Untold Story “THE CARTIERS” Part I
หนังสือ Untold story “THE CARTIERS” เป็นเรื่องราวการเริ่มต้นของเครื่องประดับแบรนด์ CARTIER ที่คนทั่วโลกรู้จักและมีชื่อเสียงมานานนับร้อยปี นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 โดย Francesca Cartier Brickell หลานสาวของ Jean-Jacques Cartier โดยผู้เขียนเจาะลึกถึงเรื่องราวที่แท้จริงของครอบครัว และการสร้าง CARTIER ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับสมาชิกคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลัง โดยในหนังสือเล่มนี้ Francesca เล่าเรื่องจากการพบจดหมายเก่าของเหล่าผู้อาวุโสที่ล่วงลับไปแล้ว และนำมาประติดประต่อจนมีรายละเอียดอย่างครบถ้วนและน่าสนใจ
ในช่วงศตวรรษที่ 21 เครื่องประดับโบราณล้ำค่าของ CARTIER นับว่าเป็นชิ้นงานที่ผู้คนทั่วโลกต่างปรารถนามากที่สุด หนึ่งในนั้นก็คือสร้อยคอหยกที่มีมูลค่าการประมูลมากที่สุดในโลก The Hutton-Mdivani CARTIER Jadeite Bead Necklace ในงานประมูล Sotheby’s ที่ Hongkong ในปี 2014 ที่ถูกประมูลด้วยราคาถึง 27.44 ล้านเหรียญดอลลาร์ จากการแข่งขันที่เข้มข้นและการยินยอมสละเงินหลายล้านดอลลาร์ เพื่อชิ้นงานที่มีลายเซ็นตัวเอียงที่คุ้นเคย Louis François Cartier ผู้กรุยทางของเครื่องประดับที่มีมูลค่าสูงที่สุดตลอดกาล และได้รับการยอมรับจากผู้คนทั่วโลกมานานกว่าสองร้อยปี
Louis-François Cartier เป็นลูกชายคนโตในจำนวนพี่น้องทั้ง 5 คน ของ Pierre Cartier คุณพ่อผู้มีชีวิตที่ทุกข์ยากในยุคที่นโปเลียนพ่ายแพ้สงคราม ได้แต่งงานกับสาวรับจ้างซักผ้า Elisabeth Gerardin ในปี 1815 คุณพ่อเป็นผู้ชำนาญการด้านการค้าขายในอุตสาหกรรมโลหะ ส่วน Louis-Francois นั้นได้พยายามฝ่าฟันความลำบากในการเข้าเป็นเด็กฝึกงานช่างประดิษฐ์หรือผู้ผลิตอัญมณี เพื่อแลกกับค่าจ้างเพียงเล็กน้อย เพราะการเป็นนักอัญมณีมืออาชีพและช่างฝีมือนั้นถือว่ามีเกียรติ ซึ่งเขามองต่างจากพ่อของเขาในจุดนี้ เมื่อ Louis-François สำเร็จจากการฝึกงาน ก็ถือเป็นโชคดีสำหรับเขาที่มีโอกาสเข้าร่วมการค้าอัญมณี ช่วงหลังจากการปฏิวัติในฝรั่งเศส เนื่องจากชีวิตในราชสำนักส่วนใหญ่ยังคงเลียนแบบความหรูหรา ตามยุคของพระนาง Marie Antoinette
ในปี 1840 Louis-François แต่งงานกับเจ้าสาววัย 18 ปี Antoinette Guermonprez หรือเรียกกันว่า Adèle โดยหลังจากแต่งงานพวกเขาก็ย้ายไปอยู่กับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เพราะไม่มีทุนทรัพย์สำหรับบ้านหลังใหม่ ชีวิตครอบครัวจึงเริ่มต้นนับตั้งแต่นั้น Louis-François Alfred หรือที่เรียกกันว่า Alfred ลูกชายคนเดียวของเขาเกิดในอีก 1 ปีต่อมา และน้องสาว Camille ก็ตามพี่ชายออกมา 5 ปีหลังจากนั้น ในช่วงเวลานั้นเอง Louis-François ทำงานอย่างหนักกับเจ้านาย Picard เพื่อให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และฝันว่าจะมีชื่อตราสัญลักษณ์บนเครื่องประดับของเขา เหมือนอย่างที่เจ้านายของเขาทำ ซึ่งความหวังก็ยังคงห่างไกล
