SIHH 2012 - History & Innovation of PANERAI

 

OFFICINE PANERAI เป็นอีกแบรนด์ที่มีแฟนๆ เฝ้ารอดูคอลเลคชั่นใหม่ในแต่ละปีกันอย่างจริงจัง และสำหรับงาน SIHH 2012 ที่ผ่านมาเมื่อกลางเดือนมกราคม ทางแบรนด์ก็ได้คลอดคอลเลคชั่นใหม่ประจำปีออกมาให้เห็นกันเรียบร้อยทั้งในไลน์ Luminor และ Radiomir และอย่างที่แฟนๆ รู้กันดีว่าทุกวันนี้ PANERAI มุ่งมั่นในการพัฒนาเครื่องอินเฮ้าส์ขึ้นมาใช้กับนาฬิกาของตนเอง พร้อมๆ กันการค้นคว้าทางด้านวัสดุศาสตร์อย่างทุ่มเทเพื่อหาวัสดุนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ทำตัวเรือนของตน ดังนั้นคอลเลคชั่นใหม่ของปี 2012 ส่วนใหญ่จึงมากับเครื่องอินเฮ้าส์ในตัวเรือนที่นอกจากสตีลซึ่งใช้มาตั้งแต่สมัยดั้งเดิมกับเซรามิกสังเคราะห์ชนิดพิเศษที่เริ่มนำมาใช้หลายปีแล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่มีการนำวัสดุเร้ดโกลด์ 18k มาใช้ทำตัวเรือนของนาฬิกา Panerai ด้วย มาดูรายละเอียดคร่าวๆ ของแต่ละรุ่นกันเลยดีกว่าครับ

 

 

PAM00438: TUTTONERO LUMINOR 1950 3 DAYS GMT AUTOMATIC CERAMICA – 44MM

UnknownPAM00438

PAM00438 ที่เห็นอยู่นี้มากับตัวเรือน Luminor 1950 ในวัสดุเซรามิกสีดำด้านขนาด 44 มิลลิเมตร กันน้ำได้ 100 เมตร พร้อมสายเซรามิกสีดำด้านที่มากับบัคเกิ้ลสตีลทำพีวีดีดำ กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์หนา 2.3 มิลลิเมตร เคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน หน้าปัดแซนด์วิชสีดำ เดินด้วยเครื่องขึ้นลานอัตโนมัติอินเฮ้าส์กำลังสำรอง 3 วัน Calibre P.9001/B 29 จิวเวล ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วน 229 ชิ้น ทำงานที่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง บาร์เรลคู่ ที่มากับฟังก์ชั่นบอกเวลาไทม์โซนที่ 2 พร้อมหน้าต่างบอกวันที่และเข็มวินาทีเล็ก ฝาหลังแซฟไฟร์คริสตัลมองเห็นเครื่องที่ผ่านกระบวนการทำให้เป็นสีดำเพื่อให้ได้ลุคที่ดูดำเข้มข้นทั้งเรือนให้สมกับที่สลักไว้บนฝาหลังว่า “TUTTONERO” พร้อมมาตรกำลังสำรอง

  

 

PAM00441: LUMINOR 1950 3 DAYS GMT AUTOMATIC CERAMICA – 44MM

Unknown 1PAM00441

PAM00441 คู่แฝดกับ PAM00438 รายละเอียดส่วนใหญ่เหมือนกัน ต่างกันตรงที่รหัส Calibre เป็น P.9001 เฉยๆ ไม่มี /B เพราะไม่ได้ทำเครื่องให้เป็นสีดำ ฝาหลังเป็นแซฟไฟร์คริสตัลรมดำ และใช้สายหนังที่มากับบัคเกิ้ลไทเทเนียมเคลือบพีวีดีดำ

  

 

