Pre-SIHH 2018 - SPEAKE-MARIN เผยโฉมเอดิชั่นใหม่ของ London Chronograph

 

จากความสำเร็จของนาฬิกา London Chronograph เอดิชั่นแรกที่ผลิตขึ้นแบบจำนวนจำกัดเพียงไม่กี่เรือนเมื่อปี 2016 มาบัดนี้ก็ถึงคราวเอดิชั่นที่สองกันแล้ว โดยทาง SPEAKE-MARIN (สปีค-มาริน) ยังคงสร้างขึ้นในแบบ ลิมิเต็ด เอดิชั่น เหมือนเช่นเคย โดยกำหนดจำนวนการผลิตสำหรับเอดิชั่นใหม่นี้ไว้แค่ 15 เรือนเท่านั้น

 

สาเหตุที่จำกัดจำนวนการผลิตเอาไว้เพียงแค่นี้ ก็เนื่องมาจากความหายากของกลไกที่ใช้ ซึ่งเป็นกลไกไขลาน คาลิเบอร์ Valjoux 92 ที่ Valjoux หนึ่งในผู้ผลิตกลไกรายใหญ่และเป็นรายสำคัญอันดับต้นๆ ของวงการในสมัยก่อน ผลิตขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างทศวรรษที่ 1950 ถึง 1960 ด้วยผลที่สืบเนื่องมาจากการปฏิวัติของเครื่องควอตซ์ที่เริ่มขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 อันทำให้กลไกจักรกลจำนวนมากถูกยกเลิกการผลิตไป โดยในสมัยนั้น คาลิเบอร์ Valjoux 92 รุ่นนี้ถือเป็นกลไกโครโนกราฟประสิทธิภาพสูงที่แบรนด์ชั้นนำต่างๆ ในสมัยนั้น ซึ่งรวมถึง Patek Philippe, Rolex และ TAG Heuer ต่างเลือกนำมาใช้กับนาฬิกาของตน

 

 

3D LONDON 2 ART 02

 

 

กลไก Valjoux 92 ที่ SPEAKE-MARIN นำมาใช้กับนาฬิกาสุดพิเศษรุ่นนี้ ถูกเก็บไว้ในรูปแบบของชิ้นส่วนอยู่ในเซฟของนักสะสมกลไกวินเทจมาเป็นเวลาเนิ่นนานหลายปี จนในที่สุดทาง SPEAKE-MARIN ก็ได้นำชิ้นส่วนเหล่านี้มาประกอบขึ้นใหม่ที่เวิร์คช็อปของแบรนด์ด้วยฝีมือของช่างนาฬิกาผู้เชี่ยวชาญ โดยการนำกลไกวินเทจอันทรงคุณค่ามาใช้กับนาฬิกา SPEAKE-MARIN เช่นนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางการสร้างสรรค์ของแบรนด์ ที่ต้องการพัฒนาและสร้างผลงานกลไกที่ทรงคุณค่าและมีความโดดเด่นเหนือธรรมดา โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นกลไกที่ตนพัฒนาขึ้นมาใหม่แต่เพียงอย่างเดียว

เอดิชั่นที่สองของ London Chronograph ซึ่งใช้รหัสเป็น Ref. 114208030 รุ่นนี้ ยังคงใช้พื้นหน้าปัดเป็นสีขาวเช่นเดียวกับเอดิชั่นแรกแต่ต่างออกไปตรงที่มีการออกแบบหลักชั่วโมงขึ้นมาใหม่โดยใช้เป็นตัวอักษรสีดำ 6 ตัว อันได้แก่ S-P-E-A-K-E แทนตำแหน่งหลักชั่วโมง 6 จุด เรียงจากตำแหน่ง 12 นาฬิกา โดยสลับกับเส้นขีดสีดำเส้นเรียวบาง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นำลักษณะเช่นนี้มาใช้ ขณะที่วงแผ่นหน้าปัดจับเวลากับวงหน้าปัดวินาทีขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ที่ตำแหน่ง 9 กับ 12 นาฬิกา ยังคงโดดเด่นด้วยลักษณะการยกลอยขึ้นเหนือพื้นหน้าปัดเช่นเดียวกับเอดิชั่นแรก แต่มีการปรับลักษณะของสเกลย่อยจากการปิดปลายแบบรางรถไฟมาเป็นแบบเปิด ซึ่งก็สอดคล้องกับรูปแบบของสเกลนาทีกับสเกลวินาทีสีดำบริเวณขอบหน้าปัดที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะเดียวกันนี้ ทั้งยังย้ายตัวเลขนาทีสีแดงมาแทรกไว้ในสเกลด้วย

