IAMWATCH GRAND PRIX 2017 นาฬิกาสุดประทับใจแห่งปี 2017

 

ปี 2017 ที่เพิ่งผ่านพ้นมานี้เป็นปีแรกที่ทีมงาน IAMWATCH ในฐานะสื่อมวลชนด้านนาฬิกาอยากนำเสนอนาฬิการุ่นที่เราประทับใจที่สุดแห่งปี โดยจะคัดสรรจากเฉพาะบรรดานาฬิกาแบรนด์ต่างๆ ที่เปิดตัวในปี 2017 ด้วยการแยกนาฬิกาออกเป็นประเภทต่างๆ ตามลักษณะและฟังก์ชั่นต่างๆ หลายประเภทด้วยกัน ซึ่งเราขอเรียกกิจกรรมนี้ของเราว่า IAMWATCH GRAND PRIX ครับ

 

ขั้นตอนการเลือกนาฬิกาของเราจะเริ่มจากการคัดเลือกรุ่นที่เราเห็นว่าน่าสนใจออกมาจำนวนหนึ่งเพื่อเป็น Pre-selection ก่อน จากนั้นชาวคณะของเราก็จะโหวตเลือกรุ่นที่ประทับใจมากที่สุดมาเป็น OUR PICK ของแต่ละประเภท แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่านาฬิกาที่เราเลือกจะเป็นนาฬิกาที่ดีเลิศเลอที่สุดนะครับ เพราะเป็นแค่ความชื่นชอบโดยส่วนตัวของชาวเราเท่านั้น ซึ่งอาจเหมือนหรือต่างไปจากคุณผู้อ่านก็ได้ และรายนามต่อไปนี้ก็คือนาฬิกาที่เราเลือกให้เป็นนาฬิกาแห่งปี 2017 ของแต่ละประเภท

 

นาฬิกาแนวคลาสสิกร่วมสมัย

 

ULYSSE NARDIN Classico Manufacture “Grand Feu”

 

เหตุผล: เป็นนาฬิกาเดรสวอตช์สไตล์คลาสสิกเรียบง่าย แต่มีเสน่ห์สวยงามด้วยหน้าปัดสีน้ำเงินใสเย้ายวนตาซึ่งมองทะลุเห็นถึงลวดลายบนพื้นหน้าปัด อันเป็นการรังสรรค์ด้วยการเคลือบอีนาเมลโดยใช้เทคนิค “กรอง เฟอ” อันเป็นเทคนิคเก่าแก่ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 17 ซึ่งต้องอาศัยทักษะและความชำนาญเป็นอย่างยิ่งในการสร้างงาน และผู้ลงมือกระทำให้กับนาฬิการุ่นนี้ก็คือ Donzé Cadrans ผู้สร้างสรรค์ศิลปะอีนาเมลผู้โด่งดังซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Ulysse Nardin เอง

01 UN Classico Manufacture Grand Feu

 

นอกจากนี้ยังมากับตัวเรือนวัสดุสตีล ซึ่งทำให้ทำราคาออกมาได้อย่างน่าสนใจอย่างยิ่ง ทั้งยังใช้กลไกอัตโนมัติอินเฮ้าส์ ที่มีแองเคอร์เอสเคปเม้นท์ กับแฮร์สปริง เป็นวัสดุซิลิเซียม ซึ่งทำงานได้อย่างแม่นยำ และมีความทนทานเป็นเลิศ อีกต่างหาก ส่วนฟังก์ชั่นการใช้งานก็สมบูรณ์เพียบพร้อมโดยเป็นแบบแสดงวินาทีด้วยเข็มขนาดเล็ก และมีฟังก์ชั่นวันที่ซึ่งแสดงผ่านช่องกลมขนาดพอเหมาะมองเห็นได้ชัดเจนและลงตัวอยู่ในวงหน้าปัดวินาที

 

 

นาฬิกาแนวคลาสสิกร่วมสมัยที่มาพร้อมฟังก์ชั่นเพิ่มเติม

 

A. LANGE & SӦHNE Lange 1 Moonphase

 

เหตุผล: ด้วยความยอดเยี่ยมและสวยงามเหมือนเช่นที่เคยเป็น แต่ได้ทำการเสริมความเป็นเลิศให้ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้นด้วยการเปลี่ยนมาใช้กลไกไขลานอินเฮ้าส์ เครื่องใหม่ รหัส L121.3 ซึ่งปรับแต่งมาจากพื้นฐานกลไกเครื่องใหม่ของรุ่น Lange 1 ซึ่งนอกจากความสามารถในการให้กำลังสำรองได้นานถึง 72 ชั่วโมง และมีฟังก์ชั่นแสดงวันที่แบบสองหลักด้วยตัวเลขขนาดใหญ่เคลื่อนขยับแบบจัมปิ้งปรับตั้งสะดวกด้วยปุ่มกด กับฟังก์ชั่นแสดงกำลังสำรองด้วยเข็ม ยังมากับฟังก์ชั่นแสดงมูนเฟสที่ออกแบบขึ้นมาใหม่โดยผนวกฟังก์ชั่นแสดงกลางวัน/กลางคืนเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียน ด้วยการแยกชิ้นพระจันทร์กับจานดิสก์ออกจากกัน โดยชิ้นพระจันทร์ทองคำจะเคลื่อนแสดงอยู่ด้านหน้าจานดิสก์ทองคำซึ่งทำหน้าที่แสดงกลางวัน/กลางคืน โดยเคลือบเป็นสีฟ้าใสในครึ่งของกลางวัน และไล่เฉดมาเป็นสีน้ำเงินพร้อมหมู่ดวงดาวที่ตัดอย่างคมกริบด้วยเลเซอร์ในครึ่งของกลางคืน

 

02 Lange 1 Moonphase PG

02 Lange 1 Moonphase WG02 Lange 1 Moonphase PT

เจเนอเรชั่นใหม่ของ Lange 1 Moonphase เปิดตัวมาพร้อมกัน 3 วัสดุ คือ แพลตินั่ม คู่กับหน้าปัดเคลือบโรเดียม, พิ้งค์โกลด์ คู่กับหน้าปัดสิเงิน และไวท์โกลด์ คู่กับหน้าปัดสีดำ

 

 

