MAITRES DU TEMPS Chapter Three Reveal
Chapter Three Reveal จาก MAITRES du TEMPS (เมเตรอส์ ดู ต็องส์) นาฬิกาที่เป็นสุดยอดอีกรุ่นหนึ่งของงาน Baselworld 2012 ที่ผ่านมานั้นเรียกได้ว่าเป็นประดิษฐกรรมอันน่าทึ่งต่อจาก Chapter One และ Chapter Two ก็คือนาฬิกา Chapter Three Reveal เรือนงามที่มาจากการร่วมมือกันของนักประดิษฐ์นาฬิกาอิสระที่มีชื่อเสียงสองท่าน คือ Mr. Kari Voutilainen และ Mr. Andreas Strehler โดย Mr. Kari ทำหน้าที่รับผิดชอบด้านกลไกที่ใช้ขับเคลื่อนเวลา ทั้งฟังก์ชั่น วันที่ วินาที รวมถึงการขัดแต่งชิ้นส่วน ส่วน Mr. Andreas ดูแลทางด้านเทคนิคใหม่ๆ ที่ใช้ในการแสดงผล เช่นกลไกการเปิดปิดหน้าปัดที่แนบสนิท และชุดกระบอกหมุนที่ใช้แสดงฟังก์ชั่น GMT และ Day/Night ที่น่าทึ่ง
นาฬิการุ่นนี้มาพร้อมกับหน้าปัดสีน้ำเงินแกะลายกิโยเช่อย่างงดงาม วงแสดงวันที่ ณ ตำแหน่งสองนาฬิกา รับสมดุลกับวงแสดงวินาทีที่ตำแหน่งแปดนาฬิกา พร้อมกับแสดงมูนเฟสบอกเวลาข้างขึ้นข้างแรมที่ตำแหน่งสี่นาฬิกา พร้อมเข็มทั้งสองที่ผลิตจากทองคำ 18k โดยบนเม็ดมะยมจะมีปุ่มที่สามารถกดเพื่อทำการเปิดช่องหน้าต่างที่ตำแหน่งสิบสองนาฬิกาและหกนาฬิกาบนหน้าปัด โดยช่องที่ตำแหน่งสิบสองนาฬิกาจะลดระดับให้ต่ำกว่าพื้นหน้าปัดและเลื่อนเก็บไปยังด้านข้าง ไม่ใช่เป็นเพียงการสไลด์เลื่อนเก็บแบบต่างระดับกันเท่านั้น โดยช่องหน้าต่างนี้จะเป็นชุดบอก Day/Night ด้วยชุดกระบอกหมุน พร้อมๆ กับที่ตำแหน่งหกนาฬิกาจะแสดงให้เห็นฟังก์ชั่น GMT โดยชุดกระบอกหมุนสองชุด ชุดแรกจะแสดงเวลาจาก 1 ถึง 6 หลังจากนั้นจะถูกเลื่อนไปเก็บด้านในและแทนที่ด้วยชุดกระบอกหมุนอีกหนึ่งชุดที่แสดงตัวเลขจาก 7 – 12 ซึ่งกลไกแสดงผลที่ซับซ้อนนี้เป็นอีกหนึ่งผลงานอันโดดเด่นของ Mr. Andreas Strehler ผู้ฝากผลงานมาแล้วกับแบรนด์ต่างๆ มากมาย
การปรับเวลาในช่อง GMT สามารถทำได้ด้วยการกดปุ่มข้างตัวเรือนที่ตำแหน่งเก้านาฬิกา โดยการกดหนึ่งครั้งจะเป็นการเลื่อนไปหนึ่งชั่วโมง ซึ่งการทำงานนี้จะเชื่อมต่อกับชุดกระบอกหมุน ส่วนการปรับ Day/Night จะสามารถปรับเดินหน้าและถอยหลังได้จากเม็ดมะยมโดยตรง โดยชุดกลไกบอกเวลาและชุดกระบอกหมุนนี้ถูกออกแบบและผนวกกันเป็นหนึ่งเดียว ทำให้กำลังการขับเคลื่อนของกลไกทั้งสองชุดสมบูรณ์ขึ้นพร้อมงดงามที่ลงตัว นับว่าเป็นการรวมตัวกันอย่างสมบูรณ์แบบทั้งด้านการแสดงผลและกลไกที่เยี่ยมยอดจากนักประดิษฐ์นาฬิกาทั้งสอง
รายละเอียดทางเทคนิค
