GRAND SEIKO, จากอดีตสู่อนาคต ตอนที่ 4
ในปี 1998 นาฬิกากลไกซีรี่ส์ 9S5 เผยโฉมขึ้นภายใต้การออกแบบภาพลักษณ์ใหม่ ด้วยเทคโนโลยีด้านการออกแบบและการผลิต ที่ทำให้นาฬิกาจาก GRAND SEIKO สามารถยกระดับจากนิยามความหมายดั้งเดิมขึ้นไปในอีกระดับ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นในนาฬิกาซีรี่ส์ 9S56 ที่นำเสนอสู่ตลาดในปี 2002 และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของนาฬิกาจาก GRAND SEIKO ที่มีฟังก์ชั่นจีเอ็มที กับเข็มแสดงเวลาสีแดงอันโดดเด่นบนหน้าปัด ต่อเนื่องจนถึงปี 2003 ที่นาฬิกา GRAND SEIKO นำเสนอเรือนเวลากลไกควอท์ซ ที่สามารถต้านทานพลังสนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้ถึงระดับ 40,000 แอมแปร์/เมตร ซึ่งถือเป็นระดับการป้องกันที่ก้าวข้ามขีดจำกัดตามมาตราฐานของนาฬิกาทั่วไปในตลาด
นาฬิกา GRAND SEIKO รุ่น 9S5
มาถึงจุดนี้ นับว่า GRAND SEIKO สามารถนำเสนอเรือนเวลาคุณภาพสูงออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องและมากมาย แต่ทว่าทีมพัฒนาของ GRAND SEIKO ก็ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และผลงานชิ้นโบว์แดงก็คือการเปิดตัวของกลไกสปริงไดร์ฟสู่ตลาด จากการพัฒนาชุดกลไกอย่างต่อเนื่องจากการเริ่มต้นแนวคิดในปี 1977 ของ Yoshikazu Akahane วิศวกรฝีมือเยี่ยมของโรงงาน ที่มีแนวคิดในการสร้างกลไกนาฬิกาที่ใช้ลานสปริง พร้อมทั้งให้ความเที่ยงตรงได้ถึงระดับ 1 วินาทีต่อวัน ซึ่งแม้จะต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย และพบกับความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน แต่ชิ้นงานต้นแบบกว่า 600 ชุดก็ทำให้เกิดเป็นกลไกสปริงไดร์ฟได้ในที่สุดในปี 1999
นาฬิกา GRAND SEIKO รุ่น 9S56
โดยนาฬิกากลไกสปริงไดร์ฟซีรี่ส์ 9R65 ได้รับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2004 พร้อมการใช้งานในเรือนเวลาอย่างสมบูรณ์แบบ โดยการผสมผสานการทำงานระหว่างลานสปริงแบบดั้งเดิม กับการปรับตั้งของชุดอีเล็คโทรนิคส์ ส่งผลให้เกิดเป็นนาฬิกาที่ใช้พลังงานจากการเคลื่อนไหวของผู้สวมใส่ ทั้งยังให้ความเที่ยงตรงสูงสุดอย่างเทียบไม่ได้กับกลไกนาฬิกาแบบเดิมที่เคยมีในตลาด พร้อมทั้งให้พลังสำรองลานที่ยาวนานขึ้นถึง 72 ชั่วโมง และยังให้ความเที่ยงตรงตลอดเวลาไม่ว่านาฬิกาจะถูกใช้งานอยู่หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีระบบการขึ้นลานอย่างง่ายดายเพียงการขยับเรือนนาฬิกาเพียงเล็กน้อย รวมกันทำให้ GRAND SEIKO ได้รับชื่อเสียงในฐานะผู้ผลิต ที่สามารถทำให้เกิดขึ้นและใช้งานได้จริงโดยไม่ใช่เพียงแค่ความฝัน
ทั้งหมดนี้เป็นเพราะความมุ่งมั่นของ GRAND SEIKO ในด้านการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง ผนวกกับความสามารถทางด้านการผลิตที่เหนือชั้น โดยสามารถผลิตทั้งชิ้นส่วนและชุดกลไกในแต่ละชนิดได้ด้วยตัวเอง รวมความทำให้ GRAND SEIKO สามารถสร้างนวัตกรรมพิเศษให้กับวงการนาฬิกาโลกได้ ซึ่งยังมีการพัฒนาและต่อยอดให้กลไกชุดนี้สามารถให้พลังสำรองลานอันยาวนานได้ถึง 3 วัน กับกลไกสปริงไดร์ฟคาลิเบอร์ 9S67 ที่เปิดตัวในปี 2006 โดยยังคงชุดกระปุกลานชุดเดียวอยู่เพื่อให้ไม่ทำให้ชุดกลไกมีขนาดใหญ่หรือหนาเกินไป และบรรจุลานสปริงที่ความกว้างและยาวกว่าปกติอีกถึง 10 เซนติเมตร พร้อมความถี่ในการทำงานที่ระดับ 28,800 รอบต่อชั่วโมง
นาฬิกา GRAND SEIKO รุ่น 9R6
นอกจากนี้ในปี 2005 GRAND SEIKO ยังมีการนำเสนอนาฬิกากลไกสปริงไดร์ฟพร้อมฟังก์ชั่นจีเอ็มที กับนาฬิกากลไกสปริงไดร์ฟคาลิเบอร์ 9R66 ที่ยังมีการผนวกเอาฟังก์ชั่นโครโนกราฟมาบรรจุลงไว้ด้วยกันอีกด้วยในปี 2007 โดยมีฟันเฟืองชุดคอลลัมน์วีลและเวอร์ติคัลคลัช ที่ทำให้กลไกชุดนี้สามารถควบคุมการแสดงเวลาได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถจับเวลาได้นานสูงสุดถึง 12 ชั่วโมง และคงความเที่ยงตรงในการแสดงเวลาในระดับ 1 วินาทีต่อวันเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นการแสดงเวลาปกติ หรือแสดงเวลาในขณะที่ใช้งานการจับเวลาอยู่ก็ตาม โดยยังคงความงดงามตามสไตล์ของนาฬิกาจาก GRAND SEIKO ไว้ได้อย่างครบถ้วนเช่นเดิม
นาฬิกา GRAND SEIKO รุ่น 9S67
กรุณาติดตามเรื่องราวต่อในตอนต่อไป