นาฬิกาแบบโอเพ่นเวิร์คที่แสดงให้เห็นความงามของจักรกล

 

SPEAKE-MARIN J-Class One & Two 42 mm

 

เหตุผล: เป็นนาฬิกาดีไซน์คลาสสิกที่ออกแบบขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ซึ่งทั้งดีไซน์ของตัวเรือน หน้าปัด และกลไก นั้นเหมือนเป็นการออกแบบมาเพื่อกันและกันอย่างแท้จริง ดูสอดคล้องกันไปหมด นับเป็นความเพียรพยายามร่วมกันอย่างยอดเยี่ยมของฝ่ายออกแบบ ฝ่ายเทคนิค และนักประดิษฐ์นาฬิกา จึงสร้างนาฬิกาเช่นนี้ออกมาได้ และก็นับเป็นครั้งแรกของคอลเลคชั่น J-Class ที่ได้ใช้กลไกอินเฮ้าส์ แถมยังเป็นกลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ ขึ้นลานด้วยโรเตอร์ขนาดเล็ก กำลังสำรอง 52 ชั่วโมง ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่เพื่อนาฬิการุ่นนี้โดยเฉพาะอีกต่างหาก ทั้งยังออกแบบโครงสร้างและรูปแบบการตกแต่งกลไกให้เข้ากับดีไซน์ในภาพรวมได้อย่างมีชั้นเชิงและมีมิติด้วยการวางชิ้นส่วนต่างๆ ลดหลั่นกันเป็นระดับ และยังเด่นด้วยความบางของตัวกลไกอันเป็นผลมาจากการออกแบบให้ตัวโรเตอร์มีรัศมีการแกว่งอยู่ในช่องของเพลทกลไก

 

13 ONE AND TWO 42RG

 

13 ONE AND TWO 42TI

 

แม้จะเป็นการออกแบบทุกชิ้นส่วนขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของแบรนด์ไว้ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นตัวเรือนแบบ “พิคคาดิลลี” ที่ออกแบบสัดส่วนใหม่ เม็ดมะยมทรงเพชรขนาดใหญ่ และรูปทรงของเข็มชั่วโมงกับนาที นาฬิการุ่นนี้เปิดตัวมาใน 2 วัสดุ คือ เร้ดโกลด์ กับไวท์โกลด์ ซึ่งแต่ละวัสดุก็จะมี 2 ขนาดตัวเรือนให้เลือกคือ 42 กับ 38 มม. แต่รุ่นที่เรามองว่ามีสัดส่วนที่ลงตัวและเหมาะสมกับการใช้งานตามรูปแบบของนาฬิกาก็คือ ขนาด 42 มม. ครับ

 

 

นาฬิกาสไตล์สปอร์ตหรู

 

URWERK UR 105 CT Streamliner

 

เหตุผล: หนึ่ง) เป็นรุ่นใหม่ของตระกูล UR-105 ที่ตั้งใจสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นบันทึกแห่งความทรงจำในวาระครบ 20 ปีของการก่อตั้ง Urwerk ในปีนี้ สอง) เป็นการออกแบบลักษณะตัวเรือนและกลไกขึ้นมาใหม่ ด้วยคอนเซ็ปต์ อาร์ตเดโค ร่วมกับ มินิมัลลิสต์ ซึ่งเน้นเรขาคณิตเชิงมุม และการจัดวางแบบสมมาตร กับแนวเส้นริ้วที่คมชัดมีมิติ เป็นหลัก สาม) เด่นด้วยชิ้นฝาครอบหน้าปัดที่ยกเปิดขึ้นมาได้เมื่อเลื่อนปลดล็อคที่แป้นสไลด์ เพื่อให้มองเห็นกลไกได้อย่างชัดเจน สี่) เพิ่มประโยชน์การใช้งานด้วยการเพิ่มฟังก์ชั่นแสดงวินาทีกับแสดงกำลังสำรองเข้ามา บนพื้นฐานความยอดเยี่ยมของกลไกอัตโนมัติเครื่องเดิม ซึ่งมีระบบปรับเลือกโหมดการขึ้นลานให้เหมาะกับการใช้งานในแต่ละขณะได้ด้วยการโยกก้านที่ฝาหลัง โดยปรับได้ 3 โหมด คือ FULL ขึ้นลานปกติ, RED ลดระดับการขึ้นลานด้วยแรงเสียดทานของอากาศภายในห้องกลไกซึ่งเกิดจากการทำงานของใบพัดเทอร์ไบน์คู่ เพื่อป้องกันไม่ให้ขึ้นลานมากจนเกินไป และ STOP ซึ่งจะปลดการขึ้นลานอัตโนมัติออกจากระบบเพื่อให้ขึ้นลานได้ด้วยเม็ดมะยมเพียงอย่างเดียว

 

03 UR105 CT Iron

 

03 UR 105 CT Black

 

นาฬิการุ่นนี้เปิดตัวมาพร้อมกัน 2 เอดิชั่น ผลิตแบบจำนวนจำกัดเอดิชั่นละ 50 เรือน คือ เอดิชั่น Iron ที่ใช้ตัวเรือนชิ้นบนเป็นสตีลขัดเงา และใช้ตัวเลขกับสเกลสีขาว กับเอดิชั่น Black ที่ใช้ตัวเรือนชิ้นบนเป็นสตีลเคลือบพีวีดีสีดำ และใช้ตัวเลขกับสเกลเป็นสีเขียวเหลือง ส่วนตัวเรือนชิ้นหลักของทั้งสอง จะเป็นไทเทเนี่ยมเคลือบสีดำเช่นเดียวกัน

 

 

นาฬิกาสไตล์สปอร์ต

 

RESSENCE Type 12

 

