ที่สุดแห่งนาฬิกาเครื่องควอตซ์ของโลก GRAND SEIKO Caliber 9F 25th Anniversary Limited Edition นาฬิกา ลิมิเต็ด เอดิชั่น สองรุ่นที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติแก่วาระ 25 ปีแห่งกลไกควอตซ์ระดับสูง คาลิเบอร์ 9F
SEIKO แห่งแดนอาทิตย์อุทัย เผยโฉมรุ่นใหม่ของนาฬิการะดับสูง GRAND SEIKO ที่ทำงานด้วยกลไกควอตซ์ระดับสุดยอด คาลิเบอร์ 9F ออกมา 2 รุ่นโดยทั้งคู่เป็นการผลิตแบบ ลิมิเต็ด เอดิชั่น ในจำนวนจำกัด เพื่อเป็นการสดุดีแด่วาระครบ 25 ปีแห่งการให้กำเนิดกลไกควอตซ์ตระกูล 9F ในปี 2018 นี้ โดยรุ่น SBGT241 จะเป็นวัสดุสตีลทั้งตัวเรือนและสาย ส่วนรุ่น SBGV238 จะเป็นตัวเรือนแบบทูโทน หรือที่คนไทยเรามักเรียกว่า 2 กษัตริย์ โดยใช้ตัวเรือนกับสายวัสดุสตีล ร่วมกับขอบตัวเรือนวัสดุทองคำเยลโลว์โกลด์ 18 เค
คล้ายจะเหมือนกันแต่ไม่เหมือน
รูปลักษณ์โดยรวมของนาฬิกา ลิมิเต็ด เอดิชั่น สองรุ่นนี้ นอกรูปแบบของหน้าปัดสีเงินตลอดจนรูปทรงของแท่งหลักชั่วโมง กรอบหน้าต่าง โลโก้ และเข็มแล้ว ส่วนประกอบอื่นๆ จะไม่เหมือนกันเลยเพราะทรงของตัวเรือนก็แตกต่างกัน ดีไซน์ของสายวัสดุสตีลก็ต่างกันโดยรุ่นเรือนสตีลล้วนจะมีข้อกลางเป็นลักษณะของเม็ดข้าวสามแถวขัดเงาขนาบด้วยปล้องสายเหลี่ยมแบบขัดลายขลิบขอบขัดเงา ในขณะที่รุ่นขอบตัวเรือนทองคำเป็นแบบข้อเต้าหู้ขัดลายขลิบขอบขัดเงาขนาบด้วยปล้องสายเหลี่ยมแบบขัดลาย ส่วนสีของเข็ม แท่งหลักชั่วโมง โลโก้ และกรอบหน้าต่าง จะใช้ตามสีของขอบตัวเรือน ยกเว้นรุ่นเรือนสตีลล้วนที่จะใช้เข็มวินาทีเป็นสีน้ำเงิน
อีกความแตกต่างที่ชัดเจนมากก็คือ รุ่นเรือนสตีลล้วนนั้นมาพร้อมฟังก์ชั่นแสดงวันกับวันที่ ส่วนรุ่นขอบตัวเรือนทองคำจะแสดงแค่วันที่เท่านั้น ขณะที่รูปแบบของฝาหลังนั้นมีความพิเศษที่แตกต่างกันโดยรุ่นขอบตัวเรือนทองคำจะผนึกด้วยกระจกใส ส่วนรุ่นเรือนสตีลล้วนจะเป็นแบบแผ่นสตีลทึบที่ประดับด้วยเหรียญสลักสัญลักษณ์สิงโต GRAND SEIKO ที่ทำจากทองคำเยลโลว์โกลด์ 18 เค
ที่ต้องแตกต่างกันเช่นนี้ก็เพราะว่ารุ่นเรือนสตีลล้วนนั้น SEIKO ตั้งใจวางรูปแบบมาให้คล้ายกับนาฬิกา GRAND SEIKO กลไก 9F รุ่นแรกที่เปิดตัวออกมาในปี 1993 ซึ่งเป็นฟังก์ชั่น เดย์-เดท แต่ขนาดของตัวเรือนที่มีรูปทรงเดียวกันนั้นขยายใหญ่ขึ้นกว่ารุ่นต้นฉบับจาก 37 มม. มาเป็น 39.1 มม. โดยมีความหนาเท่ากับ 10.9 มม. เพื่อให้เหมาะกับยุคปัจจุบัน ส่วนดีไซน์ของสายสตีลก็เป็นการนำรูปแบบของรุ่นต้นฉบับมาใช้กันเต็มๆ
