ชมนาฬิกาวินเทจจาก LONGINES
ชมนาฬิกาวินเทจจาก LONGINES แบรนด์นาฬิกาสวิสสุดเก่าแก่
สืบเนื่องจากในเดือนพฤศจิกายน 2017 LONGINES (ลองจินส์) แบรนด์นาฬิกาสวิสแบรนด์เก่าแก่ที่มีอายุครบ 185 ปีในปีนี้ ได้นำนาฬิกาเรือนวินเทจของตนจากพิพิธภัณฑ์ LONGINES มาจัดแสดงนิทรรศการในประเทศไทย ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เราจึงอยากจะนำประวัติโดยสังเขปของ LONGINES และภาพนาฬิกาบางเรือนมาขยายความให้ได้รับทราบกันอันจะทำให้ได้รู้จักกับนาฬิกาแบรนด์นี้กันมากขึ้น
จุดกำเนิดของ LONGINES เริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 1832 ณ เมือง Saint-Imier (แซง-ติมิเยร์) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดย Auguste Agassiz (ออกุสต์ อกาสซีส์) ได้ตั้งต้นจากการตั้งเคาน์เตอร์รับประกอบนาฬิกาตามใบสั่งของลูกค้า ซึ่งเขาจะสั่งให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนหรือนักประดิษฐ์นาฬิกาเป็นผู้ผลิตให้กับเขา กระทั่งถึง ค.ศ. 1867 หลานของเขาชื่อ Ernest Francillon (แอร์เนสต์ ฟรองซิญง) ผู้รับช่วงกิจการต่อจาก Auguste คิดที่จะตั้งโรงงานเพื่อผลิตชิ้นส่วนกลไกและทำการประกอบนาฬิกาด้วยตัวเอง เพราะต้องการที่จะผลิตนาฬิกาได้อย่างครบวงจรและได้จำนวนที่มากขึ้น จึงได้ซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อตั้งโรงงานขึ้น ณ ที่ดินบริเวณหุบเขาริมแม่น้ำซึ่งเรียกกันว่า “Es Longines” อันนำมาซึ่งชื่อแบรนด์อย่างเป็นทางการว่า LONGINES ในเวลาต่อมา
จากนาฬิกาพกในสมัยประวัติศาสตร์ช่วงแรกของ LONGINES ที่เริ่มต้นตั้งแต่รูปแบบนาฬิกาพกที่แข็งแกร่งเน้นความทนทานในการใช้งาน นาฬิกาพกโครโนกราฟสำหรับจับเวลา และนาฬิกา “มารีนโครโนมิเตอร์” สำหรับเรือเดินสมุทรเพื่อใช้สำหรับคำนวณตำแหน่งและพิกัดการเดินทาง ต่อด้วยการผลิตนาฬิกาพกที่มีตัวเรือนและกลไกที่บางขึ้น ซึ่งเริ่มเน้นความสวยงามของการตกแต่งในรูปแบบต่างๆ เช่น การเพ้นต์ลายหรือภาพบนหน้าปัด การสลักลาย การประดับอัญมณี และการตกแต่งด้วยเทคนิคต่างๆ อาทิ การถมทองเป็นลวดลาย จากนั้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก็เริ่มผลิตนาฬิกาข้อมือไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการใช้งานนาฬิกาของโลกจากนาฬิกาพกไปเป็นนาฬิกาข้อมือ โดยมีการผลิตออกมาหลากหลายรูปแบบทั้งสำหรับผู้ชายและสำหรับผู้หญิงไปจนถึงนาฬิกาข้อมือกลไกโครโนกราฟ และนาฬิกาแบบเฉพาะทางสำหรับนักบินที่มาพร้อมมาตรสำหรับคำนวณพิกัดทางอากาศ ตลอดจนเครื่องจับเวลาความละเอียดสูงที่สร้างเพื่อใช้ในวงการกีฬาโดยเฉพาะ และต่อมาในยุคทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเป็นช่วงต้นของเทคโนโลยีกลไกควอตซ์ LONGINES ก็ได้พัฒนากลไกควอตซ์ขึ้นมาทั้งเครื่องแบบ “อิเล็กโทรนิกส์ ควอตซ์” และเครื่องแบบ “อัลตร้า-ควอตซ์”