เหตุผล: ที่เราเลือก ไทพ์ วัน สแควร์ รุ่นนี้ก็เพราะความโดดเด่นที่แตกต่างไปจากนาฬิกา Ressence รุ่นอื่นๆ จากการใช้ตัวเรือนรูปทรงคูชั่น และมีขนาดที่ทั้งเล็กและบางกว่า ซึ่งเหมาะกับข้อมือเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าจะสำหรับผู้ชายหรือผู้หญิง ทั้งยังเป็นรุ่นแรกที่ใช้ตัวเรือนเป็นวัสดุสตีลด้วย (รุ่นอื่นๆ เป็นไทเทเนี่ยม) ส่วนรูปแบบการแสดงเวลาก็ยังคงเป็นแบบเฉพาะตัวของ Ressence นั่นก็คือใช้การเคลื่อนโคจรของวงหน้าปัดจำนวนหลายแผ่น หมุนวนไปโดยรอบและประสานกันแสดงค่าตามหน้าที่ของตนเอง โดยสำหรับรุ่นนี้จะแสดงชั่วโมง นาที วินาที และวันของสัปดาห์ ซึ่งปรับตั้งด้วยการยกหูบานพับบนฝาหลังขึ้นมาหมุน ซึ่งติดตั้งเข้ากับกลไกอัตโนมัติ ETA2824/2 ที่ทำการปรับแต่งมาโดยเฉพาะ

นาฬิการุ่นนี้เปิดตัวมาพร้อมกัน 4 เวอร์ชั่น คือ Type 12N Night Blue หน้าปัดสีน้ำเงิน, Type 12S Silver หน้าปัดสีเงิน, Type 12R Ruthenium หน้าปัดสีเทา และ Type 12CH Champagne หน้าปัดสีแชมเปญ โดยมีสายหนังหลากสีให้เลือกจับคู่เปลี่ยนบุคลิก

 

04 TYPE1N

 

04 TYPE1S

 

 

นาฬิกาดำน้ำ

 

GRAND SEIKO The Hi-beat 36000 Professional 600m Diver’s

 

เหตุผล: นี่คือนาฬิกาดำน้ำระดับมืออาชีพรุ่นแรกของ Grand Seiko และเป็นหนึ่งในรุ่นแรกที่ Seiko ยก Grand Seiko ขึ้นมาเป็นแบรนด์หลักโดยไม่ต้องมีชื่อ Seiko มากำกับอีกต่อไป และด้วยความที่เป็นนาฬิการะดับสูงของ Seiko นาฬิการุ่นนี้จึงมาพร้อมกับความเป็นที่สุดในทุกด้าน ทั้งวัสดุ กลไก และการขัดแต่งตกแต่ง ที่ดีที่สุดจากฝีมือของผู้ผลิตแดนอาทิตย์อุทัยรายนี้

05 SBGH25505 SBGH257

 

แม้ขนาดตัวเรือนจะใหญ่ถึงเกือบ 47 มม. และหนา 17 มม.ซึ่งก็สมกับการเป็นนาฬิกาดำน้ำระดับโปรดีอยู่ แต่กลับมีน้ำหนักเบากว่าที่คาดจากการใช้วัสดุไทเทเนี่ยมมาทำตัวเรือนและสาย บวกกับการขัดเงาและตกแต่งเหลี่ยมมุมด้วยเทคนิค “ซารัตสึ” ของ Seiko ก็ทำให้ผิวไทเทเนี่ยมมีผิวเรียบเนียนและสะท้อนแสงเป็นประกายงดงามอย่างยิ่ง ส่วนรูปลักษณ์โดยทั่วไปก็เป็นไปตามลักษณะที่นาฬิกาดำน้ำชั้นดีพึงเป็น ทั้งยังใช้พื้นหน้าปัดที่ทำผิวเป็นลายตารางละเอียดที่มีมิติล้ำลึกอีกต่างหาก ส่วนกลไกที่ใช้ก็เป็นแบบอัตโนมัติพร้อมฟังก์ชั่นวันที่ ซึ่งทำงานอย่างแม่นยำด้วยความถี่สูงถึง 36,000 ครั้งต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นกลไกที่คนรักนาฬิกาโปรดปราน

 

นาฬิกาดำน้ำรุ่นนี้เปิดตัวมาพร้อมกัน 2 เวอร์ชั่น คือ เวอร์ชั่น ลิมิเต็ด เอดิชั่น ผลิต 500 เรือน หน้าปัดสีน้ำเงิน หลักชั่วโมงและเข็มสีเงิน กับ เวอร์ชั่นปกติ หน้าปัดสีดำ หลักชั่วโมงสีทอง และเข็มชั่วโมงกับนาทีสีเงิน

 

 

นาฬิกาโครโนกราฟจับเวลา

 

ROLEX Oyster Perpetual Cosmograph Daytona

Ref.116518LN ตัวเรือนเยลโลว์โกลด์ ; Ref.116515LN ตัวเรือนเอเวอโรสโกลด์ ; Ref.116519LN ตัวเรือนไวท์โกลด์

 

เหตุผล: เวอร์ชั่นใหม่ของนาฬิกาโครโนกราฟระดับตำนานในตัวเรือนวัสดุทองคำ เปิดตัวมาพร้อมกัน 3 ชนิด คือ เยลโลว์โกลด์ ไวท์โกลด์ และเอเวอโรสโกลด์ ซึ่งนอกจากทั้งสามวัสดุทองคำจะมาพร้อมกับขอบตัวเรือน “เซราโครม เซรามิก สีดำ” แบบชิ้นเดียวซึ่งมีสเกลทาคีมิเตอร์เป็นสีเดียวกับตัวเรือนแล้ว ยังติดตั้งมากับสายสีดำชนิด “ออยสเตอร์เฟล็กซ์” ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ Rolex คิดค้นขึ้นมาด้วย โดยถือเป็นนาฬิการุ่นที่สองที่มีสายชนิดนี้ติดตั้งมาให้หลังจากเปิดตัวมาพร้อมกับ Yacht-Master ตัวเรือนเอเวอโรสโกลด์เมื่อปี 2015

 

06 Cosmograph Daytona 116518LN

 

สายแบบ “ออยสเตอร์เฟล็กซ์” นี้ ดูเผินๆ อาจเข้าใจว่าเหมือนสายยางทั่วๆ ไป แต่ที่จริงแล้วมันผ่านการคิดค้นมาอย่างพิถีพิถันโดยคำนึงถึงทั้งความกระชับสวมใส่สบาย ความทนทาน และน้ำหนักที่ต้องพอเหมาะ ซึ่งวัสดุยางที่เห็นจากภายนอกนั้นทำจากอีลาสโตเมอร์ที่ให้สัมผัสนุ่มสบายและออกแบบให้มีแถบรับข้อมืออยู่ทางด้านในเพื่อความกระชับในการสวมใส่ โดยภายในของอีลาสโตเมอร์นั้นจะมีแผ่นโลหะที่ยืดหยุ่นได้อยู่เพื่อเป็นโครงให้สายมีรูปทรงที่คงตัว และทาง Rolex ก็ได้จดสิทธิบัตรสายชนิดนี้ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนของตัวล็อคสายนั้นเป็นบานพับวัสดุเดียวกับตัวเรือน โดยเป็นแบบ “ออยสเตอร์ล็อค” ที่มากับระบบ “อีซี่ลิ้งค์” ซึ่งสามารถขยายระยะได้อีก 5 มม.

