INTERVIEW WITH KARI VOUTILAINEN

 

เมื่อไม่นานมานี้ Kari Voutilainen ปรมาจารย์นักประดิษฐ์นาฬิกาอิสระชื่อดังของโลก ผู้ซึ่งสร้างสรรค์นาฬิกาสุดเนี๊ยบในรูปแบบของเขาภายใต้ชื่อแบรนด์ Voutilainen และยังมีส่วนร่วมในการสร้างนาฬิกาหลายรุ่นกับแบรนด์อินดี้ชั้นนำอย่าง MB&F และ Maitres du Temps ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอีกครั้งเพื่อพบปะกับเหล่านักสะสมผู้พิสมัยความเป็นเลิศในเรือนเวลาในประเทศไทย มาพบกับบทสนทนาของ ดร.ปราโมทย์ แห่ง IAMWATCH กับคุณ Kari Voutilainen ผู้ผลิตนาฬิกาอิสระรายเล็กแต่ยิ่งใหญ่ด้วยผลงานนาฬิกา Vingt-8 ซึ่งเคยได้รับรางวัล Best Men’s Watch จากเวที Grand Prix de Geneve เมื่อปี 2007 มาแล้ว กันครับ

 

 

00915

 

 

IAW: คุณยังคงทำโปรเจ็คต์อยู่กับ Maitres du Temps อยู่ไหมครับ หรือเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้วกับรุ่น Chapter III เท่านั้น

 

"ผมไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องแล้วครับ แต่ Andreas (Andreas Strehler นักประดิษฐ์นาฬิกาชื่อดัง) ยังคงมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่" 

 

IAW: กับนาฬิกา Maitres du Temps Chapter III คุณรับผิดชอบด้านใดครับ

 

"ส่วนที่ผมทำก็คือส่วนของโครงสร้าง ดีไซน์ และงานฟินิชชิ่ง ของกลไก"

 

IAW: แต่คุณยังคงมีส่วนในโปรเจ็คต์ของ MB&F ต่อไปใช่มั้ยครับ 

 

"ก็มีรุ่น LM1 กับ LM2 ที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย"

 

IAW: คราวก่อนที่คุณ Max (Max Busser เจ้าของแบรนด์ MB&F) มาเมืองไทยเพื่อแนะนำ LM2 ผมได้คุยกับเขาและก็คุยถึงคุณมากเลยทีเดียว เขาบอกว่าตอนแรกที่เข้าไปคุยกับคุณ เขากลัวว่าคุณจะไม่รับทำโปรเจ็คต์ของเขา

 

"Max เป็นผู้ประกอบการ ผมชอบเขานะ แล้วก็ชอบนาฬิกาที่เขาทำด้วย ผมชื่นชมเค้าตั้งแต่เค้าผลักดันโปรเจ็คต์ Opus ให้กับ Harry Winston แล้ว เขาทำสิ่งที่แตกต่าง ผมคิดว่าเขาเป็นผู้นำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาสู่วงการนาฬิกา เป็นลมอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างออกไป เขาเปิดกว้างมาก และเขาก็ให้ความเคารพนักประดิษฐ์นาฬิกาท่านต่างๆ ผมนับถือเค้า เรื่องนี้ผมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจของผมเวลาจะร่วมงานกับใคร"

 

IAW: แล้วมีปัจจัยอื่นประกอบการตัดสินใจอีกมั้ยครับในการที่จะร่วมโปรเจ็คต์กับแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Maitres du Temps หรือ MB&F

 

"กับ 2 แบรนด์นี้มันต่างกันครับ กับ Maitres du Temps นั้น ผมเริ่มโปรเจ็คต์กับเขาตั้งแต่ปี 2008 ตอนนั้นเวิร์คช็อปของผมยังมีขนาดเล็กอยู่ ผมยังมีเวลามากพอที่จะทำ ต่อมาเมื่อเวิร์คช็อปของผมเองเติบโตขึ้น ผมก็ไม่มีเวลามากอย่างนั้นอีกแล้ว ตอนนั้นผมทำงานโครงสร้างให้กับกลไก ส่วนการทำงานกับ MB&F นั้นไม่เหมือนกัน ผมทำในส่วนของงานออกแบบโครงสร้างของชิ้นส่วนต่างๆ อย่างบริดจ์ทรงพิเศษและความสวยงามของงานฟินิชชิ่ง มันไม่เหมือนกันและผมก็มีความสุขที่จะทำงานในส่วนนี้" 

