BOVET กว่า 190 ปี แห่งตำนานแห่งนาฬิกาเชิงศิลป์
ในช่วงต้นยุคศตวรรษที่ 19 ที่ชายชื่อ Edouard Bovet สร้างนาฬิกาเรือนแรกของเขาขึ้นมาบนโลกนั้น เขาให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับงานตกแต่งในชิ้นส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวเรือน ตลอดจนกลไก ไม่ว่าจะเป็นการประดับตกแต่งด้วยอัญมณีต่างๆ หรือมุก งานลงสีเพนท์อีนาเมลสุดละเอียดแบบกรองเฟอบนตัวเรือน งานเพนท์อีนาเมลเป็นภาพต่างๆ บนหน้าปัด และงานสลักและขัดแต่งชิ้นส่วนกลไกต่างๆ อย่างละเอียดงดงาม และยังเป็นผู้ผลิตนาฬิการายแรกที่นำฝาหลังแบบกรุกระจกมาใช้เพื่อให้มองเห็นกลไกที่ตกแต่งอย่างสวยงามของตนอีกด้วย
งานสลักตกแต่งชิ้นส่วนกลไกของเครื่องนาฬิกาพก BOVET สมัยศตวรรษที่ 19
งานตกแต่งอย่างวิจิตรนี้เองทำให้ BOVET เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วในแง่ของศิลปะการตกแต่งนาฬิกา แม้กระทั่งจักรพรรดิของจีนก็ยังเก็บสะสมนาฬิกาของ BOVET ซึ่งปัจจุบันนาฬิกาของ BOVET หลายเรือนก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในสมบัติอันหาค่ามิได้ของประเทศจีนที่สืบทอดต่อกันมา เหล่าขุนนางและชนชั้นสูงของจีนในสมัยนั้นก็ชื่นชอบงานศิลป์ของนาฬิกาของ BOVET เช่นกัน ประเทศจีนในสมัยนั้นจึงเป็นตลาดที่นาฬิกา BOVET เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย BOVET ก็ได้สร้างนาฬิกาที่มีลวดลายเฉพาะที่ชาวจีนพิสมัยขึ้นมาเป็นจำนวนมาก และนาฬิกาเหล่านี้ก็เป็นที่สนใจของตลาดในประเทศอื่นด้วยเช่นกัน มาถึงทุกวันนี้ก็ยังมีนาฬิกาพก BOVET จากยุคศตวรรษที่ 19 จำนวนมากที่อยู่ในกรุของนักสะสมนาฬิกาทั่วโลก รวมถึงอยู่ในมือของสถาบันและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลกด้วย และก็มักจะมีปรากฎออกมาให้เห็นในรายการประมูลนาฬิกาสำคัญๆ ของโลกอยู่เสมอโดยทำราคาปิดได้ในระดับสูงอันเป็นเครื่องแสดงของคุณค่าแห่งนาฬิกา BOVET ได้เป็นอย่างดี
นาฬิกาพก BOVET ที่ถูกขายในประเทศจีนเมื่อ ค.ศ.1835 ตัวเรือนตกแต่งด้วยการลงอีนาเมลบนช่องที่แกะเป็นลวดลายซึ่งเรียกว่าแบบชอมแปลฟ ที่ฝาลงอีนาเมลเป็นภาพเป็ดแมนดาริน
การที่ BOVET มีชื่อเสียงโด่งดังมากในประเทศจีนในสมัยนั้น เป็นเพราะลวดลายความวิจิตรของภาพและการตกแต่งบนนาฬิกานั้นถูกรังสรรค์ขึ้นได้ตรงตามความนิยมชมชอบของชาวจีนเป็นอย่างยิ่ง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าผู้ก่อตั้งแบรนด์ ซึ่งก็คือ Edouard Bovet บุตรชายของช่างนาฬิกาชื่อ Jean-Frédérique Bovet ที่สำเร็จการศึกษาด้านการประดิษฐ์นาฬิกาตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี กับน้องชายอีก 2 คน ได้ถูกส่งตัวจากเฟลอริเยร์ไปอยู่ที่ลอนดอนเพื่อฝึกปรือทักษะเพิ่มเติม ในปี ค.ศ.1818 เจ้านายของ Edouard ได้ส่งเขาไปประจำที่กวางตุ้ง ประเทศจีน เพื่อทำหน้าที่ซ่อมนาฬิกาที่นั่น ทำให้เขาเล็งเห็นศักยภาพของตลาดจีนสำหรับนาฬิการะดับสูง เขากับน้องๆ จึงได้ก่อตั้งแบรนด์ Bovet ขึ้นมาที่นั่น ซึ่งก็น่าจะเป็นผู้ผลิตนาฬิกาสวิสระดับโลกรายแรกที่มีฐานของกิจการอยู่ที่ประเทศจีน ขณะที่น้องๆ ของเขาดำเนินกิจการอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับที่เฟลอริเยร์ ในสวิส ความยอดเยี่ยมของ BOVET ในสมัยนั้น ถึงขนาดมีการใช้คำว่า “โบเหว่ย” ซึ่งเป็นสำเนียงที่ชาวจีนในยุคนั้นเรียก ‘โบเว่ท์’ แทนความหมายของนาฬิกากันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีการจดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าของ BOVET ที่เขียนด้วยตัวอักษรจีนกวางตุ้งอีกต่างหาก การดำเนินงานของ BOVET ถูกสืบสานต่อกันมา แต่กิจการในประเทศจีนก็ต้องมีอันปิดตัวลงในปี 1932 ด้วยหลายสาเหตุซึ่งหลักๆ ก็ไม่น่าพ้นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากด้านการเมืองของจีน แต่นาฬิกาภายใต้แบรนด์ BOVET ก็ยังคงถูกผลิตขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงราวปี ค.ศ.1950
ความดีเด่นแห่งนาฬิกา BOVET ในอดีตถูกนำกลับมาสู่โลกอีกครั้งเมื่อ Michel Parmigiani ชายคนเดียวกับที่ก่อตั้งแบรนด์ Parmigiani ได้ซื้อสิทธิ์ของ BOVET มาและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าขึ้นอีกครั้ง เมื่อปี ค.ศ.1989 ด้วยความคิดที่ต้องการจะสานต่อแบรนด์นาฬิกาอันยิ่งใหญ่แห่งเฟลอริเยร์เพื่อมิให้หายไปกับกาลเวลา แต่เขาก็มีงานล้นมือในการปลุกปั้นแบรนด์ Parmigiani ของตน จึงยังมิได้ทำอะไรกับ BOVET ปี ค.ศ.1994 จึงมีบุคคลอีก 2 ท่าน คือ Roger Guye และ Thierry Oulevay เข้ามารับช่วงไปสานฝันต่อจนให้กำเนิดนาฬิกา BOVET ขึ้นมาใหม่อีกครั้งได้สำเร็จเมื่อปี ค.ศ.1997 และก็เป็นการถือกำเนิดของนาฬิกาไลน์ Fleurier ที่มีเม็ดมะยมอยู่ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ซึ่งเหมือนกับลักษณะของนาฬิกาพก แต่สามารถนำมาปรับใส่เป็นนาฬิกาข้อมือได้โดยการติดสาย 2 ด้านเข้ากับตัวยึดบนตัวเรือนฝั่งบนและฝั่งล่าง ต่อมาในปี 2001 Pascal Raffy นักสะสมนาฬิกาผู้มีความประทับใจในนาฬิกา BOVET เป็นอย่างยิ่ง ก็ได้เข้าซื้อกิจการของ BOVET และดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมุ่งมั่นที่จะทำให้ BOVET กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
Pascal Raffy
BOVET ในวันนี้ภายใต้การนำของ Raffy ยังคงรักษาศาสตร์แห่งศิลปะการตกแต่งนาฬิกาตามแนวทางดั้งเดิมของแบรนด์ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อกว่า 190 ปีก่อนเอาไว้อย่างเหนียวแน่นโดยหมายมั่นให้ธำรงคงอยู่ตลอดไป นาฬิกาเชิงศิลป์ของ BOVET ในยุคปัจจุบันจึงดำรงไว้ซึ่งดีไซน์แบบร่วมสมัยตามแนวประเพณีดั้งเดิมของแบรนด์แต่สอดแทรกเอาไว้ซึ่งนวัตกรรมสมัยใหม่อย่างกลมกลืน โดยเน้นความเป็นกิจการอิสระและเป็นแมนูแฟคตูร์ซึ่งหมายความว่า เขาต้องการที่จะดำเนินการผลิตนาฬิกาด้วยตัวเองให้มากที่สุด โรงงานในเครือของ BOVET ในปัจจุบันนั้นจะมีโรงงานผลิตนาฬิกาและโรงงานผลิตหน้าปัดและประดับอัญมณี ซึ่งเรียกโดยรวมว่า Dimier 1738 อยู่ด้วย
ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ เหล่านาฬิกา BOVET ที่ผลิตขึ้นในปัจจุบัน จึงมีแนวทางแห่งศิลปะอันเป็นแก่นแท้ของแบรนด์อยู่อย่างครบถ้วน โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนในไลน์ Fleurier ซึ่งเป็นนาฬิกาฟังก์ชั่นบอกเวลาแนวคลาสสิกที่มีความเป็นนาฬิกาเชิงศิลป์อยู่ในทุกอณู อาทิ งานวาดภาพขนาดเล็กต่างๆ อย่างวิจิตรบรรจงบนหน้าอีนาเมลหรือเปลือกหอยมุก งานแกะสลักบนหน้าอีนาเมล การลงอีนาเมลแบบชอมแปลฟซึ่งเป็นการเทอีนาเมลลงไปบนช่องที่แกะเป็นลวดลาย งานประดับอัญมณีและมุก ไปจนถึงงานแกะสลักลวดลายและงานขัดแต่งบนชิ้นส่วนของกลไก และล่าสุดในปี 2013 นี้ก็มีงานกลไกฉลุสเกเลตันที่แกะสลักลวดลายอย่างงดงามแบบแรกของแบรนด์ออกมาให้ชื่นชมกันด้วย และแน่นอนว่าเพื่อความวิจิตรระดับสูงสุด งานฝีมือต่างๆ เหล่านี้จึงถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือของช่างผู้ชำนาญในแขนงต่างๆ โดยเฉพาะ