06 Cosmograph Daytona 116515LN

 

ในส่วนของหน้าปัดนั้นมีรูปแบบสีสันและการตกแต่งให้เลือกกันหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบโทนสีเดียวหรือแบบทูโทนสองสีที่คอนทราสต์กันระหว่างพื้นหน้าปัดกับพื้นเคาน์เตอร์ ขณะที่หลักชั่วโมงก็มีทั้งแบบแท่ง แบบเลขอารบิก และแบบประดับเพชรให้เลือกตามรสนิยมของแต่ละบุคคล

06 Cosmograph Daytona 116519LN

 

Daytona เวอร์ชั่นใหม่นี้ยังคงใช้ตัวเรือนขนาด 40 มม. ที่กันน้ำได้ถึงระดับ 100 เมตร เท่ากับเวอร์ชั่นอื่นๆ และบรรจุกลไกอัตโนมัติ อินเฮ้าส์ โครโนกราฟระบบคอลัมน์วีล จับเวลา 12 ชั่วโมง รหัส 4130 ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง แฮร์สปริงพาราโครม กำลังสำรอง 72 ชั่วโมง มาตรฐานความแม่นยำระดับ ซูเปอร์เลทีฟ โครโนมิเตอร์ ของ Rolex เหมือนเช่นเคย

 

 

นาฬิกาที่บอกเวลาได้มากกว่าหนึ่งไทม์โซน

 

MANUFACTURE ROYALE ADN

 

เหตุผล: ลำดับที่เก้าแห่งการสร้างสรรค์กลไกของนักประดิษฐ์นาฬิกาแห่ง Manufacture Royale ก็คือ กลไกไขลาน ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 80 ชั่วโมง รหัส MR09 ที่นำมาบรรจุเป็นครั้งแรกในนาฬิกา ADN รุ่นนี้ ซึ่งนอกจากจะมอบความเที่ยงตรงแม่นยำสูงสุดด้วยการควบคุมของจักรกลตูร์บิยองที่ออกแบบให้เป็นแบบฟลายอิ้ง และใช้เอสเคปเม้นท์วีลกับพาลเลทที่ทำจากซิลิคอนแล้ว ยังดีไซน์ให้สามารถแสดงเวลาได้ถึง 2 ไทม์โซนบน 2 หน้าปัดแยกกัน เท่านั้นยังไม่พอยังสร้างให้สามารถปรับตั้งเวลาของไทม์โซนที่สองได้ถึงระดับนาทีด้วย อีกทั้งหน้าปัดเวลาหลักยังเป็นการแสดงชั่วโมงแบบจัมปิ้งอาวร์อีกต่างหาก อีกความเด่นของกลไกนี้ก็คือโครงสร้างแบบสเกเลตันที่ขัดแต่งด้วยมืออย่างพิถีพิถันซึ่งตั้งใจสร้างให้เอื้อต่อการเป็นนาฬิกาแบบโอเพ่นเวิร์ค เรียกว่าสุดจริงๆ ในหมู่นาฬิกาฟังก์ชั่นทูไทม์โซนด้วยกัน

 

07 MR ADN BlackDLC Corbonne

 

ตัวเรือนขนาด 46 มม. หนา 11.72 มม. โครงสร้างซับซ้อนอุดมชิ้นส่วนอันเป็นที่อยู่ของสุดยอดกลไกเครื่องนี้เป็นการนำลักษณะตัวเรือนของรุ่น Opera และ Androgyne ซึ่งเป็นดีไซน์แบบ “สตีมพังค์” ในรูปแบบเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกับแบรนด์ใดมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ โดยได้ขัดเกลาส่วนโค้งให้มีความมนเพื่อให้ดูนุ่มนวลละมุนตากว่า 2 รุ่นที่กล่าวมา ยังผลให้ ADN ดูมีความสมัยใหม่ยิ่งขึ้น โดยเปิดตัวมาพร้อมกัน 2 เวอร์ชั่น คือ เวอร์ชั่นวัสดุสตีลล้วน กับเวอร์ชั่นวัสดุฟอร์จด์คาร์บอน ด้วยการผลิตแบบจำนวนจำกัดเพียงเวอร์ชั่นละ 28 เรือนเท่านั้นเอง

 

หน้าปัดเวลาหลักของ ADN ติดตั้งไว้ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา โดยเป็นการแสดงชั่วโมงแบบจัมปิ้งด้วยการเลื่อนจานดิสก์วงแหวนซึ่งจะเปิดช่องให้มองเห็นเลขหลักชั่วโมงบนพื้นวงชั่วโมงที่อยู่ข้างใต้ในตำแหน่งปกติที่คุ้นเคยกัน ร่วมกับการแสดงนาทีด้วยเข็มทรงดาบ ขณะที่วงหน้าปัดสำหรับเวลาที่สองซึ่งมีขนาดย่อมลงมาจะติดตั้งอยู่ที่ตำแหน่ง 4 นาฬิกา โดยแสดงค่าด้วยเข็มสั้นเข็มยาวให้อ่านค่าได้สะดวกซึ่งการปรับตั้งนั้นกระทำได้อย่างง่ายดายด้วยการดึงเม็ดมะยมขึ้นมาอยู่ในจังหวะที่สอง

 

07 MR ADN

 

