INTERVIEW WITH DEMITRIO CABIDDU OF MINERVA (MANUFACTURE OF MONTBLANC VILLERET 1858 COLLECTION)
เมื่อไม่นานมานี้ MONTBLANC แบรนด์เครื่องเขียน แอ็คเซสเซอรี่ส์ เครื่องหนัง และนาฬิกา ชั้นนำของโลก ได้นำนาฬิการะดับสูงของตน คอลเลคชั่น Villeret 1858 (วิเญอเรต์ 1858) เข้ามาเปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก การมาคราวนี้มี Mr. Demetrio Cabiddu นักประดิษฐ์นาฬิกาเอกและผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค แห่งสถาบันนาฬิกาชั้นสูง Institut Minerva de Recherche en Haute Horlogerie ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน Villeret ในสวิตเซอร์แลนด์ เดินทางมาพบปะกับผู้ชื่นชอบนาฬิกาชาวไทยด้วยตนเอง และได้เปิดโอกาสให้ IAMWATCH ได้พูดคุยกับเขาด้วย โดยมี Mr. Andreas Boesch ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการที่รับผิดชอบดูแล Montblanc ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยเสริมในเรื่องราวของแบรนด์
(ซ้าย) Mr.Dimitrio Cabiddu, (ขวา) Mr.Andreas Boesch
ประสบการณ์บนถนนสายเครื่องบอกเวลาของคุณ Demetrio นั้น มิใช่ธรรมดาเลย เพราะบุคคลวัย 62 ปีท่านนี้ หลังจากที่ได้สำเร็จหลักสูตรฝึกงานและอบรมจากสถาบัน Ecole Technique de la Vallee de Joux และได้รับการรับรองให้เป็นช่างนาฬิกาแล้ว เขาได้ผ่านงานในโรงงานผลิตกลไกชั้นนำมาแล้วมากมายเริ่มตั้งแต่ Lemania ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกลไกโครโนกราฟ ต่อด้วย Cellule Haut-de-Gamme Omega Louis Brand ที่มีชื่อเสียงในการสร้างตูร์บิยองและโมดูลสำหรับฟังก์ชั่นซับซ้อนเช่น เพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ ให้กับแบรนด์ดังๆ มากมาย อาทิ Breguet, Vacheron Constantin, Blancpain และ Gerald Genta เป็นต้น ตามด้วยที่ Nouvelle Lemania ที่เขาเข้าไปรับผิดชอบในการคิดค้นกลไกนาฬิการะดับความซับซ้อนสูง ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงงานของ Gerald Genta – Daniel Roth เป็นเวลาถึง 10 ปี จนกระทั่งเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของโรงงานผลิตนาฬิกาเก่าแก่อายุกว่า 150 ปี Minerva ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา โดยหลังจากที่ทาง Montblanc ได้เข้าครอบครองโรงงานแห่งนี้เมื่อปี 2008 ทางแบรนด์ก็มิได้เข้าไปก้าวก่ายงานภายในโรงงานและยังคงให้ Mr. Demetrio ทำหน้าที่ดูแลโรงงานนี้ต่อไป หากแต่มอบหมายให้ทางโรงงาน Minerva แห่งนี้ ทำหน้าที่คิดค้น สร้างสรรค์ และผลิตนาฬิการะดับสูงให้กับ Montblanc ภายใต้ชื่อคอลเลคชั่น