สำหรับนาฬิกาเรือนวินเทจหาชมยากที่ LONGINES นำมาให้ชมกันในประเทศไทยนั้นมีทั้งหมด 29 เรือน โดยแบ่งประเภทนาฬิกาออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ถึง 7 ประเภทด้วยกัน คือ
1) พ็อกเก็ตวอตช์หรือนาฬิกาพก ซึ่งเป็นนาฬิการูปแบบแรกที่ทาง LONGINES ผลิตขึ้น
นาฬิกาพกแบบตัวเรือนฮันเตอร์ ที่มีการสลักตกแต่งอย่างสวยงาม จาก ค.ศ. 1892
นาฬิกาพกที่ตกแต่งด้วยเทคนิคถมทองเป็นลวดลายดอกไม้ จาก ค.ศ. 1915
นาฬิกาพก หน้าปัดสีขาว จาก ค.ศ. 1917 โดดเด่นด้วยสเกลหลักชั่วโมงเลขอารบิกที่มีตั้งแต่หลักชั่วโมงที่ 0 ถึง 23
2) นาฬิกาข้อมือสำหรับผู้หญิง ซึ่งเริ่มต้นผลิตขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และเป็นที่นิยมอย่างสูง
นาฬิกาข้อมือตัวเรือนทองคำ 18 เค รูปทรงตอนโน ทำงานด้วยกลไกไขลาน จาก ค.ศ. 1917
3) รุ่น Flagship นาฬิกาคลาสสิกสไตล์เดรสอันเก่าแก่ที่เริ่มออกแบบใน ค.ศ. 1956 และจดลิขสิทธิ์ชื่อและออกจำหน่ายใน ค.ศ. 1957 โดยที่มาของชื่อ Flagship นั้นสอดคล้องกับภาพเรือธงซึ่งเป็นเรือบังคับบัญชาของกองเรือ ที่ถูกสลักหรือสแตมป์ไว้บนฝาหลังของตัวเรือน ซึ่งทายาทของรุ่นนี้ก็ยังคงถูกผลิตออกจำหน่ายอย่างต่อเนื่องในชื่อคอลเลคชั่น Flagship และได้รับความนิยมอย่างสูงเสมอมาจนถึงปัจจุบัน
นาฬิการุ่น Flagship ตัวเรือนสตีล หน้าปัดสีขาว ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติ จาก ค.ศ. 1960
นาฬิการุ่น Flagship ตัวเรือนทอง หน้าปัดสีน้ำเงิน ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติ พร้อมฟังก์ชั่นวันที่ จาก ค.ศ. 1963
4) นาฬิกาสำหรับนักบุกเบิกและโลกแห่งการบิน ซึ่งมีชื่อเสียงมานานตั้งแต่ครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 จากนวัตกรรมกลไกและความแม่นยำเชื่อถือได้ โดยเป็นนาฬิกาที่สร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับช่วยคำนวณตำแหน่งและพิกัดการเดินทางได้อย่างแม่นยำไม่ว่าจะเป็นสำหรับทางทะเลที่เรียกว่า “มารีนโครโนมิเตอร์” สำหรับติดตั้งในเรือเดินสมุทร หรือนาฬิกาสำหรับแสดงพิกัดทางอากาศ
นาฬิกาพร้อมฟังก์ชั่นสำหรับแสดงพิกัดทางอากาศ ตัวเรือนเป็นอลูมิเนียม ทำงานด้วยกลไกไขลาน จาก ค.ศ. 1939
5) นาฬิกาโครโนกราฟ เป็นนาฬิกาที่แสดงถึงสายสัมพันธ์ของ LONGINES กับการกีฬามาตั้งแต่ครั้งอดีต
6) นาฬิกาจับเวลาสำหรับการกีฬาโดยเฉพาะ ที่สร้างให้แสดงค่าจับเวลาได้อย่างละเอียดแม่นยำและอ่านค่าได้ง่าย
นาฬิกาจับเวลา กลไกไขลาน จาก ค.ศ. 1960
7) นาฬิกากลไกควอตซ์ หนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนโลกนาฬิกาในช่วงทศวรรษที่ 1970
นาฬิกาตั้งโต๊ะ กลไกแบบ “อิเล็กทรอนิกส์ ควอตซ์ คาลิเบอร์ 800” ความแม่นยำสูง ตัวเรือนทำจากไม้มะฮอกกานี จาก ค.ศ. 1965
นาฬิกาข้อมือที่ใช้กลไกแบบ “อัลตร้า-ควอตซ์” คาลิเบอร์ 6512 จาก ค.ศ. 1969
นาฬิกาข้อมือที่ใช้กลไกแบบ “อิเล็กทรอนิกส์ ควอตซ์” จาก ค.ศ. 1984
By: Viracharn T.