นาฬิกาอะไรที่คุณอยากได้ (ภาคแรก: PATEK PHILIPPE, AUDEMARS PIGUET, ROLEX)

  

CoverS

 

 

ผมเชื่อว่ามีหลายครั้งที่เรานึกถึงและอยากจะเป็นเจ้าของนาฬิกาสักเรือน ซึ่งไม่ว่าเราจะมีประสบการณ์จากเพื่อนๆ เกี่ยวกับนาฬิกาเรือนนั้นๆ เห็นจากหน้าโฆษณา หรือเห็นว่ามีดาราชื่อดังสวมใส่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามแต่ สิ่งเหล่านั้นถือเป็นความทรงจำที่ดีที่เรามีต่อนาฬิกาเรือนนั้นๆ และพร้อมจะตัดสินใจซื้อเมื่อมีโอกาส 

 

ในโลกของนาฬิกา มีหลายปัจจัยที่จะทำให้นาฬิกาเหล่านั้นมีความโดดเด่นขึ้นมามากกว่าเรือนอื่นๆ ซึ่งราคาค่าตัวก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความมีค่าได้ในระดับหนึ่ง แบรนด์นาฬิกาหลากหลายที่อวดโฉมงามอยู่บนข้อมือของคนหรือหน้าโฆษณาต่างๆ อาจมีราคาค่าตัวอย่างที่หลายคนไม่กล้าคิด ระดับล้านหรือระดับสิบล้าน แล้วอะไรจะเป็นสิ่งที่บอกได้ว่านาฬิกาที่เราอยากได้ คุ้มค่าตัวของเรือนนั้นๆ แค่ไหน มาถึงตรงนี้คงหนีไม่พ้นการจัดอันดับให้เห็นกันจะๆ ไปเลยว่า แบรนด์ไหนเป็นอย่างไรกันบ้าง ต้องบอกก่อนว่าเราคงไม่กล้าพันธงลงไปอย่างชัดเจนว่าแบรนด์ไหนเด่นและดีกว่ากัน แต่เอาเป็นว่าแบรนด์ไหนที่มีคนให้ความสนใจโดยรวมมากกว่ากันจะดีกว่า 

 

 

PATEK PHILIPPE 

 

นาฬิการะดับเทพแบรนด์นี้ไม่มีใครในวงการนาฬิกาไม่รู้จัก นอกจากการค่อยๆ ยกระดับตัวเองขึ้นเรื่อยๆ ได้อย่างมีสไตล์แล้ว ยังมีดีกรีค่าตัวในตลาดที่สูงขึ้นโดยตลอด ดูได้จากผลการประมูลของสำนักต่างๆ ที่ล้วนแล้วแต่ต้องมี Patek Philippe อยู่ในพอร์ททุกครั้ง และกว่าครึ่งก็ประสบความสำเร็จพร้อมผลการประมูลที่สูงกว่าราคาประเมินจนกลายเป็นธรรมเนียมกันไปแล้ว 

 

 

Patek AdS

 

ภาพโฆษณาอันคุ้นตา

 

 

สำหรับคำถามที่ว่าแล้วทำไมจึงมีผู้คนพากันประมูลนาฬิกาของ Patek Philippe กันมากมาย ก็คงต้องบอกว่าเป็นเรื่องของความนิยมที่มาจากประวัติศาสตร์การผลิตนาฬิกาอันยาวนานของสวิตเซอร์แลนด์ที่ Patek Philippe ทำได้อย่างสมบูรณ์แบบแบรนด์หนึ่ง โดยมีทั้งส่วนการผลิตรุ่นที่เหมาะสมกับตลาด กลไกที่คงรูปแบบและศิลปะอย่างครบถ้วน รวมเข้ากับแนวทางการทำตลาดที่มาจากคนรักนาฬิกาซึ่งก็คือครอบครัว Stern ที่เป็นเจ้าของแบรนด์นั่นเอง

 

 

1135 CHR 29 535 PS Q img3 3S Philippe and Thierry Stern of Patek Philippe of GenevaS

 

(ซ้าย) กลไกสุดวิจิตร ; (ขวา) Philippe กับ Thierry พ่อลูกตระกูล Stern ในยุคปัจจุบัน

 

 

