Indomptables de CARTIER สรรพสัตว์แห่งพงไพรผู้ไม่เคยสยบให้ใคร
CARTIER เปิดตัว Indomptables de CARTIER คอลเลคชั่นเครื่องประดับและเรือนเวลา ที่นำสรรพสัตว์แห่งพงไพรอันเป็นเอกลักษณ์ของ CARTIER อย่าง เสือ ยีราฟ จระเข้ และม้าลาย ที่เปี่ยมด้วยบุคลิกเฉพาะที่โดดเด่น มาโลดแล่นอยู่บนเครื่องประดับและเรือนเวลาที่ผนวกทั้งเทคนิคชั้นสูง งานหัตถศิลป์อันวิจิตรตระการตา และความคิดสร้างสรรค์ของการรังสรรค์เครื่องประดับและเรือนเวลาเข้าด้วยกัน
Indomptables de CARTIERปลุกเร้าการเผชิญหน้าอันเหนือความคาดหมาย ของบรรดาสัตว์สัญลักษณ์ประจำเมซง โดยแนวคิดหลักของคอลเลคชั่นนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องประดับสไตล์ Tête-à-Tête หรือเครื่องประดับที่มีดีไซน์หัวของทั้งสองด้านประจันหน้าเข้าหากัน ทั้งกำไลข้อมือ สร้อยคอ และเรือนเวลาที่ประดับด้วยรูปหัวสัตว์สองชนิดจากสรรพสัตว์ระดับไอคอนของแบรนด์ โดยสำหรับกำไลข้อมือตัวเรือนเยลโลโกลด์ทั้งสามแบบ CARTIER ฉีกกรอบกฎเกณฑ์แห่งโครงสร้างทั้งมวล ตั้งแต่ส่วนหัวของสัตว์แต่ละชนิดที่คงรูปแบบเดิม ตามลักษณะทางธรรมชาติที่คุ้นชินกันเป็นอย่างดี ทว่าลวดลายบนลำตัวกลับเปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่นกำไลข้อมือที่จะมีลายของจระเข้ที่ถูกนำมาประดับบนตัวม้าลาย ส่วนกำไลข้อมืออีกชิ้น จากลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของม้าลาย กลับปรากฏอยู่บริเวณลำตัวของเสือแพนเธอร์
คอลเลคชั่น Indomptables de CARTIER คือการไม่เกรงกลัวที่จะรังสรรค์เครื่องประดับ ที่ประยุกต์ใส่ได้หลากหลายโอกาส ผ่านชิ้นงานเรียบโก้ทรงกราฟิคพร้อมคาแรคเตอร์ที่เด่นชัด อย่างเช่นกำไลข้อมือ เรือนเวลา และสร้อยคอชิ้นใหญ่ที่แลดูทรงพลัง โดยมีโครงสร้างที่โดดเด่นไล่เรียงตั้งแต่หูถึงสันกราม ดวงตาและจมูกของสัตว์แต่ละชนิด ที่เป็นความงดงามที่ขมวดเส้นสายเข้าด้วยกันอย่างพอดิบพอดี ซึ่งคอลเลคชั่นแสนวิจิตรนี้ถูกเนรมิตโดยสตูดิโอสร้างสรรค์เครื่องประดับ และเรือนเวลาของ CARTIER เพื่อให้มีคาแรคเตอร์ที่เหนือจินตนาการ ในการขับเน้นทุกมิติและทุกรายละเอียด ประกอบด้วยสิบชิ้นงานตระการตาที่ล้วนโอบอุ้ม ทุกความโดนเด่นอันเป็นอัตลักษณ์ของแบรนด์ โดยกำไลข้อมือทั้งหมดห้าแบบ จะมีให้เลือกทั้งแบบไวท์โกลด์ฝังเพชรหรือเยลโลโกลด์ล้วน รวมทั้งแบบไวท์โกลด์ประดับเพชรอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีสร้อยคอชิ้นใหญ่ที่สามารถสวมใส่เป็นโชคเกอร์ซึ่งมีให้เลือกในสองดีไซน์ แบบแรกคือสร้อยคอเยลโลโกลด์ที่มาพร้อมการประจันหน้าระหว่างม้าลาย และเสือแพนเตอร์โดยสลับลายสีดำอันเป็นเอกลักษณ์ของกันและกัน และแบบฝังเพชรทั่วตัวเรือนที่นำยีราฟและเสือมาเผชิญหน้ากัน นอกจากนั้นยังมีเรือนเวลาอีกสามแบบที่มาพร้อมหน้าปัดฝังเพชรแบบลายจุดหนังชากรีน (Shagreen) ประดับบาร์สองข้าง โดยด้านหนึ่งเป็นเสือแพนเตอร์ และอีกด้านหนึ่งถูกประดับด้วยจระเข้ ม้าลาย หรือเสือ โดยส่วนหัวสัตว์ทั้งสามแบบยังสามารถถอดออกเพื่อสวมใส่บนข้อมือ ได้ด้วยกลไกแคล็ปส์ซิสเต็ม (Clasp System) ซึ่งเป็นเทคนิคในงานใช้งานแบบใหม่ล่าสุดจาก CARTIER ที่ช่วยอำพรางสลักของเรือนเวลาไว้ได้อย่างแยบยล โดยจะไม่สามารถมองเห็นสลักต่างๆ เหล่านี้ได้ในทันทีจากภายนอก
ความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ น่าอัศจรรย์ใจ และแฝงด้วยลูกเล่น ถือเป็นบริบทของเครื่องประดับในคอลเลคชั่นนี้ ซึ่งเป็นชิ้นงานที่กินเวลาชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า สำหรับงานด้านการผลิตในดีไซน์สตูดิโอของ CARTIER ตั้งแต่ขั้นตอนการเสาะแสวงหาวิธีการใหม่ๆ ให้กับการประดับหินออนนิกซ์ลงบนตัวยีราฟหรือจมูกของเสือแพนเตอร์ เฉกเช่นเดียวกับหลากหลายเทคนิควิธีการฝังเพชร ที่ CARTIER ได้ค้นคว้าทุกความเป็นไปได้เพื่อรังสรรค์ผลงานออกมาให้งดงามเหนือความคาดหมาย ซึ่งวิธีการฝังเพชรแบบชากรีน (Shagreen Setting) คืออีกหนึ่งเทคนิคที่ถูกเลือกมาใช้แต่งแต้มลาย ให้กับเหล่าสัตว์ประจำคอลเลคชั่นนี้ โดยเป็นวิธีการฝังที่สามารถทำให้อัญมณียิ่งทวีความเปล่งประกายระยิบระยับ ส่วนการฝังเพชรแบบอีลูชั่น (Illusion Setting) บนกำไลข้อมือจะใช้วิธีการหักเหเหลี่ยมมุมของเนื้อทอง เพื่อสร้างภาพลวงตาบริเวณที่ทองกับเพชรผสานกัน
และสุดท้ายคือวิธีการฝังอัญมณีแบบเฟอร์ (Fur Setting) ซึ่งเป็นรูปแบบการฝังอัญมณีเฉพาะตัวของเมซงสำหรับสัตว์แต่ละชนิด โดยการล้อมอัญมณีแต่ละเม็ดด้วยกรอบทองขนาดจิ๋ว และกดเป็นลายเรียงกัน เพื่อให้อัญมณีแต่ละเม็ดดูราวกับขนเฟอร์จริง โดยที่ผ่านมา CARTIER ได้นำบรรดาสัตว์นานาชนิดมาเผชิญหน้ากันอยู่ในหลายครั้ง โดยดีไซน์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาตั้งแต่ยุคโบราณนี้ ได้ถูกเมซงนำมาใช้และได้รับความนิยมภายในเวลาอันรวดเร็วตั้งแต่ช่วงปี1930 โดยหลังจาก 2 ทศวรรษผ่านไป Jeanne Toussaint ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของCARTIER ในสมัยนั้นก็ได้ฟื้นคืนชีวิตให้ชิ้นงานเหล่านี้อีกครั้ง โดยเธอได้ปลุกพลังแห่งการสร้างสรรค์เครื่องประดับให้สมจริงที่สุด และได้ท้าทายเหล่านักออกแบบและช่างฝีมือให้ระดมกำลังในการตีความสรรพสัตว์แห่งพงไพรให้สมจริงยิ่งกว่าที่เคย
โดยมีเสือแพนเธอร์เป็นที่สุดแห่งสัญลักษณ์ โดยคำว่า Toussaint Taste (ตูแซงท์เทสท์) หรือรสนิยม Toussaint ซึ่งเป็นคำจากปากของเธอเองที่แปลได้ว่าเป็นรสนิยมอย่างล้ำลึก จากความหลงใหลอันแรงกล้าที่เธอมีต่องานประติมากรรมและสถาปัตยกรรม เธอจึงให้ความสำคัญกับการเน้นขนาดและมิติต่างๆ ให้โดดเด่น และกำไลข้อมือแบบสองหัวชิ้นนี้ก็นับเป็นตัวอย่างชั้นดีของแนวคิดดังกล่าว