SIHH 2012 : New pieces from VACHERON CONSTANTIN
มาแล้วครับกับหนึ่งในตรีเทพแห่งวงการนาฬิกา และเป็นเทพหนึ่งในสององค์ที่เปิดตัวนาฬิกาคอลเลคชั่นใหม่ประจำปี 2012 ที่งาน SIHH ในกรุงเจนีวาเมื่อเดือนมกราคมก่อนอีกองค์ซึ่งจะเปิดในงาน BASELWORLD เดือนมีนาคม
ปี 2012 ถือเป็นปีสำคัญอีกวาระหนึ่งของแบรนด์ เพราะเป็นปีครบรอบปีที่ 100 ของนาฬิกาทรงตอนโนจาก VACHERON CONSTANTIN ที่เปิดตัวเมื่อปี 1912 ซึ่งถือเป็นรายแรกๆ ของโลกที่สร้างสรรค์นาฬิกาในตัวเรือนทรงตอนโนมาให้ผู้คนได้รู้จักและเป็นเจ้าของกัน ทาง VACHERON CONSTANTIN จึงได้ฉลองวาระพิเศษนี้ด้วยการออกนาฬิกา Malte รุ่นใหม่ในตัวเรือนทรงตอนโนเพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ในครั้งนั้น ต่อด้วยการอวดโฉมนาฬิกาตูร์บิยองในคอลเลคชั่น Patrimony ที่มากับเครื่องอินเฮ้าส์รุ่นใหม่กำลังสำรอง 14 วัน ซึ่งถือเป็นนาฬิการุ่นแรกของแบรนด์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Hallmark of Geneva ตามกฎเกณฑ์ใหม่ และที่สุดแห่งงานศิลป์บนเรือนเวลากับงานชุด Metiers d’ Art เวอร์ชั่นล่าสุด Les Univers Infinis ที่ออกมาด้วยกัน 3 แบบ ขอเชิญรับชมนาฬิกา VACHERON CONSTANTIN รุ่นใหม่ประจำปี 2012 ได้ ณ บัดนี้ครับ
MALTE COLLECTION
VACHERON CONSTANTIN ฉลองครบรอบ 100 ปีให้กับนาฬิกาตัวเรือนทรงตอนโน (หรือทรงบาร์เรล) ของตนด้วยการหวนกลับไปนำเอาตัวเรือนทรงตอนโนมาใช้ในนาฬิกา Malte รุ่นใหม่ปี 2012 ที่เผยโฉมออกมาทั้งหมด 4 รุ่นด้วยกัน ได้แก่ Malte Tourbillon, Malte small seconds, Malte small model และนาฬิกาเอดิชั่นพิเศษ Malte 100th Anniversary Edition ที่ผลิตขึ้นในจำนวนจำกัด 100 เรือน เพื่อฉลองวาระครบรอบ 100 ปีให้กับนาฬิกาตัวเรือนทรงตอนโนของแบรนด์ โดย 3 ใน 4 รุ่นนี้ได้ผ่านการรับรองตามกฎเกณฑ์ใหม่ของ Hallmark of Geneva เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังมีการนำเครื่องไขลานรุ่นใหม่ที่มีรูปทรงแบบตอนโนพร้อมกลไกตูร์บิยอง Calibre 2795 ประทับตรา Hallmark of Geneva ซึ่งพัฒนาขึ้นด้วยตนเองแบบอินเฮ้าส์มาใช้เป็นครั้งแรกในรุ่น Malte Tourbillon ด้วย
Malte Tourbillon
Ref. 30130/000R-9754
ตัวเรือนพิงค์โกลด์ 18k ขนาด 38 x 48.2 มิลลิเมตร หนา 12.73 มิลลิเมตร ฝาหลังแซฟไฟร์คริสตัล สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้มิสซิสซิปปี้สีน้ำตาล เลขชั่วโมงโรมันที่ตำแหน่ง 6 กับ 12 นาฬิกาและหลักชั่วโมงทรงบาตองบนหน้าปัดทำจากพิงค์โกลด์ หน้าปัดสีเงินเพนท์แทร็คชั่วโมงด้วยสีดำ ติดตั้งเข็มบอกวินาที ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกาบนกรงตูร์บิยองที่ออกแบบรูปทรงเป็นสัญลักษณ์ Maltese cross ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ ฟินิชชิ่งด้วยมือ ทำงานด้วยเครื่องไขลานตูร์บิยองทรงตอนโนอินเฮ้าส์รุ่นใหม่ถอดด้าม Calibre 2795 ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วน 246 ชิ้น 27 จิวเวล ทำงานที่ความถี่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง ให้กำลังสำรอง 45 ชั่วโมง และได้รับการรับรองจากกฎเกณฑ์ใหม่แห่ง Hallmark of Geneva ซึ่งนอกจะการันตีถิ่นกำเนิด ฝีมือการผลิต ความทนทาน และความเชี่ยวชาญในการผลิตกลไกแล้ว มาตรฐานใหม่ของ Hallmark of Geneva ยังขยายการครอบคลุมไปถึงนาฬิกาทั้งเรือนด้วย ซึ่ง VACHERON CONSTANTIN เป็นผู้ผลิตรายต้นๆ ที่ทำนาฬิกาออกมาให้ได้มาตรฐานตามกฎเกณฑ์ใหม่นี้
