SIHH 2018 - เรียงแถวมาเป็นกองทัพ สำหรับรุ่นใหม่ของตระกูล Royal Oak จาก AUDEMARS PIGUET

 

ไฮไลต์นาฬิกาใหม่ๆ จาก AUDEMARS PIGUET (โอเดอมาร์ ปิเกต์) ในปี 2018 นี้ ยังคงเน้นไปที่กลุ่มนาฬิกาสปอร์ตตระกูลดัง Royal Oak (รอยัล โอ้ค) เหมือนเช่นเคย ซึ่งนอกจากรุ่นใหม่ๆ ของ Royal Oak Offshore (รอยัล โอ้ค ออฟชอร์) ที่ฉลองอายุครบ 25 ปีในปีนี้ด้วยรุ่น Re-edition of the Royal Oak Offshore Ref. 26237ST ตัวเรือนสตีล หน้าปัดสีน้ำเงิน กลไกอัตโนมัติโครโนกราฟ กับ Royal Oak Offshore Tourbillon Chronograph กลไกไขลานโครโนกราฟ พร้อมตูร์บิยอง กำลังสำรอง 173 ชั่วโมง ทั้งแบบตัวเรือนสตีล Ref. 26421ST และแบบตัวเรือนพิ้งค์โกลด์ (Ref. 26421OR) อันเป็นรุ่นที่เผยโฉมมาให้เห็นกันเป็น Pre-SIHH ตั้งแต่ก่อนขึ้นปีใหม่แล้ว (อ่านรายละเอียดได้ที่ลิ้งค์นี้) ก็ยังมี Royal Oak รุ่นและเวอร์ชั่นต่างๆ ออกมาใหม่อีกเพียบ ทั้งแบบสำหรับผู้ชายและแบบสำหรับผู้หญิง ดังบางรุ่นบางแบบที่เรานำมาเสนอนี้

 

Royal Oak RD#2 Perpetual Calendar Ultra-Thin (Ref. 26586PT.OO.1240PT.01)

นาฬิกากลไกอัตโนมัติ ฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ ที่มีขนาดบางที่สุดในโลกหล้า

 

 Audemars Piguet Royal Oak RD2 ultra Thin Perpetual automatic RO26586PT OO 1240PT 01 aBlogtoWatch 2

 

ทาง AP บอกว่าพวกเขาได้ทำการคิดค้นนาฬิกาฟังก์ชั่นปฏิทินขึ้นมาใหม่ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือนาฬิกา RD#2 รุ่นนี้ ที่เห็นได้ชัดว่ามีความเพรียวบางของตัวเรือนกว่า Royal Oak Perpetual Calendar รุ่นก่อนๆ อย่างชัดเจนจนกล้าเรียกว่า “อัลตร้า-ธิน” ทั้งๆ ที่เป็นกลไกขึ้นลานอัตโนมัติ โดยหากว่าถึงตัวเลขแล้ว ความหนาของตัวเรือน RD#2 นั้นจะอยู่ที่ 6.3 มม. ซึ่งมันบางกว่าแม้แต่ Royal Oak Extra-Thin Jumbo ที่หนา 8.1 มม. ถึงเกือบ 2 มม. และบางกว่า Royal Oak Perpetual Calendar รุ่นก่อนหน้าที่หนา 9.5 มม. ถึง 3.2 มม. ทำให้ RD#2 ได้ครองตำแหน่ง นาฬิกากลไกอัตโนมัติฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ ที่มีความบางที่สุดในโลก ณ วันนี้ ส่วนความกว้างของตัวเรือนนั้นจะอยู่ที่ 41 มม. โดยตัวเรือนและสายนั้นสร้างจากวัสดุแพลตินั่ม 950 จับคู่มากับหน้าปัดสีน้ำเงิน

 

Audemars Piguet Royal Oak RD2 3

 

Audemars Piguet Royal Oak RD2 4

 

Audemars Piguet Royal Oak RD2 2

 

กลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ คาลิเบอร์ 5133 ที่ AP พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ทำลายสถิติด้วยความหนาเพียง 2.89 มม. เท่านั้น ขณะที่เส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 32 มม. ซึ่งทั้งหมดนี้ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนรวม 256 ชิ้น โดยออกแบบให้ชุดกลไกที่เคยวางทบกันเป็น 3 ชั้น รวมเข้าอยู่ในระดับเดียวกัน นั่นหมายถึงการออกแบบรูปทรงและการจัดวางใหม่ทั้งหมด ทั้งยังคงใช้โรเตอร์ที่ติดตั้งอยู่ที่จุดศูนย์กลาง ไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปใช้เป็นโรเตอร์ขนาดเล็กแต่อย่างใด ส่วนด้านกำลังสำรองก็ยังคงมาแบบพอเพียงคือ 40 ชั่วโมง ขณะที่ความถี่ในการทำงานของกลไกนั้นอยู่ที่ 19,800 ครั้งต่อชั่วโมง ในด้านการแสดงผลนั้นเมื่อเทียบกับกลไกของรุ่น Royal Oak Perpetual Calendar จะเห็นได้ว่าจะวางตำแหน่งแสดงค่าไว้แตกต่างกัน โดยในกลไกเครื่องใหม่จะแยกเข็มลีพเยียร์ออกมาอยู่ต่างหาก และมีเข็มแสดงกลางวัน/กลางคืนเพิ่มเข้ามาอีกเข็มหนึ่ง แต่จะไม่มีเข็มวินาที

 

Audemars Piguet Royal Oak RD2 1

 

ที่ AP เลือกใช้ชื่อรุ่นว่า RD#2 นั้น น่าจะเป็นความต้องการที่จะสืบทอดซีรี่ส์ RD อันหมายถึงนาฬิกาที่มีความก้าวล้ำเหนือธรรมดา เพื่อให้ต่อเนื่องจากรุ่น RD#1 ซึ่งเป็น Royal Oak แบบ Supersonnerie ที่เปิดตัวออกมาเมื่อปี 2014

 

 

Royal Oak Perpetual Calendar (Ref. 26584OR.OO1220OR.01)

เวอร์ชั่นใหม่ของรุ่นเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ ในตัวเรือนและหน้าปัดพิ้งค์โกลด์

 AP RO QP RG 3

AP RO QP RG 2

 

AP RO QP RG 1

 

บนพื้นฐานตัวเรือนขนาด 41 มม. และกลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ ความถี่ 19,800 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 40 ชั่วโมง ฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ คาลิเบอร์ 5134 เหมือนกับเวอร์ชั่นอื่นๆ นั้น เวอร์ชั่นใหม่ที่เห็นอยู่นี้จะมากับตัวเรือนและสายพิ้งค์โกลด์ ที่จับคู่กับหน้าปัดสีพิ้งค์โกลด์ เป็นครั้งแรกของรุ่นนี้ ขณะที่วงหน้าปัดขนาดเล็กถูกเลือกใช้เป็นสีน้ำเงินเข้มเพื่อสร้างความโดดเด่นและทำให้อ่านค่าได้ง่าย โดยจะผลิตขึ้นแบบจำนวนจำกัดเพียงแค่ 100 เรือนเท่านั้น

 

 

Royal Oak Chronograph (Ref. 26332PT.OO.1220PT.01)

เวอร์ชั่นใหม่ของรุ่นโครโนกราฟ ที่มากับตัวเรือนและสายวัสดุแพลตินั่ม

 

ROO Plat 3 

 

ROO Plat 2

 

เวอร์ชั่นใหม่ของ Royal Oak Chronograph ที่เห็นอยู่นี้ถูกสร้างขึ้นในวัสดุสูงค่าอย่าง แพลตินั่ม ทั้งตัวเรือนและสาย โดยจับคู่มากับหน้าปัดโทนสีเทาอมดำ ขณะทีตัวเรือนยังคงเป็นขนาด 41 มม. หนา 10.88 มม. และใช้กลไกอัตโนมัติ คาลิเบอร์ 2385 ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 40 ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปตามลักษณะของเจเนอเรชั่นใหม่ล่าสุดของ Royal Oak Chronograph ที่เปิดตัวออกมาเมื่อปี 2017

 

 

Royal Oak ‘Jumbo’ Extra-Thin (Ref. 15202IP.OO.1240IP.01)

เวอร์ชั่นตัวเรือนไทเทเนี่ยม ร่วมกับแพลตินั่ม ของ รอยัลโอ้ค จัมโบ้ เอ็กซ์ตร้า-ธิน

 

RO JUMBO Ti P 3 

 

RO JUMBO Ti P 2

 

