PVD vs. DLC

By Dr. Attawoot Papangkorn

 

ผมเชื่อว่าคอนาฬิกาหลายๆ ท่านเมื่อได้เล่นหรือสะสมนาฬิกามาระยะหนึ่ง ก็มักจะมองหาความแปลกใหม่เพื่อหลีกหนีความจำเจให้กับตัวเอง บางท่านที่มีกำลังทรัพย์เยอะหน่อยก็จะแสวงหาผู้ผลิตที่สามารถรังสรรค์นาฬิกาที่เป็นยูนีคพีซให้กับตัวเอง หรือบางท่านก็นำนาฬิกาเก่าเก็บมาปรับแต่งเสียใหม่เพื่อให้มีความพิเศษเฉพาะตัวหรือทำให้ดูร่วมยุคร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น และหนึ่งในวิธีการแต่งหน้าทาปากที่นิยมมาสักระยะหนึ่งแล้วและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือการรมดำหรือการเคลือบพีวีดีนั่นเอง แล้วไอ้เจ้าวิธีการรมดำหรือเคลือบพีวีดีให้กับนาฬิกาแสนรักมันคืออะไรกันแน่? วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังกันครับ

 

PVD i12

MAITRES du TEMPS Chapter Two TCR เคลือบพีวีดี

 

พีวีดี (PVD) มีชื่อเต็มว่า Physical Vapour Deposition เป็นเทคนิคการเคลือบพื้นผิววัตถุด้วยเตาสูญญากาศ มีลักษณะเป็นฟิล์มบางๆ เคลือบอยู่บนพื้นผิวของวัตถุ สามารถเคลือบได้บนหลากหลายพื้นผิวรวมไปถึงสตีลและไทเทเนียมซึ่งเป็นวัสดุตัวเรือนที่แบรนด์นาฬิกาส่วนใหญ่เลือกใช้ การเคลือบพีวีดีเป็นกระบวนการเคลือบที่ประกอบด้วยส่วนประกอบทางเคมี อาทิ ไทเทเนียมไนไตรด์ (TIN), ไทเทเนียมคาร์บอนไนไตรด์ (TiCN ), ไทเทเนียมอลูมิเนียมไนไตรด์ (TiAlN), ไนไตรด์เซอร์โคเนียม (ZrN), ซิลิคอนออกไซด์ (SIOX) เพื่อช่วยเพิ่มคุณสมบัติทางด้านความคงทน แข็งแรง และช่วยยืดอายุการใช้งานให้กับวัสดุที่ถูกเคลือบ ซึ่งจริงๆ แล้วกระบวนการเคลือบพีวีดีนั้นเกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษแล้ว และมีการนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมวัสดุทางการแพทย์ หรืออุตสาหกรรมรถยนต์

 

DLC i5

Rolex Submariner "Conqueror" Ref.14060 เคลือบดีแอลซี คัสโตไมซ์จำนวน 56 เรือน

  

DLC IMG 9269

ORIS BC4 Blue Eagles Limited Edition เคลือบดีแอลซี

 

อีกกระบวนการเคลือบพื้นผิววัตถุที่นิยมเป็นอย่างมากในวงการนาฬิการะยะหลังนั่นก็คือดีแอลซี (DLC หรือ Diamond-Like Carbon) เป็นการเคลือบพื้นผิวของวัตถุด้วยฟิล์มคาร์บอน ซึ่งมีคุณสมบัติความแข็งแกร่งคล้ายเพชร โดยเป็นการทำให้ชั้นฟิล์มเคลือบมีความแข็งแกร่งและทนทานต่อการขีดข่วนมากกว่าการเคลือบแบบพีวีดี ทำให้สามารถปกป้องรอยขีดข่วนได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีการหลุดร่อนและซีดจางของชั้นฟิล์มที่เคลือบเอาไว้ (ถ้าไม่ทำหล่น) ทำให้กระบวนการเคลือบแบบดีแอลซีมีค่าใช้จ่ายที่สูงและต้องใช้ระยะเวลาในการเคลือบที่นานกว่ากระบวนการเคลือบแบบพีวีดี

 

PVD i10

CORUM Bubble Night Flyer เคลือบพีวีดี ผลิตจำนวน 999 เรือน 

 

แต่ก็ใช่ว่านักสะสมที่ชื่นชอบการรมดำนาฬิกาจะชอบวิธีการเคลือบแบบดีแอลซีไปเสียหมด เพราะหลายๆ ท่านกลับรู้สึกว่าการเคลือบแบบพีวีดีนั้นมีเสน่ห์มากกว่า เป็นเสน่ห์ที่เกิดจากรอยขูดขีด เสน่ห์จากการจางของสารเคลือบ ตำหนิเหล่านี้คือประสบการณ์และเรื่องราวมากมายที่ถูกกระทำโดยผู้สวมใส่ คงปฏิเสธไม่ได้นะครับว่าคงไม่ใช่ทุกคนที่ชื่นชอบกางเกงยีนส์ที่ดูใหม่ตลอดเวลา แต่กลับชอบและนิยมกางเกงยีนส์ที่เก่าและขาดๆ ที่ตำแหน่งต่างๆ 

 IMG 8358

BELL & ROSS BR 03-92 Carbon เคลือบพีวีดี

 

ส่วนอีกหลายท่านก็หลงไหลและชื่นชอบการปรับแต่งนาฬิกาในลักษณะนี้ เพราะทำให้นาฬิกาเรือนเก่าในคอลเลคชั่นมีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยและแปลกตามากยิ่งขึ้น เหมือนปลุกสิ่งที่ถูกลืมให้กลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง แต่ในขณะที่บางท่านก็เห็นต่างโดยสิ้นเชิง คิดว่าการปรับแต่งเหล่านี้จะทำลายคุณค่าและตัวตนของนาฬิการุ่นนั้นๆ ไปเสียสิ้น คงอารมณ์คล้ายกับการที่นำ Porsche 993 ซึ่งถึอเป็นหนึ่งในรถคลาสสิคขึ้นหิ้งไปแล้วมาทำตัวถังกว้างแบบ RAUH-Welt BEGRIFF ซึ่งก็มีทั้งคนที่รักและเกลียดเข้าไส้เช่นกัน ฉะนั้นคงได้แต่บอกว่าสไตล์ใคร สไตล์มัน ไม่มีอะไรถูก และผิด เหตุและผลตั้งอยู่บนความพึงพอใจส่วนตัวของเจ้าของนาฬิกาล้วนๆ เพราะถ้าไม่เป็นที่ต้องการจริงๆ ผู้ผลิตนาฬิกาคงไม่ออกรุ่นแบล็คเอดิชั่นมาเต็มตลาดอย่างทุกวันนี้แน่นอนครับ

 

IMG 1263PANERAI Luminor Power Reserve PVD PAM00028 เคลือบพีวีดี