SIHH 2018 - JAEGER-LECOULTRE ก้าวสู่สมรภูมินาฬิกาลักชัวรี่สปอร์ตเต็มตัวด้วย Polaris Collection

 

ปีนี้ JAEGER-LECOULTRE (เจเกอร์-เลอคูลทร์) ก้าวลงสนามอันหอมหวานของตลาดนาฬิกาแนวสปอร์ตหรู (ลักชัวรี่ สปอร์ต) อย่างเต็มตัวเพื่อสู้กับผู้เล่นอันแข็งแกร่งในตลาดไม่ว่าจะเป็น Patek Philippe, Audemars Piguet, Rolex หรือแม้แต่ผู้เล่นหน้าใหม่ที่หันมาเอาจริงเอาจังกับตลาดนี้อย่าง Girard-Perregaux กับ Piaget ก็ตาม มาดูกันเลยครับว่า Polaris ที่ JLC ส่งลงสนามอันเข้มข้นนี้จะมีดีอะไรมาสู้

 

ที่มา

 

ปี 2018 นี้ เป็นเวลาดีที่นาฬิการุ่น Memovox Polaris ของ JLC ซึ่งถือกำเนิดครั้งแรกเมื่อปี 1968 จะมีอายุครบ 50 ปี จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะปล่อยนาฬิกาคอลเลคชั่นใหม่ออกมาในชื่อว่า Polaris (โพลาริส)

 

1968 Polaris

 

Memovox Polaris รุ่นต้นฉบับสมัยปี 1968

 

 

Memovox Polaris รุ่นต้นฉบับที่เกิดมาในปี 1968 นั้น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของรุ่น Deep Sea Alarm แต่มีการผลิตออกมาไม่มากเรือนนัก จุดเด่นของมันก็คือ นวัตกรรมฝาหลังแบบใหม่ที่ออกแบบให้ขยายเสียงเตือนให้ดังขึ้นในขณะอยู่ใต้น้ำ โดยยังคงกันน้ำได้อย่างดีเยี่ยม ส่วนรูปลักษณ์ที่เป็นที่จดจำก็คือ รูปแบบการจัดวางหลักชั่วโมงด้วยตัวเลข 12-6-9 โดยมีจานหมุนอยู่กลางหน้าปัดสำหรับปรับตั้งฟังก์ชั่นอลาร์ม และมีเม็ดมะยมถึง 3 ชุด แยกหน้าที่กันสำหรับตั้งค่าอลาร์ม ตั้งนาฬิกา และหมุนปรับวงขอบหน้าปัดด้านในซึ่งหมุนได้ทั้งสองทิศทาง ทั้งหมดนี้ก็ทำให้ Memovox Polaris รุ่นดั้งเดิมยังคงมีมูลค่าและเป็นที่ต้องการของคอนาฬิกาวินเทจมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งก็รวมถึงนาฬิกาTribute to Polaris ซึ่งเป็นรุ่นครบรอบ 40 ปี Polaris ที่ทาง JLC สร้างขึ้นเมื่อปี 2008 ในรูปแบบ รี-เอดิชั่น ให้มีลักษณะเหมือนกับรุ่นต้นฉบับ ด้วยจำนวนจำกัดไม่ถึงพันเรือนด้วย ที่จะว่าไปแล้วก็มีจำนวนน้อยกว่ารุ่นต้นฉบับเสียอีก

 

Polaris Collection 1

 

 

ครอบคลุมทุกรูปแบบที่คาดหวัง

 