Royal Oak ‘Jumbo’ Extra-Thin นาฬิการอยัลโอ้ค ขนาด 39 มม. หนา 8.1 มม. ที่ถ่ายทอดความเป็น Royal Oak รุ่นต้นฉบับสมัยปี 1972 ได้อย่างยอดเยี่ยม ออกเวอร์ชั่นใหม่มาเพิ่มเติมด้วยการใช้ตัวเรือนสตีลขัดลายร่วมกับขอบตัวเรือนวัสดุแพลตินั่มขัดเงา และใช้สายสตีลขัดลายที่มีข้อลิ้งค์เป็นแพลตินั่มขัดเงา ซึ่งเป็นความแตกต่างในโทนสีเดียวกันที่ดูงดงามเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก็เป็นลักษณะเดียวกับที่เคยใช้กับรุ่น Royal Oak Tourbillon Extra-Thin และรุ่น Royal Oak Chronograph เมื่อปี 2017 มาแล้ว

สำหรับเวอร์ชั่นนี้ถูกจับคู่มากับหน้าปัดสีน้ำเงินอมดำ ลายเปอตีต์ ตาปิสเซอรี พร้อมหลักชั่วโมงและเข็มไวท์โกลด์ ซึ่งสีของหน้าปัดจะดูแตกต่างจากหน้าปัดสีน้ำเงินของเวอร์ชั่นอื่นๆ เล็กน้อย ทั้งหมดนี้ก็ทำให้หากใครที่ไม่รู้จัก Royal Oak จริงๆ อาจไม่รู้สึกถึงความพิเศษของเวอร์ชั่นนี้ แต่กับคนรัก RO แล้ว แน่นอนว่ามันเป็นอะไรที่พิเศษมาก ส่วนกลไกที่ใช้ก็เป็นแบบอินเฮ้าส์ ขึ้นลานอัตโนมัติ คาลิเบอร์ 2121 แสดงเวลาแบบสองเข็ม พร้อมฟังก์ชั่นวันที่ กำลังสำรอง 40 ชั่วโมง ความถี่ 19,800 ครั้งต่อชั่วโมง เหมือนเช่นเวอร์ชั่นอื่นๆ

 

 

Royal Oak Tourbillon Extra-Thin

สามเวอร์ชั่นใหม่ที่มากับหน้าปัดผิวลายซันเรย์

 

 RO Tourbillon Extra Thin Sunray

 

ปีนี้ Royal Oak Tourbillon Extra-Thin  ออกเวอร์ชั่นใหม่มาเพิ่มเติมอีก 3 แบบ ซึ่งนอกจากเฉดสีใหม่แม็ตช์กับตัวเรือนต่างวัสดุแล้ว ยังทำพื้นหน้าปัดเป็นแบบกิโยเช่ลายซันเรย์อีกด้วย แต่ก็ยังคงทำเป็นลายตารางในลักษณะของตาปิสเซอรี อันเป็นสไตล์ของหน้าปัด Royal Oak อยู่

 

RO Tourbillon Extra Thin Sunray Back

 

RO Tourbillon Extra Thin Sunray Plum

 

3 เวอร์ชั่นดังกล่าวนี้ได้แก่ เวอร์ชั่นตัวเรือนและสายสตีล จับคู่กับหน้าปัดสีม่วงพลัม (Ref.26522ST.OO.1220ST.01) ; เวอร์ชั่นตัวเรือนและสายพิ้งค์โกลด์ จับคู่กับหน้าปัดสีน้ำเงิน (Ref. 26522OR.OO.1220OR.01) และเวอร์ชั่นตัวเรือนและสายแพลตินั่ม ประดับแซฟไฟร์สีน้ำเงินบนขอบตัวเรือน จับคู่กับหน้าปัดสีน้ำเงินอมดำ (Ref. 26521PT.YY.1220PT.01) ทุกเวอร์ชั่นใช้กลไกไขลาน อินเฮ้าส์ คาลิเบอร์ 2924 กำลังสำรอง 70 ชั่วโมง ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง ที่ทำงานอย่างแม่นยำด้วยตูร์บิยอง โดยฟินิชชิ่งด้านหลังของกลไกมาเป็นลายซันเรย์กระจายออกจากตูร์บิยองสอดคล้องกับลายหน้าปัด บรรจุมาในตัวเรือนขนาด 41 มม. หนา 8.85 มม.

