Pre-SIHH 2018 - Clifton Baumatic นาฬิกากลไกอัตโนมัติอินเฮ้าส์รุ่นแรกของ BAUME & MERCIER

 

แม้ BAUME & MERCIER (โบม แอนด์ เมอร์ซิเยร์) จะเป็นผู้ผลิตนาฬิกาที่มีตำนานอันเก่าแก่มานานเกือบ 190 ปีแล้ว แต่พวกเขาก็ยังไม่เคยสร้างกลไกอัตโนมัติขึ้นมาด้วยตัวเองเลย แต่ล่าสุดพวกเขาก็ต้อนรับศักราชใหม่ปี 2018 ด้วยการออกนาฬิกาดีไซน์คลาสสิกร่วมสมัยรุ่นใหม่ให้กับคอลเลคชั่น Clifton (คลิฟตัน) โดยให้ชื่อว่า Clifton Baumatic (คลิฟตัน โบเมติก) ซึ่งชื่อ Baumatic นั้นเป็นการนำชื่อเก่าที่ทางแบรนด์เคยใช้ในอดีตกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

 

Clifton Baumatic 1

 

นาฬิกา Clifton Baumatic ที่ออกมาใหม่นี้ เป็นนาฬิกาฟังก์ชั่นพื้นฐานแสดงเวลาสามเข็มพร้อมแสดงวันที่ซึ่งมาพร้อมกับกลไกอัตโนมัติอินเฮ้าส์รุ่นแรกในประวัติศาสตร์ของทางแบรนด์ ที่ให้ชื่อว่า กลไก Baumatic คาลิเบอร์ BM12-1975A ซึ่งทำงานที่ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง ที่จะว่าไปแล้วจะเรียกว่าเป็นกลไกอินเฮ้าส์ของทางแบรนด์เองก็อาจไม่เต็มปากนัก เพราะกลไกเครื่องนี้เป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาของแล็บสร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งใหม่ที่ไมโครซิตี้ในนูชาแตล ซึ่งเป็นของกลุ่ม ริชมอนท์ บริษัทนาฬิกายักษ์ใหญ่ที่ทางแบรนด์สังกัดอยู่ ส่วนการผลิตนั้นกระทำโดยโรงงาน ValFleurier ซึ่งเป็นบริษัทในเครือริชมอนท์ เช่นกัน โดยเป้าประสงค์ของการผลิตกลไกนี้ขึ้นมาก็เพื่อเพิ่มสมรรถภาพและคุณภาพของกลไกเป็นหลัก ขณะที่ยังคงมีลักษณะพื้นฐานในรูปแบบที่ไม่แตกต่างจากกลไกของซัพพลายเออร์นัก ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทำราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับระดับของแบรนด์ได้ แต่หากทางแบรนด์จะประชาสัมพันธ์ว่าเป็นเครื่องอินเฮ้าส์ของตนเองก็ไม่แปลก เพราะหลายต่อหลายแบรนด์ทั้งในกลุ่มและนอกกลุ่มริชมอนท์ ก็มีวิธีการสร้างกลไกในลักษณะเดียวกันนี้ แล้วก็เรียกกันอย่างเต็มปากเต็มคำด้วยความภาคภูมิใจว่าเป็นกลไกอินเฮ้าส์เช่นกัน

 

Clifton Baumatic 4

 