ADN เวอร์ชั่นตัวเรือนสตีลล้วน ใช้กลไกเคลือบโรเดียม เพื่อเน้นความงามของโลหะอย่างเต็มที่ วงหน้าปัดใช้เป็นโทนสีเงินและใช้เข็มนาทีสีเงินชี้แสดงไปยังหลักและสเกลนาทีสีดำ ส่วนตัวเลขแสดงชั่วโมงใช้เป็นสีดำบนพื้นวงสีขาว สำหรับเข็มแสดงเวลาที่สองนั้นใช้เป็นสีน้ำเงินร่วมกับหลักชั่วโมงและสเกลสีขาวเพื่อสร้างความแตกต่างและทำให้อ่านค่าได้อย่างชัดเจน สวมคู่มากับสายยางสีดำ ส่วน ADN เวอร์ชั่นตัวเรือนฟอร์จด์คาร์บอน นั้นใช้วงขอบตัวเรือนเป็นวัสดุสตีลเคลือบดีแอลซีสีดำ โดยตัวกลไกถูกเคลือบ NAC ให้เป็นโทนสีเข้ม และใช้วงหน้าปัดกับเข็มเป็นสีดำร่วมกับตัวเลขและสเกลสีขาว ตกแต่งเข็มด้วยสีแดงและใช้พื้นวงแสดงชั่วโมงหลักเป็นสีแดง เสริมความเด่นด้วยกระจกฝาหลังแซฟไฟร์ย้อมสีแดง สวมคู่มากับสายยางสีแดง

 

 

นาฬิกาแนวรีเมค

 

TAG HEUER Autavia Calibre Heuer 02

 

เหตุผล: นาฬิการุ่นนี้เป็นการรื้อฟื้น Autavia อีกหนึ่งตำนานนาฬิกาโครโนกราฟของ Heuer ที่ถือกำเนิดตั้งแต่ปี 1962 ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การมีขอบตัวเรือนแบบหมุนได้ ขึ้นมาใหม่อีกครั้งโดยยึดรูปแบบจากรุ่นปี 1966 อันเป็นรุ่นที่ได้รับการโหวตสูงสุดกว่าห้าหมื่นเสียงโดยผู้คนทั่วโลกจากแคมเปญออนไลน์ Autavia Cup ที่จัดให้มีขึ้นเมื่อปี 2016 มาเป็นต้นฉบับ โดยเสริมลักษณะร่วมสมัยเข้าไปบางส่วนซึ่งก็รวมถึงการนำกลไกอินเฮ้าส์เครื่องใหม่มาเป็นขุมกำลังด้วย

 

รุ่นปี 1966 ซึ่งเป็นต้นฉบับของเอดิชั่นรีเมคนี้ เป็น Autavia รุ่น Mark 3 ที่มีชื่อเรียกในหมู่นักสะสมว่า “Rindt” อันมาจากชื่อ Jochen Rindt แชมป์รถสูตรหนึ่งผู้สวมใส่นาฬิการุ่นนี้ในสมัยนั้น ลักษณะเด่นของรุ่นนี้ก็คือ เป็นตัวเรือนแบบเจเนอเรชั่นที่สองของ Autavia ที่ใช้หน้าปัดสีดำร่วมกับวงเคาน์เตอร์สีขาวสามวง และใช้เข็มแบบตรง กับหลักชั่วโมงแบบแท่งสตีลขัดเงาพร้อมเคลือบสารเรืองแสง

 

08 TAG Heuer AUTAVIA 2017 STEEL STRAP 1

 

สำหรับรุ่นรีเมคนี้ ตัวเรือนสตีลถูกสร้างให้ใหญ่ขึ้นจาก 39 มม. ของรุ่นต้นแบบ มาเป็น 42 มม. พร้อมความสามารถในการกันน้ำได้ถึง 100 เมตร และผนึกฝาหลังด้วยกระจกแซฟไฟร์ เพื่อให้เหมาะกับยุคปัจจุบัน ขณะที่ชิ้นส่วนอื่นๆ นั้น มีลักษณะที่เห็นได้ชัดว่าคล้ายกับรุ่นต้นฉบับเป็นอย่างยิ่ง ทั้งขอบตัวเรือนพร้อมสเกล 12 ชั่วโมงบนแผ่นวงแหวนอลูมิเนียมสีดำที่สามารถหมุนได้สองทิศทาง ปุ่มกดทรงเห็ด เม็ดมะยมขนาดใหญ่ หน้าปัดสีดำพร้อมเคาน์เตอร์ลายสเนลด์สีขาวสามวง รูปแบบฟ้อนท์กับสเกลต่างๆ แท่งหลักชั่วโมงสตีล และโลโก้ Heuer แบบวินเทจ นอกจากนี้ยังขับเน้นความเป็นวินเทจเพิ่มเติมด้วยการใช้สารเรืองแสงซูเปอร์ลูมิโนว่าสีเบจที่เข็มกับตำแหน่งหลักชั่วโมง และดีไซน์สายสไตล์วินเทจซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบสายหนังวัวสีน้ำตาลเย็บด้ายสีน้ำตาลอ่อน และสายสตีล 7 แถวดีไซน์แบบเม็ดข้าวสไตล์ยุค 60s

 

08 TAG Heuer AUTAVIA 2017 STEEL STRAP08 TAG Heuer AUTAVIA 2017 LEATHER STRAP

 

อีกความเลิศของรุ่นรีเมคนี้ก็คือ ทางแบรนด์ตัดสินใจมอบกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟ อินเฮ้าส์ จับเวลา 12 ชั่วโมง กำลังสำรอง 80 ชั่วโมง เครื่องใหม่ รหัส Heuer-02 มาให้ใช้ ซึ่งสิ่งที่มีติดมาด้วยและทำให้บนหน้าปัดเกิดสิ่งแตกต่างไปจากรุ่นต้นฉบับก็คือ ฟังก์ชั่นวันที่ที่มีการเจาะหน้าต่างเอาไว้ในวงเคาน์เตอร์ตำแหน่ง 6 นาฬิกา และมีการระบุข้อความ “HEUER-02” เอาไว้เหนือช่องหน้าต่างวันที่

 

 

นาฬิกาสำหรับคุณผู้หญิง

 

AUDEMARS PIGUET Royal Oak Frosted Gold 37 mm

 

เหตุผล: เนื่องด้วยในปี 2017 ทาง AP ต้องการทำอะไรที่พิเศษแบบไม่เคยทำมาก่อนออกมาเพื่อเป็นบันทึกแห่งการเฉลิมฉลองวาระครบปีที่ 40 แห่งการถือกำเนิดของไอคอนนาฬิกา Royal Oak แบบสำหรับคุณผู้หญิง ซึ่งนาฬิกาแบบ “ฟรอสเต็ด โกลด์” ก็คือความพิเศษที่ว่านี้โดยผลิตออกมาทั้งในวัสดุไวท์โกลด์และในวัสดุพิ้งค์โกลด์ทั้งในส่วนของตัวเรือนและสาย โดยมีทั้งแบบตัวเรือนขนาด 37 มม. กลไกอัตโนมัติ และแบบตัวเรือนขนาด 33 มม. กลไกควอตซ์ ซึ่งรุ่นที่เราโหวตเลือกก็คือ แบบตัวเรือนขนาด 37 มม.

