วินเทจวันละนิด วันนี้เสนอตอน สู่บัลลังก์ราชานาฬิกาสปอร์ต Rolex “Zenith” Daytona Ref. 16520 ตอนที่ 2

 

By: Rittidej Mohprasit

 

สำหรับ Zenith Daytona นี้ Rolex นำเอาเครื่อง El Primero คาลิเบอร์ 400 มาปรับแต่งอย่างหนัก (ว่ากันว่าเปลี่ยนมากกว่า 50%)  แล้วเปลี่ยนชื่อแมนๆ เป็น Rolex คาลิเบอร์ 4030 ซึ่งที่ใช้คำว่าปรับแต่งเนี่ย จริงๆ คือการสร้างเกือบจะใหม่ไปหมดเลย เพราะทั้งลดความถี่ (เพื่อลดความสึกหรอ เพิ่มความอึด และลดรอบการเข้ารับบริการ โดยทั้งหมดนี้เป็นการปรับแต่งจากทาง Rolex) ตัดฟังก์ชั่นบอกวันที่ เพิ่มขนาดของเอสเคปเมนท์ และบาลานซ์สปริง เพิ่มบริเกต์โอเวอร์คอยล์ และเพิ่มไมโครสเตลล่าแอดจัสท์เมนท์/สกรูว์ (Micro Stella Adjustment/Screws) ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเพิ่มความเที่ยงตรง ซึ่งเป็นอีกสแตนดาร์ดอันแข็งแกร่งของ Rolex ซึ่งเมื่อเครื่องคาลิเบอร์ 4030 เป็นเครื่องจับเวลาแบบออโตเมติคโดยมีเบสจาก Zenith และมีการปรับแต่งอย่างครบถ้วนแบบนี้แล้ว นาฬิกา Daytona รุ่นนี้จึงกลายเป็น Daytona รุ่นแรกที่มีสิทธิใช้คำว่า Perpetual บนหน้าปัดเหมือนนาฬิกาออโตเมติครุ่นอื่นๆ ของ Rolex กับเขาเสียที

 

7.RolexCal4030

Rolex Cal4030

 

8.ZenithCal400

Zenith Cal400

 

นอกจากไส้ในที่ถูกปรับปรุงขนานใหญ่แล้ว รูปลักษณ์ภายนอกก็มีการปรับโฉมใหม่หมดแบบออลนิวด้วย  เริ่มจากการใช้กระจกแซฟไฟร์แทนแบบเพล็กซี่ (ถือเป็นการเปลี่ยนหลังรุ่นอื่นๆ ของ Rolex พอสมควร) และมีการปรับขนาดตัวเรือนจาก 36-37 มิลลิเมตรเป็น 40 มิลลิเมตร ที่ทำให้ Daytona รุ่นนี้มีลุคที่หล่อบึกบึนขึ้นอย่างมาก เมื่อประกอบกับการที่เป็นนาฬิกาจับเวลาแบบออโตเมติครุ่นแรกของ Rolex ก็เลยทำให้ Daytona รุ่นนี้สามารถใช้เป็นนาฬิกาประจำวันได้อย่างสบายๆ ทั้งมีหน้าตาสวยงาม ใส่แล้วหล่อ ขนาดแมนๆ ใหญ่เต็มข้อมือ แถม Rolex ก็บิ๊วท์สร้างกระแสต่อเนื่องได้ดี ทำให้มีกระแสตอบรับที่ดีมากตั้งแต่ก่อนเปิดตัว

 

9.16520FourLiner

หน้านี้บ้านเราเรียกรถสองแถว เอ้ย สี่แถว

 

แต่เนื่องจากเครื่องคาลิเบอร์ 4030 นี้ มีเบสมาจาก El Primero ของ Zenith ทำให้ตอนที่รุ่นนี้เปิดตัวแรกๆ และตลอดเวลาการผลิตก็มีประเด็นการนำส่งสินค้าล่าช้า ส่วนหนึ่งเพราะ Rolex ไม่ได้คุมสายการผลิตได้เด็ดขาดแต่ผู้เดียว เพราะต้องเอาเครื่องต้นทางจากคนอื่นมาปรับแต่งต่อยอด (ก่อนหน้านี้ที่ใช้เครื่อง Valjoux ไม่มีปัญหาแบบเดียวกัน เพราะเดิมไม่ได้เป็นที่นิยมแบบนี้ แถม Valjoux ก็ผลิตเครื่องเป็นอาชีพให้กับทั้งอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสอยู่แล้ว) เมื่ออุปสงค์มีมาก อุปทานมีไม่พอ ผสมกับการตลาดที่ฉลาด และระยะเวลาการปล่อยของที่ประจวบเหมาะ ส่งผลให้ “Zenith” Daytona กลายเป็น Rolex รุ่นแรกๆ ที่ของขาดตลาด มีคิวและเวสติ้งลิสท์ยาวนานเป็นปีๆ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บางตลาดเกิดนวัตกรรมการขายพ่วง หรือแบบบวกพรีเมี่ยม (คุ้นๆ กันมั้ย) ตอนพีคๆ ราคาซื้อขายเจ้า Zenith Daytona ในตลาด จึงสูงกว่าสองเท่าของลิสท์ไพร้ส์กันเลยทีเดียว

 

นี่ยังไม่ได้พูดถึงความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ของหน้าตานาฬิการุ่นนี้ ที่ไม่ว่า Rolex จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ อย่างเช่น หน้าบรรทัดกระโดด สี่แถว หกหัวกลับ ขอบหลายแบบ แถมมีหน้าแปลกๆ อย่างหน้ากระเบื้อง (Porcelain) หรือหน้าสีเสื่อมอย่างแพททริซีไดอัล (Patrizzi Dial) ที่ทำให้แฟนๆ ของ “Zenith” Daytona ได้สนุกสนานทั้งในการศึกษาเรียนรู้ และสะสมอย่างเมามันส์ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไม “Zenith” Daytona ถึงได้เข้าไปอยู่ในดวงใจของนักสะสมทั้งหลายได้อย่างไม่ยากเย็น

 

ไม่ต้องอะไรหรอก ปีที่แล้วผู้เขียนลองเดินดุ่มๆ เข้าไปในบูติค Rolex เพื่อไปขอลงชื่อจอง “Ceramic” Daytona สตีลรุ่นปัจจุบัน Ref. 116500 ผลคือโดนพนักงานขายหัวเราะใส่ 555 ก็พวกเราคนบ้านาฬิกา ก็เป็นกันแบบนี้แหละ ยิ่งของหายากยิ่ง ก็ยิ่งอยากได้ 555

 

10.16520Porcelain

อันนี้เรียกหน้ากะเบื้อง (Porcelain ที่ไม่ใช้กระเบื้องจริงๆ)

 

11.16520Patrizzi

หน้านี้เรียกหน้า Patrizzi เพื่อเป็นเกียรติแก่คุณ Osvaldo Patrizzi ผู้สังเกตปรากฎการณ์วงจับเวลาสีเสื่อมในรุ่นนี้ครับ

 

Rittidej