SIHH 2012 - New pieces & Innovations from RICHARD MILLE

 

เป็นเรื่องปกติของ RICHARD MILLE แบรนด์นาฬิกาเจ้านวัตกรรมที่จะนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ แห่งศาสตร์การประดิษฐ์นาฬิกาพร้อมๆ กับนาฬิการุ่นใหม่ๆ ของตนทุกปี ด้วยพลังอันล้นเหลือทางด้านความคิดสร้างสรรค์และความทุ่มเทอย่างจริงจัง และในปีนี้ RICHARD MILLE ก็มีดีมาอวดพร้อมๆ กันในหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาเครื่อง เช่น กลไกอัตโนมัติรุ่นใหม่ที่มาพร้อมฟังก์ชั่นแสดงวันที่ขนาดใหญ่และใช้เม็ดมะยมแบบใหม่ซึ่งติดตั้งลงบนตัวเรือนแทนที่จะต่อก้านเข้ากับกลไกโดยตรงเหมือนกลไกทั่วไป กลไกตูร์บิยองโครโนกราฟพร้อมฟังก์ชั่นสปลิทเซ็กเกินด์เวอร์ชั่นลดน้ำหนักจนเหลือเพียง 9.5 กรัม จากการใช้เบสเพลทและบริดจ์แกะสเกเลตันที่ทำด้วยไทเทเนียม เกรด 5 หรือจะเป็นด้านวัสดุตัวเรือน ก็มีการนำคาร์บอนนาโนทูบส์ ซึ่งมีความแข็งแกร่งกว่าสตีลถึง 200 เท่าและมีน้ำหนักที่เบามากๆ มาฉีดผสมเข้ากับแบล็คโพลีเมอร์คอมโพสิต และการนำโซลิดแซฟไฟร์มาแกะทำตัวเรือนเป็นครั้งแรกของวงการ และงานนาฬิกาเสริมเกราะไทเทเนียมคาร์ไบน์ที่ด้านบนของตัวเรือนสำหรับใส่เล่นโปโล ส่วนงานด้านวิจิตรศิลป์ก็มีมาอวดด้วยงานเบสเพลทกับบริดจ์รูปหัวกะโหลก และงานสลักมังกรทองอันงดงาม เชิญติดตามภาพกับรายละเอียดของแต่ละรุ่นได้เลยครับ

 

RM 037

 

20120227 883450120120227 36463647

 

RM 037 เป็นรหัสนาฬิกาที่ RICHARD MILLE นำเครื่องอัตโนมัติรุ่นใหม่ Calibre CRMA1 ทำงานด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง 25 จิวเวล กำลังสำรอง 50 ชั่วโมง มาประจำการ กลไกใหม่นี้ถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยวัสดุไทเทเนียมเกรด 5 ในโครงสร้างแบบสเกเลตัน โดยวางตำแหน่งให้แสดงวันที่ขนาดใหญ่ด้วยดิสก์ตัวเลขสเกเลตัน 2 ชุดที่ 12 นาฬิกา และติดตั้งด้วยเม็ดมะยมแบบใหม่ซึ่งได้จดสิทธิบัตรเอาไว้แล้ว โดยจะไม่ได้เป็นการติดตั้งโดยต่อก้านตรงเข้าไปในกลไกเหมือนระบบทั่วไปที่ใช้กันซึ่งอาจทำให้กลไกภายในเกิดความเสียหายได้หากเม็ดมะยมโดยกระแทกอย่างรุนแรง แต่ใช้วิธีการติดตั้งเม็ดมะยมพร้อมโอริง 2 ชั้นกับตัวเรือนแทน โดยวัสดุของเม็ดมะยมจะเป็นวัสดุเดียวกับตัวเรือนที่ใช้ซึ่งมีทั้งไทเทเนียมเกรด 5 ขัดเงา เร้ดโกลด์ หรือไวท์โกลด์ และห่อหุ้มโดยรอบด้วย Alcryn ด้านข้างตัวเรือนจะมีปุ่มกดสั่งการฟังก์ชั่น 2 ปุ่ม โดยปุ่มที่ตำแหน่ง 4 นาฬิกา จะใช้กดเลือกว่าจะใช้งานเม็ดมะยมในฟังก์ชั่นใด ระหว่างขึ้นลาน (W) ปกติ (N) หรือตั้งเวลา (H) ซึ่งตัวย่อ W,N หรือ H จะปรากฎอยู่ในหน้าต่างแสดงฟังก์ชั่น ณ ตำแหน่ง 4 นาฬิกาเพื่อแสดงว่า ณ ขณะนี้อยู่ที่ฟังก์ชั่นใด ส่วนปุ่มกดที่ตำแหน่ง 10 นาฬิกา จะเป็นการกดเพื่อปรับวันที่ไปข้างหน้าซึ่งสะดวกในการใช้งานเป็นอย่างยิ่ง