แต่ในที่สุดโอกาสที่ Louis-François รอคอยก็มาถึงในปี 1847 เมื่อ Picard ประกาศสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขา และ Cartier รุ่นต่อไปในอนาคต รวมไปถึงอุตสาหกรรมเครื่องประดับทั้งโลก เนื่องจาก Picard ต้องการย้ายธุรกิจของเขาไปยังย่านที่ทันสมัยของเมือง แต่ก่อนอื่นนั้น Picard ต้องขายโรงงานแห่งเดิมเสียก่อน ดังนั้น Louis-François จึงไม่ปล่อยให้โอกาสเดียวของเขาต้องหลุดมือ โดยเขาพยายามรวบรวมเงินจำนวน 20,000 ฟรังก์ (เทียบกับค่าแรงวันละ 2 ฟรังก์ ต่อวันในสมัยนั้น) แต่ก็นับเป็นเงินจำนวนมากที่เขาไม่สามารถหามาได้เวลานั้น จึงพยายามต่อรองการจ่ายเป็นงวด และด้วยความโชคดีเมื่อ Picard ตอบตกลงเพราะไว้วางใจในตัวลูกน้องที่ทำงานหนักมาให้เขาโดยตลอด
เดือนเมษายน 1847 Louis-François Cartier จึงได้เป็นเจ้าของธุรกิจที่น่าภาคภูมิใจด้วยวัย 27 ปี และสามารถผลิตอัญมณี ภายใต้ชื่อของเขาเองอย่างเป็นทางการ โดยใช้ชื่อย่อ LC คั่นด้วยการ์ดรูปหัวใจตรงกลางระหว่างตัวอักษร ต่อมาในเดือนมกราคม 1848 CARTIER จึงปรากฏตัวเป็นครั้งแรกในหน้าหนังสือพิมพ์ เมื่อ Paris Trade Almanac มีการตีพิมพ์ประจำปี และ Louis-François ก็อธิบายไว้ว่าบริษัทของเขาคือ "ผู้สืบทอดของ M. Picard ผู้ผลิต Joaillerie [เครื่องประดับอัญมณี] Bijouterie [เครื่องประดับทองคำ] และของประดับตกแต่งมีระดับ" ซึ่งในขณะนั้น เขามีลูกค้าที่มีชื่อเสียงอย่างเช่นครอบครัว Rothschild เป็นต้น
ในช่วงสิบสองปีนับตั้งแต่ก่อตั้ง CARTIER อยู่รอดจากการปฏิวัติ สภาพเศรษฐกิจที่เลวร้าย ไฟไหม้ร้าน จนมาถึงช่วงเวลาครั้งสำคัญที่ต้องตัดสินใจกับการย้ายร้าน เมื่อทราบข่าวว่า Gillion นักอัญมณีชาวปารีสที่มีชื่อเสียงกำลังจะวางมือจากวงการ Louis-François ในวัย 40 ปีได้เข้าหาชายชราพร้อมกับข้อเสนอสำหรับธุรกิจของเขากับอาคาร Gillion หมายเลข 9 ที่มีขนาดใหญ่กว่าอาคารเดิมหลายเท่าตัว โดยอาคารแห่งนี้ตั้งอยู่บนทำเลที่ดีมากสำหรับร้านค้าปลีก ซึ่งใกล้กันนั้นก็คือ The Café Anglais ร้านอาหารที่ดีที่สุดในเมือง และถนนสายนี้ยังเป็นหนึ่งในสี่สายหลักในปารีส ที่ได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูงแต่งตัวหรูหรา จนกลายเป็นแลนด์มาร์กของเมือง แม้ว่าจะมีราคาค่าเช่าเป็นสองเท่าที่เขาจ่ายให้กับ Picard แต่เขาเชื่อว่าจะสามารถต่อยอดให้ธุรกิจของ CARTIER มีความมั่นคงมากขึ้นกว่าเดิมภายใต้ชื่อ CARTIER GILLION
Louis-François สะสมชื่อเสียงให้กับ CARTIER อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม Chambre Syndicale de la Bijouterie Jewelry Union การเข้าร่วมนิทรรศการเปิดเส้นทางรถไฟ ซึ่งเป้าหมายของเขาคือการเปิดแสดงอัญมณีให้กับลูกค้าใหม่ในอนาคต และพยายามเผยแพร่ชื่อเสียงทางหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งเมื่อชื่อเสียงของ CARTIER แพร่หลายออกไป เขาก็ได้รับการยกย่องว่าเป็น "หนึ่งในความรุ่งโรจน์ของชาวปารีส" แต่ก็มีเรื่องที่น่าเศร้าในปี 1865 เมื่อเขาได้เสียคุณพ่อวัย 78 ปีไป และการจากไปของ Pierre Cartier ก็ทำให้เขามุ่งมั่นที่จะเปลี่ยน CARTIER ให้เป็นบริษัทครอบครัวที่ประสบความสำเร็จต่อไป ซึ่งแม้ว่าบริษัทของเขาอาจไม่ได้รับการยกย่องอย่างสูงเท่ากับ MELLORIO แต่ก็ได้รับเกียรติให้เป็นพ่อค้าอัญมณีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น