 

09 RO 15454OR GG 1259OR09 RO 15454BC GG 1259BC

 

ที่มาของชื่อ “ฟรอสเต็ด โกลด์” นั้น มาจากลักษณะประกายแวววาวยามต้องแสงของผิวตัวเรือนและสายทองคำ ซึ่งได้รับการตกแต่งด้วยเทคนิคการตกแต่งจิวเวลรี่อันเก่าแก่รูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า “เทคนิค ฟลอเรนทีน” อันเป็นการตอกผิวทองคำให้เป็นรอยประทับสุดละเอียด ซึ่งเป็นเทคนิคที่นักออกแบบจิวเวลรี่นาม Carolina Bucci นำมาปรับใช้กับผลงานเครื่องประดับของเธอมานานนับทศวรรษแล้ว โดยเธอใช้เครื่องมือที่มีส่วนปลายเป็นเพชรตอกลงบนผิวทองคำด้วยความประณีตพิถีพิถัน และด้วยความประทับใจในความงดงามแบบไม่เหมือนใครเช่นนี้ ทาง AP จึงมอบหมายให้เวิร์คช็อปของ Carolina เป็นผู้ลงมือตกแต่งนาฬิกา Royal Oak เอดิชั่นนี้ ซึ่งกว่าที่จะได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจก็ต้องทดลองทำแล้วทำอีกเป็นเวลานานหลายเดือน กว่าที่ช่างฝีมือของ Carolina และ AP จะได้รูปแบบการตกแต่งที่สวยงามลงตัวระหว่างรอยตอกและการขัดเงากับขัดซาตินที่บริเวณต่างๆ บนพื้นผิวทองคำของตัวเรือนและสาย

 

09 RO 15454OR GG 1259ORcloseup

 

Royal Oak Frosted Gold 37 mm ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติ ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 60 ชั่วโมง รหัส 3120 ซึ่งสามารถมองเห็นกลไกและโรเตอร์ทองคำ 22 กะรัต ได้จากกระจกแซฟไฟร์บนฝาหลัง กลไกเครื่องนี้แสดงเวลาด้วยเข็มทองคำสามเข็มพร้อมฟังก์ชั่นวันที่บนหน้าปัดลาย “กรองด์ ตาปิสซีรี่ย์” ที่ติดตั้งด้วยแท่งหลักชั่วโมงทองคำ ซึ่งมีการเคลือบสารเรืองแสงไว้ที่หลักชั่วโมงกับเข็มชั่วโมงและเข็มนาทีด้วย โดยในเวอร์ชั่นพิ้งค์โกลด์จะใช้หน้าปัดเป็นโทนสีเงิน ส่วนเวอร์ชั่นไวท์โกลด์จะใช้หน้าปัดเป็นโทนสีโรเดียมซึ่งมีความวาวมากกว่าเพื่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างหน้าปัดกับตัวเรือนและสาย

 

 

นาฬิกาตูร์บิยอง

 

MB&F HM7 ‘Aquapod’

 

เหตุผล: HM7 รุ่นนี้เป็นอีกครั้งที่ MB&F สร้างสรรค์งานดีไซน์ในลักษณะใหม่ๆ ออกมาสู่โลกนาฬิกา โดยคงไว้ซึ่งลายเซ็นของตนในการวางคอนเซ็ปต์การออกแบบตัวเรือนและกลไกให้สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังถือเป็นหนแรกที่ MB&F ทำนาฬิกาออกมาในสไตล์สปอร์ตแบบนาฬิกาดำน้ำแม้จะใช้ดำน้ำไม่ได้จริงๆ ก็ตาม (เพราะกันน้ำได้เพียงระดับ 50 เมตร แต่ถึงดำได้ก็คงไม่มีใครอยากนำไปลงน้ำแน่ๆ)

 

10 HM7 RG Front

 

แรงบันดาลใจในการออกแบบของ HM7 ก็คือ แมงกะพรุน สัตว์น้ำรูปพรรณสุดพิศวง ซึ่งเป็นไอเดียของ Maximilian Büsser ผู้เป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้งแบรนด์ โดยมอบหมายให้ Eric Giroud ดีไซเนอร์นาฬิกาผู้โด่งดังเป็นผู้ถ่ายทอดแนวคิดให้กลายมาเป็นเรือนจริง ส่วนกลไกนั้นเป็นฝีมือการพัฒนาของทีมงาน MB&F เอง โดยเป็นการออกแบบไปพร้อมกับดีไซน์ของนาฬิกา ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นกลไกตูร์บิยองที่มีโครงสร้างเป็นแบบแนวตั้ง โดยจัดวางตำแหน่งตูร์บิยองแบบฟลายอิ้งไว้ที่ระดับบนสุดของจุดศูนย์กลางภายใต้โดมโค้งของกระจกหน้าปัด และล้อมรอบด้วยโคนดิสก์วงแหวนสีดำ 2 ชุดสำหรับทำหน้าที่หมุนแสดงเวลาเป็นชั่วโมงกับนาทีให้อ่านค่า ณ ตำแหน่งขีดสเกลสีฟ้าที่พิมพ์อยู่ที่ด้านในของโดมกระจกหน้าปัด อีกทั้งยังมีการเคลือบสารเรืองแสงซูเปอร์ลูมิโนว่าเป็นตัวเลขกับสเกลบนตำแหน่งนาทีที่ศูนย์กับบนบริเวณโรเตอร์ และติดตั้งแผ่นเรืองแสง AGT (แอมเบียนท์ โกลว เทคโนโลยี) อีก 3 ชิ้นไว้รอบตูร์บิยอง เพื่อให้เปล่งแสงสีฟ้าเรืองรองในความมืดคล้ายกับการเรืองแสงของแมงกะพรุน

