมื่อผสมกับหลักฐานอื่นๆ เช่นเรือของเขาสมอหายไป รวมถึงแรงจูงใจที่นายวอล์คเกอร์ได้ปลอมตัวเป็นนายแพลตต์มาหลายปี จึงกลายเป็นหลักฐานที่แน่นหนาจนศาลตัดสินให้นายวอล์คเกอร์ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต
นี่หละครับตัวอย่างที่เขาพูดกันว่า “ไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ดี” (There is no such thing as bad publicity) ถึงแม้ ROLEX จะไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ไม่ค่อยน่าอภิรมย์ แต่คดีโด่งดังคดีนี้ก็ถือเป็นการประชาสัมพันธ์คุณสมบัติความแม่นยำและความคงทนให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดีไปด้วยนะครับ