CHRISTOPHE CLARET ผู้นำแห่งนวัตกรรมเรือนเวลา
หนึ่งในสิ่งที่ผู้บรรลุแล้วถึงความงดงามแห่งศาสตร์การประดิษฐ์นาฬิกาต้องการก็คือ การได้ครอบครองเรือนเวลาที่สร้างสรรค์โดยนักประดิษฐ์นาฬิการะดับยอดฝีมือของโลก ซึ่งนักประดิษฐ์นาฬิการะดับนี้นั้นมีอยู่ไม่มากนักโดยแต่ละท่านก็มีแนวทางในการสร้างงานที่แตกต่างกันออกไปตามความถนัดและความชื่นชอบส่วนตัว ทำให้นาฬิกาจากฝีมือของนักประดิษฐ์เหล่านี้มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากนาฬิกาทั่วไป
ผลงานของนักประดิษฐ์นาฬิกาเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วไม่ง่ายนักที่จะได้เป็นเจ้าของ ด้วยเหตุผลด้านราคาที่จัดว่าค่อนข้างสูงและความหายากของรุ่นที่ต้องการ เหตุผลเหล่านี้เองที่นำมาซึ่งความสุขและความสนุกในการเสาะแสวงหานาฬิกาเรือนที่คนรักนาฬิกาแต่ละคนต้องการมาไว้ในคอลเลคชั่นส่วนตัว และนักประดิษฐ์ระดับยอดฝีมือของโลกอีกท่านหนึ่งที่สร้างผลงานนาฬิกาของตนเองขึ้นมาให้คนรักนาฬิกาได้เป็นเจ้าของกันก็คือ Christophe Claret (คริสทอพ คลาเรต์)
Mr. Christophe Claret
เส้นทางสู่การเป็นยอดฝีมือ
Mr. Christophe Claret (คริสทอพ คลาเรต์) คือ นักประดิษฐ์นาฬิกาชาวฝรั่งเศสผู้ฝึกฝนทักษะจากการทำงานร่วมกับนักประดิษฐ์นาฬิกาชั้นครูอย่าง Mr. Roger Dubuis (โรเจอร์ ดูบุยส์) ก่อนที่จะมาเปิดเวิร์คช็อปบูรณะนาฬิกาโบราณของตนเองและคิดค้นสร้างสรรค์ผลงานกลไกของเขาเองควบคู่กันไป จนมาถึง ค.ศ. 1987 Mr. Rolf Schnyder (รอล์ฟ ชนายเดอร์) เจ้าของแบรนด์นาฬิกา Ulysse Nardin (ยูลิสส์ นาร์แดง) ในขณะนั้น เกิดความประทับใจในกลไกนาฬิกาแบบตีขานเวลา ควอเตอร์รีพีทเตอร์ พร้อมกลไกหุ่นกลที่ Mr.Christophe Claret ออกแบบขึ้นถึงขนาดสั่งซื้อกลไกมินิทรีพีทเตอร์พร้อมหุ่นกลจาก Mr.Claret ถึง 20 ชุดด้วยกัน หลังจากนั้นไม่นาน ในปี ค.ศ. 1989 Mr. Claret ก็ก่อตั้งโรงงาน Claret (คลาเรต์) ขึ้นใน ลา โชซ์-เดอ-ฟงด์ส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และขยายกิจการอย่างรวดเร็วด้วยฝีมือการสร้างสรรค์กลไกระดับความซับซ้อนสูงของเขาซึ่งเป็นที่เลื่องลือไปทั่วอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส
กิจการหลักๆ ของเขาในช่วงแรกนั้น เป็นการสร้างกลไกระดับสูงป้อนให้กับแบรนด์นาฬิกาชั้นนำมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Ulysse Nardin (ยูลิสส์ นาร์แดง), Franck Muller (แฟรงก์ มูลเลอร์), Girard-Perregaux (จิราร์ด-เพอร์เรโกซ์), Jean Dunand (ช็อง ดูนองด์) และ Harry Winston (แฮร์รี่ วินสตัน) นอกจากนี้ก็มีการสร้างนาฬิกาเรือนพิเศษขึ้นมาโดยใช้ชื่อของเขาเป็นชื่อแบรนด์ ซึ่งเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อของนักสะสมนาฬิกาด้วย ส่วนการผลิตนาฬิกาภายใต้ชื่อแบรนด์ CHRISTOPHE CLARET (คริสทอพ คลาเรต์)เพื่อออกจำหน่ายอย่างจริงจังนั้นเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2009 ด้วยรุ่น DualTow (ดูอัลโทว์) ก่อนจะมีรุ่นอื่นๆ ตามออกมาจนกลายมาเป็น 4 กลุ่มคอลเลคชั่นนาฬิกาอย่างในปัจจุบัน
โรงงาน Claret ใน ลา โชซ์-เดอ-ฟงด์ส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
การขัดแต่ง การตกแต่ง และการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ของกลไก ในโรงงาน Claret
4 กลุ่มการสร้างสรรค์
นาฬิกาภายใต้แบรนด์ CHRISTOPHE CLARET (คริสทอพ คลาเรต์) ในปัจจุบัน แบ่งประเภทออกเป็น 4 กลุ่ม คือ หนึ่ง กลุ่มคอลเลคชั่น Traditional Complication (เทรดิชันนัล คอมพลิเคชั่น) ซึ่งเป็นนาฬิกาที่ใช้พื้นฐานคอมพลิเคชั่นกลไกแบบดั้งเดิมตามขนบอันเก่าแก่ของการประดิษฐ์นาฬิกา, สอง กลุ่มคอลเลคชั่น Extreme Complication (เอ็กซ์ตรีม คอมพลิเคชั่น) ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์คอมพลิเคชั่นกลไกในรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา, สาม กลุ่มคอลเลคชั่น Interactive Gaming Complication (อินเตอร์แอคทีฟ เกมิ่ง คอมพลิเคชั่น) ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์คอมพลิเคชั่นกลไกให้สามารถมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับผู้ใช้ในลักษณะของเกมได้ ส่วนกลุ่มที่สี่ก็คือ กลุ่มคอลเลคชั่น Ladies Complication (เลดี้ส์ คอมพลิเคชั่น) ซึ่งเป็นนาฬิการะดับสูงสำหรับคุณผู้หญิงโดยเฉพาะ
ทุกคอลเลคชั่นต่างเน้นให้มีความซับซ้อนอยู่ในตัวในลักษณะที่ไม่เหมือนกับผู้ผลิตอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของการแสดงค่า รูปแบบของกลไก ตลอดจนโครงสร้างของนาฬิกา องค์ประกอบเหล่านี้ล้วนเป็นไปตามแนวคิดของ Mr. Claret ที่ว่า “ในการสร้างนาฬิกานั้น แม้ทุกสิ่งจะถูกสร้างขึ้นมาแล้ว แต่ก็มีสิ่งที่ยังไม่เคยถูกคิดค้นขึ้นมาอยู่” และสิ่งสำคัญที่เป็นความภาคภูมิใจอีกอย่างก็คือ ทุกขั้นตอนของกระบวนการออกแบบ พัฒนา และผลิต ถูกกระทำขึ้นภายในโรงงานของตนเองด้วยฝีมือของเหล่านักประดิษฐ์นาฬิกา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และช่างฝีมือเฉพาะด้าน ร่วมกับเทคโนโลยี เครื่องมือ และเครื่องจักร อันทันสมัย เพื่อทำให้สิ่งที่ Mr. Claret คิดสร้างเกิดเป็นเรือนจริงขึ้นมา ส่วนผลงานการสลักตกแต่ง งานกิโยเช่ และงานอีนาเมลจะกระทำโดยช่างระดับยอดฝีมือของสวิสเท่านั้น ในบทความนี้จะขอเลือกนำนาฬิกา 1 รุ่นจากแต่ละกลุ่มคอลเลคชั่น มานำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกัน
Soprano ประสานสองสุดยอดคอมพลิเคชั่นกลไกเข้าด้วยกัน
Soprano (โซพราโน) คือ หนึ่งในนาฬิกาจากกลุ่มคอลเลคชั่น Traditional Complication โดยเป็นการนำเอาสองสุดยอดคอมพลิเคชั่นกลไก ได้แก่ ตูร์บิยอง และมินิทรีพีทเตอร์แบบเสียงระฆังเวสต์มินสเตอร์ มาประสานรวมไว้ด้วยกัน โดยสามารถมองเห็นชิ้นส่วนกลไกได้อย่างชัดเจนจากทางด้านหน้าผ่านช่องโปร่งของชิ้นบริดจ์ที่ถูกดีไซน์มาในรูปแบบโครงสร้างที่เรียกว่า Charles X (ชาลส์ เอ็กซ์) ห่อหุ้มด้วยตัวเรือนทรงกลมขนาด 45 มิลลิเมตร ที่นำเอาสองวัสดุต่างชนิดอย่างทองคำและไทเทเนี่ยมมาประสานไว้ด้วยกัน โดยใช้วัสดุทั้งสองนี้ก้บทั้งตัวเรือนชิ้นกลาง ขอบตัวเรือน ฝาหลังแบบกรุกระจกใส ตลอดจนเม็ดมะยม เพื่อสื่อความหมายถึงการผสมผสานขนบดั้งเดิมเข้ากับความทันสมัย และยังทำให้เสียงระฆังนุ่มนวลและมีพลังอีกด้วย
ระฆังเวสต์มินสเตอร์ของกลไกนี้ให้เสียงกังวานออกมา 4 ตัวโน้ต จากการตีค้อนบนก็องแคธีดรัล 4 ชุด ซึ่งมองการเคลื่อนขยับได้จากทางด้านหน้าของนาฬิกา เหล็กก็องและลักษณะของตัวเรือนถูกออกแบบให้สามารถสร้างและสะท้อนเสียงออกมาได้อย่างไพเราะที่สุด โดยทางแบรนด์ได้ทำการจดสิทธิบัตรคุ้มครองก็องรูปแบบนี้เอาไว้แล้ว ทั้งยังตั้งใจสร้างให้ระบบกลไกการตีทำงานด้วยความเงียบสงบอีกด้วย ส่วนกลไกควบคุมเวลานั้นจะทำงานด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง ด้วยความเที่ยงตรงแม่นยำเป็นที่สุดจากกลไกตูร์บิยองแบบหมุนครบรอบใน 1 นาที พร้อมระบบกันสะเทือนแบบพาราชู้ต ขึ้นลานด้วยมือ ให้กำลังสำรองได้ถึง 72 ชั่วโมง ใช้รหัสกลไกว่า คาลิเบอร์ TRD98