รุ่นยอดนิยมก็มีตั้งแต่ Aquanaut, Nautilus, Aquanaut Luce, Twenty-Four ไปจนถึงรุ่นของกลไกจับเวลาซึ่งเป็นรุ่นยอดนิยมของแบรนด์นี้ที่มีราคาตั้งแต่ระดับล้านไปจนถึงระดับสิบล้านบาท 

 

 

5167A 1XS 5067AS 4910 1AS

 

(จากซ้าย) Aquanaut Ref.5167A, Aquanaut Luce Ref.5067A, Twenty-Four Ref.4910/1A

 

 

5712hresS 5070G collection 27S 5204P img3 3S

 

(จากซ้าย) Nautilus Ref.5712/1A, Chronograph Ref.5070G, Split-seconds Chronograph Perpetual Calendar Ref.5204P 

 

 

 

AUDEMARS PIGUET 

 

นาฬิการะดับเทพอีกแบรนด์ที่คนไทยรู้จักกันดีไม่แท้คนทั่วโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรุ่น Royal Oak ที่มี่ประวัติยาวนานมาตั้งแต่ปี 1972 โดย Mr. Gerald Genta ผู้ออกแบบนาฬิการุ่นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากหน้าต่างเรือรบที่มีลักษณะเดียวกันกับโพรงต้นโอ๊ค 

 

 

Royal Oak 1972S Gerald GentaS

 

(ซ้าย) Royal Oak รุ่นแรกที่เริ่มผลิตในปี ค.ศ.1972 ; (ขวา) Mr.Gerald Genta

 

 

ความโดดเด่นของ Audemars Piguet หรือที่เรียกย่อๆ กันว่า AP นี้มาจากการมีโรงงานผลิตอันทรงประสิทธิภาพอย่างครบถ้วนในทุกขั้นตอนการผลิต และยังมีบุคคลากรที่มีชื่อเสียงมากมายระดับโลกมารวมตัวกันอยู่ ทำให้ AP มีกลไกและรุ่นนาฬิกาที่น่าสนใจอยู่มากมาย แต่อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่ารุ่นใดๆ ก็สะดุดตาได้ไม่เท่า Royal Oak ด้วยรูปทรงกึ่งกลมกึ่งแปดเหลี่ยม การจัดวางหน้าปัดอย่างเรียบง่ายแต่ลงตัว สกรูว์ 6 เหลี่ยม 8 ตัวบนหน้าปัดที่เฉพาะเจาะจงผลิตเป็นวัสดุมีค่า (ทองคำและแพลทินั่ม) พร้อมหันร่องสกรูว์เข้าหากันอย่างสวยงามทุกตัว ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้นาฬิการุ่นนี้ดูพิเศษกว่าแบรนด์อื่นๆ อีกหลายแบรนด์ 

 

แต่ไม่เพียงแค่นั้น นาฬิการุ่นนี้ยังแตกแขนงจนกลายเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นมากอีกรุ่นหนึ่ง นั่นก็คือ Royal Oak Offshore ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ารุ่นปกติมากและยังเป็นรุ่นที่แตกแขนงพร้อมๆ กับทำราคาในตลาดได้สูงจนทำลายสถิตินาฬิกาเรือนใหญ่ราคาแพงมาแล้วในหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น Royal Oak Offshore Alinghi หรือ Royal Oak Offshore Survivor

 

 

Royal Oak Offshore AlinghiS S1

 

(ซ้าย) Royal Oak Offshore Alinghi (ขวา) Royal Oak Offshore Survivor

 

 

รุ่นยอดนิยมของ AP ก็มีตั้งแต่แนวคลาสสิกสปอร์ตอันได้แก่ Royal Oak Reference 15300 ซึ่งมีราคาประมาณ 3-4 แสนบาท, Royal Oak Offshore Volcano และ Royal Oak Offshore Safari ในราคาประมาณ 5-6 แสนบาท, Royal Oak Chronograph ประมาณ 5-6 แสนบาท และ Royal Oak Offshore Survivor ในราคาประมาณ 1-1.2 ล้านบาท

 

 

Royal Oak 15300S2 Royal Oak ChronographS

 

(ซ้าย) Royal Oak Reference 15300 ; (ขวา) Royal Oak Chronograph

 

 