ส่วนรุ่นขอบตัวเรือนทองคำเยลโลว์โกลด์ 18 เค นั้นจะใช้ตัวเรือนที่มีขนาดใหญ่กว่า คือ 40 มม. แต่หนา 10 มม. ซึ่งบางกว่ากันเกือบ 1 มม. โดยเป็นดีไซน์ตัวเรือนที่นำลักษณะมาจากนาฬิกา GRAND SEIKO 44GS สมัยปี 1967 ซึ่งก็เป็นตัวเรือนและสายแบบเดียวกับที่มีใช้ใน GRAND SEIKO รุ่นอื่นๆ ในคอลเลคชั่นปัจจุบันอยู่แล้ว
กระจกหน้าปัดของทั้ง 2 รุ่นเป็นแซฟไฟร์แบบทรงโค้งที่เคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนไว้ที่ฝั่งด้านใน ส่วนคุณสมบัติการกันน้ำนั้นอยู่ที่ระดับ 100 เมตรทั้งคู่ ส่วนบริเวณวงฝาหลังของทั้งคู่ก็มีการสลักข้อความที่ระลึกแห่งความทรงจำของโอกาสพิเศษนี้เอาไว้ว่า “Caliber 9F 25th Anniversary Since 1993” ร่วมด้วยหมายเลขประจำเรือน และแน่นอนว่าการขัดเงาตัวเรือนนั้นเมื่อเป็น GRAND SEIKO ก็ต้องถูกขัดด้วยเทคนิค “ซารัตสึ” อันสุดแสนเงางามเป็นแน่แท้
หน้าปัดดีไซน์พิเศษ
หน้าปัดสีเงินแบบขัดลายของนาฬิกา ลิมิเต็ด เอดิชั่น สองรุ่นนี้ ถูกออกแบบขึ้นมาเป็นพิเศษให้เป็นลายนูนรูปแบบ “โมโนแกรม” ทั่วพื้นหน้าปัดซึ่งหากไม่บอกอาจไม่รู้ว่าเป็นลายอะไร แต่เมื่อหันเม็ดมะยมขึ้นไปอยู่ด้านบนแล้วก็จะอ่านออกอย่างชัดเจนว่าเป็นตัวอักษรและตัวเลขโดยอ่านเรียงจากด้านบนลงสู่ด้านล่างได้ว่า “G S 9 F” ซ้ำไปเรื่อยๆ แถมยังละเอียดถึงขั้นว่า มีเลข “2 5” ซึ่งสื่อถึง 25 ปีของกลไก 9F อยู่ด้วยชุดหนึ่งที่บริเวณส่วนปลายของแท่งหลักชั่วโมงตำแหน่ง 5 นาฬิกา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือนาทีที่ 25 อีกต่างหาก ซึ่งรูปแบบฟ้อนท์ก็นำลักษณะมาจากสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นกลไกควอตซ์ในสมัยอดีตนั่นเอง นอกจากนี้ยังติดตั้งดาวทองคำ 18 เค ชิ้นเล็กมาเหนือตำแหน่ง 6 นาฬิกาด้วย (ซึ่งเอกสารของ SEIKO บอกว่า ดาวทองคำห้าแฉกนี้ เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความเที่ยงตรงแม่นยำระดับ 5 วินาทีต่อปี!) ขณะที่องค์ประกอบในภาพรวมทั้งรูปทรงของแท่งหลักชั่วโมง กรอบหน้าต่างโลหะ เข็ม และสเกลนาที เป็นการนำดีไซน์มาจากรุ่นต้นฉบับปี 1993 แต่ทำการปรับสัดส่วนให้ดูร่วมสมัยยิ่งขึ้น
กลไก 9F เลอเลิศอย่างไร?