Malte small seconds
Ref. 82130/000R-9755
ตัวเรือนพิงค์โกลด์ 18k ขนาด 36.7 x 47.6 มิลลิเมตร หนา 9.1 มิลลิเมตร สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้มิสซิสซิปปี้สีน้ำตาล เลขชั่วโมงโรมันที่ตำแหน่ง 6 กับ 12 นาฬิกาและหลักชั่วโมงทรงบาตองบนหน้าปัดทำจากพิงค์โกลด์ หน้าปัดสีเงิน ติดตั้งเข็มบอกวินาทีที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ทำงานด้วยเครื่องไขลานอินเฮ้าส์ Calibre 4400 AS ประกอบด้วยชิ้นส่วน 106 ชิ้น 21 จิวเวล ทำงานที่ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 65 ชั่วโมง เป็นนาฬิกาอีกรุ่นหนึ่งที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานใหม่ของ Hallmark of Geneva เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
Malte small model
Ref. 25530/000R-9742
Malte small model มาในตัวเรือนพิงค์โกลด์ขนาด 28.3 x 38.7 มิลลิเมตร หนา 7.28 มิลลิเมตร ซึ่งตั้งใจทำให้มีขนาดเล็กใกล้เคียงกับนาฬิกาในยุคก่อน เดินด้วยกลไกควอตซ์ Calibre 1202 เลขชั่วโมงโรมันที่ตำแหน่ง 6 กับ 12 นาฬิกากับหลักชั่วโมงทรงบาตองทำจากพิงค์โกลด์ หน้าปัดสีเงิน ขอบหน้าปัดประดับด้วยเพชร 50 เม็ด น้ำหนักรวม 0.95 กะรัต ให้สายมาเลือกใส่ 2 เส้น คือ หนังจระเข้มิสซิสซิปปี้สีน้ำตาลอ่อนกับสายซาตินสีเทา
Malte 100th Anniversary Edition
Ref. 82131/000P-9764
เวอร์ชั่นเฉลิมฉลอง 100 ปีแห่งนาฬิกาทรงตอนโนของ VACHERON CONSTANTIN รุ่นนี้ ผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดที่ 100 เรือนเท่ากับจำนวนปี มาในตัวเรือนแพลตินั่ม 950 ขนาด 36.7 x 47.6 มิลลิเมตร หนา 9.1 มิลลิเมตร หน้าปัดสีเงินเพนท์ตัวเลขโรมันสีดำเพื่อรำลึกถึงรุ่นบรรพบุรุษ บรรจุเครื่องไขลานอินเฮ้าส์ Calibre 4400 มีกำลังสำรอง 65 ชั่วโมง จากการใช้บาร์เรลขนาดใหญ่ ทำงานที่ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วน 106 ชิ้น มี 21 จิวเวล สลักหมายเลขประจำเรือนบนฝาหลัง สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้มิสซิสซิปปี้สีน้ำเงิน เป็นนาฬิกาอีกรุ่นหนึ่งที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานใหม่ของ Hallmark of Geneva เรียบร้อยแล้ว
Patrimony Traditionnelle 14-day Tourbillon
Ref. 89000/000R-9655
นาฬิกาจักรกลตูร์บิยองตัวเรือนกลมพิสุทธิ์ในสกุล Patrimony รุ่นนี้ เป็นนาฬิการุ่นที่จะต้องถูกบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ของแบรนด์ว่าเป็นนาฬิกาที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานใหม่ของ Hallmark of Geneva เป็นรุ่นแรกของ VACHERON CONSTANTIN นาฬิการุ่นนี้มาในตัวเรือนพิงค์โกลด์ 18k 5n ขนาด 42 มิลลิเมตร หนา 12.2 มิลลิเมตร ฝาหลังขันเกลียวกรุแซฟไฟร์คริสตัล หน้าปัดโอปอลีนโทนสีเงินกับงานเพนท์สีขาวบนแถบวงนาที