Royal Oak Offshore VolcanoS Royal Oak Offshore SafariS

 

(ซ้าย) Royal Oak Offshore Volcano (ขวา) Royal Oak Offshore Safari 

 

 

 

Rolex

 

นับเป็นแบรนด์ที่ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าใจกันได้ทันทีว่าหมายถึงนาฬิกา พร้อมๆ กับภาพลักษณ์แห่งความสำเร็จของผู้สวมใส่ที่ในโลกปัจจุบันทั้งผู้ที่ประสบความสำเร็จหรือไม่สำเร็จต่างก็พร้อมใจกันใส่นาฬิกาแบรนด์นี้กันอย่างท่วมท้น เห็นได้จากกำลังการผลิตที่มากเป็นหลักแสนเรือนต่อปีที่น่าจะเป็นหลักประกันถึงความยอดนิยมรวมกับมาตรฐานการผลิตที่ดีเด่นจนกลายเป็นมาตรฐานของผู้ผลิตนาฬิกาทั่วโลกกันไปแล้ว

 

นาฬิการุ่นที่เป็นยอดนิยมในตลาดนอกจากไลน์สปอร์ตแล้ว ก็ยังมี Oyster Perpetual อีกรุ่นซึ่งเป็นนาฬิกาติดข้อมือและเห็นกันได้อย่างไม่ยากเย็น นาฬิกาในกลุ่มนี้ของ Rolex ได้รับความนิยมอย่างครบถ้วนในทุกคอมบิเนชั่น ไม่ว่าจะเป็นเรือนเหล็กล้วน เรือนสองกษัตริย์ หรือเรือนทองคำล้วน ซึ่งทุกแบบครองใจได้ทั้งรุ่นสำหรับสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี

 

 

Rolex Oyster Perpetual Datejust II 116300S rolex lady datejust twotoneS

 

(ซ้าย) Oyster Perpetual Datejust II ตัวเรือนเหล็กล้วน

(ขวา) Oyster Perpetual Lady Datejust ตัวเรือนและสายสองกษัตริย์หลักบอกเวลาประดับเพชร 

 

 

นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบของเพชรเป็นส่วนหนึ่งของความนิยม โดยประดับบริเวณหลักบอกเวลาทั้ง 10 ตำแหน่ง (ตำแหน่งที่ 12 นาฬิกาเว้นไว้เป็นโลโก้ของ Rolex และตำแหน่ง 3 นาฬิกาสำหรับช่องบอกวันที่) องค์ประกอบของหน้าปัดที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นหน้าปัดหินอุกาบาต (Meteorite), หน้าปัดหินสีต่างๆ หรือหน้าปัดแบบสังเคราะห์พิเศษโดย Rolex เองเช่น Gold Dust เป็นต้น

 

 

rolex meteorite dialS Rolex Lapis Lazuri dialS rolex oyster perpetual lady datejust หนาปด Gold DustS

 

(จากซ้าย) Oyster Perpetual Day Date ตัวเรือนและสายทำจากไวท์โกลด์ หน้าปัด Meteorite, Oyster Perpetual Datejust ตัวเรือนและสายทำจากเยลโลว์โกลด์ หน้าปัดหิน Lapis Lazuri, Oyster Perpetual Lady Datejust ตัวเรือนและสายสองกษัตริย์ประดับเพชร หน้าปัดแบบสังเคราะห์พิเศษ Gold Dust 

 

 

มาถึงนาฬิกากลุ่มสปอร์ตของ Rolex กันบ้าง Rolex ในกลุ่มสปอร์ตนี้ต้องเรียกว่าเป็นดาวรุ่งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว ก่อนหน้านั้นนาฬิกากลุ่มนี้ของ Rolex เป็นกลุ่มนาฬิกาที่ใช้งานระดับมืออาชีพเท่านั้น ด้วยความโดดเด่นของตัวเรือนแบบ Oyster ที่สามารถกันน้ำ กันความชื้น และทนต่อแรงต้านทานทุกชนิดได้ดี ทำให้ Rolex ได้รับการยอมรับในเรื่องความทนทานและสมบุกสมบันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ ซึ่งในยุคนั้นเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่มีนาฬิกาแบรนด์ใดให้ความสนใจกันนัก โดยจะเห็นได้จากการที่ Rolex เข้าร่วมสนับสนุนบุคคลหลายๆ คน รวมทั้งองค์กรที่มีจุดประสงค์ด้านต่างๆ ที่สอดคล้องกัน ให้ใช้นาฬิกาของ Rolex ในกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอย่างที่บอกไว้ว่า แต่ละกิจกรรมล้วนแล้วแต่แรงระดับโลกทั้งนั้น