งานกลไกฉลุสเกเลตันจักรกลตูร์บิยองที่ถูกแกะสลักอย่างงดงามของ Fleurier Amadeo 7-Day Skeleton Tourbillon with Reversed Hand-Fitting นาฬิกาสุดพิเศษของ BOVET ที่เปิดตัวในปี 2013 นี้
ปัจจุบันนี้ กลไกนาฬิกาที่ใช้ในนาฬิกา BOVET ทุกแบบจะถูกแกะสลักอย่างสวยงามเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นการเน้นถึงประเพณีการผลิตของแบรนด์ โดยจะเป็นการสลักลงบนทุกชิ้นส่วนที่สามารถทำได้ ทั้งในนาฬิกาบางแบบยังขยายงานแกะสลักไปถึงพื้นหน้าปัด ขอบหน้าปัด ขอบตัวเรือน ตลอดจนบริเวณขายึดสายนาฬิกาอีกด้วย
งานแกะสลักบนขายึดสายนาฬิกาด้านบน
ความโดดเด่นอีกอย่างที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ก็คือ นาฬิกาหลายรุ่นของ BOVET นั้น จะมากับตัวเรือนที่เรียกว่า Amadeo ที่เหมือนเป็นการสานต่อแนวคิดจากนาฬิกา Fleurier ที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1997 ที่สามารถติดตั้งสายเพื่อปรับสภาพจากนาฬิกาพกให้เป็นนาฬิกาข้อมือได้ ตัวเรือนลักษณะนี้มีแนวคิดมาจากความนิยมในสมัยก่อนเมื่อครั้งที่ผู้คนยังนิยมทั้งนาฬิกาพกและนาฬิกาข้อมืออยู่ จึงต้องผลิตนาฬิกาพกที่สามารถติดตั้งสายให้คาดข้อมือได้เพื่อสนองตลาด ตัวเรือนแบบ Amadeo นี้สามารถปรับให้เป็นได้ทั้งนาฬิกาพก นาฬิกาข้อมือ และนาฬิกาตั้งโต๊ะ อีกทั้งยังสามารถกลับด้านนำเอาด้านที่เผยให้เห็นกลไกหรือภาพวาดอันสวยงามออกมาอวดสายตาได้ด้วย และบางรุ่นยังมากับเข็ม 2 ชุด ซึ่งติดตั้งเอาไว้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังเพื่อให้เป็นนาฬิกาที่มี 2 หน้าปัดในเรือนเดียวกันอีกต่างหาก
ตัวเรือนแบบ Amadeo สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้อย่างหลากหลาย โดยสำหรับรุ่น Fleurier Amadeo 7-Day Skeleton Tourbillon with Reversed Hand-Fitting นี้จะสามารถกลับด้านตัวเรือนเพื่อใช้บอกเวลาได้ทั้ง 2 ด้านด้วยชุดเข็มที่ติดตั้งอยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของตัวเรือน ผลิตขึ้นในตัวเรือนเร้ดโกลด์กับไวท์โกลด์ขนาด 44 มิลลิเมตร แบบละ 50 เรือน ตัวกลไกมีกำลังสำรอง 7 วัน
ส่วนด้านกลไกที่ใช้ในนาฬิกา BOVET นั้น ก็จะมีหลากหลายรูปแบบให้เหมาะกับนาฬิกาแต่ละลักษณะที่ผลิตขึ้น ตั้งแต่กลไกไขลาน หรือกลไกโครโนกราฟ ไปจนถึงกลไกตูร์บิยอง และกลไกที่มีฟังก์ชั่นต่างๆ เพิ่มเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรโทรเกรดหรือจีเอ็มที ไปจนถึงฟังก์ชั่นซับซ้อนอย่าง เพอร์เพทชวลคาเลนดาร์หรือมินิทรีพีทเตอร์ เลยทีเดียว
ร้อยปากว่าไม่เท่าเห็นเรือนจริงครับ ลองหาโอกาสชมนาฬิกา BOVET เรือนจริงดูนะครับ แล้วมุมมองของคุณต่อนาฬิกาจะเปลี่ยนไปจากขอบเขตเดิม นี่คืองานศิลปะครับ มิใช่เพียงแค่เพียงอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อบอกเวลา และขณะนี้ก็มีนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้วที่แผนกนาฬิกาในสยามพารากอน และดิเอ็มโพเรี่ยม โดย บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) ผู้แทนจำหน่ายรายเดียวกับ แบรนด์นาฬิกาดังอีกหลายแบรนด์ ได้แก่ Montblanc, Maurice Lacroix, Salvatore Ferragamo, Davidoff และ West End
By: Viracharn T.