 

20120227 5100819620120227 83670629

 

ตัวเรือนขนาด 52.2 x 34.4 มิลลิเมตรของ RM 037 นี้มีวัสดุให้เลือกระหว่างไทเทเนียม เร้ดโกลด์ หรือไวท์โกลด์ ถูกยึดเข้าด้วยกันด้วยสกรูว์ไทเทเนียมเกรด 5 จำนวน 20 ตัว ขอบหน้าปัดทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ แต้มสารเรืองแสงบนหลักชั่วโมง หน้าปัดทำจากแซฟไฟร์หนา 0.8 มิลลิเมตร เคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้าน สลักหลักชั่วโมงโรมัน ตัวอักษร และขอบหน้าต่างบอกวันที่กับฟังก์ชั่น ด้วยเลเซอร์ กระจกหน้าปัดและฝาหลังเป็นแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้าน

  

 

RM 050 FELIPE MASSA

 

Unknown

 

ซีรี่ส์ภาคต่อของนาฬิกาในเวอร์ชั่นที่มีชื่อของนักแข่งรถเอฟวันคนดัง Felipe Massa ต่อท้ายรุ่นนี้ มาในภาคของนาฬิกาไขลานจักรกลตูร์บิยองที่พกเอาฟังก์ชั่นสปลิตเซ็กเกินด์โครโนกราฟติดเครื่องมาด้วยซึ่งเป็นเครื่องรุ่นใหม่ที่มีชื่อว่า Calibre RMCC1 และยังมีฟังก์ชั่นบอกกำลังสำรอง บอกแรงบิด และบอกฟังก์ชั่นที่ใช้ให้ทราบอีกต่างหาก โดยยึดเอางานมาสเตอร์พีซอย่าง Calibre RM 008 ซึ่งเป็นกลไกไขลานตูร์บิยองพร้อมฟังก์ชั่นสปลิตเซ็กเกินด์โครโนกราฟของนาฬิการุ่น RM 008 ที่ออกมาเมื่อ 8 ปีก่อน (ปี 2004) มาเป็นต้นแบบในการต่อยอดเพิ่มพูนคุณลักษณะของนาฬิการุ่นใหม่นี้ ด้วยการลดน้ำหนักเครื่องลงจากเครื่อง RM 008 อีก 10 กรัมหรือเท่ากับ 20% และทำให้เครื่อง RMCC1 นี้มีน้ำหนักทั้งหมดเพียง 9.5 กรัมเท่านั้นจากการใช้เบสเพลทและบริดจ์ที่ทำด้วยไทเทเนียม เกรด 5 เช่นเดียวกับที่ใช้กันอุตสาหกรรมอากาศยาน อวกาศยาน และรถยนต์ชั้นสูง เท่านั้นยังไม่พอยังนำมาทำสเกเลตันอีกต่างหาก อีกทั้งยังได้พัฒนาระบบสปลิตเซ็กเกินด์ให้ลดการใช้พลังงานลงราว 50% จากที่เคยด้วยการทำให้เข็มวินาทีจับเวลาทำงานแบบจั๊มปิ้งเพื่อลดแรงเสียดทานบนแกนหมุน ส่วนดิสเพลย์เข็มที่บอกแรงบิดนั้นมีขึ้นเพื่อให้ผู้ใช้สามารถรู้ถึงค่าความเครียดของเมนสปริงซึ่งหากมีค่าต่ำกว่า 53 dNmm ก็จะหย่อนเกินไป ในขณะที่หากสูงกว่า 65 dNmm ก็จะมีค่าตึงเกินไปซึ่งจะมีผลต่อการทำงานและทำให้กลไกเสียหายได้ กลไกนี้มี 35 จิวเวล ทำงานที่ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง และมีกำลังสำรอง 70 ชั่วโมง ส่วนเข็มแสดงฟังก์ชั่นซึ่งแสดง ณ ตำแหน่ง 4 นาฬิกา จะทำให้ทราบว่าจังหวะของเม็ดมะยม ณ ขณะนี้อยู่ที่ตำแหน่งใด W เพื่อไขลาน N จังหวะว่างปกติ หรือ H เพื่อตั้งเวลา

