SURPRISES in SIHH 2018

 

จั่วหัวซะน่าตกใจเลยผม จริงๆ ก็ไม่ถึงขนาดน่าแปลกประหลาดใจอะไรขนาดนั้นนะครับ แต่ก็อยากจะแชร์เรื่องความพิเศษของผลงานนาฬิกาจากแบรนด์ต่างๆ ในปีนี้ ที่ถ้ามีคนถามผมว่า แล้วมีอะไรน่าสนใจกันมั่ง ก็นี่ก็คงเป็นคำตอบที่ผมพยายามนั่งนึกว่า เออ.. อะไรและแบรนด์อะไรกันบ้างน้า ที่ผมว่ามีความแปลกและความแตกต่างไปจากเดิมๆ ที่เคยมีกันมา

 

By: Dr. Pramote Rienjaroensuk

 

 

1. PANERAI Luminor Due 3 Days Automatic 38 mm

 

อันนี้ยอมรับจริงว่า Size does matter ครับ เพราะแต่ไหนแต่ไรมา Panerai ก็ยึดตัวเองอยู่กับภาพของนาฬิกาขนาดใหญ่ๆ มาโดยตลอด ถึงขนาดอดีตซีอีโอก็เคยตอบคำถามกับสื่อมาแล้วว่า Panerai (ในขณะนั้น) ไม่มีนโยบายจะทำนาฬิกาขนาดเล็กกว่า 40 mm.

 

PAM755 3

 

PAM755 6

 

PAM756 1

 

PAM756 2

 

แต่ยังไงก็ตาม ผมก็ยังเคยมีความหวังว่าวันหนึ่งจะได้เห็นนาฬิการุ่นงามๆ ขนาดเล็กลงบ้าง และวันนี้ก็คือวันนั้นแหละครับ พอหลังจากเห็นตัวจริง ลองจับ และลองสัมผัสดูทุกมุมมองแล้ว สิ่งที่รู้สึกได้เลยก็คือ ความประณีตและความสวยงามตามแบบฉบับ Panerai ที่ยังมีอยู่ครบถ้วน เพียงแต่มีขนาดที่เล็กลง และอย่างเคย Panerai ไม่ได้แจ้งไว้เลยว่านาฬิกาขนาดตัวเรือนนี้จะเป็นนาฬิกาสำหรับคุณสุภาพสตรี ซึ่งก็น่าจะมีความจริงอยู่หลายส่วนเลยทีเดียวว่านาฬิกาเรือนนี้ก็สามารถจะให้คุณสุภาพบุรุษสวมใส่ได้เช่นกัน ซึ่งหลังจากที่ผมเองลองวางอยู่บนข้อมือแล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีขนาดเล็กจนเกินไปจริงๆ เพราะจากความหนา (ที่บางแล้วสำหรับ Panerai) บวกกับขนาดตัวเรือน รวมกับชุดเม็ดมะยมของตัวเรือนแบบ Luminor ก็ทำให้นาฬิกาเรือนนี้ยังคงความบึกบึนได้เช่นเดิมเพียงแต่มีขนาดย่อมลง ซึ่งก็นี่แหละ คือสิ่งที่ต้องจับตามองกันต่อไปว่า ลูกค้าสุภาพบุรุษเดิมๆ ทั้งหลายนั้นจะยอมรับกับความเล็กลงของ Panerai ได้หรือไม่ และลูกค้าสุภาพบุรุษรุ่นใหม่ๆ จะชื่นชอบและยอมรับได้ดีแค่ไหน รวมไปถึงหน้าปัดสองสไตล์ที่ต่างก็โดดเด่นกันไปคนละแบบ พร้อมสายหนังสีพาสเทล (ซึ่งก็น่าจะมีสีและแบบให้เปลี่ยนกันได้แน่นอนในอนาคตอันใกล้) ซึ่งถ้าเป็นสำหรับคุณสุภาพสตรีแล้วล่ะก็ เรือนนี้โอกาสโดนมีสูงลิ่วแน่นอน แต่ยังไงทั้งหมดนี้ก็คงต้องติดตามกันตอนต่อไปนะคร้าบ

 

PAM903 3

 

PAM903 6

 

PAM908 1

 

PAM908 4

 

 

