SIHH 2018 - เผยโฉมกันเต็มๆ แล้ว กับนาฬิกา ลิมิเต็ด เอดิชั่น 28 แบบ จากคอลเลคชั่นสำคัญในรอบ 150 ปี The IWC Jubilee 150th Anniversary Collection

 

แน่ซะยิ่งกว่าแน่ที่จุดสนใจของงาน SIHH 2018 จะต้องสาดแสงไฟส่องไปที่บูธของ IWC เพราะปีนี้เป็นปีสำคัญที่ทางแบรนด์จะมีอายุครบ 150 ปี และทางแบรนด์ก็ได้เกริ่นพร้อมเผยโฉมบางรุ่นของคอลเลคชั่นสุดพิเศษ “Jubilee 150th Anniversary” กันออกมาตั้งแต่ตอนปลายปี 2017 แล้ว และวันนี้ทั้งหมดของคอลเลคชั่นซึ่งนับรวมได้ 28 แบบ (เพิ่มอีก 1 แบบ จากเดิมที่เคยระบุไว่ว่ามี 27 แบบ) โดยทั้งหมดล้วนเป็น ลิมิเต็ด เอดิชั่น ที่ผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดมากน้อยต่างกันไปในแต่ละรุ่น ก็ได้เปิดตัวให้เห็นกันเต็มๆ แล้วที่งาน SIHH 2018 โดยมีตั้งแต่นาฬิกาฟังก์ชั่นพื้นฐานไปจนถึงนาฬิกาคอมพลิเคชั่นซับซ้อน ทั้งที่อยู่ในรูปแบบเอดิชั่นพิเศษของคอลเลคชั่นปัจจุบัน ทั้ง Portugieser, Portofini, Da Vinci, Pilot’s และที่อยู่ในรูปแบบนาฬิกาพิเศษสุดๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่อย่างรุ่น Tribute to Pallweber โดยเมื่อรวมนาฬิกาทุกรุ่นทุกแบบของคอลเลคชั่น “Jubilee 150th Anniversary” แล้ว จะถูกสร้างขึ้นมาสิริรวมทั้งหมดเป็นจำนวน 17,905 เรือนด้วยกัน เพื่อให้แฟนตัวจริงของ IWC ทั่วโลกได้เลือกเป็นเจ้าของกัน

 

นาฬิกาลิมิเต็ด เอดิชั่น ทั้ง 28 แบบนี้ ต่างมีลักษณะดีไซน์บางอย่างร่วมกันเพื่อบ่งบอกว่ามันเป็นคอลเลคชั่น จูบิลี่ เช่นเดียวกัน นั่นก็คือ

 

1) สีของหน้าปัดที่หากไม่เป็นแล็กเกอร์สีน้ำเงิน ก็จะเป็นแล็กเกอร์สีขาว ซึ่งทั้งสองต่างสร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันด้วยการเคลือบแล็กเกอร์ถึง 12 ชั้น ก่อนจะนำไปขัดลายและขัดเงา จากนั้นก็พิมพ์หลักชั่วโมงเลขอารบิก (ยกเว้นนาฬิกา Portofino ที่จะใช้เป็นขีด) และ สเกล กับข้อความต่างๆ ด้วยสีดำสำหรับหน้าปัดสีขาว โดยจับคู่กับเข็มสีน้ำเงิน และสีขาวสำหรับหน้าปัดสีน้ำเงิน โดยจับคู่กับเข็มเคลือบโรเดียม ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสื่อถึงหน้าปัดอีนาเมลแบบดั้งเดิมที่ใช้กับนาฬิกาพก Pallweber ในสมัยแรกเริ่ม

2) ทุกรุ่นล้วนใช้สายหนังจระเข้สีดำ (รุ่นที่ราคาสูงๆ จะใช้สายที่ผลิตโดย Santoni) เพื่อให้มีความเป็นทางการในรูปแบบเดียวกัน (ยกเว้นนาฬิกาพกที่ใช้สายสร้อยทองคำ)

