King Seiko อีกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของแบรนด์ Seiko
By Dr. Attawoot Papangkorn
ความเพียรพยายามคือหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญสู่ความสำเร็จ เพราะในชีวิตจริงเราต่างทราบดีว่าเส้นทางชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป ต้องฝ่าฟันอุปสรรคและคำดูแคลนมากมายของผู้คน ซึ่งหากขาดความเพียรพยายามแล้ว ความสำเร็จก็คงเป็นได้แค่เพียงฝันลมๆ แล้งๆ แต่ถ้าตั้งมั่นในจุดหมายที่จะเดินไปแล้วล่ะก็ ความเพียรพยายามจะสามารถเปลี่ยนดินให้เป็นดาวได้อย่างแน่นอน
Seiko แบรนด์นาฬิกาชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น สำหรับคนทั่วไปและนักเล่นนาฬิกาบางท่าน อาจมองว่าเป็นแบรนด์นาฬิกาธรรมดาๆ แบรนด์หนึ่ง ที่มีราคาถูกไม่สูงและจับต้องได้ง่าย ไม่ได้มีความพิเศษหรือน่าสนใจอะไร หาซื้อและมีขายทั่วไป แต่ถ้าได้ศึกษาและเปิดใจทำความรู้จักตัวตนของนาฬิกาแบรนด์นี้แล้ว ผมมั่นใจว่าทุกท่านต้องประหลาดใจแน่นอน เพราะความเพียรพยายามของ Seiko นี้ สามารถพัฒนาตัวเองจากดินไปสู่ดาวในปัจจุบัน
Mr. Kintaro Hattori
ย้อนกลับไปในสมัย Meji (พ.ศ. 2411-2455) ถือเป็นหนึ่งในช่วงเวลาสำคัญและมีผลกระทบต่อประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เป็นช่วงเวลาที่มีการปรับเปลี่ยนระบบการปกครองและวัฒนธรรมในประเทศหลายแขนงเพราะได้รับเอาอารยะธรรมหลายอย่างจากชาติตะวันตกเข้ามา โดยเฉพาะระบบปฏิทินและมาตรฐานการบอกเวลาสากล จึงเริ่มมีการนำเข้านาฬิกาเพื่อใช้บอกเวลาจากชาติตะวันตกในช่วงปี พ.ศ. 2424 ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีนาฬิกาแล้วก็ต้องมีร้านซ่อมนาฬิกาเป็นของคู่กันด้วย และจากวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้เองที่ทำให้นาย Kintaro Hattori ริเริ่มธุรกิจนำเข้าและรับซ่อมนาฬิกาโดยเปิดร้านที่โตเกียวเป็นแห่งแรก ภายใต้ชื่อ K. Hattori & Co. โดยหลังจากดำเนินธุรกิจและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ประมาณ 9 ปี ก็ได้ตัดสินใจก่อตั้งโรงงานผลิตนาฬิกาติดผนังของตนเองขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า Seikosha หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมามากทั้งจากสงครามและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งยังเคยปรับเปลี่ยนตัวเองจากโรงงานผลิตนาฬิกาติดผนังเป็นโรงงานผลิตอาวุธจนโดนทิ้งระเบิดมาแล้ว ถือเป็นโรงงานที่มีประสบการณ์โชกโชนเลยทีเดียวในช่วงยุคเริ่มแรกของการก่อตั้ง จนในปี พ.ศ. 2502 ด้วยความรักและมุ่งมั่น นาย Kintaro Hattori จึงได้ก่อตั้งโรงงานเพื่อมุ่งเน้นที่จะผลิตนาฬิกาคุณภาพสูงอย่างจริงจังขึ้นมาใหม่อีกสองโรงงานนั่นก็คือ Suwa Seikosha และ Daini Seikosha เหตุผลหลักในการเปิดโรงงานใหม่อีกสองโรงงานนี้ไม่ใช่เพราะต้องการเพิ่มกำลังการผลิตแต่อย่างใด แต่เพื่อให้มีการแข่งขันพัฒนาผลิตภัณฑ์กันเองในองค์กร โดยไม่มีการแลกเปลี่ยนความรู้ใดๆ ทั้งสิ้น
K. Hattori Watch & Clock Shop ก่อตั้งในปี 2424
ไลน์ประกอบนาฬิกาในโรงงาน Seiko ช่วงปี พ.ศ. 2493
