SIHH 2018 - GIRARD-PERREGAUX Laureato Chronograph ฟังก์ชั่นโครโนกราฟบนนาฬิกาสปอร์ตหรู ลอเรียโต ที่หลายคนเฝ้ารอ

  

นับเวลาได้ 2 ปีแล้ว ที่ GIRARD-PERREGAUX (จีราร์ด-แพร์โกซ์) นำ Laureato (ลอเรียโต) ซึ่งเป็นนาฬิกาสปอร์ตหรูระดับตำนานที่มีแรกกำเนิดตั้งแต่ปี 1975 และสืบทอดต่อเนื่องมาจนกระทั่งเลิกผลิตไปแล้วระยะหนึ่ง กลับมาบรรจุในคอลเลคชั่นปัจจุบันกันอีกครั้งด้วยรูปลักษณ์ที่นำรุ่นแรกกำเนิดมาตีความใหม่ให้มีความทันสมัยเหมาะกับทุกวันนี้ ซึ่งรุ่นที่ออกมาก่อนก็จะเป็นนาฬิกาแบบแสดงเวลาปกติด้วยกันทั้งสิ้น โดยมีวัสดุกับขนาดของตัวเรือน คอมบิเนชั่นการตกแต่ง และประเภทกลไก หลากหลายแบบให้เลือก หลายท่านก็รอและคาดหวังว่าเมื่อเป็นนาฬิกาสไตล์สปอร์ตก็น่าจะต้องมีรูปแบบฟังก์ชั่นยอดนิยมของนาฬิกาสไตล์นี้ นั่นก็คือ โครโนกราฟจับเวลา ออกมาเป็นทางเลือกด้วย แน่นอนครับว่าทาง GP ตระหนักรู้ในข้อนี้ดี และปีนี้ซึ่งเป็นปีที่สามแห่งการกลับมากำเนิดใหม่ของ Laureato ก็ถึงเวลาสำหรับการเปิดตัวรุ่น Laureato Chronograph แล้ว

 

ดีไซน์ระดับตำนาน

 

ลักษณะโดยรวมของนาฬิกาทั้งดีไซน์ของตัวเรือน หน้าปัด และสาย ยังคงเป็นรูปแบบเดียวกันกับ Laureato คอลเลคชั่นใหม่รุ่นต่างๆ ที่เปิดตัวมาเมื่อปี 2017 อันมีจุดเด่นหลักๆ ก็คือ ดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวเรือนกับสายโลหะ ลักษณะความต่อเนื่องกลมกลืนของตัวเรือนกับสาย และขอบตัวเรือนขัดเงารูปทรงแปดเหลี่ยมคมคายบนฐานทรงกลม พื้นหน้าปัดลายฮ็อบเนล คลู เดอ ปารีส์ ที่เรียงรายสร้างมิติยามต้องแสงด้วยลักษณะของปิระมิดขนาดเล็กล้อมด้วยวงแหวนขอบหน้าปัดพื้นเรียบ และใช้แท่งหลักชั่วโมงที่มีปลายเป็นสามเหลี่ยมซึ่งเป็นดีไซน์ในลักษณะเดียวกับเข็มชั่วโมงและเข็มนาที พร้อมเคลือบสารเรืองแสงไว้บนหลักชั่วโมงและเข็มชั่วโมงกับนาทีด้วย

 

pr 81020 52 432 52a

 

 

เสริมลักษณะเฉพาะของโครโนกราฟ

 