 

Unknown 1Unknown 2

 

ในส่วนของตัวเรือนขนาด 50 x 42.7 มิลลิเมตรที่ใช้นั้นถูกทำขึ้นจากวัสดุแบล็คโพลิเมอร์คอมโพสิตที่ผสมด้วยคาร์บอนนาโนทูบส์ ซึ่งคาร์บอนนาโนทูบส์ที่ฉีดผสมเข้าไปนี้มีความแข็งแกร่งกว่าสตีลถึง 200 เท่าและมีน้ำหนักที่เบามากๆ ซึ่งจะดูดซับแรงกระแทกได้ดีกว่าคาร์บอนไฟเบอร์ ตัวเรือนถูกยึดเข้าด้วยกันด้วยสกรูว์ไทเทเนียมเกรด 5 จำนวน 20 ตัว สั่งการระบบโครโนกราฟด้วยปุ่มกด 3 ปุ่มด้านข้างตัวเรือน โดยปุ่มที่ 8 นาฬิกาจะเป็นการสั่งหยุดและเริ่มจับเวลา ปุ่มที่ 10 นาฬิกาเป็นปุ่มรีเซ็ต และปุ่มที่ 4 นาฬิกา เป็นปุ่มสำหรับฟังก์ชั่นสปลิตเซ็กเกินด์ใช้กดเพื่อหยุดอ่านค่าและกดอีกครั้งให้กลับไปทำงานร่วมกับโครโนกราฟต่อไป แผ่นหน้าปัดเป็นแซฟไฟร์ใสหนา 0.4 มิลลิเมตร เคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้าน วางขอบหน้าปัดด้านบนด้วยกรอบไทเทเนียมเคลือบดีแอลซีที่พิมพ์สเกลทาคีมิเตอร์ลงไปพร้อมติดตั้งหลักชั่วโมงแต้มสารเรืองแสง กระจกหน้าปัดและฝาหลังเป็นแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้าน นาฬิการุ่นนี้ถูกผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดเพียง 10 เรือนเท่านั้น 

  

 

RM 056 FELIPE MASSA SAPPHIRE

 

Unknown 3Unknown 4

 

RM 056 FELIPE MASSA SAPPHIRE เป็นเวอร์ชั่นภาคต่อขยายของ RM 050 FELIPE MASSA โดยจะมีรูปแบบดีไซน์ของตัวเรือนและเทคนิคของโครงสร้างกับกลไกรวมถึงการแสดงผลที่เหมือนกันเป๊ะๆ แต่จะมาในวัสดุตัวเรือนที่ตัดและขึ้นรูปจากก้อนแซฟไฟร์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวเรือนด้านหน้า ตัวเรือนส่วนกลาง และฝาหลัง ซึ่งนำมาประกอบเข้าด้วยกันด้วยสกรูว์ไทเทเนียมเกรด 5 จำนวน 20 ตัว ถือเป็นครั้งแรกในวงการนาฬิกาที่นำวัสดุชนิดนี้มาใช้ทำตัวเรือนทั้งหมด โดยทาง RICHARD MILLE ได้ใช้เวลาหลายปีในการค้นคว้าและทดสอบเพื่อให้มีความแข็งแรงเพียงพอบนน้ำหนักตัวที่เหมาะสมที่สุด จึงเชื่อมั่นได้ว่านาฬิการุ่นนี้จะมีความแข็งแกร่งและทนต่อการขีดข่วนในระดับสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

 

Unknown 5Unknown 6

 

