วินเทจวันละนิด นาฬิกาจับเวลา Rolex Ref. 3525 “เชลยศึก”
เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า Rolex และ Tudor ก่อตั้งโดยช่างนาฬิกาชาวเยอรมันโดยกำเนิดชื่อ Hans Wilsdorf แต่อาจเพราะ Rolex ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกที่อังกฤษ และ Hans เองก็มีความผูกพันกับประเทศอังกฤษเป็นอย่างมาก เพราะย้ายมาตั้งรกรากตั้งแต่อายุ 23 ปี และแต่งงานกับภรรยาในประเทศอังกฤษจนได้รับสัญชาติในปี 1911 แม้สุดท้ายในปี 1919 ทั้งตัว Hans เอง Rolex และ Tudor จะย้ายไปอยู่ที่เจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ก็ตาม แต่ในเวทีความขัดแย้งซึ่งเยอรมันและอังกฤษต้องอยู่คนละฝั่งของสงคราม Hans Wilsdorf กลับเลือกที่จะอยู่ฝ่ายเดียวกับอังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตร
Hans Wilsdorf ผู้ก่อตั้ง Rolex และ Tudor
ในช่วงสงครามโลก นายทหารในกองทัพอากาศอังกฤษ (Royal Air Force : RAF) จะมีความเสี่ยงในกรณีถูกจับเป็นเชลยศึก ซึ่งต้องถูกกดขี่ ข่มเหง และทรมาน เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลความลับทางการทหาร ดังนั้นจึงมีแนวปฏิบัติที่นายทหารอังกฤษ จะต้องแอบซ่อนเครื่องมือขนาดจิ๋วเพื่อเอาตัวรอด ไว้ในช่องกลไกของนาฬิกาข้อมือเช่น เข็มแม่เหล็ก (ซึ่งนอกจากจะใช้สำหรับงัดแงะได้แล้ว ยังสามารถใช้แทนเข็มทิศได้ด้วย) หรือแม้กระทั่งแผนที่ฉบับเล็กๆ เพื่อระบุตำแหน่งและทิศทางการหลบหนี จนทหารเยอรมันเริ่มรู้ทัน ดังนั้นเมื่อถูกจับตัวได้และต้องถูกส่งตัวไปอยู่ในค่ายกักกัน สิ่งแรกที่จะถูกทหารเยอรมันยึดไปก็คือนาฬิกาเหล่านี้ และทำให้ทหารอังกฤษไม่มีนาฬิกาใช้
เหล่านายทหารอังกฤษที่ถูกจับอยู่ในค่ายกักกัน
ด้วยข้อเท็จจริงนี้ จะเรียกได้ว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ Hans Wilsdorf หรือการพนันที่ประสบความสำเร็จก็ได้ เพราะช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เส้นทางการขนส่งนาฬิกาออกจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ถูกตัดขาด และในปี 1942 แม้ฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มดูมีวี่แววว่าจะได้เปรียบอยู่นิดหน่อย แต่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์กลับต้องถูกรายล้อม อยู่ในพื้นที่ของชาติฝ่ายอักษะทั้งหมด ท่ามกลางวิกฤตินี้ Hans Wilsdorf กลับเห็นโอกาสอันดีในการทำตลาดกับเหล่านายทหารสัมพันธมิตร โดยเฉพาะนายทหารชาวอังกฤษและอเมริกัน ซึ่งถูกจับเป็นเชลยศึกอยู่ในค่ายกักกันต่างๆ รอบข้างประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่ง Hans คงเล็งเห็นได้ว่า ถ้าประเทศอังกฤษและฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม นายทหารเหล่านี้จะกลายเป็นฮีโร่ ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและทำตลาดให้กับแบรนด์ Rolex ได้เป็นอย่างดีแน่นอน