 

 

Explorer Ref 214270 SteelS Explorer II Ref 216570 SteelS

 

(จากซ้าย) Explorer, Explorer II หน้าปัดขาว, Explorer II หน้าปัดดำ ตัวเรือน+สายสตีล

 

เริ่มกันตั้งแต่รุ่น Explorer ที่มีดีกรีของนาฬิกาสำหรับนักปีนเขาระดับเอเวอร์เรสต์ และได้ชื่อว่าเป็นนาฬิกาเรือนแรกที่พิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกนี้มาแล้ว ซึ่งในยุคนั้นเอง Rolex ผลักดันนาฬิการุ่น Explorer ในภาพโฆษณาและในหน้าหนังสือพิมพ์เป็นจำนวนมาก โดยในช่วงหลังปรับเปลี่ยนชื่อไปเป็น Explorer I ซึ่งยังคงมีหน้าตาท่าทางไม่ต่างจากรุ่นดั้งเดิมมากเท่าไหร่ นาฬิการุ่นนี้นับเป็นรุ่นที่ต่อยอดจากนาฬิการุ่นปกติของ Rolex เข้าสู่รุ่นสปอร์ต

 

Explorer II เป็นนาฬิการุ่นหลังจาก Explorer I เป็นนาฬิกาฟังก์ชั่น GMT ในชื่อของ Explorer ที่ตรงขอบตัวเรือนเป็น Steel แกะสลักตัวเลขไว้ด้านนอกและหมุนไม่ได้ โดยมีความโดดเด่นที่เข็มบอกเวลาไทม์โซนที่สอง (GMT) ที่อยู่บนหน้าปัดสีดำหรือสีขาวให้เลือก โดยรุ่นปัจจุบันปรับปรุงขนาดและรูปแบบของสายพร้อมบานพับให้เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น

 

 

Milgauss Steel Green Sapphire Crystal Ref 116400GVS Submariner Date Steel Ref 116610LN Ceramic BezelS

 

(ซ้าย) Milguass ตัวเรือน+สายสตีล กระจกหน้าปัดสีเขียว (ขวา) Submariner Date ตัวเรือน+สายสตีล ขอบตัวเรือนเซรามิก

 

 

Milguass นาฬิกาที่สร้างขึ้นเพื่อวิศวกรที่ต้องทำงานเกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่างๆ โดยมีความสามารถพิเศษตรงที่ได้สร้างเกราะอ่อนภายในให้สามารถกันสนามแม่เหล็กแรงสูงได้ดีและทำให้อัตราความเที่ยงตรงของนาฬิกายังคงอยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ตลอดเวลา นาฬิกาเรือนนี้มีความโดดเด่นสะดุดตาตรงเข็มวินาทีทรงสายฟ้าฟาดสีส้มตัดกับหน้าปัดสีขาวหรือสีดำได้ดี นอกจากนั้นยังมีรุ่นพิเศษที่มีกระจกหน้าปัดเป็นสีเขียวซึ่งทำให้นาฬิการุ่นนี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากนักสะสมเนื่องจากความพิเศษที่หาไม่ได้จากนาฬิการุ่นอื่นๆ ของ Rolex

 

 

Submariner Date Steel Ref 116610LV Ceramic Bezel GreenS Submariner Date White Gold Ref 116619LB Ceramic Bezel BlueS

 

(ซ้าย) Submariner Date ตัวเรือน+สายสตีล ขอบตัวเรือนเซรามิกสีเขียว

(ขวา) Submariner Date ตัวเรือนไวท์โกลด์ ขอบตัวเรือนเซรามิกสีน้ำเงิน

 

 