เชื่อว่าทาง JLC ได้ทำการบ้านมาเป็นอย่างดีแล้ว จึงได้ผลิต Polaris คอลเลคชั่นใหม่ออกมาให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้าถึง 5 รุ่นด้วยกัน โดยมีความหลากหลายของคอมพลิเคชั่นกลไกและรูปแบบการตกแต่งให้เลือกอย่างจุใจ ตั้งแต่ แบบสามเข็มไม่มีวันที่ แบบสามเข็มมีวันที่ แบบโครโนกราฟ ไปจนถึงแบบโครโนกราฟเวิลด์ไทม์ และสุดท้ายกับสิ่งที่แฟนๆ JLC คาดหวังนั่นก็คือ แบบอลาร์ม ที่ทาง JLC เรียกว่า Memovox (เมโมว็อกซ์) ซึ่งจำเป็นต้องมีไว้เพื่อเชื่อมโยงกับนาฬิกา Memovox Polaris รุ่นต้นฉบับซึ่งเป็นที่มาอ้างอิงแห่งการถือกำเนิดของคอลเลคชั่น Polaris ใหม่นี้ โดยแบบ Memovox ที่ใช้ชื่อรุ่นว่า Polaris Memovox (ซึ่งสลับตำแหน่งคำกันกับรุ่นต้นฉบับ!) จะเป็นการผลิตแบบ ลิมิเต็ดเอดิชั่น เพื่อเอาใจผู้ที่ชื่นชอบ Memovox Polaris ในแบบดั้งเดิม ขณะที่รุ่นอื่นๆ นั้นสร้างขึ้นเพื่อต้องการลูกค้าใหม่ๆ ที่ไม่ได้ยึดติดกับความเป็น Memovox Polaris มากนัก ถือได้ว่าเป็นวิธีการจัดการบาลานซ์ความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าได้ดีทีเดียว

 

Polaris Memovox 2

 

Polaris Memovox

 

 

Polaris Date 1

 

Polaris Date

 

 

ดีไซน์ดูจริงจัง

 

ดีไซน์โดยรวมของ Polaris ยังคงดูเป็นนาฬิกาแบบฉบับปกติ ไม่ได้มีรูปทรงที่หวือหวา หรือมีเอกลักษณ์ที่โดดเด้งออกมาจากข้อมือในทันทีที่เห็นอย่างคู่แข่งโดยส่วนใหญ่ แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงรายละเอียดแล้วจะพบว่าทุกองค์ประกอบถูกออกแบบมาอย่างตั้งใจและมีที่มาที่ไป เริ่มจากภาพรวมที่ยังมีกลิ่นของความวินเทจจากรุ่นต้นฉบับหลงเหลืออยู่ในโครงร่างและรูปแบบของหน้าปัด แต่มีลักษณะของความทันสมัย ความเข้มแข็ง และความทนทาน เจืออยู่ให้รู้สึกได้ชัด รวมไปถึงความประณีตพิถีพิถันในการผลิตที่สังเกตเห็นได้ไม่ยาก ซึ่งนี่ก็คือ เสน่ห์อันร้ายกาจที่อยู่ใน Polaris คอลเลคชั่นใหม่นี้

 

Polaris Automatic 3

 

Polaris Automatic แบบสามเข็ม โน-เดท

 

 

ทั้งตัวเรือน ขอบตัวเรือน และเม็ดมะยม ของคอลเลคชั่นนี้ถูกออกแบบให้ดูสมัยใหม่แต่ยังคงเส้นสายบางส่วนไว้เพื่อให้ยังมีกลิ่นของรุ่นต้นฉบับอยู่บ้าง ทั้งยังใช้กระจกหน้าปัดแบบทรงโดมครอบคล้ายกับรุ่นต้นฉบับอีกต่างหาก นอกจากนี้ยังมีขอบหน้าปัดพิมพ์สเกลนาทีที่สามารถหมุนได้เพื่อใช้ประโยชน์ขณะดำน้ำซึ่งปรับตั้งด้วยเม็ดมะยมอีกเม็ดหนึ่ง ซึ่งทำให้รุ่นโนเดท กับรุ่นเดทมีเม็ดมะยม 2 ชุด (เม็ดมะยมตำแหน่ง 2 นาฬิกาสำหรับปรับวงขอบหน้าปัด) ขณะที่รุ่น Memovox จะมี 3 ชุดเหมือนรุ่นต้นฉบับ (เม็ดมะยมตำแหน่ง 2 นาฬิกาสำหรับปรับตั้งและขึ้นลานอลาร์ม) ส่วนรุ่นโครโนกราฟกับรุ่นโครโนกราฟเวิลด์ไทม์นั้นจำเป็นต้องติดตั้งไว้ตามตำแหน่งจุดสั่งการสำหรับฟังก์ชั่นกลไก