9F เป็นตระกูลกลไกอินเฮ้าส์ ระบบควอตซ์ ที่ทาง SEIKO ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อใช้กับนาฬิการะดับสูงตระกูล GRAND SEIKO ของพวกเขาโดยเฉพาะ ความมุ่งหมายในการคิดค้นและพัฒนกลไก 9F จึงถูกตั้งเป้าให้เป็น “กลไกควอตซ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก สำหรับนาฬิกาข้อมือที่ใช้สำหรับสวมใส่ประจำวัน” พวกเขาใช้เวลาในการพัฒนากลไกเครื่องนี้นานถึง 5 ปี จนในที่สุดก็สำเร็จเสร็จกิจและเปิดตัวออกมาครั้งแรกในปี 1993 ซึ่งเป้าหมายของเขาก็บรรลุดังตั้งใจเพราะจากวันนั้นจนถึงบัดนี้ คาลิเบอร์ 9F ก็ได้รับการยอมรับจากผู้คนในวงการว่าเป็นกลไกควอตซ์ที่ดีที่สุดในโลก โดยความยอดเยี่ยมของกลไก 9F นั้นมาพร้อมกันทั้งในด้านศาสตร์และศิลป์ซึ่งถือได้ว่าเป็นคุณภาพระดับ ไฮ-เอนด์ ซึ่งสมศักดิ์ศรีกับตระกูล GRAND SEIKO อันเป็นกลุ่มนาฬิการะดับ ไฮ-เอนด์ ของแบรนด์ โดยกระบวนการผลิตของกลไกตระกูลนี้ถูกกระทำขึ้นที่โรงงานเดียวกันกับกลไกระบบสปริงไดรฟ์อันเลื่องชื่อ
กลไกที่ใช้กับสองรุ่นใหม่นี้เป็นรหัส 9F83 ซึ่งมาพร้อมกับฟังก์ชั่นแสดงวันและวันที่ (รุ่น SBGT241) และรหัส 9F82 ที่มีแต่ฟังก์ชั่นวันที่ (รุ่น SBGV238) กลไกทั้งสองนี้ถือว่ามีความพิเศษกว่าเครื่อง 9F ที่ใช้กับ GRAND SEIKO รุ่นอื่นๆ เพราะได้รับการปรับตั้งให้มีระดับความเที่ยงตรงแม่นยำในการทำงานที่สูงกว่าเครื่อง 9F โดยทั่วไปด้วย
ในด้านศาสตร์นั้น สิ่งแรกก็คือความเที่ยงตรงแม่นยำระดับสูงมาก ซึ่งสำหรับเครื่อง 9F สองรุ่นนี้จะอยู่ในระดับเพียงไม่เกินบวกหรือลบ 5 วินาทีต่อ”ปี” เท่านั้น ขอย้ำว่าต่อปี! นะครับ (เหนือกว่าเครื่อง 9F รุ่นอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ระดับบวกหรือลบ 10 วินาทีต่อ”ปี” ซึ่งก็นับว่ายอดเยี่ยมมากๆ แล้ว) ความแม่นยำของกลไกตระกูล 9F เป็นผลมาจากการมีระบบชดเชยอุณหภูมิด้วยตัว “ไอซี” ซึ่งจะคอยตรวจวัดอุณหภูมิของผลึกควอตซ์และทำหน้าที่ชดเชยค่าความถี่ในการสั่นสะเทือนของผลึกควอตซ์ให้มีความคงที่และควบคุมเวลาได้อย่างแม่นยำที่สุด เพราะการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิทำให้ความถี่ในการสั่นสะเทือนของผลึกควอตซ์เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อันส่งผลให้จังหวะการควบคุมเวลาเกิดความคลาดเคลื่อน
ถ้านึกไม่ออกว่ามันแม่นยำกว่ากลไกอื่นๆ ขนาดไหน เราลองเทียบให้เห็นกันง่ายๆ ว่ากลไกควอตซ์แบบมาตรฐานทั่วไปนั้นจะมีความแม่นยำระดับบวกหรือลบ 15 วินาทีต่อ”เดือน” ส่วนกลไกจักรกลนั้นความแม่นยำระดับบวกหรือลบ 5 วินาทีต่อ”วัน” ก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว ถ้าจะหานาฬิกาข้อมือที่มีความเที่ยงตรงแม่นยำกว่านี้ก็จะต้องเป็นพวกนาฬิกาที่ต้องพึ่งการรับสัญญาณเวลาจากดาวเทียมจีพีเอส ระบบคลื่นวิทยุ หรือไม่ก็เชื่อมต่อผ่านบลูทูธมาจากโทรศัพท์มือถือแล้วล่ะครับ
