NICOLAS RIEUSSEC ต้นกำเนิดโครโนกราฟ
นาฬิกาโครโนกราฟจัดเป็นประเภทนาฬิกายอดฮิตอีกแบบหนึ่ง โดยได้รับความนิยมมาเป็นเวลายาวนานและไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วไปแต่อย่างใดในอนาคตอันใกล้นี้ แม้ว่าคนในปัจจุบันคงจะไม่ค่อยได้ใช้ฟังก์ชั่นจับเวลาบนนาฬิกาข้อมือแล้วเนื่องจากมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ เข้ามาช่วยทำหน้าที่นี้มากมาย แต่ความซับซ้อนของกลไกนี้ก็ยังเป็นที่ปรารถนาและถือเป็นความคลาสสิกของระบบจักรกลที่มีความหมายมากกว่าหน้าที่ของมันมากนัก
Nicolas Rieussec ผู้ประดิษฐ์เครื่องมือจับเวลาเป็นคนแรกของโลกเมื่อ ค.ศ. 1821 โดยเขาให้ชื่อมันว่าโครโนกราฟ
เครื่องจับเวลาเครื่องแรกของโลกนั้นถูกประดิษฐ์ขึ้นใช้เป็นครั้งแรกเมื่อกว่า 190 ปีก่อน โดยถูกนำมาใช้ในการแข่งม้า ณ ชองป์ เดอ มาร์ส ที่กรุงปารีส เมื่อปี ค.ศ.1821 ซึ่งเป็นไปตามพระราชดำริของกษัตริย์ฝรั่งเศสในสมัยนั้นเพราะพระองค์ต้องการเครื่องบันทึกเวลาเข้าเส้นชัยที่แน่นอนของม้าแข่งแต่ละตัว Nicolas Rieussec ช่างนาฬิกาประจำราชสำนักจึงคิดค้นและประดิษฐ์เครื่องจับเวลาขึ้นเป็นผลสำเร็จและเรียกเครื่องนั้นว่าโครโนกราฟซึ่งหมายถึงการเขียนเวลา (มาจากการรวมคำว่า Chronos ซึ่งแปลว่าเวลา เข้ากับคำว่า Graphein ซึ่งแปลว่าการเขียน) จากนั้นเครื่องโครโนกราฟของเขาก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือจับเวลาของการแข่งม้าในกรุงปารีส ต่อมาก็ได้จดลิขสิทธิ์เครื่องโครโนกราฟนี้เอาไว้เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ค.ศ.1822
เวลาผ่านไปเกือบ 190 ปี ชื่อของ Nicolas Rieussec ผู้ประดิษฐ์เครื่องจับเวลาและนิยามคำเรียกขานเครื่องจับเวลาว่าโครโนกราฟเป็นคนแรกของโลกก็กลับมาติดหูชาวโลกอีกครั้ง เมื่อแบรนด์นาฬิกาและเครื่องเขียนชั้นนำของโลกได้นำชื่อของเขามาใช้เป็นชื่อคอลเลคชั่นนาฬิกาโครโนกราฟสุดพิเศษของตนซึ่งไม่ได้นำมาเพียงแค่ชื่อเท่านั้น แต่ยังได้นำลักษณะของวิธีแสดงค่าจับเวลาที่ Rieussec ประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ในการจับเวลาบนเคาน์เตอร์ย่อยทั้งสองของนาฬิกาคอลเลคชั่นนี้ด้วย เหตุผลที่นำวิธีและชื่อของ Rieussec มาใช้ก็เพราะว่าลักษณะการเขียนเวลาที่ Rieussec คิดค้นขึ้นนั้นช่างตรงกับปรัชญาแห่ง Montblanc ที่เป็นผู้นำแห่งการผลิตเครื่องเขียนและการเป็นผู้ผลิตนาฬิกาเป็นที่สุด