PAM00396: LUMINOR 1950 TOURBILLON GMT CERAMICA – 48MM

Unknown 2 PAM00396

PAM00396 รุ่นนี้มากับกลไกไขลานอินเฮ้าส์ตูร์บิยอง 30 วินาที กำลังสำรอง 6 วัน Calibre P.2005/B พร้อมฟังก์ชั่นบอกเวลาไทม์โซนที่ 2 ซึ่งมีบาร์เรลถึง 3 ตัวด้วยกัน ประกอบจากชิ้นส่วน 239 ชิ้น 31 จิวเวล ทำงานที่ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง บรรจุเอาไว้ในตัวเรือน Luminor 1950 ขนาด 48 มิลลิเมตรที่ทำจากเซรามิกสีดำด้าน กันน้ำได้ 100 เมตร กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์หนา 2 มิลลิเมตร เคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน หน้าปัดแซนด์วิชสีดำ บอกเวลา 24 ชั่วโมงด้วยเข็มบนหน้าปัดย่อยที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา มีหน้าปัดย่อยบอกการทำงานของตูร์บิยองด้วยเข็มที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกาซึ่งจะหมุนครบ 1 รอบในเวลา 30 วินาที ฝาหลังไทเทเนียมทำพีวีดีกรุช่องหน้าต่างแซฟไฟร์คริสตัลเพื่อให้เห็นเครื่องเวอร์ชั่น /B ที่นำไปผ่านกรรมวิธีให้เป็นสีดำ บริดจ์สเกเลตัน และมาตรบอกกำลังสำรอง มาคู่กับสายหนังพร้อมบัคเกิ้ลสตีลทำพีวีดีดำ

  

 

PAM00395: RADIOMIR 8 DAYS GMT ORO ROSSO – 45MM

Unknown 3PAM00395

PAM00395 มาในตัวเรือน Radiomir ขนาด 45 มิลลิเมตร กันน้ำได้ 50 เมตร ที่ทำจากวัสดุเร้ดโกลด์ขัดเงา 5NPt ซึ่งผสมคอปเปอร์ 24.1% เพื่อความงดงามของสีแบบเฉพาะตัว และแพลตินั่ม 0.4% เพื่อกันการออกซิไดซ์ของโลหะ เม็ดมะยมขันเกลียว กระจกหน้าปัดเป็นแซฟไฟร์เคลือบสารกันแสงสะท้อนหนา 1.2 มิลลิเมตร หน้าปัดแซนด์วิชสีน้ำตาลเข้มลายซันเรย์ขัดซาติน เดินด้วยเครื่องอินเฮ้าส์ P.2002/10 กำลังสำรอง 8 วัน 3 บาร์เรล 21 จิวเวล 246 ชิ้นส่วน ทำงานที่ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง ที่ใช้บริดจ์และบาร์เรลทำสเกเลตันซึ่งทำให้มองเห็นวีลสีทองที่ดูแมตช์กับตัวเรือนได้ผ่านทางฝาหลังแซฟไฟร์คริสตัล รวมถึงบริดจ์ที่ขัดแต่งลายเซอร์คูลาเกรนด้วยมืออย่างงดงาม บอกเวลาไทม์โซนที่ 2 ด้วยเข็มกลาง บอกวันที่ในช่องหน้าต่างที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา บอกวินาทีและเวลา 24 ชั่วโมงบนหน้าปัดย่อยที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา และบอกกำลังสำรองด้วยมาตรวัดที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา มาคู่กับสายหนังจระเข้สีน้ำตาลพร้อมบัคเกิ้ลเร้ดโกลด์ขัดเงา

  

 

PAM00399: RADIOMIR 1940 – 47MM Special Edition 
PAM00398: RADIOMIR 1940 ORO ROSSO – 47 MM Special Edition

Unknown 4PAM00399

Unknown 5PAM00398

PAM00399 กับ PAM00398 ที่เห็นอยู่นี้เป็นสเปเชี่ยลเอดิชั่นที่มากับตัวเรือนรุ่นพิเศษซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก PANERAI วินเทจยุคทศวรรษที่ 1940 และถูกนำมาใช้ใน 2 รุ่นนี้เป็นครั้งแรก มีขนาดตัวเรือนอยู่ที่ 47 มิลลิเมตร กันน้ำได้ 30 เมตร ขาตัวเรือนเป็นบล็อกเดียวกับตัวเรือน ใช้กระจกหน้าปัดเพล็กซิกลาสหนา 3 มิลลิเมตร และเม็ดมะยมขันเกลียวทรงกระบอก อันเป็นลักษณะเดียวกับ Radiomir วินเทจยุค 1940 ที่นำมาเป็นต้นแบบ PAM00399 จะเป็นตัวเรือนสตีลขัดเงา หน้าปัดแซนด์วิชดำสวมใส่คู่กับสายหนังสีน้ำตาลพร้อมบัคเกิ้ลสตีลขัดเงาขนาดใหญ่ ส่วน PAM00398 จะเป็นตัวเรือนเร้ดโกลด์ 5NPt หน้าปัดแซนด์วิชสีน้ำตาลสวมใส่คู่กับสายหนังจระเข้สีน้ำตาลพร้อมบัคเกิ้ลเร้ดโกลด์ขัดเงา มีหน้าปัดวินาทีเล็กที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา ฝาหลังกรุแซฟไฟร์คริสตัลให้มองเห็นเครื่องไขลาน Calibre OP XXVII 18 จิวเวล กำลังสำรอง 55 ชั่วโมง ทำงานที่ความถี่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง ที่พัฒนาจากพื้นฐานของเครื่อง Minerva 16-17 ผลิตในจำนวนจำกัดรุ่นละ 100 เรือน โดยมี 50 ชุดที่ทำเป็นกล่องพิเศษบรรจุทั้ง 2 รุ่นหมายเลขตัวเรือนเดียวกัน (1-50) เอาไว้ด้วยกันเพื่อขายเป็นคู่ให้กับแฟนตัวจริงด้วย