กว่าจะได้ตัวเรือนของ RM 056 FELIPE MASSA SAPPHIRE ออกมาชิ้นหนึ่ง ทีมงานของ RICHARD MILLE จะต้องใช้เวลามากกว่า 1,000 ชั่วโมงทำงานกันอย่างไร้ข้อผิดพลาดใดๆ กันเลย ตั้งแต่ขึ้นตอนขึ้นรูป ขัดและแต่งด้วยเครื่องมือพิเศษหัวเพชร จนถึงนำส่วนที่เป็นตัวเรือนด้านหน้าและฝาหลังมาเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้าน โดยทั้ง 2 ชิ้นจะมีความหนาถึง 2.5 มิลลิเมตรซึ่งหนากว่ากระจกหน้าปัดกับฝาหลังของ RM 050 อยู่มากพอดู ตัวเรือนสุดพิเศษนี้ยังคงความสามารถในการกันน้ำได้ในระดับ 50 มิลลิเมตร เช่นเดียวกับตัวเรือนของ RM 050 ด้วย จากกระบวนการทำตัวเรือนซึ่งยากลำบากสุดๆ อย่างที่กล่าวมานี้ ทำให้จะมีผู้โชคดีได้เป็นเจ้าของนาฬิการุ่นนี้แค่ 5 คนเท่านั้น เพราะ RICHARD MILLE จะผลิตขึ้นในจำนวนเพียง 5 เรือน 

  

 

RM 052 SKULL

 

Unknown 7Unknown 8

 

ต่อกันด้วยนาฬิกาตูร์บิยองเวอร์ชั่นหัวกะโหลกที่ทาง RICHARD MILLE ให้ชื่อว่า RM 052 SKULL รูปหัวกะโหลกนี้สามารถสื่อความหมายได้หลายอย่างตามวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาคของโลก อย่างชาวลาตินอเมริกันนั้นถือเป็นสัญลักษณ์ของชีวิต ส่วนชาวยุโรปนั้นอาจสื่อความหมายความเกี่ยวข้องกับความตาย แต่ที่ยอมรับกันโดยสากลก็คือ เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการเป็นลวดลายที่ถูกออกแบบในลักษณะต่างๆ เพื่อความสวยงามและน่าสะพรึงกลัวไปในคราวเดียวกัน แต่โครงหัวกระโหลกซึ่งทำจากไทเทเนียมเกรด 5 ของ RM 052 Skull เรือนนี้มิใช่เป็นแค่ลวดลายประดับ แต่ถูกใช้เป็นเบสเพลตและบริดจ์ของเครื่องไขลานตูร์บิยอง Calibre RM 052 กำลังสำรอง 48 ชั่วโมง 19 จิวเวล ทำงานที่ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นเครื่องหัวกระโหลกก็ไม่น่าจะผิด ในระหว่างช่องว่างของแผงฟันบน-ล่างจะเห็นว่ามีทับทิมของกรงตูร์บิยองติดตั้งอยู่ ส่วนด้านหลังของกระโหลกส่วนหน้าจะเป็นเซ็นเตอร์บริดจ์ 4 แท่งแกะสเกเลตัน ซึ่งทำหน้าที่ยึดเข้ากับโครงของตัวเรือนโดยนำสไตล์มาจาก Jolly Roger ซึ่งเป็นโครงกระดูกรูปตัวเอ็กซ์บนธงของเรือโจรสลัด ทำให้เหมือนกับว่าเครื่องหัวกระโหลกนี้ลอยเด่นอยู่ใจกลางของนาฬิกาตัวเรือนขนาด 42.7 x 50 มิลลิเมตรซึ่งยึดติดชิ้นส่วนหลัก 3 ส่วน คือ ขอบตัวเรือน ตัวเรือน และฝาหลังเข้าด้วยกันด้วยสกรูว์ไทเทเนียมเกรด 5 จำนวน 20 ตัว

 

Unknown 9Unknown 10

 

สเกลนาทีถูกพิมพ์อยู่บนขอบหน้าปัดส่วนในซึ่งทำจากไทเทเนียมเกรด 5 เคลือบดีแอลซีพร้อมติดตั้งหลักชั่วโมงทรงกลม โดยมีตัวเลขนาทีพิมพ์อยู่บนขอบหน้าปัดส่วนบนซึ่งทำจากคาร์บอน กระจกหน้าและฝาหลังทำจากแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้าน นาฬิการุ่นนี้จะถูกผลิตขึ้นในจำนวนจำกัด 21 เรือน แบ่งเป็นตัวเรือนไทเทเนียม 15 เรือน และตัวเรือนเร้ดโกลด์ หรือไวท์โกลด์ อีก 6 เรือน ซึ่งแต่ละเรือนของ 6 เรือนนี้จะถูกตกแต่งพิเศษให้เป็นยูนีคพีซ 

  

 

RM 053 PABLO MAC DONOUGH

 

Unknown 11Unknown 12

 