กำลังสำรอง และวินาที ก่อนจะเพนท์เป็นสเกลด้วยสีดำที่เห็นอยู่นี้นำแรงบันดาลใจมาจากนาฬิกาพกรุ่นเก่าแก่ของแบรนด์ หลักชั่วโมงเป็นแบบขีดเจียระไนขอบกับเข็มทรงดอฟีนทำจากพิงค์โกลด์ ทั้งหมดถูกวางเยื้องศูนย์กลางขึ้นไปทางด้านบนเล็กน้อย ทำงานด้วยเครื่องไขลานจักรกลตูร์บิยองอินเฮ้าส์รุ่นใหม่ Calibre 2260 ประกอบด้วยชิ้นส่วนรวม 231 ชิ้น 31 จิวเวล ทำงานที่ความถี่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง ประกอบด้วยบาร์เรล 4 กระปุก วางแบ่งเป็น 2 คู่ ซึ่งมีความยาวของบาร์เรลสปริงรวมกันทั้งหมดถึง 2.2 เมตร ด้วยกัน จึงให้กำลังสำรองได้มากถึง 14 วัน (หรือเท่ากับ 336 ชั่วโมง!) มีบริดจ์ขนาดใหญ่ 2 ชิ้น (ลดลง 1 ชิ้นจากที่เคยใช้ 3 ชิ้นในเครื่องตูร์บิยองรุ่นก่อนหน้าของแบรนด์) ซึ่งทำให้สามารถใส่ฝีมือในการขัดแต่งลวดลายต่างๆ เช่น โค้ตเดอเชอแนฟ บนบริดจ์ขนาดใหญ่ได้อย่างเต็มที่ ทั้งหมดนี้ถูกบรรจุอยู่บนตัวเครื่องขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 29.1 มิลลิเมตรเท่านั้น ส่วนกรงตูร์บิยองซึ่งติดตั้งอยู่ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกาพร้อมเข็มวินาทีนั้นถูกออกแบบด้วยแรงบันดาลใจจากสัญลักษณ์ Maltese Cross อันเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์โดยส่วนประกอบแต่ละชิ้นจะได้รับการฟินิชชิ่งด้วยมืออย่างประณีต สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้มิสซิสซิปปี้ส์สีน้ำตาล
METIERS D’ ART COLLECTION
ชุด LES UNIVERS INFINIS
คอลเลคชั่น Metiers d’ Art ของ VACHERON CONSTANTIN ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานศิลปะบนเรือนเวลาชั้นยอด ซึ่งเป็นเหมือนสะพานเชื่อมงานศิลปะการประดิษฐ์นาฬิกาแบบเก่าแก่เข้ากับงานผลิตนาฬิการ่วมสมัยในยุคปัจจุบัน โดยทางแบรนด์ก็ได้ออกซีรี่ส์ใหม่ๆ ให้เป็นที่ฮือฮาของคอศิลป์มาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2012 นี้ ก็ได้เผยโฉมซีรี่ส์ใหม่ออกมาด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่ Dove Watch, Fish Watch และ Shell Watch ในตัวเรือนไวท์โกลด์ 18k ขนาด 40 มิลลิเมตร หนา 8.9 มิลลิเมตร ที่มีชื่อชุดว่า Metiers d’ Art - Les Univers Infinis ด้วยคอนเซ็ปต์ที่เป็นการนำงานศิลป์สไตล์กราฟิกอาร์ตมาผสมผสานกับเทคนิคการตกแต่งแห่งศาสตร์การประดิษฐ์นาฬิกาชั้นสูงด้วยวิธีการแกะสลัก ทำอีนาเมล ประดับอัญมณี และงานแกะลายกิโยเช่ ผสมผสานกันเป็นงานหน้าปัดนาฬิกาสุดวิจิตร และยังใช้เข็มแบบโปร่งเพื่อให้บดบังความงามของหน้าปัดน้อยที่สุด ทั้ง 3 แบบที่ออกมานี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานศิลปะแบบเทสเซลเลชั่น (Tessellation) ของศิลปินชาวดัตช์ Maurits Cornelis Escher ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1898-1972 ภายในของนาฬิกาทั้ง 3 แบบ บรรจุด้วยเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์ Calibre 2460 SC 27 จิวเวล ทำงานที่ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง ประกอบด้วยชิ้นส่วน 182 ชิ้น กำลังสำรอง 40 ชั่วโมง ที่ได้รับการขัดแต่งอย่างงดงามและมองเห็นได้ผ่านทางฝาหลังกรุแซฟไฟร์คริสตัล และทั้ง 3 แบบยังได้รับการรับรองคุณสมบัติตามมาตรฐานใหม่ของ Hallmark of Geneva เป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย สวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้มิสซิสซิปปี้สีดำ ผลิตในจำนวนจำกัดแบบละ 20 เรือน