2. VACHERON CONSTANTIN FIFTYSIX Self-winding Stainless Steel

 

เซอร์ไพร้ส์ผมได้มากเลยสำหรับนาฬิการุ่นนี้ เพราะอย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าแต่ไหนแต่ไรมา แบรนด์ระดับสูงอย่าง VC ไม่น่าจะปล่อยนาฬิกาแนวเดรสตัวเรือนสตีลสู่ตลาดได้ง่ายๆ

 

Vacheron Constantin FIFTYSIX Date 3

 

Vacheron Constantin FiftySix Date 6

 

นาฬิการุ่นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากนาฬิกาปี 1956 (อันเป็นที่มาของชื่อรุ่น) ในเรเฟอร์เรนซ์ 6073 ที่นาฬิกาทรงกลมยังมีอิทธิพลสูงอยู่ในตลาด โดยนาฬิการุ่น FIFTYSIX นี้เปิดตัวมา 3 แบบพร้อมๆ กัน แต่รุ่นที่ผมให้ความสนใจที่สุดคงเป็นรุ่นออโตเมติก ที่ถือเป็นรุ่นเบสิกที่สุดในราคาค่าตัวที่ย่อมเยาที่สุดที่เหมาะกับช่วงเศรษฐกิจยุคนี้พอดี ก็เลยทำให้ผมต้องขุดคุ้ยที่ถึงที่มาและรายละเอียดของนาฬิกาเรือนนี้กันหน่อยว่าราคาย่อมเยาที่สุดนี้มาจากอะไรกันมั่ง จนได้ข้อสรุปสามประการดังนี้คือ 1) ใช้กลไกใหม่เอี่ยม คาลิเบอร์ 1326 ที่ผลิตมาจากโรงงาน ValFleurier ที่กลุ่ม Richemont เป็นเจ้าของอยู่ โดยเป็นกลไกที่ใช้ร่วมกันกับ Cartier และ Piaget 2) ด้วยการใช้กลไกเครื่องนี้จึงทำให้นาฬิการุ่นนี้ไม่มีตรา Geneva Seal อย่างที่ VC มักจะเป็น และ 3) การขัดแต่งในหลายจุดของแท่นกลไกนั้นใช้เครื่องทำแทนฝีมือช่างตามปกติที่เป็น ดังนั้นแล้วนาฬิการุ่นนี้จึงมีค่าตัวที่น่าจับตามองมากๆ (ต่ำกว่ารุ่น Oversea ที่หลายคนอาจคิดว่าน่าจะเป็นรุ่นที่น่าจะมีราคาต่ำที่สุดของแบรนด์) และอีกเช่นกัน คงต้องจับตาดูกันต่อไปนะคร้าบ

 

Vacheron Constantin FIFTYSIX Date 5

 

 

3. VACHERON CONSTANTIN Traditionnelle Complete Calendar Collection Excellence Platine

 

ออกจะมี Vacheron Constantin มากซะหน่อยในบทความนี้ที่ทำให้หัวสมองผมพุ่งปริ๊ดไปที่จุดที่น่าสนใจของแบรนด์และรุ่นเหล่านี้ได้ จริงๆ แล้วนาฬิการุ่นนี้เป็นรุ่นที่นำเสนอออกมาสำหรับ Pre-SIHH 2018 ที่หลายคนได้เคยเห็นมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ประเด็นที่ทำให้ผมให้ความสนใจกับนาฬิการุ่นนี้มากที่สุดก็ตรงที่คำพ่วงท้ายว่า Excellence Platine ซึ่งหมายถึงรุ่นที่ผลิตด้วยวัสดุแพลตินั่มที่แต่ไหนแต่ไรมาก็เน้นการออกแบบและผลิตออกมาในแนวนี้มาหลายรุ่นแล้ว โดยมักจะพ่วงเอาความพิเศษของการใช้วัสดุแพลตินั่มในการผลิตหน้าปัดด้วยอยู่เสมอ ซึ่งในระยะหลังก็อาจมีพ่วงชิ้นส่วนต่างๆ เพิ่มเติมเข้ามาอย่างเช่น Traditionnelle Complete Calendar Collection “Excellence Platine” รุ่นนี้ก็เติมชิ้นส่วนของแผ่นมูนเฟสที่ผลิตจากแพลตินั่มเข้ามานอกเหนือจากหน้าปัดแพลตินั่มลายแซนบลาสต์อันมีลักษณะและความโดดเด่นตามสไตล์ของ Vacheron Constantin อย่างครบถ้วน