นาฬิกาคอลเลคชั่น Rieussec รุ่นแรกของ Montblanc ถูกแนะนำสู่ตลาดเมื่อ ค.ศ.2008 ด้วยรุ่น Star Nicolas Rieussec Monopusher Chronograph ทำงานด้วยเครื่องไขลานโครโนกราฟ Calibre MB R100 เครื่องอินเฮ้าส์รุ่นแรกจากศูนย์การผลิตของแบรนด์ที่ เลอ ล็อคล์ ซึ่งก็ได้สร้างความประทับใจให้กับผู้คนเป็นอย่างมากด้วยการประยุกต์เอาลักษณะการจับเวลาของเครื่องโครโนกราฟจาก ค.ศ.1821 มาใช้ในการบอกนาทีจับเวลาและวินาทีจับเวลา แผ่นจานหน้าปัดจับเวลาทั้งสองจะทำการหมุนโดยที่เข็มจะอยู่กับที่ในลักษณะเดียวกับเครื่องโครโนกราฟรุ่นแรกของโลก แต่ต่างตรงที่ใช้เข็มแทนหมุดและไม่ได้ใช้วิธีการหยดหมึกยามกดหมุดจับเวลาแต่เป็นการหยุดการหมุนของดิสก์ด้วยการกดปุ่มจับเวลาแทน ทำให้เกิดความเป็นตัวตนที่ชัดเจนของนาฬิกา ทั้งด้านการสะท้อนลักษณะของเครื่องจับเวลาเครื่องแรกของโลกที่ประดิษฐ์โดย Nicolas Rieussec และความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคอลเลคชั่น ทั้งยังมาพร้อมกับฟังก์ชั่นที่เป็นประโยชน์กับชีวิตของนักเดินทางอย่างมาก นั่นก็คือฟังก์ชั่นควิกเซ็ทอาวร์ ซึ่งสามารถปรับเข็มชั่วโมงและวันที่ให้เดินหน้าหรือถอยหลังได้ด้วยการหมุนเม็ดมะยมขณะดึงขึ้นมาในจังหวะแรกโดยในจังหวะนี้กลไกจะยังคงเดินตามปกติ โดยถูกผลิตขึ้นแบบจำนวนจำกัด
(ซ้าย) Star Nicolas Rieussec Monopusher Chronograph เปิดตัวครั้งแรกในปี 2008 ตัวเรือนมีขนาด 43 มม. ใช้เครื่องไขลานโครโนกราฟ Calibre MB R100 ปุ่มกดเดียว มีกำลังสำรอง 72 ชั่วโมงจากบาร์เรลคู่ และมีเข็มบอกกำลังสำรองอยู่ด้านหลังของเครื่องด้วย รุ่นปกติจะเป็นตัวเรือนสตีล ส่วนตัวเรือนวัสดุอื่นๆ จะเป็นแบบลิมิเต็ดเอดิชั่น คือ เร้ดโกลด์ 125 เรือน เยลโลว์โกลด์ 75 เรือน ไวท์โกลด์ 75 เรือน และแพลตินั่ม 25 เรือน ถือเป็นนาฬิการุ่นแรกของคอลเลคชั่น Nicolas Rieussec
(ขวา) Star Nicolas Rieussec Monopusher Chronograph Open Date ตัวเรือนขนาด 43 มม. ใช้ดิสก์วันที่และดิสก์จับเวลาและผืนหน้าปัดแบบเจาะช่องเพื่อให้เห็นการทำงานบางส่วนของกลไก ทำงานด้วยเครื่องไขลานโครโนกราฟ Calibre MB R110 ปุ่มกดเดียว กำลังสำรอง 72 ชั่วโมง รุ่นนี้เป็นตัวเรือนเร้ดโกลด์ 18k ที่มาพร้อมเข็มบอกเวลาเคลือบเร้ดโกลด์ที่ผลิตในจำนวนจำกัดเพียง 50 เรือนเมื่อปี 2009
(ซ้าย) Nicolas Rieussec Chronograph Automatic ตัวเรือนสตีลขนาด 43 มม.ที่ออกมาในปี 2009 ใช้เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟ Calibre MB R200 สั่งการด้วยปุ่มกดเดียว กำลังสำรอง 72 ชั่วโมง บอกเวลาไทม์โซนที่สองด้วยเข็มกลางและแสดงวันที่กับกลางวัน-กลางคืนในช่องหน้าต่างที่ตำแหน่ง 3 กับ 9 นาฬิกา แสดงค่าจับเวลาเป็นนาทีและวินาทีด้วยจานดิสก์สองจาน และมาพร้อมฟังก์ชั่นควิกเซ็ตเดทเช่นเดียวกับรุ่นเครื่องไขลาน
