Story of GIRARD-PERREGAUX Laureato, Part II
โดยช่วงเวลาของการเปิดตัวนาฬิการุ่น Laureato ในปี 1975 จะถูกเรียกชื่อว่า “ควอท์ซ โครโนมิเตอร์” ตามกลไกที่ใช้เป็นครั้งแรก แต่สำหรับในประเทศอิตาลีซึ่งนับเป็นตลาดสำคัญของ GIRARD-PERREGAUX ณ เวลานั้น นาฬิการุ่นนี้ได้กลายเป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้เชี่ยวชาญว่า “บัณฑิต” ตามคำแปลในภาษาอิตาลี โดยชื่ออันเปี่ยมไปด้วยความชื่นชมและหลงใหลนี้ ได้ทำหน้าที่เป็นดั่งการประกาศถึงความสำเร็จจากการชนะรางวัลต่างๆ จากความเที่ยงตรงและแม่นยำเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ขอบตัวเรือนทรงแปดเหลี่ยมของ Laureato ยังดูคล้ายดั่งช่อชัยพฤกษ์ (Laurel Crown) อันทรงเกียรติที่สวมบนศีรษะของผู้ชนะเท่านั้น โดยตลอดระยะเวลาหลายปี งานออกแบบของ Laureato ได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอย่างพิถีพิถันและละเอียดอ่อนในจุดต่างๆ มากมาย แต่ทว่าหัวใจสำคัญของนาฬิการุ่นดั้งเดิมจากปี 1975 จะยังคงได้รับการสืบทอดไว้เสมอ เฉกเช่นเดียวกันกับ อาคาร สิ่งปลูกสร้าง รถยนต์ และข้าวของต่างๆ รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์
อันเป็นดั่งชิ้นงานระดับไอคอนิคอีกมากมายที่ผลิตขึ้นในช่วง 70s และยังคงเป็นต้นแบบเหนือกาลเวลา ของงานออกแบบที่ประสบความสำเร็จสูงสุดเสมอ เช่นเดียวกับ Laureato ในฐานะผลงานสร้างสรรค์งานออกแบบ อันเป็นต้นตำรับดั้งเดิมจากโรงงานอันทรงคุณค่า และเป็นที่ยอมรับเสมอมาในด้านการออกแบบ และเนื่องจากนวัตกรรมกลไกคือหัวใจของ GIRARD-PERREGAUX เสมอ นับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ขึ้นในปี 1791 ตลอดเรื่อยมาจนถึงช่วง 70s
ที่แบรนด์นาฬิกาสวิสรายนี้ เป็นดั่งผู้นำแห่งกลไกควอท์ซ เทคโนโลยีที่มอบซึ่งอนาคตแห่งความเที่ยงตรง และความแม่นยำที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งแท้จริงแล้วความถี่ในระดับ 32,768 เฮริท์ซนี้ได้ถูกตั้งมาตรฐานไว้โดยเมซงแห่งนี้ และถูกนำมาประยุกต์ใช้ในฐานะมาตรฐานสากล สำหรับกลไกควอท์ซทั่วไปในเวลาต่อมา ซึ่งทำให้ Laureato รุ่นแรกไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะทำงานด้วยกลไกควอท์ซ ที่ทางโรงงานผลิตขึ้นเพื่อใช้งานเอง พร้อมกับประกาศนียบัตร COSC
สำหรับกลไกควอท์ซอินเฮ้าส์คาลิเบอร์ 705 ซึ่งในช่วงเวลานั้น อุตสาหกรรมการประดิษฐ์นาฬิกาสวิสตามประเพณีส่วนใหญ่แล้ว ยังตกอยู่ในภาวะถดถอยและไม่พร้อมที่จะก้าวไปสู่ การสร้างเรือนเวลาที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแบตเตอรี่ในทันที และแม้ว่ากลไกควอท์ซจะดึงดูดความสนใจของผู้คนได้มากมาย แต่ GIRARD-PERREGAUX ก็ยังคงเดินหน้าการผลิตกลไกแบบจักรกลขึ้น ภายในโรงงานของตนเองมาตลอดในระยะเวลากว่า 230 ปี
ซึ่งมีเพียงน้อยแบรนด์นักที่จะสามารถทำได้เช่นนี้ โดยในปี 1995 ณ ช่วงเวลาที่การประดิษฐ์นาฬิกาจักรกล เริ่มหวนกลับมาสู่ความรุ่งเรืองและได้รับความนิยมอีกครั้ง GIRARD-PERREGAUX จึงได้เปิดตัวนาฬิการุ่น Laureato 8010 ขึ้น ซึ่งติดตั้งด้วยกลไกอินเฮ้าส์อัตโนมัติ โดย ณ ปัจจุบัน ยังคงมีผลงานอย่างนาฬิการุ่น Laureato ในขนาด 34 มิลลิเมตรที่ยังคงติดตั้งด้วยกลไกควอท์ซ ในขณะที่รุ่นอื่นๆ ทั้งหมดซึ่งนำเสนอในขนาดตัวเรือนที่ใหญ่กว่า ล้วนทำงานด้วยกลไกจักรกลทั้งหมด