 

 

00210

 

 

IAW: ฟังแล้วเหมือนว่าคุณจะต้องรู้สึกอะไรบางอย่างในการจะทำสิ่งใดกับใคร มากกว่าที่คนอื่นๆ ในอุตสาหกรรมนี้ทำกัน

 

"ใช่ การตัดสินใจทำอะไรของผมนั้น ไม่ได้มาจากเรื่องของธุรกิจ เงินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสั่งให้ผมทำงานได้ ใช่ ผมต้องการเงินเพื่อเลี้ยงบริษัทให้อยู่ได้แต่ผมจะต้องชอบในสิ่งที่ผมทำด้วย สิ่งนั้นมันต้องกระตุ้นให้ผมอยากทำได้ กับ Max เองผมชอบและนับถือในสิ่งที่เขาทำ เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผม"

 

IAW: ผมเชื่อว่าต้องมีบริษัทนาฬิกาหรือนายทุนหลายรายที่พยายามจะให้คุณทำงานให้กับเขาเพื่อตอบสนองในแง่ของธุรกิจใช่มั้ยครับ

 

"ใช่ แน่นอนว่ามันยากที่จะปฏิเสธ แต่ผมก็ปฏิเสธ วันนี้ผมมีเวิร์คช็อปที่สามารถผลิตกลไกและชิ้นส่วนกลไกต่างๆ ได้ด้วยตัวเองทั้งหมด ผมลงทุนไปเยอะทั้งในส่วนของบุคลากรและเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ตอนนี้ผมมีบุคลากรอยู่ 15 คน ซึ่งเราก็ยังคงผลิตนาฬิกาของเราออกมาได้จำนวนไม่มากไปกว่าที่เคยผลิต แต่ตอนนี้เราผลิตชิ้นส่วนต่างๆ รวมถึงทุกอย่างของกลไกขึ้นภายในเวิร์คช็อปของเราเอง แม้แต่สกรูว์และทับทิม ไปจนถึงแผ่นหน้าปัด มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย แต่มันเป็นความต้องการของผมและเป็นวิถีทางของผมที่จะดำรงความเป็นอิสระและความสร้างสรรค์เอาไว้ได้อย่างยั่งยืน ผมสร้างทุกสิ่งด้วยเงินของผมเอง ดังนั้นผมจึงสามารถตัดสินใจทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ทำสิ่งที่ตนเองชอบ ทำนาฬิกาของผมให้ดีขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งใคร และไม่ต้องฟังใคร ซึ่งทำให้องค์กรของผมแตกต่างจากองค์กรอื่นๆ ที่ต้องทำในสิ่งที่ผู้ถือหุ้นหรือนายทุนพอใจ"

 

IAW: มันจำเป็นขนาดนั้นเลยหรือที่จะต้องผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เองทั้งหมด แม้แต่สกรูว์ 

 

"ด้วยความที่เราผลิตนาฬิกาออกมาเพียงประมาณ 50 เรือนต่อปี มันเป็นจำนวนที่น้อยมาก แน่นอนว่าในอดีตเราเริ่มจากการสั่งผลิตจากผู้ผลิตภายนอกซึ่งมันเหมือนเป็นฝันร้ายสำหรับผม เพราะด้วยโครงสร้างของผู้ผลิตเหล่านั้นมันเป็นไปเพิ่มสนองความต้องการของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แบรนด์เพื่อการค้าอื่นๆ ผลิตนาฬิกาจำนวนหลายแสนเรือนต่อปี อย่าง Rolex หรือ Longines ก็เป็นล้านเรือนต่อปี บางแบรนด์ก็ไม่มีการผลิตชิ้นส่วนใดๆ ขึ้นใช้เองเลย สั่งจากซัพพลายเออร์ทั้งหมด แม้แต่ผู้ผลิตเครื่องรายใหญ่สุดอย่าง ETA ก็ยังไม่ได้ผลิตทุกชิ้นส่วนใช้เอง หรือจะเป็นแบรนด์ระดับสูงอย่าง Patek Philippe หรือ Breguet ก็เช่นเดียวกัน ผู้ผลิตชิ้นส่วนชนิดต่างๆ ต่างมีงานล้นมืออยู่แล้ว ผมจะไปสั่งชิ้นส่วนจากผู้เขาเป็นหลักสิบชิ้นไม่ได้ ผมต้องสั่งทีเป็นพัน ผมจะเอามาทำอะไรมากมายขนาดนั้น ผมจึงต้องผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เหล่านี้ด้วยตัวเอง ผมเรียนรู้ที่จะผลิตวีล วีลของผมจะสร้างจากทองคำ เรียนรู้ที่จะผลิตสกรูว์ และสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เรารู้จักกับชิ้นส่วนต่างๆ ของกลไกได้ดียิ่งขึ้น รู้วิธีที่จะสร้างและสร้างให้เหมาะกับแบบที่เราต้องการได้ นั่นเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นอิสระของเรา ซึ่งหมายถึงอิสระในการสร้างทุกอย่างตามที่เราต้องการ"