Pablo Mac Donough นักกีฬาโปโลอันดับหนึ่งของโลกจากการจัดอันดับของ World Polo Tour Ranking เมื่อปี 2010 เขาผู้นี้เป็นผู้เล่นคนสำคัญของทีม Richard Mille Polo มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2011 ทาง RICHARD MILLE จึงเกิดไอเดียที่จะสร้างนาฬิกาตูร์บิยองของตนซึ่งมีความทนทานสูงเพียงพอในการสวมใส่เล่นกีฬาโปโลขึ้นมา อย่างที่ทราบกันดีว่านาฬิกาที่สามารถสวมใส่เล่นโปโลได้นั้นจะต้องมีความแข็งแรงทนทานมากเป็นพิเศษจึงจะอยู่บนข้อมือของนักกีฬาบนหลังม้าได้ ตัวเรือนของนาฬิการุ่นนี้มาในทรงตอนโนขนาด 50 x 42.7 มิลลิเมตร หนา 20 มิลลิเมตร ที่ทำจากไมโครบลาสต์ไทเทเนียมเกรด 5 ยึดติดกันด้วยสกรูว์ไทเทเนียมเกรด 5 พร้อมสายนาฬิกาวัสดุเดียวกัน โดยออกแบบให้มีแผ่นเกราะกันกระแทกอันแข็งแกร่งทนทานซึ่งทำจากวัสดุไทเทเนียมคาร์ไบด์ (TiC) ที่มีความแข็งแรงในระดับเดียวกับเพชรติดตั้งอยู่ด้านบนของตัวเรือนและทำเป็นสันโค้งคู่ยื่นออกมาเพื่อวางกระจกแซฟไฟร์คริสตัลหนา 1 มิลลิเมตรเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้านทำมุมเอียง 30 องศาไว้สำหรับแสดงเวลา ในช่องทางซ้ายจะแสดงค่าวินาทีด้วยเข็มซึ่งทำงานจากการหมุนของกรงตูร์บิยองที่อยู่ด้านใน ส่วนช่องทางขวาจะแสดงชั่วโมงและนาที ซึ่งทั้งหมดรวมถึงเพลทและบริดจ์ของเครื่องจะถูกวางระดับความเอียงไว้ที่ 30 องศา อันเป็นระดับที่ผ่านการคิดค้นมาแล้วว่าจะสามารถทำให้นักกีฬามองเห็นได้อย่างชัดเจนในขณะที่ประจำการอยู่บนอานม้า ขอบหน้าปัดคู่ทำจากไทเทเนียมเกรด 5 ทำสีดำโดยพิมพ์สเกลวินาทีลงบนวงทางด้านซ้ายส่วนด้านขวาติดตั้งด้วยหลักชั่วโมงทรงกลม ฝาหลังกรุกระจกแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อน

 

Unknown 13Unknown 14

 

กลไกไขลานตูร์บิยอง Calibre RM 053 21 จิวเวล ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 48 ชั่วโมงที่ใช้ในนาฬิการุ่นนี้ถูกดีไซน์ขึ้นใหม่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ มีโครงสร้างของเบสเพลทและบริดจ์แบบสเกเลตันเป็นไทเทเนียมเกรด 5 และติดตั้งด้วยโกอิ้งเทรนขนาดเล็ก เมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งและความเบาของโครงสร้างไทเทเนียมทั้งตัวเรือนและเครื่องแล้วนับเป็นนาฬิกาที่เหมาะสมกับกีฬาชนิดนี้เป็นอย่างยิ่ง ผลิตในจำนวนจำกัดเพียง 15 เรือนเท่านั้น

 

  

RM 057 DRAGON-JACKIE CHAN

 

Unknown 15

 