วงหน้าปัดขนาดเล็กอันเป็นลักษณะของนาฬิกาโครโนกราฟที่เพิ่มเข้ามาบนหน้าปัดนั้น ทาง GP ดีไซน์ให้แยกพื้นวงออกมาอย่างชัดเจนวางระนาบต่ำกว่าพื้นหน้าปัดเล็กน้อยและใช้เป็นพื้นลายสเนลด์เป็นวงแหวนซ้อนกระจายออกจากจุดศูนย์กลาง เพื่อสร้างมุมมองที่แตกต่างโดยพิมพ์สเกลและตัวเลขด้วยสีขาวในฟ้อนท์ที่ดูร่วมสมัย แต่ไม่ทิ้งความคลาสสิกและชี้แสดงด้วยเข็มทรงผอมเรียว ขณะที่เข็มชั่วโมงกับเข็มนาทีและแท่งหลักชั่วโมงนั้น ทุกเวอร์ชั่นของรุ่นโครโนกราฟจะใช้เป็นสีน้ำเงิน โดยตำแหน่งของวงหน้าปัดขนาดเล็กทั้งสามนั้นอยู่ที่ 3-6-9 นาฬิกา ซึ่งเป็นความคลาสสิกและมีความสมดุลเป็นที่สุด และก็ทำให้ชิ้นโลโก้ GP และชื่อแบรนด์ยังคงอยู่ในตำแหน่ง 12 นาฬิกาเหมือนเช่น Laureato คอลเลคชั่นใหม่รุ่นอื่นๆ ซึ่งทำให้ดูเป็นคอลเลคชั่นที่มีดีไซน์เป็นเอกภาพดีมากๆ ขณะที่ช่องหน้าต่างแสดงวันที่นั้นถูกย้ายมาอยู่ที่ตำแหน่ง 4.30 นาฬิกา โดยยังคงใส่ใจในรายละเอียดด้วยการใช้พื้นจานแสดงวันที่เป็นโทนสีเดียวกับพื้นหน้าปัดเพื่อให้ดูกลมกลืนกัน โดยมีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเพิ่มเข้ามาก็คือ ปุ่มกดจับเวลา ซึ่งดีไซเนอร์ของ GP ไม่ได้เล่นง่ายๆ แค่การเพิ่มปุ่มเข้ามา แต่ออกแบบตัวเรือนทางด้านขวาขึ้นมาใหม่ให้มีลักษณะของบ่าป้องกันเม็ดมะยมที่มีเหลี่ยมสันดูคมคายเข้มแข็งเพิ่มขึ้นมาโดยขนาบด้วยปุ่มกดโครโนกราฟทรงกลมขนาดเหมาะนิ้วที่อุตส่าห์ออกแบบบริเวณฐานปุ่มให้เป็นชิ้นโลหะรูปทรงแปดเหลี่ยมเพื่อให้ดูสอดคล้องกับดีไซน์ของขอบตัวเรือนด้วย

  

กลไกชั้นยอด

 

กลไกที่ใช้กับ Laureato Chronograph มีพื้นฐานมาจากเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ รหัส GP03300 ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 46 ชั่วโมง อันเป็นกลไกสามเข็มพร้อมฟังก์ชั่นวันที่แบบเดียวกับที่ใช้ในรุ่น ลิมิเต็ด เอดิชั่น Heritage Laureato Ref. 81000 ขนาด 41 มม. ที่ผลิตขึ้นเมื่อปี 2016 กับรุ่น Laureato 38 มม. รหัส 81005 ที่ออกมาเมื่อปี 2017 โดยสร้างโมดูลโครโนกราฟ จับเวลา 12 ชั่วโมงขึ้นมาติดตั้งเข้าไป ซึ่งรหัสต่อท้ายกลไกก็จะแตกต่างออกไปในแต่ละรุ่น เป็น GP03300-0134 หรือ 0136 หรือ 0137

  

มีให้เลือกทั้ง 2 ไซส์ ในหลากหลายเวอร์ชั่น

 