หน้าปัด: พื้นหน้าปัดเป็นกิโยเช่ลายพระอาทิตย์ และลายคลู เดอ ปารีส แสดงชั่วโมงและนาทีด้วยเข็มกลาง หน้าปัดเล็ก ณ ตำแหน่งแปดนาฬิกาแสดงวินาที ณ ตำแหน่งสองนาฬิกาแสดงวันที่ และ ณ ตำแหน่งสี่นาฬิกาแสดงมูนเฟส เข็มทั้งหมดทำจากทองคำ 18 กะรัต หลักชั่วโมงเลขโรมัน ซ่อนกระบอกหมุนไว้ 2 กระบอก กระบอกแรกหมุนแสดงเวลาประเทศที่สองด้วยตัวเลข ณ ตำแหน่งหกนาฬิกา และกระบอกที่สองหมุนแสดง กลางวัน/กลางคืน ด้วยภาพและลวดลายที่แกะและวาดด้วยมือ ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา
เครื่อง: ขึ้นลานด้วยมือ Calibre SHC03 ขนาด 35.6 X 8.2 มิลลิเมตร (รวมกลไกข้างตัวเรือน) จำนวนชิ้นส่วนประกอบ 319 ชิ้น จำนวนอัญมณี 39 ชิ้น พลังงานสำรอง 36 ชั่วโมง ความถี่ 21,600 vph (3 เฮิร์ตซ) ระบบปล่อยจักรสเตรามาน (Straumann) สายใยจักรกลอกแบบบริเกต์ (Breguet overcoil)
ตัวเรือน: ทองคำ 18 กะรัต ขนาด 42 มิลลิเมตร ประกอบจากชิ้นส่วนจำนวน 49 ชิ้น กระจกแซฟไฟร์คริสตัลด้านบนหน้าปัดและด้านหลัง เคลือบสารกันแสงสะท้อน ปุ่มกดด้านข้าง ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกาเป็นปุ่มควิกเซ็ทใช้สำหรับปรับตั้งเวลาประเทศที่สอง เม็ดมะยมปรับสามตำแหน่งพร้อมปุ่มกด เม็ดมะยมในตำแหน่ง 0 สำหรับหมุนขึ้นลาน ตำแหน่ง 1 สำหรับตั้งวันที่ และปฏิทินพระจันทร์ และตำแหน่ง 2 สำหรับตั้งเวลา ปุ่มกดใช้สำหรับ เปิด/ปิด ผนังที่ซ่อนกระบอกหมุนแสดงเวลาประเทศที่สองและกลางวัน/กลางคืน กันน้ำลึก 30 เมตร
สาย: หนังจระเข้เย็บด้วยมือ พร้อมหัวเข็มขัดทองคำ 18 กะรัต
Steven Holtzman ผู้ก่อตั้งแบรนด์ MAITRES du TEMPS ขึ้นมาเพื่อรังสรรค์นวัตกรรมนาฬิกาในรูปแบบเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร โดยการนำนักประดิษฐ์นาฬิกาอิสระมากฝีมือท่านต่างๆ มาร่วมคิดค้นและพัฒนานาฬิกาให้กับตน
(ซ้าย) Andreas Strehler นักประดิษฐ์นาฬิกาอิสระชื่อดัง เจ้าของผลงาน Opus 7 ของ HARRY WINSTON และนาฬิกา Papillon อันเลื่องชื่อ และยังคงดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาและเป็นนักประดิษฐ์นาฬิกาให้กับแบรนด์นาฬิกาหรูต่างๆ หลายแบรนด์ด้วยกัน และ (ขวา) Kari Voutilainen นักประดิษฐ์นาฬิกาอิสระชื่อดัง ผู้ประดิษฐ์นาฬิกาที่เป็นเจ้าของรางวัล 2007 Grand Prix de Geneve Award ในสาขา Best Men’s Watch และยังมีผลงานล่าสุด Vingt-8 ที่ใช้เครื่องอินเฮ้าส์ซึ่งเขาทำขึ้นเองทั้งหมด และเครื่องที่ใช้ใน Chapter Three Reveal นี้ก็ถือเป็นเครื่องรุ่นแรกที่เขาพัฒนาให้กับแบรนด์อื่นด้วย และไม่เพียงแค่พัฒนาเท่านั้น เพราะสำหรับเครื่องของนาฬิการุ่นนี้ เขารับผิดชอบตั้งแต่การออกแบบโครงสร้าง เกียร์เทรน คอมพลิเคชั่น รูปทรงของบริดจ์และเพลทต่างๆ และยังเป็นผู้ดูแลการประกอบและขัดแต่งจนถึงขั้นตอนสุดท้ายของทุกเครื่องที่ผลิตขึ้นด้วย
By: Prayuth P.