ในขณะเดียวกัน Alfred ลูกชายคนเดียวของเขา ก็พิสูจน์ให้เห็นถึงความหมั่นเพียรโดยการหาช่องทางขายสินค้าไปที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ด้วยวัย 29 ปี ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะบุกไปตลาดใหม่ ซึ่งลูกค้าชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงที่สุดของ CARTIER ก็ได้แก่ลอร์ดและเลดี้ Dudley ขุนนางอายุ 50 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีที่มีชื่อเสียง ที่ครั้งหนึ่งได้ตัดสินหมวดเครื่องประดับระดับโลกที่งาน Exposition Universelle ขณะที่ Alfred ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของ CARTIER ออกไปในวงกว้าง Louis-François ก็รู้สึกถึงทิศทางบวกเกี่ยวกับอนาคต และมั่นใจว่าเขาได้สร้างธุรกิจที่มั่นคงพอที่จะส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป พร้อมความเชื่อมั่นว่า Alfred พร้อมที่จะรับบทบาทนี้ เขาจึงเริ่มพิจารณาที่จะเกษียณอายุ แต่ความคิดของเขาก็ต้องหยุดชะงักลง
เมื่อกองกำลังปรัสเซียนได้ยึดฝรั่งเศสในเดือนสิงหาคม 1870 และปารีสกลายเป็นค่ายทหาร เนื่องจากนโปเลียนที่ 3 พ่ายแพ้สงครามอย่างต่อเนื่อง อาหารเริ่มขาดแคลน กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ซึ่งนักข่าวของ The Times of London เขียนระบุว่า “ธุรกิจของฝรั่งเศสนั้นพังทลายไปทุกที่ และหนึ่งในสามของประเทศเสียหายพร้อมการถูกทำลาย” พลเมืองฝรั่งเศสหลายพันคนตั้งแต่ขุนนาง ศิลปิน ไปจนถึงนักปฏิวัติ ต่างวางแผนที่จะหลบหนีออกนอกประเทศ แม้แต่ Louis-François ก็ยังตระหนักว่าบริษัทของเขาอยู่ใกล้ขอบเหวที่อันตราย เขาจึงซ่อนคลังอัญมณีของบริษัทและหนีไปอยู่ทางตอนเหนือของสเปน ส่วน Alfred ก็นั่งเรือออกจากปารีสไปยังอังกฤษในปี 1871 เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนขายเครื่องประดับ มูลค่าหลายแสนฟรังก์ให้กับ Giulia Barucci โสเภณีอันดับหนึ่งของปารีส ที่เสียชีวิตด้วยโรควัณโรคในเวลาต่อมา
ซึ่ง La Barucci ก็คืออัญมณีของเธอ ที่เป็นความลับเบื้องหลังของ CARTIER ผู้ผลิตอัญมณีที่ไม่เพียงแค่งดงาม แต่ยังมีเสน่ห์อีกด้วย โดย Alfred พบว่าอัญมณีเหล่านั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในอังกฤษ ซึ่งเครื่องประดับทั้งหมดถูกขายไปด้วยจำนวนเงินถึง 800,000 ฟรังก์ (4.2 ล้านดอลลาร์ในวันนี้) ส่วนตัวเขาได้รับค่าคอมมิชชั่น 5% จาการทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างเพื่อนเชลยชาวฝรั่งเศส ที่ถูกบังคับให้ขายอัญมณีเพื่อใช้จ่ายสำหรับชีวิตในอังกฤษ เขาจึงไม่ใช่แค่นักอัญมณีไร้ชื่อในลอนดอนอีกต่อไป และการขายอัญมณีของ La Barucci ที่ประสบความสำเร็จ รวมไปถึงความช่วยเหลือของลูกค้าเช่นลอร์ดและเลดี้ Dudleyได้ยกระดับโปรไฟล์ของเขาในหมู่ผู้ค้าชาวฝรั่งเศสและผู้ซื้อชาวอังกฤษ และด้วยความใจดี การสร้างมิตรภาพใหม่ๆ ของ Alfred ที่มักจะช่วยเหลือเพื่อนพลัดถิ่นโดยไม่คำนึงถึงชนชั้นถือเป็นจุดเด่นของเขา อย่างเช่นครั้งหนึ่งที่เขาได้ช่วยเหลือ Léonide Leblanc โสเภณีชาวฝรั่งเศส ซึ่งปรากฏตัวในโรงละครในอังกฤษหลายแห่ง และเมื่อเธอได้กลับมายังฝรั่งเศสและกลายเป็นภรรยาน้อยของ Duc d'Aumale ลูกชายของพระราชา Louis-Philippe เธอจึงได้กลายเป็นอีกหนึ่งในผู้อุปถัมภ์ที่สำคัญที่สุดของ CARTIER ในเวลาต่อมา