Villeret 1858 (1858 คือ ปีก่อตั้งของโรงงาน Minerva, Villeret คือ ชื่อหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานเก่าแก่แห่งนี้ อยู่ในเขตจูร่า ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) โดยยังคงยึดปรัชญาเดิมของโรงงานที่ยึดถือกันมากว่าศตวรรษในการสร้างชิ้นส่วนต่างๆ ขึ้นมาด้วยตนเองและใช้กระบวนการผลิตแบบอินเฮ้าส์เป็นหลัก ดังนั้นนาฬิกาคอลเลคชั่นนี้จึงล้วนเป็นงานนาฬิกาศิลป์ที่ผลิตขึ้นในแบบลิมิเต็ดเอดิชั่นด้วยจำนวนที่ไม่มากนักในแต่ละรุ่น
IAW: ช่วยเล่าถึงความรู้สึกของคุณที่มีกับคนรักนาฬิกาชาวไทยที่มาร่วมงานดินเนอร์เปิดตัวคอลเลคชั่น Villeret 1858 ที่โรงแรมโอเรียนเต็ลให้ฟังหน่อยครับ
Andreas: “เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก การที่ได้พูดคุยกับพวกเขาทำให้เรามีแรงบันดาลใจในการสร้างสิ่งที่ดียิ่งขึ้นไปอีก ผู้คนเหล่านี้น่าสนใจมากครับ เราดีใจที่เรามีโอกาสทำให้พวกเขาสัมผัสกับนาฬิกาของเรา เป็นงานที่วิเศษมากสำหรับเราครับ”
IAW: ตลาดของ Montblanc ในยุโรปกับประเทศไทย มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างครับ
Andreas: “ในตลาดยุโรปนั้น ต้องบอกว่าผู้คนเติบโตขึ้นมากับแบรนด์ Montblanc กันเลยทีเดียว เช่นตัวผมเองก็ซื้อเครื่องเขียนของ Montblanc ครั้งแรก เมื่อตอนที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ในยุโรปนั้นเรียกว่าผู้คนทุกเพศทุกวัยต่างรู้จัก Montblanc กันเป็นอย่างดี ไม่เพียงแต่เครื่องเขียน แต่รวมไปถึงเครื่องหนัง แอ็คเซสเซอรี่ส์ต่างๆ รวมไปถึงนาฬิกาด้วย เรามีระดับของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมาก ดังนั้นผู้คนจึงสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของเราได้อย่างไม่ยากนัก เช่นนาฬิกาของเราก็มีระดับที่เริ่มต้นราวแสนกว่าบาทไปจนถึงนาฬิการะดับสูงที่มีความซับซ้อนซึ่งมีราคาหลักสิบล้านบาทในคอลเลคชั่น Villeret 1858” ส่วนในประเทศไทยนั้น เรามีกลุ่มผู้คนจำนวนมากที่รู้จักกับแบรนด์ของเราเป็นอย่างดี แต่อาจยังไม่ครอบคลุมในทุกระดับและยังไม่เข้าใจอย่างชัดเจนเหมือนเช่นในยุโรป ซึ่งเราก็พยายามสื่อสารกับพวกเขาอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้พวกเขารู้จักกับผลิตภัณฑ์ของเรามากขึ้นและเข้าใจยิ่งขึ้นผ่านทางการโฆษณาประชาสัมพันธ์และงานอีเว้นท์ต่างๆ ที่เราจัดอยู่ตลอดปี เราเชื่อมั่นว่าด้วยสิ่งที่เราทำอย่างต่อเนื่องนี้ ชาวไทยจะเข้าใจและเข้าถึง Montblanc มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับตลาดในยุโรป”