3) ทุกรุ่นล้วนมีตราสัญลักษณ์ “150 Years” ปรากฏอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่ง เช่น หากเป็นรุ่นที่ฝาหลังผนึกกระจกแซฟไฟร์ ก็จะปรากฏเป็นเหรียญทองคำ 18 เค อยู่บนชิ้นส่วนกลไก หรือเป็นภาพสลักบนโรเตอร์ ส่วนรุ่นที่ใช้ฝาหลังแบบทึบก็จะปรากฏเป็นภาพสลักบนฝาหลัง

 

เรามาไล่เรียงกันไปทีละรุ่นเลยนะครับ

 

Tribute to Pallweber Edition “150 Years” Pocket Watch

(Ref. IW505101)

 

iw505101 mood

 

นี่คือนาฬิกาพกสุดพิเศษที่สร้างขึ้นเพื่อสดุดีประวัติศาสตร์การประดิษฐ์นาฬิกาของ IWC โดยนำการแสดงค่าชั่วโมงกับนาทีด้วยตัวเลขขนาดใหญ่บนจานดิสก์ทั้งหมด 3 จาน เคลื่อนขยับแบบจัมปิ้งเพื่อบอกค่าผ่านช่องหน้าต่าง ซึ่งนำมาจากลักษณะการแสดงเวลาของนาฬิกาพก Pallweber ที่ IWC เคยสร้างขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1884 และเลิกผลิตไปเมื่อปี 1890 ขณะที่ค่าวินาทีจะแสดงด้วยเข็มขนาดเล็กซึ่งจัดวางอย่างได้สมดุล

505101 lifestylesmalliw505101 front

นาฬิกาพกรุ่นแรกที่ IWC ผลิตขึ้นในยุคศตวรรษที่ 21 รุ่นนี้ สร้างขึ้นเพียงแค่ 50 เรือน ในตัวเรือนวัสดุเร้ดโกลด์ ขนาด 52 มม. หนา 14.2 มม. ที่ตกแต่งกิโยเช่มาอย่างสวยงาม เข้าคู่มากับสายสร้อยเร้ดโกลด์ ส่วนหน้าปัดนั้นใช้เป็นสีขาว ทำงานด้วยกลไกไขลาน อินเฮ้าส์ ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง  กำลังสำรอง 60 ชั่วโมง คาลิเบอร์ 94200 ซึ่งเป็นกลไกที่มีการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนจานดิสก์ขึ้นมาใหม่ (จดสิทธิบัตรแล้ว) และมีกำลังสำรองยาวนานถึง 60 ชั่วโมง

 

 

Tribute to Pallweber “Edition 150 Years”

 

นาฬิกาดีไซน์วินเทจรุ่นนี้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อสดุดีประวัติศาสตร์การสร้างเรือนเวลาของ IWC ในลักษณะเดียวกับนาฬิกาพก Tribute to Pallweber “Edition 150 Years” Pocket Watch นั่นเอง และก็ถือว่าเป็นการนำลักษณะการแสดงเวลาด้วยตัวเลขผ่านช่องหน้าต่างเช่นนี้มาใช้กับนาฬิกาข้อมือเป็นครั้งแรกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าทั้งนาฬิกาพกและนาฬิกาข้อมือรุ่นนี้นั้นใช้กลไกรุ่นเดียวกัน

 

Tribute to Pallweber

 

Tribute to Pallweber รุ่นนี้เป็นหนึ่งในรุ่นที่เผยภาพออกมาให้เห็นกันก่อนแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2017 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นตัวเรือนเร้ดโกลด์ หน้าปัดสีขาว (Ref. IW505002) ผลิตจำนวนจำกัด 250 เรือน แต่จริงๆ แล้ว ปรากฏว่ายังมีอีก 2 เวอร์ชั่น นั่นก็คือ แบบตัวเรือนสตีล หน้าปัดสีน้ำเงิน (Ref. IW505003) ผลิตจำนวน 500 เรือน กับแบบตัวเรือนแพลตินั่ม หน้าปัดสีขาว (Ref. IW505001)  ผลิตจำนวน 25 เรือน ออกมาด้วย (รวม 3 เวอร์ชั่น เป็นจำนวน 775 เรือน)