การแข่งขันภายในนี้ผลักดันให้ Seiko ก้าวหน้าในการออกแบบและก้าวล้ำในด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ทำให้ในปี พ.ศ. 2503 Suwa Seikosha ได้เปิดตัวนาฬิกา Grand Seiko Chronometer ซึ่งเป็นนาฬิกาเดรสระดับไฮเอนด์รุ่นแรกของแบรนด์ ในขณะเดียวกันที่ Daini Seikosha ก็เปิดตัว King Seiko รุ่นแรกในปี พ.ศ. 2506 โดยวางตัวเองเป็นนาฬิกาเดรสระดับไฮเอนด์เช่นกัน แต่ปัญหาคือการออกแบบโดยรวมยังไม่น่าประทับใจและยังไม่สามารถดึงดูดเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคได้ Daini Seikosha จึงทำการว่าจ้างนักออกแบบรุ่นใหม่ชื่อนาย Taro Tanaka ซึ่งเป็นผู้สร้างหลักการออกแบบที่เรียกว่า Grammar Of Design และได้แปรเปลี่ยนหลักการออกแบบของแบรนด์ Seiko ตลอดมาเช่น พื้นผิว และการเข้ามุมต่างๆ ของตัวเรือนและหน้าปัดที่ต้องมีความเรียบและมีความสมมาตรทางเรขาคณิต เพื่อให้มีการสะท้อนแสงที่ดีที่สุดเมื่อยามต้องตาและทำให้สะดุดตาของผู้ที่ได้พบเห็น โดยหลังจากนั้นไม่นานจึงกลายมาเป็นนาฬิกา King Seiko รุ่น 44-9990 (หรือที่รู้จักกันในชื่อ 44KS) ซึ่งเป็นนาฬิการุ่นที่สองของ King Seiko และถือเป็นนาฬิการุ่นแรกที่ได้รับอิทธิพลจากหลักการออกแบบนี้ King Seiko 44-9990 ถูกผลิตขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ไปจนถึง พ.ศ. 2511 และที่พิเศษสำหรับผู้ที่ได้ครอบครองก็คือในล็อตการผลิตแรกๆ นั้นไม่ได้ใช้รหัส 44-9990 แต่ใช้รหัส 44999 ฉะนั้นนักสะสมท่านใดที่กำลังศึกษาเพื่อหามาครอบครองอยู่ก็ควรจะต้องตรวจสอบดูรหัสด้วย เผื่อว่าจะได้มีโอกาสเจอช้างเผือก
King Seiko Ref. 44999 (ภาพจากเว็บไซต์ heritageofwatches)
King Seiko 44KS Ref. 44-9990 2nd model
แต่งานเลี้ยงก็ย่อมต้องมีวันเลิกลา หลังจากที่ King Seiko ได้ออกนาฬิกาสู่ตลาดอีกหลายรุ่นและได้สร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ อีกทั้งยังเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ Grand Seiko มาตลอดแล้ว เมื่อเทคโนโลยีได้ถูกพัฒนามาถึงจุดหนึ่ง จุดเปลี่ยนก็ย่อมต้องเกิดขึ้น ในปี พ.ศ. 2518 แบรนด์ Seiko ได้เปิดตัวนาฬิกาข้อมือระบบควอตซ์รุ่นแรกของโลกโดยมีชื่อว่า Astron และจุดเปลี่ยนครั้งนี้ก่อกำเนิดคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงลูกใหญ่และสร้างแรงกระเพื่อมต่อวงการผู้ผลิตนาฬิกาไปตลอดกาล ซึ่งแรงกระเพื่อมอันมหาศาลนี้เองที่กลับมามีผลกระทบต่อแบรนด์ Seiko เอง เมื่อนาฬิการะบบควอตซ์ที่มีราคาจับต้องได้ง่ายและมีความเที่ยงตรงสูง ในขณะที่นาฬิการะบบกลไกระดับไฮเอนด์ที่มีราคาสูงก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไป แบรนด์ Seiko เล็งเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะมีนาฬิการะดับไฮเอนด์เอาไว้ถึงสองแบรนด์ จึงตัดสินใจให้ King Seiko หยุดสายการผลิตลงในปี พ.ศ. 2518 และคงเหลือไว้เพียง Grand Seiko ที่เป็นแบรนด์เรือธงเพื่อสืบสานตำนานนาฬิกาไฮเอนด์ของค่ายต่อไป และก็กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ในปัจจุบัน เราจึงเห็นเพียง Seiko และ Grand Seiko ที่ยังคงทำตลาดในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็ทิ้งให้ King Seiko กลายเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งที่ยังหลงเหลือแต่เพียงนาฬิกาที่เคยผลิตออกสู่ตลาดและกลายเป็นความสนุกอีกส่วนหนึ่งของนักสะสมในปัจจุบันเช่นกัน
Quartz Astron นาฬิกาข้อมือกลไกควอตซ์รุ่นแรกของโลก เปิดตัวเมื่อปี พ.ศ. 2512
Grand Seiko 44GS เรือนต้นฉบับจากปี พ.ศ. 2510