ในภาพเป็นเวอร์ชั่นตัวเรือนวัสดุเร้ดโกลด์ร่วมกับไทเทเนี่ยมเกรด 5 เคลือบพีวีดีสีน้ำตาลช็อกโกแลต ใช้เข็มไทเทเนี่ยมเกรด 5 เคลือบพีวีดีสีเทาแอนทราไซต์พร้อมสารเรืองแสง ซูเปอร์-ลูมิโนว่า และผนึกด้วยแซฟไฟร์เคลือบแล็กเกอร์สีส้มสะดุดตา ชี้แสดงไปยังวงขอบหน้าปัดสีน้ำตาลซึ่งติดตั้งด้วยหลักชั่วโมงวัสดุพิ้งค์โกลด์ สวมคู่มากับสายหนังจระเข้สีน้ำตาลช็อกโกแลต ผลิตขึ้นแบบจำนวนจำกัดเพียง 8 เรือนเท่านั้น
X-TREM-1 แสดงเวลาแบบสุดล้ำด้วยลูกเหล็กลอย
X-TREM-1 (เอ็กซ์-เทร็ม-วัน) คือ หนึ่งในนาฬิกาจากกลุ่มคอลเลคชั่น Extreme Complication ที่เป็นผลลัพธ์จากการศึกษาทดลองเพื่อคิดค้นรูปแบบการแสดงเวลาแบบใหม่ๆ ขึ้นมา โดยนำระบบแม่เหล็กมาประยุกต์ใช้ในการแสดงเวลาซึ่งจะผสานการทำงานกับกลไกจักรกลควบคุมความแม่นยำด้วยตูร์บิยองที่ออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะ ถือเป็นความท้าทายในการนำเรื่องต้องห้ามสำหรับกลไกนาฬิกาอย่างสนามแม่เหล็กมาใช้อย่างชาญฉลาด (X-TREM ย่อมาจาก eXperimental Time Research Engineering Mechanism)
ระบบการแสดงเวลาของนาฬิการุ่นนี้ใช้ลูกเหล็กสตีลกลวงทรงกลมขนาดเล็ก 2 ลูก ทำหน้าที่เคลื่อนลอยขึ้น-ลงในแนวดิ่งเพื่อแสดงชั่วโมงกับนาทีแบบเรโทรเกรดอยู่ภายในหลอดแซฟไฟร์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณริมด้านซ้ายและขวาของตัวเรือน โดยที่ลูกเหล็กนี้ไม่มีการเชื่อมขายึดใดๆ เข้ากับตัวกลไกแต่เป็นการเคลื่อนไหวด้วยการใช้สนามแม่เหล็กเชื่อมโยงกับชิ้นแม่เหล็กขนาดเล็กที่ขับเคลื่อนด้วยสายเคเบิ้ลเส้นเล็กที่ขยับตามการทำงานของกลไก เมนเพลทโครงสร้างสามมิติและบริดจ์ของกลไกถูกสร้างจากไทเทเนี่ยมที่มีน้ำหนักเบาเป็นพิเศษ ส่วนตูร์บิยองแบบฟลายอิ้งวางมุมเอียง 30 องศา ก็มีการใช้บอลแบริ่งวัสดุเซรามิกแบบคู่เพื่อให้ทนต่อแรงสะเทือนได้ดี กลไกที่ใช้มีรหัสคาลิเบอร์ว่า FLY11 ทำงานที่ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง ให้กำลังสำรองได้เกินกว่า 50 ชั่วโมง จากการขึ้นลานด้วยมือไปยังบาร์เรล 2 ชุด ชุดหนึ่งจะใช้สำหรับชุดเกียร์เทรน ส่วนอีกชุดหนึ่งจะใช้สำหรับกลไกแสดงเวลา การขึ้นลานและการปรับตั้งเวลาจะกระทำด้วยการหมุนชิ้นโบว์แบบพับแนบได้ซึ่งติดตั้งอยู่บนฝาหลัง และยังมีปุ่มกดปรับตั้งเวลาแบบฟาสต์แอดจัสท์เม้นท์ ให้มาด้วยโดยอยู่ที่ด้านบนของตัวเรือน ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา
รุ่นในภาพเป็นหนึ่งในนาฬิกา X-TREM-1 เวอร์ชั่นที่เปิดตัวในงานบาเซิลเวิลด์ 2016 ผลิตจำนวนจำกัดเพียง 8 เรือน จุดเด่นของเวอร์ชั่นนี้ก็คือการนำเอาวัสดุสตีลซึ่งเรียกว่า ‘แดมาซีนด์ สตีล’ มาทำเป็นชิ้นส่วนตัวเรือนร่วมกับชิ้นส่วนที่ทำจากเร้ดโกลด์ วัสดุสตีลชนิดนี้เป็นลักษณะเดียวกับที่เคยใช้ทำใบมีดดาบในสมัยสงครามครูเสด ใช้ทำกระบอกปืนในสมัยนโปเลียน และใช้ทำดาบคาตานะของซามูไรชาวญี่ปุ่น โดยเป็นกรรมวิธีโบราณที่นำเอาเหล็กตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปมาตีทบประสานให้เป็นชิ้นเดียวกันเพื่อความคงทนแข็งแรง โดยเหล็กที่ได้จะมีเนื้อเหล็กที่เป็นลวดลายเฉพาะตัว วัสดุ แดมาซีนด์ สตีล ที่ใช้ทำชิ้นส่วนตัวเรือนของรุ่นนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยการใช้สเตนเลสสตีลเกรด 316L และ 304L มาตีทบเป็นชิ้นเดียวกันทำให้เกิดเป็นลวดลายเฉพาะตัว ซึ่งนอกจากความยากในกรรมวิธีการผลิตเหล็กแล้ว ความแข็งของเหล็กที่ได้ก็ทำให้การตัดแต่งรูปทรงเป็นเรื่องยากเช่นเดียวกับการผสานทองคำเร้ดโกลด์ลงไปบนเนื้อเหล็กเพื่อเป็นหลักแสดงเวลา จุดเด่นอีกอย่างของเวอร์ชั่นนี้ก็คือ ลูกเหล็กสตีลแสดงเวลาที่เคลือบด้วยพิ้งค์โกลด์ มิติของตัวเรือนวัดขนาดได้ 40.8 x 56.8 x 15 มิลลิเมตร สวมคู่มากับสายหนังจระเข้สีแอนทราไซต์
Poker โป๊กเกอร์บนหน้าปัดนาฬิกา
นาฬิกา Poker (โป๊กเกอร์) จากกลุ่มคอลเลคชั่น Gaming Complication รุ่นนี้ เป็นการนำเอาลักษณะของกลไกนาฬิกาที่สามารถทำให้หุ่นกลขยับเคลื่อนไหวได้ มาประยุกต์พัฒนาให้เป็นเกมโป๊กเกอร์บนเรือนนาฬิกาซึ่งสามารถเล่นได้จริง โดยเป็นเกมยอดนิยมอย่าง Texas Hold’em ที่สามารถเล่นได้ 3 คน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำให้เกมไพ่ 52 ใบ และกติกาของการเล่น พร้อมการออกแต้มต่างๆ มากมายจากการผสมแต้มบนไพ่ถึง 32,768 รูปแบบ ซึ่งต้องมาคูณสามสำหรับการเล่น 3 คนเป็น 98,304 รูปแบบ มาทำให้ใช้งานได้ด้วยการทำงานของกลไกนาฬิกาแบบจักรกล ทั้งยังต้องคำนวณการออกแต้มที่เฉลี่ยโอกาสในการชนะให้กับผู้เล่นทั้งสามได้อย่างเท่าเทียมกันด้วย!!! แต่แม้จะยากเพียงใดก็ไม่เกินความสามารถของ Christophe Claret ไปได้