 

 

3D LONDON 2 ART 03

 

 

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนสีของวงนาทีจับเวลาจากที่เดิมเป็นสีขาวเหมือนกับพื้นหน้าปัดหลักกับพื้นหน้าปัดวินาที มาเป็นสีแดงตัดกับสเกลสีขาวแทน พร้อมข้อความกำกับว่า “MINUTES CHRONOGRAPH” แล้วก็เปลี่ยนเข็มวินาทีจับเวลาจากเดิมที่ใช้สีแดงมาเป็นสีขาวด้วย ซึ่งคอนเซ็ปต์การใช้สีแดงนี้ก็เป็นลักษณะที่สะท้อนถึงจิตวิญญาณแห่งมอเตอร์สปอร์ตนั่นเอง ส่วนเข็มชั่วโมงกับนาทีทรง “ฟาวน์เดชั่น” อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ กับเข็มวินาที ก็ยังคงใช้เป็นบลูด์สตีลสีน้ำเงิน และก็ใช้เข็มวินาทีจับเวลาเป็นสีแดงเหมือนเอดิชั่นแรก แต่สิ่งสำคัญที่เปลี่ยนไปก็คือ ความสามารถในการจับเวลาที่เพิ่มจาก 30 นาทีในเอดิชั่นแรก มาเป็น 45 นาทีในเอดิชั่นนี้ โดยยังคงทำงานด้วยความถี่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง และให้กำลังสำรองได้ถึง 40 ชั่วโมงเหมือนเช่นเดิม

 

 

LONDON SPEAKE 42TI FRONT BK 02

 

 

อีกจุดที่มีการปรับเปลี่ยนก็คือ วีลรูปทรง “ท็อปปิ้ง ทูล” อีกเอกลักษณ์สำคัญของแบรนด์ ซึ่งติดตั้งอยู่กลางหน้าปัดและเคลื่อนหมุนไปพร้อมกับเข็มชั่วโมงอยู่ใต้วงหน้าปัดขนาดเล็กทั้งสอง ได้ถูกเปลี่ยนจากสีดำอย่างเอดิชั่นแรกมาเป็นสีเงินขัดลาย ทั้งยังปรับดีไซน์ใหม่ให้ดูทันสมัยยิ่งขึ้นโดยมีขนาดเส้นที่หนาขึ้นและมีสลักกำกับข้อความลงด้วยสีดำว่า “London” กับ “Chronograph” เอาไว้ด้วย

 

LONDON RED Edition 42TI FRONT 01LONDON SPEAKE 42TI FRONT WH 02

 

London Chronograph เอดิชั่นใหม่ปี 2018 ยังคงใช้ตัวเรือนแบบ “พิคคาดิลลี” ทรงเอกลักษณ์ของแบรนด์ ขนาด 42 มม. ที่ทำจากวัสดุไทเทเนี่ยม เกรด 5 พร้อมผนึกกระจกแซฟไฟร์เคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนที่ด้านหน้าและผนึกกระจกแซฟไฟร์บนฝาหลัง เหมือนเช่นเดิม แต่ไม่ได้มีการเคลือบดีแอลซีสีดำที่ตัวเรือนชิ้นกลางกับชิ้นด้านในของปุ่มกดเหมือนกับเอดิชั่นแรก ส่วนสายของเวอร์ชั่นนี้จะสามารถเลือกได้ระหว่างสายยางสีน้ำเงิน กับสายหนังวัวสีน้ำเงินคาดลายเส้นสีแดง

 

 

By: Viracharn T.