 

Polaris Chronograph 6

 

Polaris Chronograph

 

 

Polaris Chronograph WT 2

 

Polaris Chronograph WT ฟังก์ชั่นโครโนกราฟ + เวิลด์ไทม์

 

 

นอกจากนี้ทุกรุ่นยังมาพร้อมมาตรฐานที่นาฬิกาสปอร์ตหรูในยุคปัจจุบันพึงมี อย่างระดับการกันน้ำที่ 100 เมตรเป็นอย่างน้อย พร้อมฝาหลังแบบผนึกกระจกใส (ยกเว้นรุ่น Memovox กับรุ่น Date ที่กันน้ำได้ 200 เมตร และใช้ฝาหลังแบบทึบ) และการมีสายให้เลือกจับคู่หลายแบบ ทั้งสายยาง สายหนัง และสายสตีล (รูปแบบสายที่มีให้เลือกจะแตกต่างกันไปตามแต่ละรุ่น) ซึ่งทุกรูปแบบของสายก็ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับนาฬิการุ่นนี้โดยเฉพาะ โดยสายสตีลนั้นจะเป็นดีไซน์สปอร์ตแบบสามแถวตามรูปแบบนิยมของนาฬิกาสปอร์ต แต่มีการออกแบบรายละเอียดของเหลี่ยมสันมาเป็นอย่างดีในสไตล์ของตัวเอง และใช้รูปแบบการขัดเงาที่บริเวณข้อริม ส่วนข้อกลางขนาดกว้างนั้นเป็นการขัดลายบนแถบใหญ่สลับกับขัดเงาบนแถบเล็ก

ดีไซน์หน้าปัดก็ถูกออกแบบให้มีอารมณ์คล้ายกับรุ่นต้นฉบับ ด้วยดีไซน์ของแท่งและชิ้นเลขอารบิกหลักชั่วโมงสีเงิน และเข็มทรงดาบ ซึ่งมีการเคลือบสารเรืองแสงซูเปอร์ลูมิโนวามาด้วย ขณะที่พื้นผิวของหน้าปัดแบบเล่นระดับนั้นเป็นการตกแต่งแบบผสมผสานร่วมกันอย่างพิถีพิถันน่าชมของลายซันเรย์บนวงกลางหน้าปัดซึ่งอยู่ระนาบต่ำที่สุด ผิวเกรนบนวงหลักชั่วโมง และโอปอลีนบนวงแหวนขอบหน้าปัดที่ลาดเอียงขึ้นมาสู่ขอบตัวเรือน

 

 

Polaris Automatic สามเข็ม โน-เดท

 

Polaris Automatic 6

 

นาฬิกาสปอร์ตสามเข็ม แบบไม่มีวันที่ เป็นอะไรที่หาได้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะนาฬิกาที่จัดอยู่ในหมวดสปอร์ตหรูเช่นนี้ แน่นอนว่ามันเป็นรุ่นเริ่มต้น แต่ก็มีความดูดีในแบบฉบับที่ถูกที่ควร ตัวเรือนวัสดุสตีล ของรุ่นนี้มากับขนาด 41 มม. หนา 11.2 มม. โดยมีหน้าปัดให้เลือกระหว่างสีดำกับสีน้ำเงิน ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 40 ชั่วโมง คาลิเบอร์ 898E/1 ซึ่งเป็นกลไกรุ่นเดียวกับที่ใช้ในนาฬิการุ่นอื่นๆ ของ JLC อยู่แล้ว คู่เปรียบเทียบโดยตรงของรุ่นนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นเจ้า Rolex Explorer นั่นเอง