 

 

00311 00411

 

 

IAW: ในด้านคุณภาพของชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นเองเหล่านี้ เช่น วีล มันมีความแตกต่างกันมั้ยครับเมื่อเทียบกับการสั่งซื้อจากผู้ผลิตเฉพาะทาง

 

"ผมว่าไม่นะครับ เพราะผมก็ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีต่างๆ แบบเดียวกับที่เขาใช้กัน จริงๆ แล้วเวิร์คช็อปของผมนั้นถือว่าเป็นโรงงานได้เลย แต่เป็นโรงงานที่มีขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่ วัลเลย์-ทรา-เวร์ เป็นหมู่บ้านที่อยู่ถัดจากเฟลอริเยร์ ในมณฑลเนอชาแตล"

 

IAW: คำจำกัดความที่อธิบายความเป็นนาฬิกา Voutilainen ได้ดีที่สุด คืออะไรครับ

 

"เป็นนาฬิกาที่สร้างขึ้นด้วยมือในเวิร์คช็อปขนาดเล็ก ด้วยความพิถีพิถันในระดับที่เรียกว่าเป็นงานศิลปะ โดยให้ความเคารพในลักษณะของนาฬิกาแบบคลาสสิกดั้งเดิม เราผลิตทุกชิ้นส่วนขึ้นด้วยตนเองด้วยชนิดวัสดุดั้งเดิมในการผลิตนาฬิกา ขณะเดียวกันก็มีการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เช่น เอสเคปเม้นท์คู่ที่มอบไดเร็กต์อิมพัลซ์สู่บาลานซ์วีล ในกลไกของนาฬิกา Vingt-8"

 

IAW: ช่วยอธิบายถึงเอสเคปเม้นท์คู่หน่อยครับ 

 

"จุดประสงค์ของเอสเคปเม้นท์คู่ก็คือ การเพิ่มสมรรถภาพ โดยเอสเคปเม้นท์คู่นี้จะใช้พลังงานในการขับเคลื่อนน้อยกว่าสวิสเลเวอร์เอสเคปเม้นท์ที่ใช้กันทั่วไปถึงประมาณ 33-35 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นว่าแม้เราจะใช้บาลานซ์ขนาดใหญ่และบาร์เรลเพียงตัวเดียวก็ยังสามารถให้กำลังสำรองได้นานถึง 65 ชั่วโมง"

 

 

00515

 

 

IAW: เพราะอะไรถึงต้องใช้บาลานซ์ที่ใหญ่ขนาดนี้ครับ

 

"ขนาดของบาลานซ์วีลนั้นเกี่ยวข้องกับความแม่นยำในการทำงาน เราใช้บาลานซ์วีลขนาดใหญ่ก็เพราะมันมีความเสถียรมากกว่าเมื่อเราเพิ่มความถี่ในการทำงานให้มากขึ้น บาลานซ์ขนาดใหญ่นั้นกินพลังงานมาก แต่เมื่อเราลดการใช้พลังงานจากการใช้เอสเคปเม้นท์คู่แล้วจึงทำให้เราใช้บาลานซ์ขนาดใหญ่นี้ได้ และมันก็เชิญชวนเราให้จ้องมองการทำงานของมันด้วย ทั้งหมดต้องผ่านการคำนวณมาเป็นอย่างดีเพื่อให้กลไกทำงานได้อย่างไร้ที่ติ"