 

Unknown 6Unknown 7

 

VINTAGE PANERAI RADIOMIR จากทศวรรษที่ 1940 ซึ่งเป็นที่มาแห่งแรงบันดาลใจ ของ PAM00399 และ PAM00398

 

 

PAM00422: LUMINOR MARINA 1950 3 DAYS – 47MM 
PAM00423: LUMINOR 1950 3 DAYS POWER RESERVE – 47MM

Unknown 8 PAM00422  

Unknown 9PAM00423

PAM00422 กับ PAM00423 ที่เห็นอยู่นี้ได้ถ่ายทอดดีไซน์แบบวินเทจและคุณสมบัติอันยอดเยี่ยมแห่งงานวินเทจของ PANERAI ในยุค 1940 ที่ทำให้ PANERAI มีเอกลักษณ์โดดเด่นและแตกต่างเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม โดยนำมาบรรจุไว้ในตัวเรือนสตีลของ Luminor 1950 ขนาด 47 มิลลิเมตร กันน้ำลึก 100 เมตร ได้อย่างคลาสสิกลงตัวโดยใช้หน้าปัดแซนด์วิชสีดำ กระจกแซฟไฟร์คริสตัลหนา 3 มิลลิเมตรเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน มีหน้าปัดวินาทีเล็กอยู่ที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา ใช้ตัวเลขและแท่งชั่วโมงขนาดใหญ่ ทำงานด้วยเครื่องไขลานอินเฮ้าส์ Calibre P.3001 ใน PAM00422 และใช้ Calibre P.3002 ใน PAM00423 ซึ่งแตกต่างกันตรงที่ 423 จะมีมาตรกำลังสำรองอยู่บนหน้าปัดที่ตำแหน่ง 4 นาฬิกา ส่วนใน 422 จะดูได้จากมาตรบนบริดจ์บนด้านหลังตัวเรือน ฝาหลังกรุแซฟไฟร์คริสตัล ทำงานที่ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง 21 จิวเวล (P.3001 ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วน 207 ชิ้น ส่วน P.3002 มีชิ้นส่วน 208 ชิ้น) กำลังสำรอง 3 วัน บาร์เรลคู่ สวมใส่คู่กับสายหนังพร้อมบัคเกิ้ลสตีลขนาดใหญ่

 

 