(ขวา) Nicolas Rieussec Chronograph Automatic ตัวเรือนสตีลขนาด 43 มม. รุ่นปัจจุบัน ยังคงใช้เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟ Calibre MB R200 และมากับฟังก์ชั่นบอกเวลาไทม์โซนที่สองด้วยเข็มกลางและแสดงวันที่กับกลางวัน-กลางคืนเช่นเดียวกับรุ่นแรก แต่มีการปรับหน้าตาใหม่เล็กน้อยตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไปโดยเรือนนี้มากับพื้นหน้าปัดสีเงินแกะลาย Guilloche Grain D’orge และใช้ตัวเลขสีดำ
Nicolas Rieussec Chronograph Silicon Escapement เป็นเอดิชั่นพิเศษที่ผลิตออกมาเพียง 25 เรือนในปี 2010 ใช้เครื่องไขลานโครโนกราฟ Calibre MB R120 ทำงานด้วยปุ่มกดเดียวซึ่งใช้เลเวอร์และเอสเคป-วีลที่ทำจากซิลิคอน ตัวเรือนขนาด 43 มม. ของรุ่นนี้จะเป็นเร้ดโกลด์ 18k มีจุดสังเกตบนหน้าปัดตรงที่มีการเจาะช่องแคบๆ บนหน้าปัดบอกเวลาให้เห็นตัวเลขบนจานวันที่พร้อมระบุข้อความ Silicon Escapement เหนือพ้อยเตอร์วันที่ และเจาะช่องระหว่างกลางจานดิสก์ทั้งสองและบนจานดิสก์ให้เห็นกลไกเช่นเดียวกับรุ่น Open Date
จากรุ่นแรกในปี 2008 ก็มีการออกเวอร์ชั่นต่างๆ ตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2009 ก็มีเวอร์ชั่น Open Date ที่ใช้ดิสก์วันที่และดิสก์จับเวลาและผืนหน้าปัดแบบเจาะช่องเพื่อให้เห็นการทำงานบางส่วนของกลไกผลิตในจำนวนจำกัด 50 เรือนสำหรับตัวเรือนเร้ดโกลด์ กับอีก 25 เรือนในตัวเรือนแพลตินั่ม และก็มี Rieussec ในเวอร์ชั่นเครื่องออโต้ที่มาพร้อมเข็มแสดงเวลาไทม์โซนที่สองและดิสเพลย์แสดงวันที่กับกลางวัน-กลางคืนซึ่งเป็นรุ่นโปรดักชั่นปกติที่พบเจอกันได้มากที่สุดตามออกมาอีกแบบ ต่อมาในปี 2010 ก็มีเวอร์ชั่นเครื่องไขลานสุดพิเศษ Silicon Escapement ตัวเรือนเร้ดโกลด์ผลิต 25 เรือน ที่ได้นำเอาซิลิคอนมาใช้ทำชิ้นส่วนของเครื่องในส่วนของเลเวอร์กับเอสเคป-วีล ใช้รหัสเครื่องว่า MB R120 ตามมา
จนมาถึงปี 2011 ซึ่งถือเป็นปีเลขสวยเพราะเป็นวาระแห่งการครบรอบ 190 ปีของเครื่องโครโนกราฟเครื่องแรกที่ Rieussec ประดิษฐ์ขึ้น Montblanc จึงไม่พลาดที่จะออกนาฬิกาเวอร์ชั่นพิเศษขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงช่างนาฬิกาแห่งประวัติศาสตร์ผู้นี้ นาฬิการุ่นพิเศษนี้มีชื่อว่า Nicolas Rieussec Chronograph Anniversary Edition ผลิตขึ้นในแบบจำนวนจำกัด และล่าสุดปี 2012 ก็ได้ออกรุ่นเครื่องออโต้ที่มาพร้อมกับการแสดงเวลาไทม์โซนที่สองด้วยจานดิสก์หมุนได้ติดตั้งอยู่ภายในหน้าปัดบอกเวลาซึ่งเจาะช่องให้เห็นแผ่นจานและยังเจาะช่องระหว่างจานจับเวลาให้เห็นบางส่วนของกลไกด้วยในชื่อรุ่นว่า Open Home Time สังเกตว่านาฬิกา Rieussec รุ่นแรกๆ นั้นจะถูกจัดอยู่รวมในคอลเลคชั่น Star แต่ต่อมาด้วยความโดดเด่นหาตัวจับยากของมัน ทาง Montblanc ก็ได้แยกคอลเลคชั่นออกมาต่างหากจาก Star กลายเป็นคอลเลคชั่น Nicolas Rieussec ในที่สุดครับ
