CALIBRE 1887

 

ในปี 2002 ETA ได้ออกประกาศเขย่าวงการนาฬิกาโลกว่า จะลดและเลิกขายเครื่อง ETA ให้กับแบรนด์ต่างๆ นอกเครือ Swatch Group เว้นแต่ลูกค้าเก่าแก่รายใหญ่ๆ ตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นไป ประกาศในครั้งนั้นได้สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่ววงการจนทาง Swiss Commission for Competition ต้องเข้าไปเจรจาตกลงและขอให้เลื่อนเวลาออกไปจนถึงปี 2011 เพื่อให้แบรนด์ต่างๆ มีเวลาหายใจหายคอและเตรียมการกันบ้าง ด้วยการนี้หลายๆ แบรนด์ได้เลือกที่จะไปซื้อเครื่องเบสจากผู้ผลิตเครื่องรายอื่นๆ มาใช้ แต่บางแบรนด์กลับตัดสินใจสร้างเครื่องเบสสำหรับนาฬิกาไลน์ปกติของตนขึ้นมาด้วยตนเอง โดยเล็งเห็นว่านอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาความขาดแคลนเครื่องเบสแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าทั้งในด้านศักยภาพและการตลาดให้กับแบรนด์ของตนได้ด้วย และหนึ่งในนั้นก็คือ TAG Heuer ผู้ผลิตนาฬิกาจับเวลาที่มีเกียรติประวัติเป็นที่เลื่องลือนั่นเอง

 

Unknown 1Unknown

เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติโครโนกราฟ Calibre 1887 ที่ TAG Heuer ผลิตขึ้นด้วยตนเอง

 

เมื่อเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังด้านนาฬิกาจับเวลาอยู่แล้วจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เครื่องเบสแบบแรกซึ่งทาง TAG Heuer ได้พัฒนาและผลิตออกมาด้วยตนเองเพื่อใช้ในนาฬิกาไลน์ปกติจะเป็นเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติพร้อมฟังก์ชั่นจับเวลา เครื่องรุ่นนี้มีชื่อว่า Calibre 1887 ซึ่งก็เป็นตัวเลขของปีคริสตศักราชที่ Heuer ได้รับสิทธิบัตรนวัตกรรมสำหรับออสซิลเลทิง พิเนียน อันเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบจับเวลาของนาฬิกาทั่วไปมาจนถึงทุกวันนี้ เครื่อง 1887 นี้ นับเป็นเครื่องอินเฮ้าส์รุ่นที่ 5 ของแบรนด์ โดยได้เริ่มต้นดำเนินงานและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 4 ปี จนสำเร็จเสร็จสิ้นเปิดตัวออกสู่สายตาสาธารณชนในปี 2010 ด้วยการนำไปประจำการอยู่ในนาฬิกาจับเวลารุ่นใหม่ในไลน์ Carrera ด้วยชื่อที่เรียกขานว่า TAG Heuer Carrera Calibre 1887 Chronograph

เครื่อง 1887 ใช้กลไกจับเวลาแบบคอลัมน์วีล โดยมีออสซิลเลทิง พิเนียน ทำหน้าที่เชื่อมต่อชุดเกียร์ด้วยการเคลื่อนพิเนียนในทิศทางแนวนอนเพื่อเข้าสัมผัส เพื่อให้กลไกจับเวลาทำงานเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับกลไกการเดินของนาฬิกา อันเป็นงานการออกแบบและพัฒนาจากแบบดั้งเดิมที่ Edouard Heuer ได้ประดิษฐ์เอาไว้ โดยทำให้ออสซิลเลทิง พิเนียน มีขนาดเล็กลง จึงมีความทนทานและทำงานได้แม่นยำยิ่งขึ้น และสามารถจับเวลาได้โดยเฉียบพลันภายใน 2/1,000 วินาที เมื่อกดจับเวลา และมีระบบ HER ย่อมาจาก High Efficiency Rewinding ที่ลดการสูญเสียพลังงานในการส่งกำลังจากโรเตอร์ไปที่เมนสปริงได้ถึง 30% เมื่อเทียบกับกลไกทั่วไป และได้ผ่านการทดสอบต่างๆ กว่า 60 ขั้นตอน อาทิ ความเที่ยงตรง ความเสถียรในการทำงาน ความทนทานต่อการสั่นสะเทือนและต่อสารเคมีต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ชิ้นส่วนหลักของเครื่อง อาทิ เมนเพลท และบริดจ์ จะถูกผลิตขึ้นที่โรงงานในแถบเทือกเขาจูรา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งจัดเป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง ส่วนชิ้นส่วนอื่นๆ จะทำในโรงงาน T1 Assembly ที่ ลาโชซ์-เดอ-ฟงด์ส

เครื่องขึ้นลานอัตโนมัติ 1887 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 29.3 มิลลิเมตร หนา 7.13 มิลลิเมตร ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนทั้งหมด 320 ชิ้น มีความถี่ในการเดินอยู่ที่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง สามารถสำรองพลังงานได้ 40 ชั่วโมง หากใช้งานฟังก์ชั่นจับเวลา และ 50 ชั่วโมงในการเดินบอกเวลาปกติ และยังมีการขัดแต่งลายโค๊ตเดอเฌอแนฟและลายก้นหอย ร่วมกับการลบเหลี่ยมมุมด้วยกระบวนการไดมอนด์โพลิชิ่งด้วยเพื่อความงดงามทางสายตา

 

Unknown 2

TAG Heuer Carrera Calibre 1887 Chronograph มาในรูปแบบที่เรียบง่ายดูคลาสสิกตามสไตล์ของ Carrera ตัวเรือนมีขนาด 41 มิลลิเมตร ที่ดูจะมีความเพรียวบางกว่ารุ่นก่อนๆ ทำจากวัสดุสเตนเลสสตีล หน้าปัดมีให้เลือก 2 สี คือ สีเงินและสีดำที่วางรายละเอียดอย่างเรียบง่ายให้สามารถอ่านค่าได้อย่างชัดเจน บ่งบอกความเป็น CAL. 1887 ด้วยข้อความในวงวินาทีเล็ก ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกา หน้าต่างแสดงวันที่อยู่ที่ 6 นาฬิกา มีสเกลทาคีมิเตอร์อยู่บนขอบตัวเรือนด้านใน เม็ดมะยมและปุ่มกดจับเวลาขัดเงา สามารถกันน้ำได้ที่ความลึก 100 เมตร ฝาหลังใสมองเห็นความงดงามในการขัดแต่งและการทำงานของเครื่อง นาฬิการุ่นนี้มาพร้อมทางเลือกของสายนาฬิกาแบบสเตนเลสสตีลปัดลายสลับขัดเงาหรือสายหนังจระเข้สีดำ

 

Pramote Rienjaroensuk