SIHH 2018 - RICHARD MILLE RM 53-01 Tourbillon Pablo Mac Donough ยอดเยี่ยมขึ้นอีกขีดขั้นด้วยระบบยึดโยงกลไกด้วยสายเคเบิ้ลเพื่อป้องกันแรงสะเทือน
เป็นปกติวิสัยของแบรนด์นาฬิกาสปอร์ตราคาสูงลิบอย่าง RICHARD MILLE (ริชาร์ด มิลล์) ไปแล้ว สำหรับการโชว์เทคโนโลยีหรือระบบกลไกล้ำๆ ที่นำมาใช้กับนาฬิการุ่นใหม่ที่เปิดตัวในงาน SIHH ในแต่ละปี โดยปีนี้ก็มอบหน้าที่ตัวแสดงนำให้กับรุ่น RM 53-01 Tourbillon Pablo Mac Donough ซึ่งตั้งชื่อสร้อยของรุ่นตามพันธมิตรนักโปโลชาวอาร์เจนตินา Pablo Mac Donough ผู้เป็นที่ยอมรับกันว่าเขาคือ หนึ่งในนักโปโลที่ยอดเยี่ยมที่สุดของโลก (เป็นรุ่นที่สองที่ใช้ชื่อของนักโปโลท่านนี้ โดยรุ่นแรกก็คือ RM 053 Pablo Mac Donough ที่ออกมาเมื่อปี 2012) โดยมาในรูปลักษณ์ตามสไตล์มาตรฐานของนาฬิกา RICHARD MILLE นั่นก็คือทรงตอนโนในรูปทรงเฉพาะตัวของตน
Pablo Mac Donough (© Marcelo Endelli)
เหตุที่ใช้ชื่อนักโปโลท่านนี้มาเป็นชื่อนาฬิการุ่นนี้ก็เพราะ คอนเซ็ปต์ในการสร้างนั้นเป็นการออกแบบมาเพื่อเป็นนาฬิกาสำหรับนักโปโล ซึ่งหมายความว่า มันจะต้องเป็นนาฬิกาแบบสปอร์ตที่มีความทนทานเป็นเลิศ โดยสำหรับรุ่นนี้จะเป็นแสดงออกมาในด้านความทนทานต่อแรงสะเทือน ในขณะที่ยังคงมอบความงดงามของกลไกสู่สายตาโดยไร้ซึ่งการปกปิดด้วยเกราะกำบังใดๆ หรือแม้แต่แผ่นหน้าปัด
สำหรับ RM 53-01 รุ่นใหม่นี้ ทางแบรนด์เลือกเอา คาร์บอน ทีพีที วัสดุล้ำสมัยโครงสร้างซับซ้อนที่มีความทนทานและยากต่อการแตกหักหรือบิ่นเสียหายทั้งยังมีลายริ้วที่สวยงามไม่เหมือนวัสดุอื่นใด มาใช้ทำเป็นตัวเรือนขนาด 44.5 x 49.94 มม. หนา 16.15 มม. และผนึกด้านหน้าด้วยกระจกแซฟไฟร์แบบลามิเนต (การประกบกระจกแซฟไฟร์ 2 แผ่นซ้อนเข้าด้วยกันโดยยึดส่วนกลางระหว่างกระจก 2 แผ่นด้วยฟิล์มโพลีไวนีลแผ่นบางๆ) ที่มีความทนทานต่อการกระแทกเหนือกว่ากระจกแซฟไฟร์แบบปกติ ซึ่งหากแม้กระจกถูกกระแทกจนแตกก็จะไม่หลุดกระจายหรือแหลกละเอียดจนเข้าไปก่อความเสียหายกับกลไกที่อยู่ภายใน กระจกนี้ถูกผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษด้วยความร่วมมือของ Stettler ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านกระจกแซฟไฟร์โดยนำไอเดียในการสร้างมาจากลักษณะของกระจกรถยนต์ ซึ่งเป็นครั้งแรกของวงการนาฬิกาที่นำกระจกลักษณะนี้มาใช้ ทั้งยังเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนและรังสียูวีบนกระจกด้วย (โดยทาง RICHARD MILLE ก็ได้จดสิทธิบัตรกระจกนาฬิกาชนิดนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว) ทั้งนี้ก็เพื่อให้มองเห็นกลไกที่สร้างเป็นแบบโครงโอเพ่นเวิร์คอย่างสวยงามด้วยดีไซน์ทะมัดทะแมงตามคอนเซ็ปต์ของนาฬิกา ซึ่งสำหรับกลไกชุดนี้จะมีพระเอกอยู่ที่ชุดกรงตูร์บิยองขนาดใหญ่ ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา
แต่เดี๋ยวก่อนนะ เพราะถ้าเพียงแค่นี้ก็ไม่เห็นจะมีอะไรแปลกใหม่ไปกว่ากลไกตูร์บิยองเลยใช่มั้ยครับ ฉะนั้นลองมองดูกันใกล้ๆ นะครับเพราะมันมีอะไรที่น่าสนใจมากๆ เลยทีเดียว นั่นก็คือ ตัวกลไกทั้งชุดมันถูกแขวนลอยอยู่โดยปราศจากการยึดติดเข้ากับตัวเรือน โดยมันถูกยึดโยงเข้ากับชิ้นเพลทซึ่งติดตั้งอยู่กับตัวเรือน ด้วยระบบสายเคเบิ้ลวัสดุสตีลกับชุดลูกรอก ซึ่งประกอบด้วยสายเคเบิ้ลสตีลขนาดเล็ก 2 เส้น ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 0.27 มม. กับชุดลูกรอก 10 ชิ้น และชุดปรับความตึง 4 ชุด ซึ่งทำหน้าที่ยึดเพลทกลไกเอาไว้อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพดุจแมงมุมที่อยู่กลางใยของมัน วัตถุประสงค์ในการคิดค้นเทคนิคการยึดกลไกแบบนี้ขึ้นมา ก็เพื่อป้องกันชุดกลไกจากแรงสะเทือน โดยทาง RICHARD MILLE เคลมว่า มันสามารถทนทานต่อแรงสะเทือนได้มากเกินกว่าระดับ 5,000 Gs เลยทีเดียว
จริงๆ แล้วทางแบรนด์ก็เคยใช้ระบบกันสะเทือนแบบสายเคเบิ้ลนี้มาก่อนแล้วบ้างเหมือนกัน อย่างเช่นรุ่น RM 56-02 ตัวเรือนแซฟไฟร์เมื่อปี 2014 กับรุ่น RM 27-01 Rafael Nadal เป็นต้น จุดประสงค์ของ RM 53-01 รุ่นนี้จึงน่าจะต้องการอวดศักยภาพในการสร้างนาฬิกาตามคอนเซ็ปต์ที่ตั้งไว้มากกว่าจะโชว์นวัตกรรมที่ใหม่สุดๆ ซึ่งรวมไปถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมโครงสร้างกลไกอย่างสวยงามตามคอนเซ็ปต์พร้อมกับทำให้มีน้ำหนักที่เบามากๆ ด้วยการใช้วัสดุไทเทเนี่ยมเกรด 5 อันแข็งแกร่ง ทนทาน และน้ำหนักเบา กับชิ้นเพลทและบริดจ์และเคลือบตกแต่งด้วยพีวีดีสีดำกับสีเทา นอกจากนี้ยังบรรจุบรรดานวัตกรรมชิ้นส่วนกลไกของ RICHARD MILLE ซึ่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างยอดเยี่ยมเอาไว้เต็มที่ ชื่อของกลไกรุ่นนี้ก็คือ คาลิเบอร์ RM 53-01 อันเป็นชื่อเดียวกับนาฬิกานั่นเอง โดยเป็นกลไกแบบไขลานที่มีความถี่การทำงานเท่ากับ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง ที่ให้กำลังสำรองได้นานถึง 70 ชั่วโมง
การแสดงค่าของกลไกชุดนี้เป็นแบบเรียบง่ายด้วยเข็มชั่วโมงกับเข็มนาทีสีเงินติดตั้งอยู่กึ่งกลางตามปกติวิสัยนาฬิกาทั่วไป โดยชี้แสดงค่าไปยังวงขอบหน้าปัดวัสดุไทเทเนี่ยมสีดำซึ่งขลิบขอบริมชิดตัวเรือนด้วยสีฟ้า ร่วมด้วยขีดสเกลสีฟ้า และสารเรืองแสงสีฟ้าที่เคลือบอยู่บนชิ้นหลักชั่วโมงทรงกลมและบนส่วนปลายของเข็มทั้งสอง ทั้งยังใช้สีฟ้ากับชื่อแบรนด์และข้อความต่างๆ ตลอดจนยางที่หุ้มรอบเม็ดมะยม และสายยางซิลิโคนที่เป็นแบบฉลุร่อง ด้วยเช่นกัน
สำหรับราคาของนาฬิการุ่นนี้ ทางแบรนด์แจ้งเอาไว้ว่าอยู่ที่ USD 900,000 โดยเป็นการผลิตแบบ ลิมิเต็ด เอดิชั่น ด้วยจำนวนที่จำกัดเอาไว้แค่ 30 เรือนเท่านั้น แต่ถึงจะมีราคาสูงขนาดนี้ แม้มีเงินซื้อ ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะมีโอกาสได้เป็นเจ้าของนะครับ
By: Viracharn T.