Submariner กับรูปร่างหน้าตาที่เป็นตัวตายตัวแทนของ Rolex สปอร์ตทั้งหมด ด้วยหน้าปัดแบบสปอร์ตที่ดูคุ้นตาซึ่งใช้ร่วมกับรุ่นสปอร์ตอื่นๆ พร้อมขอบตัวเรือนแบบ Ceramic ที่ปรับปรุงจากการใช้แผ่นฟิล์มในอดีต ในกลุ่มนาฬิกาของ Submariner จะเริ่มจากรุ่น Submariner ที่ไม่มีวันที่ ซึ่งมักเรียกกันโดยทั่วไปว่า Submariner No Date (ซึ่งไม่ใช่คำที่ Rolex ใช้เรียก) โดยนับเป็นรุ่นที่ต่ำที่สุดของ Submariner เพราะไม่มีช่องวันที่ ต่อมาคือ Submariner ที่มีวันที่ที่ต้องนับว่าเป็นเรือนยอดนิยมที่สุดของ Rolex ในกลุ่มสปอร์ตเนื่องจากองค์ประกอบ หน้าตา รูปแบบ และความที่เป็นหนึ่งในนาฬิกาของ James Bond 007 ทำให้ผู้คนทั่วโลกจดจำนาฬิกาเรือนนี้ได้มากที่สุดเรือนหนึ่ง ต่อมาก็เป็น Submariner สีเขียว โดยนับเป็นรุ่นพิเศษอีกรุ่นของ Rolex ที่สร้างให้หน้าปัดและขอบตัวเรือน Ceramic เป็นสีเขียวซึ่งมีราคาค่าตัวสูงกว่ารุ่นปกติ นอกจากนี้ยังมี Submariner ในหลากหลายคอมบิเนชั่นตั้งแต่ตัวเรือน Steel + Yellow Gold หรือ Yellow Gold ล้วนๆ กับหน้าปัดสีน้ำเงินหรือหน้าปัดดำ รวมไปจนถึงตัวเรือน White Gold ที่มีเพียงหน้าปัดสีน้ำเงินแต่ให้เลือกเป็นมาร์กเกอร์ปกติหรือแบบเพชร

 

 

Deepsea Steel Ceramic Bezel Ref 116660S GMT Master II Steel Ref 116710LNS

 

(ซ้าย) Sea-Dweller Deepsea ตัวเรือน+สายสตีล ; (ขวา) GMT Master II ตัวเรือน+สายสตีล

 

 

Sea-Dweller เป็นนาฬิกาอีกรุ่นซึ่งสร้างชื่อเสียงให้ Rolex มากที่สุดจากความสามารถด้านการดำน้ำได้ลึกสุดในช่วงปี 1980 โดยพัฒนาร่วมกับ Comex บริษัทรับจ้างทำงานในน้ำลึกของโลก และล่าสุดกับ James Cameron ผู้กำกับภาพยนต์ชื่อดังจาก Hollywood ที่ปัจจุบันหันมาเอาดีทางด้านการสร้างภาพยนต์เกี่ยวกับโลกใต้น้ำมากขึ้นๆ Sea-Dweller ในปัจจุบันมีการปรับปรุงใหม่เช่นเดียวกันกับ Submariner พร้อมพ่วงชื่อใหม่ให้จดจำง่ายมากขึ้นโดยระบุบนหน้าปัดว่า Deepsea ซึ่งมีความสามารถดั่งชื่อเช่นกันด้วยความสามารถในการดำน้ำลึกที่สุดถึง 3,900 เมตรใต้สมุทรพร้อมมี Helium Valve ที่ช่วยกันไม่ให้กระจกหน้าปัดแตกจากแรงดันใต้น้ำตอนขึ้นสู่เหนือน้ำหลังจากการดำดิ่งลงใต้ทะเล

 