Nicolas Rieussec Chronograph Anniversary Edition ใช้ดิสก์วันที่แบบเจาะช่องโดยมีพ้อยเตอร์อยู่ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกาซ้อนอยู่วงในของวงหน้าปัดบอกเวลาที่เล็กลงและเกลี้ยงเกลายิ่งขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้า ด้านบนของแผ่นหน้าปัดบอกเวลายึดด้วยสกรูว์บลูด์สตีล 2 ตัว ดูสมดุลย์ลงตัวกับอีก 2 ตัวทางด้านล่างที่ใช้ยึดเคาน์เตอร์บริดจ์สำหรับจานจับเวลาทั้งสอง และมีข้อความ Anniversary Edition บนสะพานโค้งที่แผ่นหน้าปัดบอกเวลาเหนือพ้อยเตอร์วันที่ แถมยังแกะลาย Grain de Seigle บนแผ่นหน้าปัดอย่างงามอีกด้วย เดินด้วยเครื่องไขลานโครโนกราฟ Calibre MB R110 ที่ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง จับเวลาได้ 30 นาที ทำงานด้วยเวอร์ติคัลดิสก์คลัตช์ผสานกับกลไกคอลัมน์วีล สั่งงานจับเวลาด้วยปุ่มกดเพียงปุ่มเดียว ณ ตำแหน่ง 8 นาฬิกา ให้กำลังสำรอง 72 ชั่วโมงจากกระปุกลาน 2 กระปุก ตัวเรือนมีขนาด 43 มม. มองเห็นงานขัดแต่งของเครื่องและเข็มแสดงกำลังสำรองได้ผ่านทางฝาหลังแซฟไฟร์คริสตัล ส่วนมาตรสเกลของกำลังสำรองนั้นถูกสลักอยู่บนขอบฝาหลัง ผลิตจำนวนจำกัด 190 เรือนในตัวเรือนเร้ดโกลด์ (ดังในภาพ) อีก 90 เรือนในตัวเรือนไวท์โกลด์ และ 25 เรือนในตัวเรือนแพลตินั่ม ผลิตในปี 2011 เพื่อร่วมฉลองวาระแห่งการครบรอบ 190 ปีของเครื่องโครโนกราฟเครื่องแรกที่ Rieussec ประดิษฐ์ขึ้น
Nicolas Rieussec Chronograph Open Home Time เป็นรุ่นล่าสุดที่ออกมาเมื่อต้นปี 2012 เด่นด้วยการแสดงเวลาไทม์โซนที่สองโดยจานดิสก์หมุนที่ติดตั้งอยู่ภายในหน้าปัดบอกเวลาซึ่งเจาะช่องให้เห็นแผ่นจาน พร้อมเจาะช่องระหว่างจานจับเวลาให้เห็นบางส่วนของกลไก มีหน้าต่างบอกวันที่กับหน้าต่างแสดงกลางวัน-กลางคืน เช่นเดียวกับรุ่น Automatic เดินด้วยเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟ Calibre MB R210 ทำงานด้วยปุ่มกดเดียว กำลังสำรอง 72 ชั่วโมง เรือนนี้เป็นตัวเรือนเร้ดโกลด์ 18k ขนาด 43 มม.
ถ้านาฬิกาโครโนกราฟเคาน์เตอร์สองวงสามวงแบบยอดนิยมในปัจจุบันดูธรรมดาไปสำหรับคุณ หรือว่ามีอยู่ในกรุหลายเรือนที่ดูไม่เห็นความแตกต่างสักเท่าใด ลองไปทาบนาฬิกาตระกูล Nicolas Rieussec ที่บูติก Montblanc ดูสิครับ ความเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างซึ่งมีต้นกำเนิดแห่งแรงบันดาลใจมาจากเครื่องโครโนกราฟเครื่องแรกของโลกนี้อาจทำให้คุณไม่อยากถอดออกจากข้อมือก็เป็นได้ หากคุณชื่นชอบฟังก์ชั่นโครโนกราฟแล้วล่ะก็ ไม่น่าพลาดเป็นเจ้าของ Nicolas Rieussec สักเรือนครับ
By: Viracharn T.