 

 

Royal Oak Offshore Diver

เวอร์ชั่นสีสันใหม่ของรุ่นไดเวอร์

 RO Diver Color 1

เวอร์ชั่นใหม่ของนาฬิกาดำน้ำจากตระกูล Royal Oak ในปีนี้ มากับห้าคอมบิเนชั่นสีสันใหม่ ซึ่งทั้งหมดก็ยังคงใช้ตัวเรือนขนาด 42 มม. หนา 14.1 มม. พร้อมฝาหลังผนักกระจกแซฟไฟร์ ซึ่งกันน้ำได้ 300 เมตร และแสดงเวลาแบบสามเข็มพร้อมฟังก์ชั่นวันที่ด้วยกลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ คาลิเบอร์ 3120 ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 60 ชั่วโมง รวมไปถึงลักษณะของหน้าปัดลาย เมกา ตาปิสเซอรี และวงขอบหน้าปัดแบบหมุนได้ทิศทางเดียวด้วยเม็ดมะยม และจับคู่มากับสายยาง เช่นเดียวกับเวอร์ชั่นก่อนๆ

 

RO Diver Color 2

 

RO Diver Color 3

 

สีสันใหม่ทั้งห้านั้น จะมาในโทนธรรมชาติที่อ่อนละมุนตากว่าเวอร์ชั่นสีสันสดใสสไตล์นีออนของปี 2017 ที่ผ่านมา แต่ยังคงมีหลากหลายเฉดสีสัน นั่นก็คือ แบบหน้าปัดสีม่วง (Ref. 15710ST.OO.A077CA.01), สีเขียวกากี (Ref. 15710ST.OO.A052CA.01), สีเบจ (Ref. 15710ST.OO.A085CA.01), สีเทอร์ควอยซ์ (Ref. 15710ST.OO.A032CA.01) ซึ่ง 4 เวอร์ชั่นนี้จะมากับตัวเรือนสตีลคู่กับสายยางสีเดียวกับหน้าปัด

 

RO Diver PG Grey 1 

RO Diver PG Grey 2

 

ส่วนเวอร์ชั่นที่ 5 จะเป็นแบบทูโทน ที่ใช้ตัวเรือนพิ้งค์โกลด์ ร่วมกับขอบตัวเรือนและข้อยึดสายวัสดุไทเทเนี่ยม และใช้เม็ดมะยมเป็นวัสดุเซรามิกสีเทา เข้ากับพื้นหน้าปัดและสายยางที่ใช้เป็นสีเทาเช่นกัน ขณะที่หลักชั่วโมงและเข็มใช้เป็นทองคำสีเดียวกับตัวเรือน

 

 

Royal Oak Double Balance Wheel Openworked

รุ่นใหม่ของโอเพ่นเวิร์ค ในตัวเรือนขนาดเล็ก 37 มม.

dc4e1d46a9dd6a4251db77ae59101714 RO Openworked

 

 

RO Openworked Double Balance Wheel WG1

 

RO Openworked Double Balance Wheel WG2

 

RO Openworked Double Balance Wheel PG2

 

เวอร์ชั่นใหม่ของ Royal Oak แบบกลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ โครงสร้างสเกเลตัน คาลิเบอร์ 3132 ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 45 ชั่วโมง ที่ควบคุมการทำงานด้วยบาลานซ์วีลคู่ สิทธิบัตรของ AP รุ่นนี้ เปิดตัวออกมา 2 เวอร์ชั่น คือ เวอร์ชั่นไวท์โกลด์ที่บนผิวตัวเรือนและสายถูกตอกสลักเป็นรอยอย่างละเอียดด้วยเทคนิค ฟรอสต์ (15466BC.GG.1259BC.01) และเวอร์ชั่นตัวเรือนและสายพิ้งค์โกลด์ (Ref. 154670OR.OO.1256OR.01) ที่สำคัญก็คือ แทนที่จะใช้ตัวเรือนขนาด 41 มม. (ทั้งแบบวัสดุสตีล และวัสดุพิ้งค์โกลด์) เหมือนกับ Royal Oak Double Balance Wheel Openworked ที่ออกมาครั้งแรกเมื่อปี 2016 ตัวเรือนของทั้งสองเวอร์ชั่นใหม่นี้กลับใช้เป็นขนาด 37 มม. หนา 9.98 มม. แทน ซึ่งก็เป็นขนาดที่ทำให้คุณผู้หญิงสามารถสวมใส่ได้ด้วย ส่วนวงขอบหน้าปัดเคลือบด้วยโรเดียม และใช้ชิ้นหลักชั่วโมงกับเข็มซึ่งแต้มสารเรืองแสงมาให้พร้อม เป็นพิ้งค์โกลด์ ทั้ง 2 เวอร์ชั่น

 

 

