บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ - Tourbillon Y01 นาฬิกากลไกตูร์บิยองรุ่นแรก ของ CITIZEN แห่งญี่ปุ่น

 

ในช่วงกลางปี 2017 ที่ผ่านมา หนึ่งในผู้ผลิตนาฬิกาชั้นนำแห่งประเทศญี่ปุ่น CITIZEN ได้ผลิตนาฬิกาจักรกลที่ใช้กลไกระดับสูง ซึ่งควบคุมการทำงานด้วยตูร์บิยอง ขึ้นมา ซึ่งนับว่าเป็นนาฬิกาแบบตูร์บิยองรุ่นแรกที่ CITIZEN ผลิตขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า Tourbillon Y01 (Ref. NA2000-05A)

 

การผลิตนาฬิการุ่นนี้ขึ้นมา นับว่าสร้างความแปลกใจให้กับวงการนาฬิกาโลกได้ไม่น้อย โดยเฉพาะในแง่ของเหตุผลว่าทำไมทาง CITIZEN จึงต้องผลิตออกมาจำหน่าย และเมื่อผลิตออกมาแล้ว ทำไมถึงไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์อย่างแพร่หลายสู่การรับรู้ของชาวโลก หากแต่ดูเหมือนว่าจะรู้กันแต่ในตลาดญี่ปุ่นเท่านั้นเอง

 

Citizen Y01 1

 

 

ที่จริงแล้ว กลไกตูร์บิยองที่ใช้กับนาฬิการุ่นนี้ ถูกพัฒนาขึ้นมาก่อนหน้านี้และมีการเปิดตัวไปแล้วที่กรุงโตเกียว เมื่อปี 2014 โดยทาง CITIZEN แถลงว่ากลไกเครื่องนี้เป็นผลงานการออกแบบและผลิตขึ้นในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเอง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทาง CITIZEN เค้ากำลังคิดอะไรอยู่ เพราะที่ผ่านมาพวกเขาก็เน้นแต่การผลิตกลไก อีโค-ไดรฟ์ พลังงานแสง กับเทคโนโลยีเชื่อมต่อสัญญาณเวลากับ เรดิโอ-เวฟ และกับระบบดาวเทียมจีพีเอส เป็นหลัก และก็เพิ่งออกไลน์ใหม่เป็นคอลเลคชั่น เมคานิคอล ให้กับซีรี่ส์ Campanola เมื่อปี 2014 โดยใช้กลไกอัตโนมัติ ซึ่งออกแบบและผลิตโดยโรงงาน La Joux-Perret ในสวิส (ซึ่ง CITIZEN ซื้อกิจการมาตั้งแต่ปี 2012) แต่ส่งมาประกอบเข้ากับนาฬิกาที่ประเทศญี่ปุ่น 

 

Citizen Y01 2

 

หรือการที่ CITIZEN ตัดสินใจสร้างนาฬิการุ่นนี้ขึ้นมานั้นอาจเกี่ยวเนื่องกับการที่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้พวกเขาได้เดินหน้าเข้าซื้อกิจการของแบรนด์นาฬิกาสวิสหลายแห่ง ทั้งแบรนด์หรูอย่าง Arnold & Son ในปี 2012 ซึ่งมาเป็นแพ็คพร้อมกับโรงงานผลิตกลไกชื่อดัง Manufacture La Joux-Perret และในปี 2016 ก็ซื้อกิจการของแบรนด์หรูอย่าง Ateliers deMonaco กับแบรนด์ระดับเริ่มจะหรูอย่าง Frederique Constant และ Alpina ซึ่งอยู่ภายใต้กลุ่มบริษัทเดียวกัน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็เป็นเจ้าของแบรนด์นาฬิกาอเมริกันชื่อดังอย่าง Bulova มาตั้งแต่ปี 2008 แล้ว แต่เมื่อพิจารณากิจการที่ CITIZEN ถือครองอยู่ทั้งหมดนี้เมื่อรวมเข้ากับโรงงานผลิตกลไก Miyota ของญี่ปุ่นซึ่ง Citizen เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่แล้ว ก็น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า เป้าประสงค์ของพวกเขาคืออะไร หรือการผลิตนาฬิการุ่นนี้ขึ้นมาก็เพื่อบอกเป็นนัยให้รู้ว่า CITIZEN ในปัจจุบันนั้นมีศักยภาพมากแค่ไหน เพราะด้วยทรัพยากรที่ครอบครองอยู่นั้นพร้อมเสียยิ่งกว่าพร้อมทั้งในด้านโนวฮาวและด้านการผลิตชิ้นส่วนชั้นยอด หรือจะเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีที่ยอมกันไม่ได้เพราะผู้ผลิตนาฬิการายสำคัญของญี่ปุ่นอย่าง SEIKO ก็เพิ่งผลิตนาฬิกาตูร์บิยองรุ่นแรกของตนขึ้นมาเมื่อปี 2016 ภายใต้ซีรี่ส์ CREDOR นั่นก็คือรุ่น Fugaku Tourbillon ที่สร้างขึ้นแบบ ลิมิเต็ด เอดิชั่น ในจำนวนจำกัดแค่ 8 เรือน (ตั้งราคาไว้ถึง 50 ล้านเยน เพราะรวมค่าฝีมือของงานตกแต่งสุดวิจิตรทั้งแซฟไฟร์สีน้ำเงิน งานสลักทองคำ และงานศิลปะแล็กเกอร์เทคนิคโบราณ รวมถึงตัวเรือนวัสดุแพลตินั่ม) ซึ่งก็เรียกได้ว่าน้อยมากแล้ว หากแต่ว่าทาง CITIZEN กลับผลิตนาฬิกา Y01 Tourbillon รุ่นนี้ขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่านั้นอีก คือ ผลิตขึ้นแค่ 2 เรือนเท่านั้นเอง โดยตั้งราคาจำหน่ายเอาไว้ที่ 10 ล้านเยน (ยังไม่รวมภาษี) และขายที่บูติกนาฬิกาหรูของห้างสรรพสินค้าไดมารูในกรุงโตเกียว โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองวาระครบ 300 ปีของห้างไดมารู ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1717 และถ้า CITIZEN ไม่ทำการผลิตเพิ่มขึ้นมาอีกก็จะทำให้กลายเป็นนาฬิกาเรือนประวัติศาสตร์ที่หายากที่สุดอีกรุ่นหนึ่งเลยทีเดียว