 

10 HM7 TiBlue Top

 

ตัวเรือนโครงสร้างซับซ้อนของ HM7 ออกแบบให้มีวงแหวนชั้นนอกล้อมรอบตัวเรือนชิ้นในเอาไว้ โดยวงแหวนรอบนอกนี้จะมีจานวงแหวนชั้นบนที่สามารถหมุนได้แบบทิศทางเดียวซึ่งติดตั้งแผ่นเซรามิกทรงโค้งและสลักสเกลนาทีด้วยเลเซอร์เอาไว้เพื่อให้มีลักษณะเป็นแบบนาฬิกาดำน้ำ ขนาดโดยรวมของตัวเรือนจึงใหญ่โตถึง 53.8 มม. ส่วนที่มีความหนาถึง 21.3 มม. นั้นก็เป็นเพราะใช้กระจกแซฟไฟร์ทรงโดมโค้งทั้งกับทางฝั่งด้านหน้าและด้านหลังของตัวเรือนนั่นเอง สายที่ให้มากับนาฬิกาจะเป็นวัสดุยางสีดำที่ทำจาก ฟลูโอโรคาร์บอน FKM 70 ชอร์ เอ อีลาสโตเมอร์ ซึ่งเป็นเกรดวัสดุที่ใช้กับเครื่องบิน

 

10 HM7 TiBlue Cover

 

กลไกอัตโนมัติ ความถี่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 72 ชั่วโมง เครื่องนี้ขึ้นลานด้วยโรเตอร์ไทเทเนี่ยมดีไซน์แบบก้านเขี้ยวทรงโค้งคล้ายกับหนวดของแมงกะพรุน ส่วนการขึ้นลานกับการปรับตั้งเวลานั้นจะกระทำด้วยเม็ดมะยมขนาดใหญ่คนละชุดกันโดยติดตั้งอยู่ที่ตำแหน่ง 9 กับ 3 นาฬิกา       จุดเด่นของกลไกชุดนี้คือ การออกแบบให้ชุดตูร์บิยอง โรเตอร์ บาร์เรล และการเคลื่อนแสดงเวลา มีแกนการเคลื่อนหมุนอยู่ที่จุดศูนย์กลางทั้งหมด

 

HM7 Aquapod เปิดตัวมาพร้อมกัน 2 เอดิชั่น คือ เอดิชั่นตัวเรือนไทเทเนี่ยม ที่มากับวงขอบตัวเรือนสีน้ำเงิน ผลิตจำนวนจำกัด 33 เรือน และเอดิชั่นตัวเรือนเร้ดโกลด์ ที่มากับวงขอบตัวเรือนสีดำ ผลิตจำนวนจำกัด 66 เรือน

 

 

นาฬิกาแบบปฏิทินรายปี (แอนนวล คาเลนดาร์)

 

A. LANGE & SÖHNE 1815 Annual Calendar

 

เหตุผล: เป็นนาฬิกาฟังก์ชั่นแอนนวลคาเลนดาร์ที่มีความลงตัวงดงามตามแบบฉบับนาฬิกาคลาสสิกทุกประการตั้งแต่รูปทรงของตัวเรือนขนาด 40 มม. หนา 10.0 มม. ที่ได้สัดส่วนพอดีพอเหมาะข้อมือ ไม่ใหญ่ไม่เล็กและไม่หนาไม่บางจนเกินไป รูปแบบการแสดงค่าแบบเข็มอนาล็อกล้วนร่วมกับการแสดงมูนเฟสผ่านช่องหน้าต่างในวงวินาที หน้าปัดสีเงิน เข็มแสดงเวลาบลูด์สตีล และดีไซน์ของฟ้อนต์ตัวเลขกับตัวอักษรสีดำบนหน้าปัดและสเกลนาทีแบบรางรถไฟ ทั้งหมดนี้นอกจากจะงดงามตามแบบฉบับนาฬิกาคลาสสิกแล้วยังมอบความชัดเจนในการอ่านค่าทุกค่าได้ดีมาก

 

11 ALS 238 032 PG

 

นาฬิการุ่นนี้นับเป็นนาฬิกาฟังก์ชั่นแอนนวลคาเลนดาร์รุ่นที่สองของแบรนด์ ซึ่งทางแบรนด์ก็ไม่ได้ทำอะไรง่ายๆ เพียงแค่นำเอากลไกอัตโนมัติ แอนนวลคาเลนดาร์ ซึ่งแสดงวันที่แบบเอ้าท์ไซส์เดทด้วยตัวเลขขนาดใหญ่สองหลักที่ใช้กับรุ่น Saxonia Annual Calendar มาใส่ในตัวเรือนแบบตระกูล 1815 หากแต่เป็นการพัฒนากลไกอินเฮ้าส์เครื่องใหม่รหัส L051.3 ขึ้นมา กลไกใหม่นี้เป็นแบบไขลาน กำลังสำรอง 72 ชั่วโมง ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง ที่แสดงค่าปฏิทินทั้งวันที่ วัน และเดือน ด้วยเข็มทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะดีไซน์คลาสสิกของตระกูล 1815 การปรับตั้งค่าปฏิทินของรุ่นนี้สามารถกระทำได้อย่างง่ายดายเพียงแค่กดปุ่ม ณ ตำแหน่ง 2 นาฬิกา ที่ซึ่งทุกๆ ค่า จะปรับเดินหน้าไปพร้อมกัน ส่วนการปรับตั้งแต่ละค่าแยกกันนั้นจะกระทำได้ด้วยแป้นกด 4 แป้นที่ฝังอยู่ด้านข้างของตัวเรือน นับเป็นกลไกฟังก์ชั่นปฏิทินเครื่องแรกของ Lange ที่สามารถปรับตั้งเฉพาะค่าวันที่เพียงอย่างเดียวได้ ทำให้การปรับตั้งวันที่ซึ่งปีหนึ่งจะต้องกระทำครั้งหนึ่งเมื่อสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์นั้นมีความสะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น