Demitrio: “Villeret 1858 เป็นคอลเลคชั่นนาฬิการะดับสูงสุด ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ระดับสูงสุดของแบรนด์เท่านั้น แต่ยังจัดว่าเป็นหนึ่งในนาฬิการะดับสูงสุดของโลกด้วย ลูกค้าราว 70-75% ของคอลเลคชั่นนี้แน่นอนว่าเป็นลูกค้าสุภาพบุรุษซึ่งสนใจและชื่นชมกับเรื่องความงามและความเป็นเลิศทางด้านกลไกจักรกลมากกว่าสุภาพสตรี แต่ปัจจุบันก็มีสุภาพสตรีจำนวนไม่น้อยที่หันมาให้ความสนใจในเรื่องนี้ด้วย คนเหล่านี้สนใจในเรื่องของนาฬิกาอยู่แล้วและชื่นชอบในประเพณีการประดิษฐ์นาฬิกาซึ่งเป็นมรดกตกทอดทางภูมิปัญญามาช้านาน”
IAW: ช่วยอธิบายเกี่ยวกับนาฬิกาของ Montblanc ให้ฟังหน่อยครับ
Demitrio: “นาฬิกา Montblanc ทุกแบบทุกคอลเลคชั่นนั้น ล้วนเป็นนาฬิกาที่ผลิตขึ้นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ทั้งสิ้น ที่สำคัญคือผลิตจากโรงงานนาฬิกาของ Montblanc เอง โดยจะมีอยู่ 2 แห่งด้วยกัน คือที่วิเญอเร่ต์ ซึ่งผมดูแลอยู่ และโรงงานที่เลอล็อคล์ โรงงานที่วิเญอเร่ต์นั้นเป็นโรงงานเก่าแก่ที่ผลิตนาฬิกามาเป็นเวลากว่า 150 ปีแล้ว และก็ยังคงรักษาขนบแห่งการประดิษฐ์นาฬิกาตามวิถีทางดั้งเดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น จึงทำหน้าที่ในการผลิตนาฬิการะดับสูงของ Montblanc ในชื่อคอลเลคชั่นว่า Villeret 1858 เท่านั้น ที่นี่ไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรม เพราะเราใช้ฝีมือช่างนาฬิกาในแขนงต่างๆ ถึง 95% ในการผลิตงานออกมา เรายังคงมีการใช้เครื่องมือแบบโบราณที่ตกทอดกันมาในการสร้างงานที่งดงาม ผมหลงใหลในการสร้างนาฬิกาตามประเพณีดั้งเดิม ที่สำคัญคือ เราภูมิใจกับสถานะความเป็นอิสระในการสร้างผลงานของเรา และเรายังสามารถสร้างงานแบบยูนีกพีซเรือนพิเศษตามความต้องการของลูกค้าได้อีกด้วย อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีลูกค้าท่านหนึ่งที่ต้องการให้เราผลิตนาฬิกาในรูปแบบของนาฬิกาเมื่อ 100 ปีก่อนให้ ซึ่งเราก็จะมาคุยกันว่าอยากจะให้ออกมาเป็นอย่างไร และเราทำอะไรได้แค่ไหน ซึ่งบางเรือนก็อาจต้องใช้เวลาเป็นปี กว่าจะสร้างเสร็จซึ่งก็ขึ้นอยู่กับฟังก์ชั่นและความซับซ้อนที่ต้องการ ส่วนโรงงานที่เลอล็อคล์นั้นจะแตกต่างออกไป ที่นั่นจะเป็นฐานการผลิตนาฬิกาคอลเลคชั่นปกติของ Montblanc ซึ่งก็จะมีทั้งนาฬิกาแบบร่วมสมัย และแบบที่นำเทคนิคใหม่ๆ มาใช้ด้วย”
IAW: หมายความว่าคอลเลคชั่น Villeret 1858 จะยังคงมีจุดยืนที่จะเน้นในการผลิตนาฬิกาที่มีคอมพลิเคชั่นอันซับซ้อนต่อไปใช่มั้ยครับ จะไม่มีการเพิ่มในส่วนของนาฬิกาแบบฟังก์ชั่นพื้นฐานให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