 

Tribute to Pallweber “Edition 150 Years” ใช้ตัวเรือนขนาด 45 มม. หนา 12 มม. ทำงานด้วยกลไกไขลาน อินเฮ้าส์ ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง คาลิเบอร์ 94200 ซึ่งเป็นกลไกที่มีการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนจานดิสก์ขึ้นมาใหม่ (จดสิทธิบัตรแล้ว) และมีกำลังสำรองยาวนานถึง 60 ชั่วโมง

 

 

Portugieser Constant-Force Tourbillon Edition “150 Years”

 

รุ่นนี้ก็เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่เผยโฉมหน้าให้เห็นกันก่อนเมื่อเดือนธันวาคม 2017 โดยเป็นเวอร์ชั่นตัวเรือนแพลตินั่ม ที่มากับหน้าปัดสีขาว (Ref. IW590202)  ผลิตจำนวน 15 เรือน แต่จริงๆ ก็มีเวอร์ชั่นตัวเรือนวัสดุเดียวกัน ซึ่งใช้หน้าปัดสีน้ำเงิน (Ref. IW590203) ผลิตออกมาอีก 15 เรือนด้วย (รวม 2 เวอร์ชั่น เป็นจำนวน 30 เรือน)

 

Portugieser Constant Force Tourbillon

 

ความพิเศษอีกอย่างของรุ่นนี้ก็คือ เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่เป็นนาฬิการุ่นใหม่หมดจด นั่นก็เพราะมันมาพร้อมกับกลไกไขลาน อินเฮ้าส์ เครื่องใหม่ ซึ่งทำงานอย่างแม่นยำด้วยระบบกลไก คอนสแตนท์-ฟอร์ซ ตูร์บิยอง อันเป็นสิทธิบัตรของ IWC พร้อมฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวลมูนเฟสที่คงความแม่นยำได้ถึง 577.5 ปี ทั้งยังสำรองพลังงานได้นานถึง 4 วัน

 

Portugieser Constant-Force Tourbillon Edition “150 Years” ใช้ตัวเรือนขนาด 46 มม. หนา 13.5 ทำงานด้วยกลไกไขลาน อินเฮ้าส์ คาลิเบอร์ 94805 ความถี่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 4 วัน (96 ชั่วโมง)  ที่เที่ยงตรงแม่นยำด้วยระบบกลไกคอนสแตนท์-ฟอร์ซ ตูร์บิยอง พร้อมฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวลมูนเฟส ฟังก์ชั่นแสดงกำลังสำรองด้วยเข็ม และมีเข็มวินาทีติดตั้งมาให้ด้วย

 

 

Portugieser Perpetual Calendar Tourbillon Edition “150 Years”

(Ref. IW504501)

 

ความพิเศษของ Portugieser รุ่นนี้ นอกจากจะเป็นรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยผลิตขึ้นมาแล้ว ยังเป็นนาฬิการุ่นแรกที่ทาง IWC นำกลไกฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ มาใช้ร่วมกับการแสดงตูร์บิยองบนฝั่งหน้าปัด อันเกิดจากการเพิ่มโมดูลฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์เข้าไปบนกลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ ความถี่ 19,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 7 วัน พร้อมตูร์บิยองแบบฟลายอิ้ง คาลิเบอร์ 51900 รวมเรียกใหม่เป็นคาลิเบอร์ 51950 ผลิตขึ้นเพียงแบบเดียวในตัวเรือนเร้ดโกลด์ หน้าปัดสีขาว ด้วยจำนวนเพียง 50 เรือน