 

Polaris Automatic 7Polaris Automatic 8Polaris Automatic 5

 

ราคาของ Polaris Automatic:

แบบสายสตีล ราคา USD 7,600 ; แบบสายหนังจระเข้สีดำ ราคา USD 6,900 ; แบบสายหนังวัวสีน้ำตาล ราคา USD 6,600

 

 

Polaris Date ครบครันกับฟังก์ชั่นวันที่ และการกันน้ำ 200 เมตร

 

Polaris Date 3

 

สำหรับรุ่นสามเข็มมีวันที่นี้ ไม่ได้แตกต่างแค่มีการเจาะหน้าต่างสี่เหลี่ยม ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกา แต่มีการแต้มหลักชั่วโมงกับเข็มด้วยสารเรืองแสง ซูเปอร์ลูมิโนวา สีเบจวานิลลาแทนสีขาวแบบรุ่นอื่นๆ เพื่อเติมอารมณ์วินเทจเข้าไปอีกระดับ ทั้งยังยกระดับการกันน้ำขึ้นไปที่ 200 เมตรอีกต่างหาก ซึ่งก็ต้องแลกมากับฝาหลังแบบแผ่นทึบ แต่มีการสลักภาพหมวกดำน้ำเอาไว้เช่นเดียวกับรุ่นต้นฉบับและรุ่น Tribute to Polaris เมื่อปี 2008 ส่วนกลไกที่ใช้นั้นเป็นแบบอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ คาลิเบอร์ 898A/1 ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 38 ชั่วโมง โดยบรรจุในตัวเรือนสตีล ขนาด 41 มม. เท่ากับรุ่นโนเดท แต่มีความหนาเพิ่มขึ้นเป็น 13.1 มม. และมาคู่กับหน้าปัดสีดำ

 

Polaris Date 2Polaris Date 4

 

มีให้เลือกจับคู่ทั้งกับสายสตีล และสายยางสีดำ แต่เว็บไซต์ของทางแบรนด์ยังไม่ได้แจ้งราคาเอาไว้

 

 

Polaris Chronograph เติมความโมเดิร์น พร้อมฟังก์ชั่นจับเวลา

 

Polaris Chronograph 1

 

มาถึงรุ่นโครโนกราฟ ที่ไม่ได้อยู่ในสารบบของ Memovox Polaris แบบดั้งเดิมกันบ้าง ตัวเรือนของรุ่นนี้จะมีขนาดใหญ่กว่ารุ่นเดทกับโนเดทเล็กน้อย โดยขยายมาเป็น 42 มม. หนา 11.9 มม. บรรจุกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟ อินเฮ้าส์ คาลิเบอร์ 751H ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง ที่มีกำลังสำรองถึง 65 ชั่วโมง และจับเวลาได้ 12 ชั่วโมง เอาไว้ภายใน

 

Polaris Chronograph 5

 

Polaris Chronograph 3Polaris Chronograph 2Polaris Chronograph 4

 

หน้าปัดของรุ่นโครโนกราฟ ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบสีดำ และแบบสีน้ำเงิน จะมากับวงจับเวลา 2 วง ซึ่งอยู่ที่ตำแหน่ง 3 กับ 9 นาฬิกา โดยไม่มีวงวินาทีมาให้ และกดสั่งการจับเวลาด้วยปุ่มกดทรงเหลี่ยมโค้งขนาดใหญ่ที่อยู่ขนาบเม็ดมะยมตำแหน่ง 3 นาฬิกา ตามรูปแบบนาฬิกาโครโนกราฟปกติ ส่วนวงแหวนขอบหน้าปัดที่รุ่นนี้หมุนไม่ได้นั้น จะแทนที่ด้วยสเกลทาคีมิเตอร์

 

Polaris Chronograph PG

 