ไหนๆ จะมากันทั้งที ทาง GP ก็ปั้น Laureato Chronograph ออกมาถึง 2 ไซส์ ทั้งตัวเรือนขนาดใหญ่ 42 มม. และตัวเรือนขนาดกลาง 38 มม. ซึ่งก็เป็นตัวเรือนเดียวกับรุ่นกลไกอัตโนมัติทั้ง 2 ไซส์ที่ออกมาเมื่อปี 2017 นั่นเอง โดยการมีตัวเรือนไซส์กลางก็เพื่อสนองความต้องการของคุณผู้หญิงในยุคปัจจุบันที่นิยมนาฬิกาสปอร์ตที่มีไซส์ดูแมนๆ หน่อย หรือจะเป็นคุณผู้ชายตัวเล็กก็สามารถสวมใส่ได้อย่างไม่ขัดเขินด้วยเช่นกัน โดยทั้ง 2 ไซส์ยังคงกันน้ำได้ถึงระดับความลึก 100 เมตร เช่นเดิม (ยกเว้นรุ่นตัวเรือนพิ้งค์โกลด์ ที่กันน้ำได้แค่ 50 เมตร) และใช้กระจกหน้าปัดเป็นแซฟไฟร์คริสตัลที่เคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนมาให้ทั้ง 2 ฝั่ง แต่ก็มีสิ่งแตกต่างที่ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมถึงต้องต่าง นั่นก็คือ คราวนี้รุ่นตัวเรือนขนาด 38 มม. ไม่ได้ใช้ฝาหลังแบบผนึกกระจกแซฟไฟร์ เหมือนกับรุ่น 42 มม. แต่กลับได้เป็นฝาหลังแบบแผ่นทึบแทน ทั้งๆ ที่ในรุ่น 38 มม. แบบกลไกอัตโนมัติแสดงเวลาสามเข็มก็ใช้ฝาหลังแบบผนึกกระจกแซฟไฟร์ และด้วยความที่เป็นกลไกติดโมดูล ตัวกลไกจึงมีความหนาเพิ่มขึ้นจากกลไกอัตโนมัติแบบเพียวๆ ซึ่งก็ส่งผลให้ขนาดความหนาโดยรวมของตัวเรือนนั้นเพิ่มขึ้นด้วย แต่ก็แค่นิดเดียว โดยรุ่น 42 มม. จะเพิ่มขึ้นจาก 10.88 มม. ของรุ่นกลไกอัตโนมัติ มาเป็น 11.9 มม. ส่วนรุ่น 38 มม. จะเพิ่มขึ้นจาก 10.02 มม. มาเป็น 10.9 มม. ซึ่งก็ยังไม่ถือว่าหนาสักเท่าไหร่

 

สะดุดตาด้วยหน้าปัดแบบทูโทน

 

หน้าปัดนาฬิกาโครโนกราฟที่เป็นแบบทูโทน ซึ่งใช้วงหน้าปัดขนาดเล็กเป็นคนละสีกับพื้นหน้าปัดหลักนั้น เป็นอะไรที่นิยมกันมาตั้งแต่ครั้งอดีตแล้ว โดยสำหรับ Laureato Chronograph ที่มีเวอร์ชั่นหน้าปัดออกมาให้เลือกถึง 3 สีนั้น ก็มี 2 สีที่ใช้หน้าปัดแบบทูโทน นั่นก็คือ 1) แบบหน้าปัดสีดำที่มีวงหน้าปัดขนาดเล็กทั้งสามเป็นสีน้ำเงินเข้ม อันเป็นสไตล์ทูโทนที่ดูโมเดิร์นทันสมัย และ 2) แบบหน้าปัดสีเงินขาวที่มีวงหน้าปัดขนาดเล็กทั้งสามและวงขอบล้อมหน้าปัดเป็นสีดำ ซึ่งเป็นสไตล์คลาสสิกที่วงการนาฬิกาเรียกกันว่าหน้าปัดแบบ “แพนด้า” นอกจากนี้ยังเป็นเวอร์ชั่นเดียวที่ใช้เข็มวินาทีจับเวลาเป็นสีน้ำเงิน และใช้โลโก้ GP เป็นสีดำด้วย

  

t 81020 11 631 bb6a face

  

สเตนเลส สตีล ชนิด 904L

 

สำหรับ Laureato แบบโครโนกราฟนี้ วัสดุสตีลที่นำมาใช้ทำตัวเรือนและสายของเวอร์ชั่นสตีลนั้นมาจาก สเตนเลสสตีลเกรด 904L ซึ่งมีส่วนประกอบของโครเมี่ยมอยู่ในระดับสูง ทำให้มีความทนทานต่อการกัดกร่อนเป็นยอด และเมื่อได้รับการขัดไม่ว่าจะเป็นขัดเงาหรือขัดซาตินก็จะเกิดความเงางามกระจ่างใสเป็นเยี่ยม อันเป็นวัสดุสตีลชนิดเดียวกับที่ Rolex ใช้ทำตัวเรือนและสาย ขณะที่นาฬิกาแบรนด์อื่นๆ โดยส่วนใหญ่จะเลือกใช้สตีลเกรด 316L เท่านั้น

 

 

By: Viracharn T.