Portugieser PP Tourbillon

Portugieser Perpetual Calendar Tourbillon Edition “150 Years” ใช้ตัวเรือนเร้ดโกลด์ ขนาด 45 มม. หนา 15.3 มม. กลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ คาลิเบอร์ 51950 ความถี่ 19,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 7 วัน พร้อมฟังก์ชั่นแสดงกำลังสำรอง โรเตอร์เป็นทองคำ 18 เค

 

 

Portugieser Perpetual Calendar Edition “150 Years”

(Ref. IW503405)

Portugieser PP

ใช้ตัวเรือนเร้ดโกลด์ ร่วมกับหน้าปัดสีขาว ผลิตจำนวน 250 เรือน (รายละเอียดทางเทคนิคยังคงเหมือนกับคอลเลคชั่นปกติ นั่นก็คือ ตัวเรือนขนาด 44.2 มม. หนา 14.9 มม. ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ คาลิเบอร์ 52615 ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 7 วัน ฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ ที่แสดงเลขปีด้วยตัวเลข 4 หลัก แสดงมูนเฟสของทั้ง 2 ฝั่งโลก และแสดงกำลังสำรอง)

 

 

Portugieser Chronograph Edition “150 Years”

 

Portugieser Chronograph

 

มี 2 เวอร์ชั่น ทั้งคู่ใช้ตัวเรือนสตีล จับคู่กับหน้าปัดสีขาว (Ref. IW371602) หรือสีน้ำเงิน (Ref. IW371601) ผลิตจำนวนเวอร์ชั่นละ 2,000 เรือน (รวม 2 เวอร์ชั่นเป็น 4,000 เรือน) (รายละเอียดทางเทคนิคยังคงเหมือนกับคอลเลคชั่นปกติ นั่นก็คือ ใช้ตัวเรือนขนาด 41 มม. หนา 13.1 มม. ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟ อินเฮ้าส์ คาลิเบอร์ 69355 ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 46 ชั่วโมง)

 

 

Portugieser Hand-Wound Eight Days Edition “150 Years”

 

Portugieser Hand Wound Eight Days

 

เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่เป็นรุ่นที่ผลิตขึ้นมาใหม่ โดยเป็นการตั้งใจออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกับนาฬิกา Portuguese ในยุคแรกๆ เมื่อสมัยทศวรรษที่ 1930s แม้จะเติมความสมัยใหม่เกินยุคนั้นด้วยกรอบวันที่ทรงสี่เหลี่ยม ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกาก็ตาม นาฬิการุ่นนี้ใช้ตัวเรือนขนาด 43 มม. หนา 12.2 มม. บรรจุกลไกไขลาน อินเฮ้าส์ กำลังสำรอง 8 วัน ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง คาลิเบอร์ 59215 ฟังก์ชั่นแสดงวันที่และกำลังสำรอง ผลิตขึ้นมา 2 เวอร์ชั่น คือ แบบตัวเรือนสตีล (Ref. IW510212) จำนวน 1,000 เรือน และแบบตัวเรือนเร้ดโกลด์ (Ref. IW510211) อีก 250 เรือน ทั้งคู่ใช้หน้าปัดสีขาว ( 2 เวอร์ชั่น รวมเป็นจำนวน 1,250 เรือน)

 

 

Big Pilot’s Watch Annual Calendar Edition “150 Years”

(Ref. IW502708)

 

Big Pilots Watch Annual Calendar

 

มีแบบเดียวคือ ตัวเรือนสตีล หน้าปัดสีน้ำเงิน ผลิตจำนวน 100 เรือน (รายละเอียดทางเทคนิคยังคงเหมือนกับคอลเลคชั่นปกติ นั่นก็คือ ตัวเรือนขนาด 46.2 มม. หนา 15.5 มม. ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ ฟังก์ชั่นแอนนวลคาเลนดาร์ และแสดงกำลังสำรอง ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 7 วัน คาลิเบอร์ 52850)