 

IAW: มาถึงชิ้นส่วนที่เป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งคนรักนาฬิกาต่างประทับใจในนาฬิกาของคุณ นั่นก็คือ บริดจ์ รูปทรงเฉพาะตัวที่ถูกขัดเกลาอย่างงดงามแบบที่เรียกว่าไม่เหมือนใคร ผมคงไม่ต้องถามว่าต้องใช้เวลาขัดแต่งนานมากไหมกว่าจะมีความโค้งมนสวยงามเช่นนี้เพราะต้องใช้เวลามากแน่ๆ

 

"สิ่งนี้เป็นเหมือนกับมูลค่าเพิ่มที่เราตั้งใจมอบให้ เราฟินิชชิ่งด้วยมือครับ ช่างที่เป็นผู้ทำการขัดแต่งเขาทำงานทางด้านนี้มาอย่างยาวนานถึง 25 ปีแล้ว และก็มีช่างผู้หญิงอีกคนหนึ่งซึ่งทำงานด้านนี้มา 5-6 ปีและก็ได้ฝึกฝนจนเชี่ยวชาญ พวกเขามีกรรมวิธีเฉพาะโดยใช้ผงเพชรและน้ำมันธรรมชาติในการสร้างความงามตามเทคนิคที่พวกเขาค้นพบ จนออกมาได้ชิ้นงานสวยๆ เช่นนี้ เป็นผลงานความงามที่ได้จากประสบการณ์ของพวกเขาครับ แม้แต่รูปแบบของลายเจนีวาสไตรพ์ที่เห็นอยู่นี้เขาก็ต้องคิดค้นหาวิธีอยู่ตั้งหลายเดือนว่าจะต้องทำอย่างไร ต้องใช้เครื่องมืออะไร ขัดด้วยความเร็วเท่าไหร่ ให้มันเข้ารูปเข้ารอยสวยงามและเหมาะสมกับกลไกของเราที่สุด ลองดูแรเช็ตวีลของเราใกล้ๆ สิครับ คุณจะเห็นว่ามันมีรูเล็กๆ มากมายอยู่บนพื้นผิวด้วย ลองคิดดูสิครับว่ารูเหล่านี้มาอย่างไร ผมใช้เวลาถึง 15 ปีในการคิดค้นวิธีการจนทำให้ได้พื้นผิวอย่างที่ผมต้องการเช่นนี้ออกมา"

 

 

00713 00810

 

 

IAW: ปัจจุบัน คุณยังคงมีบทบาทด้านการเป็นอาจารย์อยู่หรือไม่ครับ

 

"ผมยังคงสอนอยู่ครับ ไม่ใช่ในโรงเรียนแต่เป็นในเวิร์คช็อปของผม เรามีช่างนาฬิกาฝึกหัดเข้ามาทำงานกับเราทั้งจากโรงเรียนในสวิตเซอร์แลนด์ หรือในฟินแลนด์ ผมสอนพวกเขาด้วยการให้ข้อมูลที่เขาอยากรู้ ผมไม่มีความลับ ใครที่ทำงานกับผมเขาจะได้รู้เทคนิคในด้านต่างๆ อย่างครบถ้วน ไม่มีเหตุผลใดที่ผมจะเก็บสิ่งที่ผมรู้ไว้กับตัวเองโดยไม่บอกใคร"

 

 

0019

 

 

ต้องขอชื่นชมกับวิสัยทัศน์และทัศนคติของคุณ Kari Voutilainen รวมถึงสิ่งที่เขามุ่งมั่นสร้างทำ เพราะหากไม่มีคนเช่นเขาอยู่แล้ว นาฬิกาก็อาจกลายเป็นเพียงสินค้าอุตสาหกรรมชนิดหนึ่งที่อยู่ในวังวนทางธุรกิจจนขาดความงดงามเชิงศิลปะเปี่ยมจิตวิญญาณอันเป็นเสน่ห์ที่หาได้ยากยิ่งในสิ่งประดิษฐ์อื่นใด ก็เป็นได้

 

 

By: Pramote R. & Viracharn T.