ในปี 1943 ทาง Rolex จึงทำแคมเปญขายนาฬิกาให้กับเหล่าเชลยศึก โดยมีเงื่อนไขคือเป็นนายทหารชาวอังกฤษ ต้องเขียนจดหมายจากค่ายกักกันผ่านองค์การกาชาดสากล ติดต่อไปที่ Rolex SA ในเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และ Rolex จะส่งนาฬิกาไปให้พร้อมจดหมายซึ่งบางฉบับลงลายมือชื่อ Hans Wilsdorf เอง จดหมายนี้จะระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นนาฬิกาอะไร เลขที่อะไร และราคาเท่าไหร่ พร้อมเงื่อนไขว่าเมื่อสงครามจบแล้วค่อยมาจ่ายเงิน สังเกตข้อความในสำเนาจดหมายข้างล่าง ระบุไว้อย่างน่ารักว่า “แต่คุณอย่าได้คิดที่จะจ่ายเงินค่านาฬิการะหว่างสงครามเชียวนะ” (…but you must not even think of settlement during the war)
และในจดหมายอีกฉบับ แต่เป็นพนักงานคนอื่นลงชื่อ สังเกตที่มุมล่างด้านซ้าย จะเห็นว่านอกจาก Rolex จะส่งนาฬิกาให้แล้ว ยังส่งใบเสร็จรับเงิน คู่มือการใช้งาน ใบรับรองความเที่ยงตรง และใบรับประกันไปพร้อมกันอีกด้วย
นายทหารส่วนใหญ่ที่ซื้อนาฬิกาผ่านแคมเปญนี้ มักเลือกนาฬิกาสามเข็มขนาดเล็กราคาถูกซึ่งก็คือ Rolex Speed King ในขณะที่นายทหารบางคนกลับเลือกสั่งนาฬิกาจับเวลา Rolex Chronograph Ref. 3525 ตัวเรือนสตีลแบบโมโนบล็อค ซึ่งถือว่าเป็นนาฬิกาที่มีราคาเกือบจะแพงที่สุดของ Rolex ในขณะนั้นแล้ว (ในยุคนั้น Ref. 3525 จะใช้ตัวเรือนเยลโลว์โกลด์ แต่จะส่งนาฬิกาเรือนทองคำให้เชลยศึกในแคมป์กักกัน ก็คงเสี่ยงเกินไป)
Rolex Chronograph Ref. 3525
Rolex Chronograph Ref. 3525
นาฬิกา Rolex Chronograph Ref. 3525 นี้เอง ที่ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญที่เหล่าทหารในค่ายใช้เพื่อวางแผนการทำงานร่วมกันหลายเดือน เพื่อขุดอุโมงหนีออกจากค่ายกักกัน Stalag Luft III ในคืนเดือนมืดวันที่ 24 มีนาคม 1944 ซึ่งนายทหารอังกฤษจำนวน 76 คน สามารถหนีรอดออกมาจากค่ายกักกันได้สำเร็จ เหตุการณ์นี้ทำให้ฮิตเลอร์เสียหน้าเป็นอย่างมาก ถึงกับสั่งตำรวจลับเกสตาโปให้ตามล่านักโทษทั้งหมดอย่างสุดกำลังทั่วทั้งทวีปยุโรป น่าเศร้าที่นายทหาร 50 คนถูกจับได้และถูกสั่งประหารชีวิต แต่การหลบหนีที่เปี่ยมไปด้วยความกล้าและบ้าบิ่นนี้ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรในการรบ และเหตุการณ์ครั้งนี้ถูกนำมาเผยแพร่ผ่านหนังฟอร์มยักษ์เรื่อง The Great Escape (ปี 1963) ซึ่งนำแสดงโดย Steve McQueen
ปัจจุบันนาฬิกา Rolex Chronograph Ref. 3525 จึงมีชื่อเล่นว่า Prisoner of War หรือ POW (เชลยศึก) และกลายเป็นของสะสมที่มีมูลค่าเป็นที่ต้องการของทั้งแฟนๆ นาฬิกา และผู้นิยมสะสมสิ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่สอง เรื่องนี้นอกจากเราจะเห็นว่านาฬิกาเรือนหนึ่ง สามารถมีบทบาทสำคัญกับประวัติศาสตร์ได้แล้ว เรายังได้รู้อีกว่า Hans Wilsdorf มี “กึ๋น” ทางธุรกิจแค่ไหนอีกด้วย