 

 

Big Pilot’s Watch Big Date Edition “150 Years”

 

เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่เป็นของใหม่ เพราะเป็นครั้งแรกที่ทาง IWC นำฟังก์ชั่นบิ้กเดท (แสดงวันที่ด้วยตัวเลข 2 หลักขนาดใหญ่) เข้ามาใส่ในนาฬิกาตระกูลไพล็อตวอตช์ของตนเอง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำให้นาฬิการุ่นนี้ดูน่าสนใจมากๆ โดยจะผลิตขึ้นมา 2 เวอร์ชั่น คือ หน้าปัดสีน้ำเงิน (Ref. IW510503) กับหน้าปัดสีขาว (Ref. IW510504)  ซึ่งใช้ตัวเรือนสตีลเช่นเดียวกัน ผลิตในจำนวนเวอร์ชั่นละ 100 เรือน (2 เวอร์ชั่น รวมเป็น 200 เรือน)

Big Pilots Watch Big Date

ตัวเรือนของรุ่นนี้ใช้เป็นขนาด 46.2 มม. หนา 15.2 มม. บรรจุกลไกไขลาน อินเฮ้าส์ พร้อมฟังก์ชั่นบิ๊กเดท กำลังสำรอง 8 วัน ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง คาลิเบอร์ 59235 ที่ไม่เปิดโอกาสให้มองเห็นกลไกได้เพราะใช้ฝาหลังแบบทึบ ที่มีแค่ช่องหน้าต่างขนาดเล็กๆ ไว้เพื่ออ่านค่าจากเข็มแสดงกำลังสำรองที่อยู่บนตัวกลไกเท่านั้น

 

 

Pilot’s Watch Chronograph Edition “150 Years”

(Ref. IW377725)

 

Pilots Watch Chronograph

 

มีแบบเดียว คือ ตัวเรือนสตีล หน้าปัดสีขาว ผลิตจำนวน 1,000 เรือน (รายละเอียดทางเทคนิคยังคงเหมือนกับคอลเลคชั่นปกติ นั่นก็คือ ตัวเรือนขนาด 43 มม. หนา 15.2 มม. ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติ โครโนกราฟ พร้อมฟังก์ชั่นวันกับวันที่ คาลิเบอร์ 79320 ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 44 ชั่วโมง)

 

 

Portofino Hand-Wound Moon Phase Edition “150 Years”

 

Portofino Hand Wound Moon Phase

 

ผลิตออกมา 3 เวอร์ชั่น คือ ตัวเรือนสตีล หน้าปัดสีน้ำเงิน (Ref. IW516405) จำนวน 350 เรือน, ตัวเรือนสตีล หน้าปัดสีขาว (Ref. IW516406) 350 เรือน และตัวเรือนเร้ดโกลด์ หน้าปัดสีน้ำเงิน (Ref. IW516407) 150 เรือน (รวม 3 เวอร์ชั่น เป็นจำนวน 850 เรือน) (รายละเอียดทางเทคนิคยังคงเหมือนกับคอลเลคชั่นปกติ นั่นก็คือ ตัวเรือนขนาด 45 มม. หนา 13.2 มม. ทำงานด้วยกลไกไขลาน อินเฮ้าส์ ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง คาลิเบอร์ 59800 กำลังสำรอง 8 วัน ฟังก์ชั่นแสดงวันที่ กำลังสำรอง และมูนเฟส)

 

 

Portofino Chronograph Edition “150 Years”

 

Portofino Chronograph

 

ผลิตออกมา 2 เวอร์ชั่น คือ ตัวเรือนสตีล หน้าปัดสีน้ำเงิน (Ref. IW391023) จำนวน 2,000 เรือน และตัวเรือนสตีล หน้าปัดสีขาว (Ref. IW391024) อีก 2,000 เรือน (รวม 2 เวอร์ชั่น เป็นจำนวน 4,000 เรือน) (รายละเอียดทางเทคนิคยังคงเหมือนกับคอลเลคชั่นปกติ นั่นก็คือ ตัวเรือนขนาด 42 มม. หนา 13.6 มม. ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟพร้อมฟังก์ชั่นวันกับวันที่ ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 44 ชั่วโมง คาลิเบอร์ 79320)