นอกจากตัวเรือนสตีลแล้ว รุ่นโครโนกราฟก็เป็นรุ่นเดียวของ Polaris ณ ขณะนี้ ที่มีแบบตัวเรือนพิ้งค์โกลด์ ออกมาด้วย โดยจะมาพร้อมกับหน้าปัดสีเทา ชาโคลเกรย์ และใช้หลักชั่วโมงกับเข็มสีพิ้งค์โกลด์ สวมคู่กับหนังจระเข้สีน้ำตาล โดยรุ่นนี้จะได้โรเตอร์ที่เป็นสีทองด้วย

 

ราคาของ Polaris Chronograph:

ตัวเรือนสตีล-สายสตีล ราคา USD 10,900 ; ตัวเรือนสตีล-สายหนังจระเข้สีดำ ราคา USD 10,100

ตัวเรือนสตีล-สายหนังวัวสีน้ำตาล ราคา USD 10,000 ; ตัวเรือนพิ้งค์โกลด์-สายหนังจระเข้สีน้ำตาล ราคา USD 24,500

 

 

Polaris Chronograph WT ครบครันทั้งฟังก์ชั่นจับเวลาและเวิลด์ไทม์

 

Polaris Chronograph WT 3

 

รุ่นนี้เป็นนาฬิกาโครโนกราฟจับเวลา 12 ชั่วโมง ที่เพิ่มเติมฟังก์ชั่นเวิลด์ไทม์เข้ามาเพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานได้มากที่สด ลักษณะโดยรวมของหน้าปัดซึ่งก็มีทั้งแบบสีดำและแบบสีน้ำเงิน ยังคงคล้ายกับรุ่นโครโนกราฟ เว้นแต่มีการเพิ่มวงแหวนเข้ามาอีก 2 วงที่บริเวณขอบหน้าปัด ซึ่งก็คือวงแหวนแสดงเวลา 24 ชั่วโมงแบ่งพื้นขาว-ดำเพื่อแยกกลางวัน-กลางคืน และวงแหวนระบุชื่อเมืองของเขตเวลาต่างๆ ทั่วโลก โดยการปรับตั้งจะกระทำด้วยเม็ดมะยมทั้งที่ตำแหน่ง 10 นาฬิกา ร่วมกับเม็ดมะยมหลักที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา ขับเคลื่อนด้วยกลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ คาลิเบอร์ 752A ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 65 ชั่วโมง

 

Polaris Chronograph WT 1

 

ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดที่เพิ่มเข้ามานี้ก็ทำให้ต้องใช้ตัวเรือนที่มีขนาดใหญ่ถึง 44 มม. หนา 12.5 มม. แต่ก็ไม่ต้องห่วงว่ามันจะหนักเกินไป เพราะมันทำจากไทเทเนี่ยม ด้วยความครบครันเช่นนี้ทำให้มันเหมาะที่จะเป็นนาฬิกาสปอร์ตหรูแบบเรือนเดียวจบ ใช้งานได้ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าผู้สวมใส่จะเป็นนักธุรกิจ นักเดินทาง หรือแม้แต่นักกีฬา

 

ราคาของรุ่น Polaris Chronograph WT:

แบบสายหนังจระเข้สีดำ ราคา USD 14,600 ; แบบสายหนังวัวสีน้ำตาล ราคา USD 14,500

 

 

POLARIS MEMOVOX 50th Anniversary Edition นาฬิกาฟังก์ชั่นอลาร์ม รุ่นพิเศษฉลองครบรอบ 50 ปี

 

Polaris Memovox 3

 