GMT Master II เป็นนาฬิกาที่สร้างขึ้นสำหรับนักเดินทางด้วยความโดดเด่นของขอบตัวเรือนซึ่งปัจจุบันปรับปรุงเป็น Ceramic แล้วเช่นกันพร้อมเข็ม GMT ที่บอกไทม์โซนที่สองได้อย่างง่ายดายเช่นเดียวกับ Explorer II นาฬิการุ่น GMT นี้มีความแตกต่างจาก Explorer II อย่างเห็นได้ชัดที่คอมบิเนชั่นซึ่งนอกจากมีรุ่นตัวเรือน Steel, Steel + Yellow Gold, Yellow Gold ล้วน และ Yellow Gold หน้าปัดสีเขียวที่พิเศษกว่ารุ่นอื่นๆ แล้ว ยังมีคอมบิเนชั่นของการประดับเพชรอย่างเต็มรูปแบบซึ่งทาง Rolex ได้นำเสนอนาฬิกา GMT ในเวอร์ชั่นพิเศษนี้ทุกปีในงาน Baselworld ซึ่งนอกจากประดับเพชรแล้ว ยังมีการใช้พลอยสีต่างๆ มาร่วมประดับอีกด้วย โดยมีพลอยสีหลักพิเศษสองสีที่เป็นรูปแบบดั้งเดิมของรุ่นนี้ก็คือสีน้ำเงินและแดงมาประดับอยู่บนขอบตัวเรือน

 

 

Yacht master Steel and Platinum Ref 116622S Yacht master II Steel and Everose Gold Ceramic Bezel Ref 116681S

 

(ซ้าย) Yacht-Master ตัวเรือน+สายสตีล ขอบตัวเรือนแพลตินัม

(ขวา) Yacht-Master II ตัวเรือน+สาย สตีล+เอฟโรสโกลด์ ขอบตัวเรือนเซรามิกสีน้ำเงิน

 

 

Yacht-Master นับเป็นนาฬิกาที่มีลักษณะร่วมกันของรุ่นปกติและรุ่นสปอร์ตโดยมีความพิเศษของขอบตัวเรือนที่เรียกว่าวัสดุ Rolesium ซึ่งเป็นการผสมผสานกันของวัสดุ Platinum ที่ทาง Rolex พัฒนาและสร้างขึ้นมาใหม่ในโลก Yacht-Master มีความโดดเด่นตรงขอบตัวเรือนที่เป็นมาร์กเกอร์แบบสันนูนขึ้นมาที่เห็นได้ชัดเจนและโดดเด่น โดยมีคอมบิเนชั่นให้เลือกทั้งตัวเรือน Steel, Steel + Yellow Gold และ Yellow Gold ล้วน กับทางเลือก 3 แบบหน้าปัดทั้งสีน้ำเงินสดใส สีเทาที่ดูขรึม และสีเทาด้านแบบสปอร์ต

 

Yacht-Master II ถือเป็นจุดเริ่มต้นศักราชใหม่ของ Rolex เนื่องจากเป็นนาฬิกาที่มีฟังก์ชั่นแปลกตากว่าที่เคยเป็นมาในรอบหลายสิบปีของ Rolex นาฬิการุ่นนี้มีฟังก์ชั่น Regatta เพื่อใช้ในการแข่งขันเรือใบที่อาจไม่ค่อยคุ้นตาในบ้านเรามากนัก โดยมาในแบบตัวเรือน White Gold ขอบตัวเรือน Rolesium แบบนูน, Yellow Gold ขอบตัวเรือน Ceramic สีน้ำเงิน และล่าสุดในปี 2012 กับ Steel + Everose Gold ขอบตัวเรือนสีน้ำเงิน

 

 

Sky dweller White Gold Ref 326939S

 

Sky-Dweller ตัวเรือน+สายไวท์โกลด์

 

 

Sky-Dweller เป็น Rolex สปอร์ตรุ่นใหม่ล่าสุดที่ Rolex พยายามก้าวข้ามไปเหนือเวหาที่ Rolex ไม่เคยทำมาก่อน นาฬิการุ่นนี้ถือเป็นนาฬิกาที่เหนือความคาดหมายของนักสะสมและผู้คนที่รู้จักกับ Rolex มาโดยตลอดหลายสิบปี กับฟังก์ชั่นแปลกตาของวง GMT หน้าปัดเล็กด้านใน และวิธีการแจ้งเดือน (สีเหลี่ยมสีดำ) ตามหลักชั่วโมงทั้ง 12 ก็ยิ่งถือเป็นเรื่องพิเศษของนาฬิการุ่นนี้มากขึ้น โดยเพิ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงาน Baselworld 2012 ที่ผ่านมาในตัวเรือนที่มีให้เลือกทั้ง White Gold, Yellow Gold หรือ Everose Gold และยังไม่มีเรือนจริงออกสู่ตลาดในขณะนี้โดยคาดว่าน่าจะเริ่มออกจำหน่ายตั้งแต่เดือนกันยายนปีนี้เป็นต้นไป