 

 

Portofino Automatic Edition “150 Years”

 

Portofino Automatic

 

ผลิตออกมา 2 เวอร์ชั่น คือ ตัวเรือนสตีล หน้าปัดสีน้ำเงิน (Ref. IW356518) จำนวน 2,000 เรือน และตัวเรือนสตีล หน้าปัดสีขาว (Ref. IW356519) อีก 2,000 เรือน (รวม 2 เวอร์ชั่น เป็นจำนวน 4,000 เรือน) (รายละเอียดทางเทคนิคยังคงเหมือนกับคอลเลคชั่นปกติ นั่นก็คือ ตัวเรือนขนาด 40 มม. หนา 9.3 มม. ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติพร้อมฟังก์ชั่นวันที่ คาลิเบอร์ 35111 ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 42 ชั่วโมง)

 

 

Da Vinci Automatic Edition “150 Years”

 

Da Vinci Automatic

 

ผลิตออกมา 3 เวอร์ชั่น คือ ตัวเรือนสตีล หน้าปัดสีน้ำเงิน (Ref. IW358102) จำนวน 500 เรือน, ตัวเรือนสตีล หน้าปัดสีขาว (Ref. IW358101) 500 เรือน และตัวเรือนเร้ดโกลด์ หน้าปัดสีขาว (Ref. IW358103) 250 เรือน (รวม 3 เวอร์ชั่น เป็นจำนวน 1,250 เรือน) (รายละเอียดทางเทคนิคยังคงเหมือนกับคอลเลคชั่นปกติ นั่นก็คือ ตัวเรือนขนาด 40.4 มม. หนา 12.1 มม. ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ คาลิเบอร์ 82200 ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 60 ชั่วโมง)

 

 

Da Vinci Automatic Moon Phase 36 Edition “150 Years”

 

นี่คือรุ่นเดียวสำหรับคอลเลคชั่น 150 ปีนี้ที่เป็นนาฬิกาผู้หญิงโดยเฉพาะ ซึ่งก็เผยโฉมเวอร์ชั่นตัวเรือนเร้ดโกลด์ หน้าปัดสีขาว (Ref. IW459304) ผลิตจำนวน 50 เรือนมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2017 เช่นกัน แต่เมื่อออกมาจริงๆ ก็มีเวอร์ชั่นตัวเรือนไวท์โกลด์ หน้าปัดสีขาว (Ref. IW459309) ผลิตจำนวน 50 เรือน ออกมาด้วย (รวม 2 เวอร์ชั่น เป็นจำนวน 100 เรือน)

 

Da Vinci Automatic Moon Phase

 

จุดเด่นของรุ่นนี้ที่ต่างไปจากเวอร์ชั่นปกติก็คือ รูปแบบการประดับเพชรทั้งบนตัวเรือนและขายึดสายจำนวนรวม 206 เม็ด (ประมาณ 2.26 กะรัต) ที่นำลักษณะการประดับมาจากสมัยยุคปลายทศวรรษที่ 80 ถึงทศวรรษที่ 90 ในสไตล์เดียวกับนาฬิกา Lady Da Vinci ในยุคนั้น (รายละเอียดทางเทคนิคยังคงเหมือนกับคอลเลคชั่นปกติ นั่นก็คือ ตัวเรือนขนาด 36 มม. หนา 11.7 มม. ที่ใช้กลไกอัตโนมัติ กำลังสำรอง 42 ชั่วโมง ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง คาลิเบอร์ 35800 ฟังก์ชั่นแสดงมูนเฟส)

 

By: Viracharn T.