สมรรถภาพและคุณภาพที่ว่าก็คือ ความสามารถในการต้านทานการรบกวนจากสนามแม่เหล็ก แต่ก็เป็นระดับที่ผู้คนทั่วไปพบเจอได้ในชีวิตประจำวันอย่างพวกคอมพิวเตอร์ ดีไวซ์ต่างๆ หรือแม่เหล็กชิ้นเล็กๆ นะครับ ไม่ใช่พวกเครื่องเอ็มอาร์ไอ หรือเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งถ้าวัดเป็นหน่วยเกาส์แล้ว กลไกเครื่องนี้จะต้านทานได้ถึงระดับ 1,500 เกาส์ อีกทั้งกลไกเครื่องนี้ยังใช้เอสเคปเม้นท์ (ทั้งตัวเอสเคปวีลและเลเวอร์) กับแฮร์สปริงที่ทำจากวัสดุซิลิคอนด้วย ซึ่งถือเป็นกลไกแบบฟังก์ชั่นพื้นฐานรุ่นแรกในบรรดามวลหมู่แบรนด์ในกลุ่ม ริชมอนท์ ที่ใช้ซิลิคอนมาสร้างเป็น 2 ส่วนนี้ ซึ่งข้อดีของซิลิคอนก็คือ มีน้ำหนักเบากว่าอัลลอยโลหะที่ใช้กันตามปกติ มีความเรียบลื่นทำให้เกิดแรงเสียดทานต่ำ และมีความต้านทานต่อสนามแม่เหล็กและการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ เท่านั้นยังไม่พอชุดเอสเคปเม้นท์ยังถูกออกแบบพัฒนาขึ้นมาใหม่เพื่อให้ส่งพลังงานจากเอสเคปวีลผ่านเลเวอร์ไปยังชุดบาลานซ์ได้ดียิ่งขึ้น โดยทางแบรนด์ตั้งชื่อให้กับเอสเคปเม้นท์รูปแบบนี้ว่า เพาเวอร์สเคป ส่วนบาลานซ์สปริงนั้นก็เป็นแบบที่ทางแบรนด์เรียกว่า ทวินสเพอร์ (TWINSPIR) ซึ่งเป็นการนำซิลิคอน 2 เส้นมาพันกันเป็นเกลียวด้วยซิลิคอนไดออกไซด์ เพื่อให้บาลานซ์สปริงรักษาระดับสถานะความยืดหยุ่นให้คงที่ยิ่งขึ้นในทุกระดับอุณหภูมิ โดยบาลานซ์สปริงซิลิคอนแบบ ทวินสเพอร์ นี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในกลไกไขลานอินเฮ้าส์ คาลิเบอร์ BM12-1975M ในนาฬิการุ่น Clifton Manual 1830 ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2017

 

Clifton Baumatic 8

 

BM12 1975A

 

นอกจากนี้กลไกอัตโนมัติเครื่องนี้ยังใช้บาร์เรลขนาดใหญ่และใช้วัสดุอัลลอยชนิดใหม่มาทำเมนสปริง ซึ่งทำให้สามารถสำรองพลังงานได้ยาวนานถึง 5 วัน (120 ชั่วโมง) เท่านั้นยังไม่พอยังเพิ่มคุณค่าด้วยการส่งเข้าทดสอบตามมาตรฐานโครโนมิเตอร์ของ COSC ด้วย และปิดท้ายกับการใช้น้ำมันหล่อลื่นชนิดใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้นกว่าเดิม ซึ่งยืดระยะเวลาในการเข้าเซอร์วิสออกไปได้ยาวนานกว่านาฬิกาทั่วไป อีกทั้งยังมีการตกแต่งและขัดแต่งชิ้นส่วนกลไกมาอย่างสวยงามสมศักดิ์ศรี

Clifton Baumatic 7

Clifton Baumatic 2

 

Clifton Baumatic 5

 

Clifton Baumatic รุ่นนี้เปิดตัวครั้งแรกด้วยตัวเรือนวัสดุสตีล ขนาด 40 มม. หนา 10.3 มม. ที่กันน้ำได้ 50 เมตร ตกแต่งด้วยการขัดเงาสลับกับขัดซาติน กระจกหน้าปัดเป็นแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน พร้อมฝาหลังแบบผนึกกระจกแซฟไฟร์ โดยมีหน้าปัดเป็นแบบแผ่นเรียบฟินิชแซนด์บลาสต์ที่เคลือบด้วยแล็กเกอร์สีขาวเพื่อให้ได้ลุคคล้ายกับผิวกระเบื้องพอร์ซเลน ดีไซน์ของหน้าปัดออกแบบมาอย่างคลาสสิกด้วยการใช้แท่งหลักชั่วโมงและเข็มชั่วโมงกับนาทีสีเงินทรงผอมเรียว โดยมีขีดสเกลและเลขวินาทีสีดำขนาดเล็กแต่จัดวางตำแหน่งมาให้อ่านค่าได้อย่างชัดเจนสอดคล้องกับเข็มวินาทีสีดำ และเติมสไตล์วินเทจด้วยเส้นทแยงสีดำขีดบางๆ พาดผ่านกลางหน้าปัด ส่วนเลขวันที่ใช้เป็นสีดำขนาดใหญ่บนพื้นจานสีขาวแสดงตัวเลขคับช่องหน้าต่างสี่เหลี่ยม ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกา ทั้งยังบ่งบอกความภาคภูมิใจด้วยชื่อ BAUMATIC อยู่เหนือข้อความ 5 DAYS ซึ่งหมายถึงกำลังสำรอง และข้อความ CHRONOMETER บนหน้าปัดเหนือตำแหน่ง 6 นาฬิกาด้วย ส่วนสายที่ให้มานั้นเป็นสายหนังจระเข้สีดำที่เย็บตะเข็บด้วยด้ายสีเทา

 

 

By: Viracharn T.