Demitrio: “ใช่ครับ เราจะเน้นการผลิตนาฬิการะดับไฮคอมพลิเคชั่นต่อไป ซีอีโอคนใหม่ของ Montblanc ผู้ซึ่งอยู่ในวงการนาฬิกามานานและเข้าใจในนาฬิการะดับสูงเป็นอย่างดีก็ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงศักยภาพของโรงงานของเราเป็นอย่างดี โรงงานของเราไม่เหมือนที่อื่น หน้าที่หลักของเราก็คือ คิดค้นและสร้างนาฬิกาจักรกลที่มีความซับซ้อนสูงเป็นหลัก และยังทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ความสามารถทางเทคนิคกลไกและให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่โรงงานที่เลอล็อคล์ด้วย เรายังคงทำการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา และก็ได้จดสิทธิบัตรเอาไว้มากมาย แน่นอนว่าเราไม่สามารถนำทุกสิ่งที่คิดค้นขึ้นมาใช้เองได้หมด เราจึงต้องถ่ายทอดนวัตกรรมที่เหมาะสมไปใช้กับนาฬิกา Montblanc ที่ผลิตจากโรงงานที่เลอล็อคล์ด้วย”
IAW: ในอนาคตมีความเป็นไปได้มั้ยครับที่นาฬิกา Montblanc ซึ่งผลิตที่โรงงานในเลอล็อคล์จะมีคอลเลคชั่นที่นำกลไกของ Villeret มาใช้
Demitrio: “ไม่มีแน่ๆ ครับ เราเป็นผู้คิดค้น เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับเขาไปทำเอง เราต้องการรักษาความเป็น Villeret 1858 ของเราเอาไว้โดยการผลิตนาฬิกาทั้งเรือนตามแบบฉบับของเราเท่านั้น เราไม่ได้เป็นเพียงโรงงานนาฬิกาที่ต้องการจะผลิตนาฬิกาออกมาขายมากๆ ตามใบสั่ง แต่เราเป็นสถาบันที่สร้างสรรค์เฉพาะผลงานนาฬิกาชั้นสูงด้วยความเคารพในมรดกทางความคิดของมนุษยชาติ ความงดงามของเรานั้นคือ 95% ขององค์ประกอบในนาฬิกาแต่ละเรือนนั้น เราสร้างขึ้นภายในโรงงานของเราเองทั้งหมดซึ่งเชื่อว่ามีโรงงานนาฬิกาเพียงไม่กี่แห่งในโลกเท่านั้นที่สามารถทำได้เช่นเรา กว่าจะผลิตนาฬิกาแต่ละเรือนได้เสร็จสมบูรณ์จึงต้องใช้เวลามาก ดังนั้นนาฬิกาที่เราผลิตได้ในแต่ละปีจึงมีจำนวนที่น้อยมากๆ เราจึงไม่ใช่โรงงานประเภทที่ผลิตกลไกเพื่อป้อนให้กับโรงงานอื่นๆ”
IAW: จุดเด่นของกลไกตูร์บิยองของคุณก็คือขนาดของตูร์บิยองที่ใหญ่มากๆ
Demitrio: “ผมพัฒนาตูร์บิยองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดนี้ขึ้นที่ Villeret ที่ผมสร้างสิ่งนี้ขึ้นก็ด้วยความต้องการที่จะก้าวไปให้ไกลกว่าคนอื่น ต้องการสร้างตูร์บิยองที่เหนือกว่า ซึ่งโจทย์ของความเหนือกว่านั้นก็คือ การเพิ่มความแม่นยำ ซึ่งการใช้ตูร์บิยองและบาลานซ์ขนาดใหญ่จะช่วยเพิ่มความแม่นยำได้ เท่านั้นยังไม่พอผมยังคิดต่อไปอีกว่าจะเพิ่มความแม่นยำให้มากยิ่งขึ้นกว่านี้ได้อย่างไร ผมจึงได้ไปสืบค้นประวัติศาสตร์การผลิตกลไกตูร์บิยองจนไปสะดุดเข้ากับนาฬิกาโครโนมิเตอร์สำหรับการเดินเรือในสมัยก่อนที่มีการใช้บาลานซ์สปริงทรงกระบอกกับตูร์บิยอง