หลังสงครามปรัสเซียสงบ Alfred ก็กลับมาที่ปารีสในปี 1873 พร้อมรับมอบกิจการของ CARTIER โดยการซื้อกิจการต่อจากพ่อของเขาอย่างเป็นทางการ และได้สมรสกับ Alice Griffeuille ถือเป็นการร่วมปึกแผ่นทางธุรกิจกับครอบครับ Bourdier ในโลกของอัญมณี โดยคราบครัวนี้มีมูลค่าบริษัทมากกว่า CARTIER ถึงสองเท่าในเวลานั้น ซึ่งต่อมา Alice ก็ได้ให้กำเนิดลูกชาย Louis Josef Cartier หนึ่งปีให้หลัง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจย่ำแย่ไปทั้งปารีสAlfred จึงต้องมองหาโอกาสในการขาย พร้อมมองธุรกิจอื่นที่สามารถขยายหนทางออกไปได้ และทำให้เขาตัดสินใจเข้าสู่โลกของแฟชั่น
เมื่อ Alfred เสนอให้แสดงเครื่องประดับของ CARTIER บางส่วนในโชว์รูมของ Rue de la Paix และกลายเป็นการเปิดรับความมั่งคั่งมหาศาล ของบรรดาผู้ที่เดินทางไปยังเมืองหลวงของฝรั่งเศสเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มาจากอเมริกา ซึ่ง Alfred เริ่มมีการโฆษณาในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เขาจะลงโฆษณามากกว่าหนึ่งร้อยรายการสำหรับ "CARTIER GILLION" ใน American Register ฉบับวันเสาร์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์อเมริกันฉบับแรกที่ตีพิมพ์ในปารีส ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ CARTIER ในขณะนั้น
และในฤดูร้อนปี 1889 ในขณะที่หอไอเฟลที่ได้รับการประกาศต่อนักท่องเที่ยวทั่วโลกในนามของหอที่สูงที่สุดในโลก พร้อมกับที่ฝรั่งเศสนำเสนอตัวเองว่าเป็นประเทศที่ก้าวหน้าในช่วงรุ่งโรจน์ เช่นเดียวกันกับ CARTIER ที่มีลูกค้ารายใหม่ๆ มากมาย ตั้งแต่ขุนนางชั้นสูง เจ้าชายและเจ้าหญิงจากทั่วทั้งยุโรปและอเมริกา อย่างไรก็ตาม Alfred ฝันถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า เพื่อการเพิ่มยอดขายเท่าที่เขาจะทำได้ เขาจึงทุ่มเงินลงทุนไปกับนาฬิกาที่ใช้งานได้จริงมากขึ้น โดยจ้าง Joseph Vergely วัย 24 ปี ช่างชำนาญการด้านนาฬิกา และมอบหมายให้จัดตั้งแผนกนาฬิกาในนาม CARTIER
แต่เมื่อเริ่มต้น บทบาทของเขาส่วนใหญ่จะจำกัดอยู่ที่การซ่อมและขายนาฬิกาที่ Alfred ซื้อมาจากที่อื่น โดย Alfred ใช้เวลาสองทศวรรษในการสร้างรากฐานตามที่พ่อเขาวางไว้ และขณะนี้ลูกชายคนแรก Louis เด็กชายอายุ 18 ปีผู้ที่มั่นใจในตัวเองและ Pierre อายุ 15 ปี ผู้มีไหวพริบและกระตือรือร้น ยินดีที่จะเข้าสู่ช่วงการทำงาน รวมไปถึง Jacques เด็กชายผู้น่ารักในวัย 9 ปี ซึ่งเป็นพี่น้องสามคน ที่ร่วมรับรู้ว่าเวลาของพวกเขาจะต้องมาถึงแล้ว ในการครอบครองธุรกิจของครอบครัวต่อไป โดยทั้งสามเริ่มเรียนรู้และเข้าใจถึงบางอย่างที่พ่อยังไม่เคยสร้างไว้ ดังนั้นพวกเขาจึงใฝ่ฝันที่จะนำ CARTIER ออกสู่ตลาดทั่วโลก
โปรดติดตามตอนต่อไปในเดือนหน้า