การเล่นในแต่ละขั้นตอนกระทำได้ด้วยการกดปุ่ม 2 ปุ่มที่ด้านข้างของตัวเรือน ซึ่งอยู่ที่ตำแหน่ง 10 กับ 8 นาฬิกา ไพ่ของผู้เล่นแต่ละคนจะแสดงผ่านช่องหน้าต่างคนละ 2 ช่องบนหน้าปัดนาฬิกา ซึ่งออกแบบเป็นลักษณะของบานเกล็ดที่เป็นชิ้นเดียวกับพื้นวงแหวนสีดำด้านฉลุลายไพ่ เพื่อปกปิดมิให้ผู้เล่นเห็นไพ่ของกันและกันได้ อีกทั้งในแต่ละครั้งของการกดปุ่มยังมีการเชื่อมต่อกับระบบการตีก็องแคธีดรัลที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อเพิ่มอรรถรสในการเล่นด้วย โดยระบบก็องรูปแบบนี้ได้รับการจดสิทธิบัตรเอาไว้แล้ว ส่วนไพ่ของโต๊ะจะแสดงผ่านช่องหน้าต่างอีก 5 ช่อง หรือหากต้องการล้างไพ่อันเป็นการเริ่มต้นเล่นใหม่ก็แค่เพียงกดปุ่ม ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกาเท่านั้น
กลไกของ Poker เป็นกลไกขึ้นลานอัตโนมัติรหัสคาลิเบอร์ PCK05 ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง ให้กำลังสำรอง 72 ชั่วโมง จากบาร์เรล 2 ชุด บรรจุในตัวเรือนทรงกลม ขนาด 45 x 52.6 มิลลิเมตร ที่ใช้ฝาหลังแบบกรุดกระจกใสเพื่อให้มองเห็นโรเตอร์แบบเต็มวงและวงขอบที่ออกแบบเป็นลักษณะของวงล้อรูเล็ต ทั้งนี้ก็เพื่อให้สามารถใช้เล่นเกมรูเล็ตได้โดยการเขย่าให้โรเตอร์หมุนเพื่อออกเลข
รุ่นในภาพเป็นเวอร์ชั่นที่ใช้ตัวเรือนวัสดุไวท์โกลด์ร่วมกับวัสดุไทเทเนี่ยมเกรด 5 เคลือบพีวีดีสีดำ และใช้เม็ดมะยมที่เป็นการผสานร่วมของ 2 วัสดุเช่นกัน สวมคู่มากับสายหนังจระเข้สีดำเดินด้ายแดงให้ลุคความเป็นสปอร์ตเข้ากับทับทิมสีแดงที่ติดตั้งอยู่กับเข็มเคลือบพีวีดีสีดำพร้อมสารเรืองแสง ซูเปอร์-ลูมิโนว่า โดยมีหน้าปัดเป็นวัสดุนิกเกิ้ลซิลเวอร์ ผลิตจำนวนจำกัดเพียง 20 เรือน
Margot เกมเสี่ยงทายความรักสุดโรแมนติกบนข้อมือ
Margot (มาร์โกต์) คือ นาฬิการุ่นแรกจากกลุ่ม Ladies’ Complication ซึ่งเป็นนาฬิกากลไกซับซ้อนที่ออกแบบและผลิตขึ้นมาเพื่อคุณผู้หญิงโดยเฉพาะ โดยเป็นการนำรูปแบบของเกมเสี่ยงทาย “He loves me… He loves me not.” ซึ่งเป็นการเด็ดกลีบดอกเดซี่เพื่อเสี่ยงทายความรู้สึกของคนรัก อันเป็นเกมสุดโรแมนติกของผู้หญิงมาช้านาน มาเป็นโจทย์ในการออกแบบกลไกนาฬิกาให้สามารถใช้เล่นเกมเสี่ยงทายนี้ได้
การกดปุ่มที่ข้างตัวเรือน ณ ตำแหน่ง 2 นาฬิกา ในแต่ละครั้งจะทำให้กลีบดอกเดซี่วัสดุไทเทเนี่ยมลงแล็กเกอร์สีขาวผิวซาตินที่อยู่บริเวณกลางหน้าปัดหดหายไปอยู่ภายใต้หน้าปัดทีละกลีบหรือ 2 กลีบ และคำตอบซึ่งเป็นลักษณะของลายมือในภาษาฝรั่งเศส (Un peu – นิดๆ, beaucoup – มาก, passionnément – เสน่หา, à la folie (คลั่ง), pas du tout – ไม่เลย) ก็จะสุ่มปรากฎขึ้นมาผ่านช่องหน้าต่างด้านขวาบนหน้าปัดในการกดแต่ละครั้ง เพื่อให้อ่านต่อเนื่องจากข้อความ Il m’aime (He loves me) ที่ปรากฏอยู่ในช่องหน้าต่างด้านซ้าย พร้อมกับเสียงก็องระฆังแคธีดรัลแสนกังวานใสจากการตีของค้อนประดับทับทิมเพื่อเพิ่มความสุนทรีย์ในการเสี่ยงทาย ทั้งยังเจาะช่องกรุกระจกบริเวณ 8 นาฬิกาที่ด้านข้างตัวเรือนเพื่อให้มองเห็นการตีก็องด้วย และหากต้องการรีเซ็ตให้กลีบดอกเดซี่ขึ้นมาอยู่เต็มพร้อมกับข้อความ …. ในช่องหน้าต่าง ก็เพียงกดปุ่มที่ตำแหน่ง 4 นาฬิกาเท่านั้น โดยระบบกลไกและการแสดงการเสี่ยงทายนี้ได้ถูกจดสิทธิบัตรเอาไว้แล้ว ส่วนด้านการแสดงเวลานั้นเป็นการทำงานของกลไกขึ้นลานอัตโนมัติ ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง ที่ให้กำลังสำรองได้ยาวนานถึง 72 ชั่วโมงจากบาร์เรล 2 ชุด โดยมีโรเตอร์ขึ้นลานแบบเต็มวงที่ฉลุเป็นร่องกลีบดอกไม้อย่างสวยงามพร้อมประดับหินสีต่างๆ อันเป็นตัวแทนแห่งหลากหลายอารมณ์ซึ่งจะมองเห็นได้ชัดเจนผ่านกระจกใสบนฝาหลัง รวมเรียกกลไกนี้ว่า คาลิเบอร์ EMT17
หน้าปัดของ Margot ทำจากเปลือกหอยมุกซึ่งมีการสลักข้อความจากบทกวีของ Victor Hugo (วิคเตอร์ ฮิวโก้) หนึ่งในสุดยอดนักเขียนเรื่องโรแมนติกของฝรั่งเศสจากยุคศตวรรษที่ 19 เอาไว้ ขณะที่การแสดงเวลาจะกระทำผ่านเข็มชั่วโมงกับนาทีวัสดุสตีลที่มีส่วนปลายแหลมเป็นทองคำ โดยมีส่วนกลางหน้าปัดเป็นควอตซ์ซิทรินสีเหลืองเพื่อแสดงลักษณะของเกสรดอกไม้ บรรจุมาในตัวเรือนขนาด 42.5 x 50.15 มม. ที่ออกแบบให้เม็ดมะยมติดตั้งอยู่ ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา โดยซ่อนอยู่ทางด้านหลังของขาตัวเรือนชิ้นบน
สำหรับรุ่นในภาพเป็นเวอร์ชั่นตัวเรือนเร้ดโกลด์ เสริมความหรูหราด้วยการประดับเพชรทรงบาแกตต์บนขอบตัวเรือนและบริเวณขาตัวเรือน ร่วมด้วยเพชรทรงหกเหลี่ยมบนขาตัวเรือนชิ้นบน รวมทั้งหมด 69 เม็ด (ประมาณ 5 กะรัต) ใช้หน้าปัดเปลือกหอยมุกสีชมพู หลักชั่วโมงพิ้งค์โกลด์ประดับเพชรรูปทรงลูกแพร์ 3 ตำแหน่ง ปลายเข็มทั้งสองและโลโก้เป็นพิ้งค์โกลด์ เพลทพื้นหลังของกลีบดอกไม้และโรเตอร์เป็นสีพิ้งค์โกลด์ สวมคู่มากับสายหนังจระเข้สีขาวพร้อมตัวล็อควัสดุเร้ดโกลด์ประดับเพชรทรงลูกแพร์ ผลิตจำนวนจำกัดเพียง 20 เรือน
พบกับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.christopheclaret.com
By: Viracharn T.