11 ALS 238 026 WG11 ALS 238 026 WG B

1815 Annual Calendar เปิดตัวมา 2 เวอร์ชั่น คือ เวอร์ชั่นตัวเรือนไวท์โกลด์ กับเวอร์ชั่นตัวเรือนพิ้งค์โกลด์ ซึ่งทั้งสองจะใช้หน้าปัดโซลิดซิลเวอร์สีเงินและใช้เข็มชั่วโมงกับนาทีบลูด์สตีลเช่นเดียวกัน แต่ใช้เข็มอื่นๆ เป็นทองคำเคลือบโรเดียมหรือทองคำพิ้งค์โกลด์ตามสีของตัวเรือน

 

 

นาฬิกาแบบ เพอร์เพทชวล คาเลนดาร์

 

PATEK PHILIPPE Perpetual Calendar Ref. 5320G-001

 

เหตุผล: เป็นรุ่นใหม่ของนาฬิกาฟังก์ชั่นเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ ซึ่งจัดอยู่ในคอลเลคชั่นระดับแกรนด์คอมพลิเคชั่นของ Patek Philippe ที่เปิดตัวออกมาเพิ่มเติมอีกรุ่นหนึ่งโดยมีรูปลักษณ์และสไตล์ที่แตกต่างจากนาฬิกาเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์รุ่นอื่นๆ ของตนที่มีจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงของตัวเรือนหรือรูปแบบของหน้าปัดและการแสดงค่า ซึ่งในส่วนของหน้าปัดและการแสดงค่านั้นเป็นการนำเอารูปแบบที่เคยใช้กับนาฬิกาเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ของตนสมัย ค.ศ. 1941 มาปรับใช้ ด้วยเป้าประสงค์ให้มีลักษณะแห่งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของ Patek Philippe อยู่ในนาฬิการุ่นนี้อย่างสมบูรณ์

 

รูปแบบหน้าปัดที่ว่าก็คือ การแสดงวันและเดือนผ่านช่องหน้าต่างคู่ ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา และแสดงวันที่ด้วยเข็มขนาดเล็ก ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา โดยมีช่องหน้าต่างแสดงมูนเฟสอยู่ภายในวงรัศมีของเข็ม นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มฟังก์ชั่นแสดงกลางวัน/กลางคืนด้วยสัญลักษณ์สี กับการแสดงเลขลีพเยียร์ เข้ามาด้วยโดยเจาะเป็นช่องกลมขนาดเล็กเอาไว้ที่ตำแหน่งระหว่าง 7 กับ 8 นาฬิกา และระหว่าง 4 กับ 5 นาฬิกา เพื่อให้แสดงค่าได้อย่างครบถ้วนที่สุด ส่วนชิ้นหลักชั่วโมงซึ่งมีทั้งตัวเลขอารบิก จุด และขีด ก็มีการเคลือบด้วยสารเรืองแสงเพื่อความชัดเจนเช่นเดียวกับบนเข็มชั่วโมงกับนาทีรูปทรงคล้ายเข็มฉีดยา ซึ่งรูปทรงของเข็มกับหลักชั่วโมงเลขอารบิกนี้ถูกนำมาจากนาฬิกาโครโนกราฟ Ref. 1463 สมัยยุค 50s อีกทั้งยังมีเข็มวินาทีเล่มเรียวบางทำหน้าที่กวาดแสดงไปบนขีดสเกลวินาทีที่แบ่งซอยมาอย่างละเอียดด้วย

 

12 PP 5320G 001

 

โมดูลกลไกเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ของรุ่นนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาให้ติดตั้งเข้ากับกลไกอัตโนมัติ ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง คาลิเบอร์ 324 รวมกันเป็นกลไกใหม่ในชื่อรหัสว่า คาลิเบอร์ 324 S Q โดยเป็นกลไกที่เพียบพร้อมด้วยนวัตกรรมต่างๆ ของแบรนด์ ได้แก่ บาลานซ์แบบ “ไจโรแม็กซ์”, บาลานซ์สปริงแบบ “สไพโรแม็กซ์” วัสดุ “ซิลินวาร์” และโรเตอร์ทองคำ 21 เค ที่แขวนอยู่ระหว่างบอลแบริ่ง ทั้งหมดนี้ร่วมกันส่งผลให้กลไกมีความแม่นยำในการทำงานถึงระดับ -3 ถึง +2 วินาทีต่อวัน อันเป็นคุณสมบัติตามที่มาตรฐานคุณภาพ “ปาเต็ก ฟิลิปป์ ซีล” กำหนดเอาไว้ ส่วนกำลังสำรองของเครื่องนี้จะอยู่ระหว่าง 35 ถึง 45 ชั่วโมง  

 

รูปทรงของตัวเรือนขนาด 40 มม. หนา 11.13 มม. ของรุ่นนี้ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ให้มีสไตล์ออกแนววินเทจ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ดีไซน์ขาตัวเรือนแบบเล่นระดับสามชั้นซึ่งนำต้นแบบมาจากนาฬิกา Ref. 2405 สมัยยุค 50s และใช้กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์แบบทรงกล่อง เพื่อไม่ให้ขอบตัวเรือนมีขนาดหนาจนเกินไป ก่อเกิดเป็นอารมณ์วินเทจกันแบบเต็มที่ สำหรับฝาหลังนั้นมีการผนึกด้วยกระจกแซฟไฟร์เพื่อให้มองเห็นความงามของงานตกแต่งบนตัวกลไกและโรเตอร์ได้อย่างถนัดตา และมีฝาหลังชิ้นนอกแบบแผ่นทึบที่สามารถถอดออกได้ติดตั้งมาด้วย นาฬิกา Ref. 5320 แบบแรกนี้เปิดตัวมาด้วยรหัส Ref. 5320G-001 โดยเป็นตัวเรือนวัสดุไวท์โกลด์ จับคู่มากับหน้าปัดทองเหลืองเคลือบแล็กเกอร์สีครีม ติดตั้งหลักชั่วโมงและเข็มชั่วโมงกับนาทีวัสดุทองคำสีดำ สวมมากับสายหนังจระเข้แบบลายตารางใหญ่สีน้ำตาลช็อกโกแลต พร้อมตัวล็อคแบบบานพับวัสดุไวท์โกลด์

 

 

By: Viracharn T.