นอกจากนี้กลไกตระกูล 9F ยังมีความพิเศษอยู่ในรายละเอียดทางเทคนิคของชิ้นส่วนและกลไกต่างๆ ซึ่งไม่มีในกลไกควอตซ์ทั่วไปซ่อนอยู่อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชุดมอเตอร์ขับเคลื่อนเข็มแบบสองจังหวะแรงบิดสูงพร้อมกลไกปรับตั้งฟันเฟืองโดยอัตโนมัติสำหรับเข็มวินาทีซึ่งทำให้จังหวะการขยับของเข็มวินาทีเป็นไปอย่างมั่นคงแม่นยำ ตรงขีดสเกลเป๊ะๆ และไร้ซึ่งอาการสั่นสะท้าน อันสร้างความประทับใจได้มากยิ่งถ้านำมาวางเทียบกับกลไกควอตซ์ธรรมดาด้วยแล้ว และด้วยมอเตอร์นี้ก็ทำให้สามารถใช้เข็มขนาดใหญ่ที่ทำจากวัสดุชั้นดีมีน้ำหนักเช่นเดียวกับนาฬิกา GRAND SEIKO กลไกจักรกลได้โดยไม่ต้องห่วงเรื่องน้ำหนักของเข็มเหมือนกับกลไกควอตซ์ทั่วไป ระบบกลไกฟังก์ชั่นปฏิทินที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วทันทีในชั่วพริบตา และสวิตช์ปรับความแม่นยำแบบละเอียดติดตั้งอยู่ด้านนอกของกลไกสำหรับให้ช่างนาฬิกาปรับตั้งการทำงานให้เที่ยงตรงยิ่งขึ้นได้โดยไม่ต้องแกะชิ้นส่วนกลไกใดๆ อีกทั้งยังตัวกลไกกับตัวเรือนยังถูกผนึกเข้าด้วยกันอย่างแน่นหนาที่สุดเพื่อให้ปราศจากอากาศและฝุ่นอันเป็นการยืดอายุการใช้งานของสารหล่อลื่นและน้ำมันในชิ้นส่วนต่างๆ ให้ใช้งานได้อย่างยาวนานและลดภาระในการบำรุงรักษาซึ่งทาง SEIKO บอกว่าในระยะเวลา 50 ปีของการใช้งานนั้น ไม่ต้องเซอร์วิสอะไรเลยนอกจากการเปลี่ยนแบตเตอรี่ตามปกติราวทุก 3 ปี ทั้งยังปิดกั้นส่วนบรรจุแบตเตอรี่จากชุดกลไกมาเป็นอย่างดีเพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในขณะเปลี่ยนแบตเตอรี่ด้วย และเพื่อคุณภาพระดับสูงสุด ผลึกควอตซ์ที่ใช้กับกลไก 9F นั้น นอกจากจะผลิตขึ้นโดย SEIKO เองแล้ว ยังถูกคัดเฉพาะเกรดที่ดีที่สุดมาใช้ด้วย
ส่วนความยอดเยี่ยมทางด้านศิลป์ของกลไกตระกูล 9F นั้นจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากลักษณะการออกแบบชิ้นส่วนที่นอกจากจะคำนึงถึงความสวยงามของรูปทรงแล้ว ชิ้นส่วนโลหะแต่ละชิ้นยังได้รับการขัดแต่งและตกแต่งลวดลายอย่างพิถีพิถันด้วยฝีมือของช่างระดับสูงดุจชิ้นส่วนของกลไกจักรกลชั้นเลิศ อีกทั้งการประกอบกลไกยังเป็นการกระทำด้วยมือของช่างนาฬิการะดับมาสเตอร์เพียงคนเดียวต่อหนึ่งเครื่อง โดยมีเพียงอีกคนหนึ่งมาทำหน้าที่ติดตั้งฟังก์ชั่นปฏิทินเข้าไปเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติที่จะพบเจอในกระบวนการผลิตกลไกควอตซ์ทั่วไป
แล้วราคาล่ะ...เท่าไหร่ และเริ่มขาย...เมื่อไหร่?
รุ่นตัวเรือนสตีลล้วน SBGT241 ถูกกำหนดจำนวนการผลิตเอาไว้ที่ 1,500 เรือน โดยจะเริ่มจำหน่ายในราวเดือนมีนาคม 2018 ที่ราคา 3,400 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนรุ่นขอบตัวเรือนทองคำเยลโลว์โกลด์ 18 เค SBGV238 ถูกกำหนดจำนวนการผลิตเอาไว้แค่ 600 เรือน โดยจะเริ่มจำหน่ายในราวเดือนเมษายน 2018 ที่ราคา 4,800 เหรียญสหรัฐฯ
By: Viracharn T.