เมื่อปีมังกรตามปฏิทินของชาวจีนเวียนเข้ามาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่งในปี 2012 ทาง RICHARD MILLE ซึ่งมีความสนอกสนใจในวัฒนธรรมเก่าแก่และมีความสัมพันธ์เป็นอย่างดีกับชาวจีน จึงได้สร้างนาฬิกาที่มีมังกรอันเป็นสัตว์จากสรวงสวรรค์ในตำนานของชาวจีนมาโดยใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งจักรพรรดิและอำนาจมาตั้งแต่สมัยโบราณ และสืบทอดมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขและความสำเร็จในปัจจุบันออกมาเป็นพิเศษเพื่อร่วมฉลองปีมงคลนี้ด้วยรุ่น RM 057 Dragon-Jackie Chan โดยมี Jackie Chan นักแสดงและผู้กำกับชื่อก้องชาวฮ่องกงเป็นตัวเชื่อมระหว่างวัฒนธรรมของชาวจีนกับชาวสวิสฯ ในครั้งนี้ อย่างที่รู้กันว่ามิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่าง Richard Mille กับ Jackie Chan ได้ดำเนินต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว จากการที่มีโอกาสได้ร่วมมือกันทำกิจกรรมโดยเฉพาะทางด้านสาธารณกุศลหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน ล่าสุดก็เพิ่งมีงานจัดประมูลนาฬิกายูนีคพีซ “RMJC Tourbillon” เมื่อเดือนกันยายน ปี 2011 เพื่อนำรายได้ไปสนับสนุนมูลนิธิ Dragon’s Heart Foundation ซึ่งเป็นองค์การที่ Jackie ก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ในการให้การสนับสนุนเด็กด้อยโอกาสให้มีที่ยืนในสังคมและมีชีวิตที่ดีขึ้น

 

Unknown 16Unknown 17

 

แต่ RM 057 DRAGON-JACKIE CHAN รุ่นนี้มิได้เป็นนาฬิกาเพื่อการกุศลอย่าง RMJC Tourbillon แต่เป็นสิ่งที่ RICHARD MILLE ตั้งใจทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่ออุทิศให้กับ Jackie Chan โดยเฉพาะ โดยนำรูปแบบคุณลักษณ์เฉพาะของนาฬิกามาจากชื่อจีนของ Jackie ซึ่งมีความหมายว่า “คนที่จะกลายเป็นมังกร” มาเป็นแรงบันดาลใจในการรังสรรค์รูปสลักมังกรที่ทำจากโรสโกลด์หรือไวท์โกลด์ 18k สลักด้วยมือและเพ้นท์ด้วยมือโดยใช้เทคนิคไมโครเพนท์ติ้งซึ่งทำให้มีความละเอียดสูงทอดตัวอยู่รอบหน้าปัดเหนือบริดจ์ที่ทำจากไทเทเนียมเกรด 5 เคลือบพีวีดีดำโดยมีอุ้งเท้าข้างหนึ่งจับบริดจ์ของตูร์บิยองเอาไว้ อุ้งเท้านี้มีนิ้วอยู่ 5 นิ้วด้วยกันซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมังกรจักรพรรดิ ผลิตขึ้นในจำนวนจำกัด 36 เรือน ในตัวเรือนขนาด 50 x 42.7 มิลลิเมตรยึดเข้าด้วยกันโดยสกรูว์ไทเทเนียมเกรด 5 จำนวน 20 ตัวที่มี 2 วัสดุให้เลือกคือ เร้ดโกลด์ กับไวท์โกลด์ ฝาหลังกรุกระจกแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้านมองเห็นเพลทบริดจ์ที่ทำจากหินออนิกซ์ดำซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของดุลยภาพและแรงกระตุ้น อีกทั้งเชื่อกันว่ามีพลังในการปกป้องจากสิ่งไม่ดีทั้งปวง พร้อมสลักลายเซ็นภาษาจีนของ Jackie Chan อยู่บนฐานกลม ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกาซึ่งจะหมุนครบ 1 รอบในทุก 60 วินาทีตามการหมุนของตูร์บิยอง ขอบหน้าปัดทำจากไทเทเนียมเกรด 5 ทำสีดำแบบ 2 ชิ้น ติดตั้งด้วยหลักชั่วโมงทรงกลม โดยมีสเกลนาทีอยู่บนชิ้นใน กระจกหน้าปัดเป็นแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารกันแสงสะท้อนทั้ง 2 ด้าน เครื่องที่ใช้ในนาฬิการุ่นนี้คือเครื่องไขลานตูร์บิยอง Calibre RM 057 21 จิวเวล ทำงานด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง ที่แสดงค่าชั่วโมงกับนาทีด้วยเข็ม และบอกกำลังสำรองที่มีอยู่ 48 ชั่วโมงด้วยจานดิสก์ที่แสดงค่าด้วยเส้นสีแดงซึ่งติดตั้งอยู่ระหว่างตำแหน่ง 10 กับ 11 นาฬิกา

 

By: Viracharn T.