PAM00424: RADIOMIR CALIFORNIA 3 DAYS – 47MM 
PAM00425: RADIOMIR S.L.C. 3 DAYS - 47MM

Unknown 10PAM00424 

Unknown 11PAM00425 

PAM00424 กับ PAM00425 เป็นรุ่นที่่ออกมาเพื่อรำลึกถึงพื้นฐานดั้งเดิมในยุคเริ่มต้นแห่งประวัติศาสตร์ของ PANERAI โดยเฉพาะ กับคาแรกเตอร์ที่สืบสันดานมาตรงๆ จากนาฬิกาต้นแบบที่ PANERAI รังสรรค์ขึ้นเมื่อปี 1936 เพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับราชนาวีอิตาเลียน นาฬิกา 2 รุ่นนี้ มาในตัวเรือนสตีลทรงคัชชั่นขนาด 47 มิลลิเมตร ขายึดสายเพรียวบาง กันน้ำได้ 100 เมตร เม็ดมะยมทรงกรวยแบบขันเกลียว รูปแบบหน้าปัดสุดเรียบง่ายพื้นสีดำอ่านค่าได้ชัดเจนแม่นยำ โดยสิ่งที่แตกต่างกันระหว่าง PAM00424 กับ PAM00425 นั้นอยู่ที่รูปแบบดีไซน์ของหน้าปัดนั่นเอง โดย PAM00424 จะมากับรูปแบบหน้าปัดดั้งเดิมซึ่งเป็นแบบแรกที่นำมาใช้กับ Radiomir ซึ่งเป็นการผสมผสานหลักชั่วโมงเลขอารบิกเข้ากับเลขโรมันพร้อมโลโก้ OP พร้อมสลักข้อความ “CALIFORNIA” ไว้บนขอบตัวเรือนด้านในที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา มีหน้าต่างบอกวันที่ที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา ส่วน PAM00425 ก็มากับหน้าปัดแบบดั้งเดิมอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเคยถูกใช้ในนาฬิกา PANERAI สมัยปลายยุคทศวรรษที่ 1930 ที่เป็นแบบมินิมัลลิสต์สุดๆ ด้วยการผสมผสานหลักชั่วโมงแบบแท่งและจุด ในโครงสร้างแบบแซนด์วิช ส่วนชื่อ S.L.C. ที่อยู่ในชื่อรุ่นด้วยนั้น มาจาก “Siluro a Lento Corsa” ซึ่งเป็นชื่อของสโลว์สปีดตอร์ปิโดที่หน่วยคอมมานโดของราชนาวีอิตาเลียนใช้ขี่ในการปฏิบัติการใต้น้ำพร้อมกับนาฬิกาและอุปกรณ์ของ PANERAI เมื่อครั้งอดีต มีรูปตอร์ปิโดอยู่บนหน้าปัดเหนือตำแหน่ง 6 นาฬิกา พร้อมสลักข้อความ “S.L.C.” ไว้บนขอบตัวเรือนด้านในที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ทั้งคู่ใช้เครื่องไขลานอินเฮ้าส์ Calibre P.3000 บาร์เรลคู่ กำลังสำรอง 3 วัน 21 จิวเวล (เครื่อง P.3000 ที่ใช้ใน PAM00424 มีชิ้นส่วน 162 ชิ้น ส่วนใน PAM00425 จะมี 160 ชิ้น) ทำงานที่ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง ซึ่งมองเห็นได้ผ่านทางฝาหลังแซฟไฟร์คริสตัล กระจกหน้าปัดเป็นแซฟไฟร์คริสตัลทรงโค้งหนา 2.8 มิลลิเมตร เคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน สวมใส่คู่กับสายหนังสีน้ำตาลพร้อมบัคเกิ้ลสตีลขนาดใหญ่ในรูปแบบเดียวกับในอดีต 

 

Unknown 12Unknown 13

 

VINTAGE PANERAI RADIOMIR จากปี 1936 ที่เป็นต้นแบบของ PAM00424 และ PAM00448

 

 

PAM00448: RADIOMIR CALIFORNIA 3 DAYS – 47MM Special Edition 
PAM00449: RADIOMIR S.L.C. 3 DAYS – 47MM Special Edition

Unknown 14 PAM00448  

Unknown 15PAM00449

แถมท้ายด้วย Special Edition 2 รุ่น กับ PAM00448: RADIOMIR CALIFORNIA 3 DAYS – 47MM Special Edition และ PAM00449: RADIOMIR S.L.C. 3 DAYS – 47MM Special Edition ที่ทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับแฟน PANERAI ตัวจริงที่อินกับประวัติศาสตร์ของแบรนด์อย่างจริงจัง โดยจะผลิตในจำนวนจำกัดที่ 500 เรือนในแต่ละรุ่น รายละเอียดต่างๆ ทางเทคนิคและรูปลักษณ์ยังคงเหมือนกับ PAM00424 และ PAM00425 ที่ได้พูดถึงไปแล้ว แต่จะใช้กระจกหน้าปัดที่ทำจากเพล็กซิกลาสหนา 2.8 มิลลิเมตร แทนแซฟไฟร์คริสตัลที่ใช้ใน 424 และ 425 (ส่วนตัวดั้งเดิมที่ผลิตให้กับราชนาวีอิตาเลียนใช้ในยุคปลายทศวรรษที่ 1930 นั้น จะทำจากโพลีเมทิล เมทาไครเลท) ในรุ่น 448 จะไม่มีโลโก้ OP บนหน้าปัด และในรุ่น 449 ก็ไม่มีรูปตอร์ปิโดบนหน้าปัดเช่นกัน อีกจุดที่พิเศษก็คือ จะมีคำว่า “VINTAGE” สลักอยู่ที่ด้านข้างของขอบตัวเรือน ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา

 

By: Viracharn T.