Tips: คอนเซ็ปต์ของงานแบบเทสเซลเลชั่นก็คือการใช้รูปทรงขององค์ประกอบต่างๆ หลายรูปมาปิดต่อกันพอดีจนเต็มเป็นภาพโดยไม่เกิดการเหลื่อมล้ำหรือซ้อนทับกันระหว่างรูปและจะไม่มีช่องว่างใดๆ เหลืออยู่ภายในภาพ เป็นรูปแบบของงานศิลปะเก่าแก่ของชาวอิสลามที่ Maurits Cornelis Escher ศิลปินชาวดัตช์ไปพบและเกิดความซาบซึ้งกับงานศิลปะแบบนี้จากลายของงานกระเบื้องแบบ Moorish ของแขกมัวร์ที่วังอัลฮัมบราและในโบสถ์คอร์โดบา ประเทศสเปนเมื่อปี 1936 แล้วนำมาเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักของชาวโลกมากขึ้น
Dove Watch
กับงานสลัก งานอีนาเมลแบบชอมแปลฟ งานแกะลายกิโยเช่ และงานประดับเพชร
หน้าปัดของนาฬิการุ่นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานภาพวาดของ Maurits Cornelis Escher ซึ่งเป็นภาพการเดินทางของนกพิราบ โดยทาง VACHERON CONSTANTIN ได้นำมาถ่ายทอดด้วยงานแกะสลักภาพร่างลงบนพื้นผิวเยลโล่โกลด์ที่นำมาทำเป็นพื้นหน้าปัดก่อนที่จะทำกรรมวิธีชอมแปลฟซึ่งเป็นการสลักลายให้เป็นร่องสำหรับงานลงสีด้วยศิลปะอีนาเมลซึ่งจะนำไปอบจนได้สีสันที่ต้องการแล้วจึงเคลือบเงาอีกครั้ง จากนั้นก็มาถึงงานประดับเพชร 40 เม็ด น้ำหนักรวม 0.08 กะรัตลงบนนกพิราบตัวหนึ่ง ก่อนจะจบด้วยงานแกะลายกิโยเช่บนชิ้นงานอีนาเมลซึ่งต้องใช้ความอดทนและฝีมือในระดับสุดยอดเพื่อให้เกิดความงดงามและถ่ายทอดชีวิตของนกพิราบให้สมจริง
Fish Watch
กับงานแกะลายกิโยเช่และงานอีนาเมลแบบคลัวซอนเน่
เฉดสีฟ้าและสีเทาของฝูงปลาที่กำลังแหวกว่ายอยู่บนหน้าปัดของนาฬิการุ่นนี้เกิดจากการผสมผสานของเทคนิคแกะลายกิโยเช่และเทคนิคอีนาเมลแบบคลัวซอนเน่ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพของ Maurits Cornelis Escher เช่นกัน โดยถูกถ่ายทอดออกมาด้วยการร่างโครงของภาพและตาของปลาบนพื้นหน้าปัดวัสดุไวท์โกลด์แล้วนำมาแกะลายกิโยเช่ด้วยความละเอียดในระดับ 1/10 ของมิลลิเมตรเพื่อให้เกิดมิติของเส้นสายอันละเอียดอ่อนทั้งที่ขอบและบนตัวของปลาซึ่งแต่ละส่วนของตัวปลาก็จะมีลวดลายที่แตกต่างกัน จากนั้นก็ทำการวางขอบโครงร่างของปลาแต่ละตัวด้วยเส้นทองเพื่อแบ่งช่องสีให้กับงานลงสีอีนาเมลในขั้นตอนต่อไปซึ่งเรียกว่างานอีนาเมลแบบคลัวซอนเน่ เมื่อนำไปอบในเตาอบจนได้สีสันที่ต้องการแล้วก็ทำการขัดเส้นโครงร่างทองให้อยู่ในระดับเดียวกับเนื้องานอีนาเมลจากนั้นก็นำไปเคลือบเงาเพื่อให้เกิดความเรืองรอง
Shell Watch
งานแกะสลักและงานอีนาเมลแบบชอมแปลฟ
หน้าปัดของรุ่นนี้ถูกแกะเป็นภาพหอยเชลล์และปลาดาวบนพื้นใต้ทะเลตามงานของ Maurits Cornelis Escher ด้วยวิธีการทำแบบชอมแปลฟก่อนที่จะลงอีนาเมลในช่องแล้วนำไปอบจนกระทั่งได้สีที่ต้องการ จากนั้นก็นำมาขัดให้เรียบและเคลือบเงา ก่อนที่จะสลักผิวของปลาดาวให้สมจริงเป็นขั้นตอนสุดท้าย
By: Viracharn T.