 

 

Cosmograph Daytona Steel Ref 116520S Cosmograph Daytona Everose Gold Ceramic Bezel Ref 116515LNS

 

(ซ้าย) Cosmograph Daytona ตัวเรือน+สายสตีล

(ขวา) ในตัวเรือนเอเวอร์โรสโกลด์ ขอบตัวเรือนเซรามิก สายหนังจระเข้

 

 

Cosmograph Daytona นาฬิกาฟังก์ชั่นจับเวลารุ่นเดียวของ Rolex ที่ผู้คนให้คำนิยามว่าเป็น King of Rolex Sport จากฟังก์ชั่นจับเวลาที่คนรักนาฬิกาสปอร์ตนิยมชมชอบมากที่สุดเนื่องจากมีลักษณะความเป็นนาฬิกาสปอร์ตมากที่สุด นาฬิกาเรือนนี้ถือเป็นนาฬิกาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดและมีคอมบิเนชั่นในระยะสิบปีที่ผ่านมามากที่สุดด้วย โดยรุ่นยอดนิยมก็ต้องเป็นตัวเรือน Steel หน้าปัดสีดำและรองมาเป็นหน้าปัดสีขาว นอกจากนี้ยังมีคอมบิเนชั่นเป็นตัวเรือน Steel + Yellow Gold, Yellow Gold ล้วนและ White Gold ล้วน พร้อมรูปแบบหน้าปัดอีกหลากหลายในปัจจุบันทั้งสีต่างๆ และวัสดุมากมายเช่น Meteorite เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรุ่นประดับเพชรอันหลากหลายให้เลือกอีกด้วย โดยล่าสุดกับรุ่นที่ถูกสุภาพสตรีนำไปใช้มากมายกับตัวเรือน Everose Gold ที่มีคุณสมบัติดีเยี่ยมและสีสันอันสดใสโดยทาง Rolex แจ้งว่าจะไม่เกิดสนิมทองขึ้นตลอดการใช้งานซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาทางวัสดุศาสตร์ที่ Rolex มีความสามารถอยู่แล้ว รวมไปถึงรุ่นขอบตัวเรือน Ceramic ที่เปิดตัวไปในงาน Baselworld 2011 ด้วย

 

นับว่า Rolex เป็นนาฬิกาที่มีรุ่นสปอร์ตที่ผู้คนติดตามถามหากันมากที่สุด หลายรุ่นถูกกำหนดรูปแบบของตัวเองอย่างชัดเจนโดยไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าทำไมถึงมีบางอย่างในรุ่นนั้นแล้วทำไมถึงไม่มีบางอย่างในรุ่นนี้ คำถามเหล่านี้เป็นโลกมืดซึ่งไม่อาจหาคำตอบได้อย่างชัดเจนแต่อย่างหนึ่งที่แน่นอนก็คือ ผู้คนทั่วโลกรู้สึกว่านี่คือหนึ่งในเสน่ห์ของ Rolex ซึ่งหาไม่ได้จากแบรนด์อื่นๆ

 

แต่คำถามที่ว่า ทำไมนาฬิการุ่นสปอร์ตของ Rolex จึงเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คงจะพอมีคำตอบในทำนองที่ว่าเป็นเพราะเทรนด์การใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบันซึ่งไม่ยึดติดกับภาพลักษณ์ความสง่างามเพียงอย่างเดียวเหมือนแต่ก่อน แต่เพิ่มการใช้งานจริง สะดวก และเหมาะสมกับชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ทำให้นาฬิกาสปอร์ตแบรนด์ต่างๆ พร้อมใจกันประสบความสำเร็จและพัฒนารุ่นสปอร์ตออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีตัวอย่างของนาฬิกาสัญชาติอิตาลีอย่าง Panerai เป็นตัวตั้งที่ดี

 

โปรดติดตามเรื่องราวของนาฬิการุ่นเด่นๆ จากแบรนด์นาฬิกาเรือนโตแบรนด์นี้ได้ที่นี่เร็วๆ นี้ครับ

 

 

By: Pramote R.