Royal Oak Frosted Gold

สองเวอร์ชั่นสีหน้าปัดใหม่ของรุ่นฟรอสต์โกลด์

 RO Frosted PGRO Frosted WG Black

ตั้งแต่เปิดตัวสู่สายตาเมื่อปลายปี 2016 เป็นต้นมา Royal Oak Frosted Gold ก็ทำให้คนรักนาฬิกาทั่วโลกหลงเสน่ห์ความงามของการตกแต่งด้วยเทคนิคการตอกโลหะอันเก่าแก่บนผิวตัวเรือนและสายจากฝีมือของช่างอัญมณีนาม Carolina Bucci มาในปีนี้ทาง AP จึงได้เพิ่มเติมเวอร์ชั่นใหม่อีก 2 เวอร์ชั่น นั่นก็คือ เวอร์ชั่นพิ้งค์โกลด์ที่มากับหน้าปัดสีพิ้งค์โกลด์ และเวอร์ชั่นไวท์โกลด์ที่มากับหน้าปัดสีดำ โดยมีให้เลือกทั้งในแบบ 37 มม. กลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ คาลิเบอร์ 3120 และแบบ 33 มม. กลไกควอตซ์ คาลิเบอร์ 2713 เหมือนเช่นเดิม

 

 

Royal Oak Concept Flying Tourbillon GMT (Ref. 26589IO.OO.D002CA.01)

 

Audemars Piguet Royal Oak Concept Flying Tourbillon GMT 5 

 

 

นี่คือรุ่นใหม่จากคอลเลคชั่น Royal Oak Concept อันเป็น Royal Oak แบบดีไซน์ล้ำทั้งรูปลักษณ์ภายนอกและกลไก โดยรุ่น Royal Oak Concept Flying Tourbillon GMT นี้มากับตัวเรือนไทเทเนี่ยมผิวแซนด์บลาสต์ขนาดใหญ่ถึง 44 มม. หนา 16.06 มม. ในดีไซน์ตามแบบฉบับของซีรี่ส์คอนเซ็ปต์ พร้อมขอบตัวเรือนเซรามิกสีดำ และดีไซน์ของปุ่มกดปรับฟังก์ชั่นจีเอ็มทีที่เปลี่ยนจากปุ่มกลมขนาดย่อมมาใช้เป็นลักษณะทรงเหลี่ยมใหญ่โตทะมัดทะแมงคล้ายกับปุ่มกดของ Royal Oak Offshore บางรุ่น ทั้งยังสามารถกันน้ำได้ถึงระดับ 100 เมตรอีกต่างหาก โดยสวมคู่มากับสายยางสีดำ

 

Audemars Piguet Royal Oak Concept Flying Tourbillon GMT 3

 

Audemars Piguet Royal Oak Concept Flying Tourbillon GMT 2

 

Audemars Piguet Royal Oak Concept Flying Tourbillon GMT 4

 

กลไกไขลาน อินเฮ้าส์ ฟลายอิ้งตูร์บิยอง พร้อมฟังก์ชั่นจีเอ็มที คาลิเบอร์ 2954 ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง โครงสร้างแบบสเกเลตัน ที่ใช้กับรุ่นนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่พลังงานสำรองซึ่งมีมาให้อย่างล้นเหลือถึง 237 ชั่วโมง หรือเกือบ 10 วันกันเลย จุดเปลี่ยนแปลงอีกจุดหนึ่งเมื่อเทียบกับรุ่นเดิมก็คือ การเปลี่ยนจากบริดจ์วัสดุเซรามิกมาเป็นวัสดุไทเทเนี่ยมผิวแซนด์บลาสต์สีดำ ทั้งยังมีการแต่งขอบด้านในด้วยสีพิ้งค์โกลด์เพิ่มความหรูแบบพองามซึ่งก็เข้ากับสีพิ้งค์โกลด์ของโลโก้ และสัญลักษณ์อักษรกับลูกศรด้วย โดยอ่านค่าเวลา GMT ได้จากจานดิสก์ ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกา ซึ่งแสดงค่าแบบ 24 ชั่วโมงให้ทราบโดยใช้จานดิสก์ 12 ชั่วโมงบอกเวลาร่วมกับแผ่นแถบขาว-ดำเพื่อบอกว่าเป็นกลางวัน/กลางคืน และบอกตำแหน่งสถานะของเม็ดมะยมอยู่ในกรอบที่ 6 นาฬิกา ส่วนเข็มแสดงเวลาจะเป็นวัสดุไวท์โกลด์ชี้ไปยังสเกลบนขอบหน้าปัดสีดำ

 

Audemars Piguet Royal Oak Concept Flying Tourbillon GMT 1 

 

By: Viracharn T.