 

4010t 000p b345 r 1623904 1S

 

4010t 000p b345 v2 1623913S

 

ส่วนเรื่องของรายละเอียดอื่นๆ ผมคงไม่ได้ลงลึกลงไปมากนอกเหนือไปกว่าคำชมเชยสำหรับความงดงามและรูปแบบของนาฬิกาแบบคอมพลีทคาเลนดาร์ที่สุดฮิตมาหลายยุคหลายสมัย แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกพิเศษสำหรับนาฬิการุ่นนี้ก็คือ ความพิเศษจากการที่อยู่ในคอลเลคชั่น Excellence Platine ที่ครั้งนี้พ่วงเอาวัสดุแพลตินั่มมาทำการร้อยและเย็บสำหรับตะเข็บของสายหนัง ใช่ครับ ด้ายแพลตินั่มสีเงินแวววาวบนสายหนังสีน้ำเงิน ซึ่งนี่น่าจะนับเป็นครั้งแรกๆ ในวงการนาฬิกาที่สายหนังก็ได้รับเกียรติการประดับด้วยวัสดุเลอค่าเช่นกัน 555 แต่อย่าถามนะครับ ว่าราคาสายหนังเท่าไหร่ถ้าเกิดต้องเปลี่ยนขึ้นมา!!!

 

4010t 000p b345 r2 1623907

 

 

4. BAUME & MERCIER Clifton Baumatic COSC Certified

 

คำพูดที่ว่าของถูกและดีมีอยู่เสมอ น่าจะใช้ได้ดีกับนาฬิการุ่นนี้ เพราะตั้งแต่ผมเห็นรายละเอียดของนาฬิการุ่นนี้จากข้อมูลของ Pre-SIHH 2018 แล้ว ก็ยอมรับจริงๆ ว่าไม่ได้ว้าวอะไรมากนัก.. แต่พอเห็นเรือนจริงเข้านี่สิ อืมม์.. น่าคิดทีเดียว

 

Clifton Baumatic 5

 

นาฬิการุ่นนี้เกิดจากแนวคิดอันหลากหลายของทีมบริหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ที่ว่าทำไม B&M ถึงไม่มีกลไกออโต้อินเฮ้าส์ของตัวเองซักที หรือปัญหาเรื่องการซ่อมบำรุงที่แม้จะมีรีเทิร์นเรทของนาฬิกาใหม่ที่ต่ำเพียง 4% ในตลาดแล้วก็ตาม แต่ทาง B&M ก็ยังพยายามมองหาทางแก้ไขให้ดีที่สุดโดยมีเงื่อนไขที่จะไม่ทำให้ตำแหน่งทางการตลาดของแบรนด์เปลี่ยนแปลงไป และสุดท้ายคำตอบก็ตกไปยังโรงงาน ValFleurier ที่ Richemont เป็นเจ้าของอยู่ ให้ช่วยจัดการและพัฒนากลไกเยี่ยมๆ ประสิทธิภาพสูงให้กับแบรนด์ จนมาเป็นคาลิเบอร์ BM12-1975A ที่ใช้อยู่ในนาฬิการุ่นนี้ โดยมีความโดดเด่นหลากหลายประการ ตั้งแต่เพาเวอร์รีเสิร์ฟ 120 ชั่วโมง การได้รับการรับรองประกาศนียบัตรโครโนมิเตอร์ การใช้ซิลิคอนแฮร์สปริง และ แวริเอเบิ้ล-อินเนอร์เชีย บาลานซ์วีล อันจะยิ่งเป็นการตอกย้ำความเที่ยงตรงแม่นยำและแก้ไขปัญหาของสนามแม่เหล็กซึ่งมีอยู่รอบตัวเราได้อย่างเด็ดขาด

 

และที่สำคัญที่สุดเลยก็คือทั้งหมดนี้อยู่ในราคาไม่เกินหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นห้าพันบาท (ตามราคาสวิสฟรังก์) อืมม์.. อันนี้สิน่าสนใจจริงๆ

 

Clifton Baumatic 1