เมื่อเริ่มค้นต่อก็พบว่ามีการจดสิทธิบัตรการใช้บาลานซ์สปริงลักษณะนี้ในนาฬิกาเอาไว้เมื่อราว 100 ปีก่อน โดยช่างนาฬิกาชื่อ Jules Andrade แต่ในสิทธิบัตรนั้นได้เปิดช่องเอาไว้ว่า หากมีผู้ใดที่สามารถทำให้สปริงแบบนี้ทำงานได้อย่างแม่นยำและสร้างขึ้นใช้ได้จริงๆ ก็สามารถกระทำได้ เพราะในสมัยที่เขาจดสิทธิบัตรนั้น เขายังไม่สามารถที่จะนำมาใช้งานจริงๆ ได้ ดังนั้นจึงเท่ากับว่าผมเป็นผู้ที่นำสปริงลักษณะนี้มาใช้งานกับนาฬิกาข้อมือได้จริงเป็นคนแรก นาฬิการุ่นที่ใช้กลไกนี้เราให้ชื่อว่า Tourbillon Bi-Cylindrique”
IAW: นอกจากงานทางด้านคิดค้นและสร้างสรรค์คอมพลิเคชั่นใหม่ๆ ให้กับกลไกแล้ว คุณยังดูแลการผลิตในด้านใดอีกบ้างครับ
Demitrio: “แม้ว่าผมจะเป็นผู้อำนวยการของสถาบัน แต่ผมก็ยังคงเป็นช่างนาฬิกาอยู่ ผมชอบที่จะงานกับตัวนาฬิกาและทำงานร่วมกับช่างนาฬิกาในทีม ก่อนที่นาฬิกา Montblanc Villeret 1858 ทุกเรือนจะออกจากโรงงานไปสู่ผู้ครอบครอง จะต้องผ่านการตรวจสอบขั้นสุดท้ายโดยตัวผมเองก่อน นาฬิกาทุกเรือนจึงมีการสลักลายเซ็นของผมอยู่ด้วยเป็นการรับรอง”
IAW: กำลังการผลิตในปัจจุบันอยู่ที่เท่าไหร่ครับ
Demitrio: “เราทำงานปีละประมาณ 200 วัน ผมสามารถตรวจสอบนาฬิกาได้เฉลี่ยวันละเรือน นั่นล่ะคือจำนวนนาฬิกา Villeret 1858 ที่ออกมา นี่เป็นการเฉลี่ยประมาณนะครับ เพราะจริงๆ ก็ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของกลไกในแต่ละรุ่นแต่ละเรือนด้วย”
IAW: ตัวเรือนนาฬิกาบางรุ่นของคุณมีลักษณะการออกแบบที่เหมือนกับทรงของหยดน้ำ เหตุผลใดที่ทำให้คุณออกแบบตัวเรือนเป็นลักษณะนี้ครับ
Demitrio: “มันเริ่มต้นมาจากการที่เราจะสร้างกลไกที่ใช้ตูร์บิยองขนาดใหญ่ร่วมกับคอมพลิเคชั่นการแสดงเวลาแบบ Mysterieuses ทางด้านล่างซึ่งเป็นการแสดงค่าชั่วโมงกับนาทีด้วยเข็มแต่ไม่มีแกนเข็มให้เหมือนกับเข็มลอยอยู่ภายในวงหน้าปัดที่มีขนาดใหญ่ได้สมดุลย์กับตูร์บิยองขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านบน คือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 20 มิลลิเมตร ซึ่งหากจะใช้ตัวเรือนเป็นทรงกลมตามปกติแล้วจะเป็นนาฬิกาที่มีขนาดใหญ่มาก แต่ถ้าจะออกแบบให้ตัวเรือนเป็นทรงเหลี่ยม ผมก็ไม่คิดว่ามันจะดูดี ผมต้องการให้ตัวเรือนมีขนาดที่สามารถสวมใส่ได้จริง ที่สุดแล้วจึงออกแบบให้ตัวเรือนมีลักษณะนี้ โดยส่วนตัวแล้วผมว่ามันเหมือนกับใบหน้าของคนนะ นี่ล่ะเป็นที่มาของตัวเรือนที่มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์เช่นนี้"
โรงงาน Minerva ในวิเญอเรต์ ซึ่งปัจจุบันมีฐานะเป็นโรงงานผลิตนาฬิการะดับสูงของ Montblanc
By: Viracharn T.