รุ่นฟังก์ชั่นอลาร์มของ Polaris นี้ มีชื่อเต็มๆ ยาวเฟื้อยดังที่เห็นเพราะมันถูกวางตัวให้เป็นนาฬิการุ่นพิเศษเพื่อฉลองวาระ 50 ปีของ Memovox Polaris ดังนั้นมันจึงมีลักษณะของรุ่นต้นฉบับอยู่ในตัวมากที่สุดในบรรดา 5 รุ่น Polaris ที่ออกมาใหม่นี้ เห็นได้ทันทีตั้งแต่เม็ดมะยม 3 ชุด สำหรับปรับวงแหวนขอบหน้าปัด ปรับตั้งนาฬิกา และปรับตั้งเวลากับขึ้นลานอลาร์ม  ซึ่งทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ คาลิเบอร์ 956 ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 45 ชั่วโมง ซึ่งเป็นกลไกฟังก์ชั่นอลาร์มพร้อมฟังก์ชั่นวันที่ รุ่นเดียวกับที่ใช้กับนาฬิกา JLC ฟังก์ชั่น Memovox รุ่นอื่นๆ ในปัจจุบัน และก็เป็นกลไกเดียวกับที่ใช้ในรุ่น Tribute to Polaris เมื่อปี 2008 ด้วย ส่วนตัวเรือนของรุ่นนี้จะเป็นวัสดุสตีล ขนาด 42 มม. เท่ากับรุ่นโครโนกราฟ แต่มีความหนาถึง 15.9 มม. ด้วยเหตุผลจากขนาดของกลไกและแผ่นฝาหลังสำหรับฟังก์ชั่นอลาร์ม ซึ่งเป็นแบบแผ่นทึบที่ช่วยขยายเสียงอลาร์มได้ พร้อมสลักเป็นภาพหน้ากากดำน้ำตามแบบฉบับของ Memovox Polaris รุ่นต้นฉบับ ร่วมด้วยข้อความ “50th Anniversary” แต่การที่ใช้ฝาหลังแบบแผ่นทึบก็ทำให้นาฬิการุ่นนี้กันน้ำได้ถึงระดับ 200 เมตร

 

Polaris Memovox8 REPolaris Memovox9 REPolaris Memovox10 RE

 

Polaris Memovox 4

 

หน้าปัดของรุ่นนี้ถูกออกแบบให้ต่างออกไปจาก Polaris ร่วมคอลเลคชั่นใหม่ ซึ่งแน่นอนว่านอกจากจะมีวงกลางหน้าปัดที่ใช้ปรับตั้งเวลาอลาร์มโดยมีสามเหลี่ยมชี้ไปยังสเกลที่อยู่รอบนอกแล้ว ก็มีการปรับดีไซน์ของสเกลทุก 5 นาทีบนวงแหวนขอบหน้าปัดจากจุดกลมใหญ่สไตล์ทันสมัยมาเป็นแบบขีดหนาสไตล์ดั้งเดิม และก็มีการใช้สารเรืองแสงซูเปอร์ลูมิโนวาสีเบจวานิลลากับชิ้นหลักชั่วโมง และขีดสเกลทุก 5 นาทีของสเกลอลาร์มด้วย

Polaris Memovox7RE

POLARIS MEMOVOX 50th Anniversary Edition รุ่นนี้จะผลิตขึ้นแบบ ลิมิเต็ด เอดิชั่น ด้วยจำนวนจำกัดที่ 1,000 เรือน โดยจะสวมคู่มากับสายยางสีดำ ตั้งราคาจำหน่ายไว้ที่ USD 12,600

 

Polaris Collection มีกำหนดวางจำหน่ายที่บูติกของ JAEGER-LECOULTRE ทั่วโลกตั้งแต่เดือนเมษายน 2018 นี้ ซึ่งในประเทศไทยนั้นตั้งอยู่ที่ ชั้น M ศูนย์การค้า สยามพารากอน แต่ทางแบรนด์จะทำการจำหน่ายรุ่นลิมิเต็ด Polaris Memovox ในจำนวน 68 เรือน (มาจากเลขท้ายของปี 1968) จากทั้งหมด 1,000 เรือนที่ผลิตขึ้น ผ่านทางเว็บไซต์ www.jaeger-lecoultre.com ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

(* ราคาที่แจ้งเป็นราคาที่อ้างอิงจากที่ปรากฏบนเว็บไซต์ www.jaeger-lecoultre.com ซึ่งยังไม่ได้รวมภาษีขาย)

 

 

By: Viracharn T.