 

Citizen Y01 4

 

เมื่อพินิจดูแล้วเห็นได้ว่า รูปแบบของระบบการทำงานของกลไก Y01 เครื่องนี้ ยังคงเป็นไปในลักษณะเดียวกับกลไกตูร์บิยองชั้นเลิศของผู้ผลิตในสวิส อันรวมไปถึงรูปแบบการตกแต่งแต่งบนบริดจ์ที่มีลักษณะคล้ายลาย โค้ต เดอ เชอแนฟ ด้วย โดยชุดตูร์บิยองนั้นเป็นแบบยึดประกบด้วยบริดจ์ทั้งด้านบนและด้านล่างตามแบบ ตูร์บิยองดั้งเดิม ไม่ใช่แบบฟลายอิ้ง และจัดวางไว้ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ให้มองเห็นกันได้ชัดๆ จากช่องกลมขนาดใหญ่ทางด้านหน้า โดยทำงานที่ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง และสามารถสำรองพลังงานได้นานถึง 100 ชั่วโมงจากการขึ้นลานด้วยมือ (กลไกตูร์บิยอง คาลิเบอร์ 6830 ของ SEIKO เป็นแบบขึ้นลานด้วยมือ ทำงานที่ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมงเช่นกัน แต่ให้กำลังสำรองได้เพียง 37 ชั่วโมง) ส่วนการแสดงเวลานั้นกระทำด้วยเข็มชั่วโมงกับนาทีที่ติดตั้งอยู่กึ่งกลางของหน้าปัด ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามลักษณะปกติของนาฬิกาตูร์บิยองรูปแบบมาตรฐาน ไม่ใช่แบบเฉพาะตัวอย่างที่พบในกลไกตูร์บิยองของ Arnold & Son

 

Citizen Y01 5

 

และยี่ง CITIZEN เลือกที่จะบรรจุกลไกเครื่องนี้ในตัวเรือนวัสดุไวท์โกลด์ ขนาด 42 มม. หนา 12.2 มม. ที่ดีไซน์มาแบบคลาสสิก บวกกับหน้าปัดพื้นสีขาวร่วมกับแถบวงแหวนสีดำซึ่งรังสรรค์ขึ้นด้วยการเคลือบอีนาเมลเทคนิคคลอยโซนเน ล้อมด้วยวงขอบหน้าปัดสีเงินขัดลาย และแท่งหลักชั่วโมงกับเข็มสามเหลี่ยมสีเงินดีไซน์เรียบหรู สวมคู่มากับสายหนังจระเข้สีดำคัตติ้งเนี๊ยบ ก็ยิ่งทำให้ดูราวกับว่าเป็นนาฬิการะดับสูงจากสวิส ซึ่งนี่ก็อาจเป็นเหตุผลที่ต้องพิมพ์ชื่อแบรนด์ CITIZEN พร้อมข้อความว่า DESIGNED & MANUFACTURED IN TOKYO (ออกแบบและผลิตขึ้นในกรุงโตเกียว) ให้เห็นกันชัดๆ บนหน้าปัด และสลักชื่อแบรนด์กับข้อความ TOKYO JAPAN ให้เห็นกันชัดๆ ลงบนเพลทกลไกซึ่งมองเห็นได้อย่างชัดเจนผ่านกระจกแซฟไฟร์ใสบนฝาหลัง

 

Citizen Y01 3

 

By: Viracharn T.

 

ข้อมูลจาก: www.wwdjapan.com & watchesbysjx.com