MAURICE LACROIX, The Masterpiece, Part II
แม้ MAURICE LACROIX จะมีการปรับเปลี่ยนบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ในช่วงการพัฒนาของแบรนด์พร้อมๆ กับการกลับมาเติบโตของวงการนาฬิกาแบบกลไก แต่ MAURICE LACROIX ก็ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาและนำเสนอนาฬิกาในแบบกลไกมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2001 ก็ถือเป็นปีสำคัญของโครงการการสร้างชุดกลไกของตัวเองเป็นครั้งแรก โดยกลไกที่สร้างนี้จะไม่ใช่กลไกแบบปกติทั่วไป แต่ต้องมีความพิเศษที่บ่งบอกได้ถึงงานเชิงกลไกระดับสูง ตามมาตราฐานการผลิตของสวิตเซอร์แลนด์
ซึ่งไม่ใช่เพียงการพัฒนาด้านกลไกภายใน แต่จากรูปลักษณ์ดั้งเดิมของคอลเลกชั่น Masterpiece ที่มีลวดลายกิโยเช่บนหน้าปัดรวมไปถึงขอบหน้าปัด ก็ถูกแทนที่ด้วยการออกแบบที่ทันสมัยและท้าทาย รวมถึงการใช้สีดำและรูปทรงเรขาคณิตจำนวนมากเข้าแทน ซึ่งหลายคนในช่วงนั้นก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัว สำหรับการรู้จักกันกับ MAURICE LACROIX ในยุคต่อมา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแนวทางดังกล่าวนี้ กลับเป็นเพียงช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปลักษณ์ใหม่ๆ ตามที่ตลาดและแบรนด์เห็นสมควร
ประกอบกับการที่ในปี 2008 สถานการณ์ของทางผู้ผลิตกลไก ETA ซึ่งเป็นผู้ผลิตกลไกหลักในตลาดนาฬิกา ได้เปลี่ยนเป้าหมายระยะยาวของแบรนด์ และผลักดันให้เกิดเป้าหมายของแบรนด์นาฬิกาอื่นๆ ไปด้วย โดยเป้าหมายสูงสุดคือการให้แบรนด์นาฬิกาต่างๆ สามารถมีกลไกของตัวเองอย่างเป็นอิสระได้มากขึ้น จากการสร้างกลไกของตัวเอง ซึ่งต่อมาส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ นำเสนอชุดกลไกของตัวเองกันมากมาย พร้อมทั้งราคาของนาฬิกาแต่ละเรือนที่สูงขึ้นโดยอัตโนมัติ จากมูลค่าการลงทุนสร้างกลไกชุดดังกล่าวนี้นั่นเอง
MAURICE LACROIX เองก็หนีไม่พ้นจากแนวทางนี้ ดังนั้นกลไกไขลานอินเฮ้าส์ชุดแรกของแบรนด์จึงถูกนำเสนอสู่ตลาดภายใต้ชื่อคาลิเบอร์ ML 106 ซึ่งเป็นกลไกการทำงานระดับพรีเมี่ยม ที่ออกแบบให้มีความสมบูรณ์แบบอย่างเต็มพิกัด ด้วยความช่วยเหลือจาก Andreas Strehler ช่างนาฬิกาผู้มีฝีมือชั้นเลิศสมาชิก A.H.C.I. ผู้มีผลงานการสร้างสรรค์ชุดกลไกเด่นๆ มากมายอย่างเช่น H.Moser&Cie Perpetual 1 โดยผลิตชุดกลไกขึ้นโดยใช้ส่วนที่กำหนดด้วยตัวเอง แต่ยังคงผลิตจากซัพพลายเออร์ผู้เชี่ยวชาญหลายราย
รวมไปถึงกลไกอินเฮ้าส์อัตโนมัติคาลิเบอร์ ML 230 พร้อมชุดบาลานซ์วีลที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ภายในกระจกแซฟไฟร์ทรงโดมสูงในนาฬิกาคอลเลคชั่น Masterpiece รุ่น Gravity ที่ยังคงอยู่ในสายการผลิตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งชุดบาลานซ์วีลที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนนี้ ไม่ใช่มีไว้เพียงวัตถุประสงค์ด้านความสวยงาม หรือแสดงให้เห็นถึงความสามารถของนาฬิกาเรือนนี้ทางด้านชุดกลไก แต่ยังเป็นการคำนึงถึงทางด้านความเที่ยงตรง รวมทั้งการออกแบบชุดกลไกที่เหมาะสมกับตลาดในยุคนั้น
โดยกลไกชุดนี้ได้รับการออกแบบโดยทีมของ MAURICE LACROIX และผลิตขึ้นได้ด้วยความร่วมมือกับซัพพลายเออร์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตชิ้นส่วนทั้ง ATOKALPA แห่ง VAUCHER เป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของชุดควบคุม ซึ่งหมายถึงชิ้นส่วนหลักจากชุดบาลานซ์วีล รวมไปถึง SIGATEC ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตชิ้นส่วนโรเตอร์ รวมทั้งชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับการถ่ายพลังงานสู่ชุดบาลานซ์ ซึ่งถือได้ว่า MAURICE LACROIX เลือกทำงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตระดับสูงแทบทั้งสิ้น
ดังนั้นจึงเรียกได้ว่า MAURICE LACROIX มีการออกแบบชุดกลไกด้วยตัวเอง พร้อมทั้งเลือกฐานการผลิตชิ้นส่วนเพื่อนำมาประกอบได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งวางแผนในการต่อยอดรวมทั้งพัฒนา ชุดกลไกต่างๆ ต่อมามากมายจนถึงปัจจุบัน ที่แม้ในหลายช่วงจะมีการสะดุดไปบ้าง จากทั้งสภาพเศรษฐกิจและโรคระบาดที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก แต่ความสามารถด้านการผลิตและการนำเสนอของ MAURICE LACROIX ก็ยังถือว่ามีความโดดเด่นอยู่เสมอตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน