นาฬิกาดำน้ำตระกูลดังระดับตำนาน

  

diverS1

 

 

นาฬิกาไดเวอร์หรือนาฬิกาดำน้ำเป็นรูปแบบยอดฮิตของผู้คนทั่วโลกมาเป็นเวลานานแล้ว แม้ผู้คนที่ซื้อใส่ส่วนใหญ่จะไม่ได้นำไปลงน้ำแต่อย่างใดก็ตาม อาจด้วยลุคที่ดูทะมัดทะแมง บึกบึน มีความแข็งแรงทนทาน ของนาฬิกาประเภทนี้นี่เองที่ทำให้ผู้ชื่นชอบนาฬิกาทุกคนต่างมีนาฬิกาดำน้ำไว้ในครอบครองด้วยกันทั้งนั้น บทความนี้จะมาบอกเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของเหล่านาฬิกาดำน้ำที่เป็นที่นิยมให้ทราบกันครับ

 

วงการนาฬิกายอมรับกันว่า ผู้ผลิตที่สร้างนาฬิกาสำหรับกิจกรรมดำน้ำอย่างจริงจังขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก คือ Omega โดยได้ออกนาฬิการุ่น Marine ที่กันน้ำลึกได้ในระดับ 135 เมตร มาในปี ค.ศ.1932 Marine เป็นนาฬิกาตัวเรือนเหลี่ยมทำจากสตีล ประกอบด้วยชิ้นส่วน 3 ชิ้น ซ่อนเม็ดมะยมไว้ข้างใน เพื่อป้องกันน้ำเข้า โดยหากจะขึ้นลานก็ต้องเปิดตัวเรือนชั้นนอกออกก่อน Omega Marine จึงไม่ได้มีรูปแบบลักษณะใกล้เคียงกับนาฬิกาดำน้ำในปัจจุบันแต่อย่างใด ส่วนผู้ที่เป็นแม่แบบของนาฬิกาดำน้ำในปัจจุบัน ทั้งในด้านรูปร่างหน้าตา ลักษณะตัวเรือน สาย หน้าปัด และขอบตัวเรือนแบบหมุนได้ น่าจะเป็น Rolex Submariner ที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงราวปี 1953 กับ Blancpain Fifty Fathoms ที่ถือกำเนิดในช่วงเดียวกัน

 

 

Submariner Date Steel Ref 116610LN Ceramic BezelS1 Deepsea Steel Ceramic Bezel Ref 116660S1

 

(ซ้าย) Rolex Submariner Date ขอบตัวเรือนเซรามิก

(ขวา) Rolex Sea-dweller Deepsea ในยุคปัจจุบัน

 

 

หากพูดถึงด้านความนิยมแล้ว แน่นอนว่า Submariner (รวมถึง Sea-dweller ที่มีต้นกำเนิดและรูปแบบเหมือนกับ Submariner แต่มีคุณสมบัติการกันน้ำได้ในระดับลึกกว่ามาตั้งแต่เกิดด้วยตัวเรือนกับกระจกที่หนาขึ้นและมีฮีเลียมวาล์ว ออกมาครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1967 ซึ่งถือเป็นบรรพบุรุษของรุ่น Sea-dweller Deepsea กันน้ำลึกสุดๆ ที่ 3,900 เมตรในปัจจุบัน) มาเป็นอันดับหนึ่งอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะเป็นรุ่นที่ผู้คนนิยมใช้กันอย่างกว้างขวาง จากหลายเหตุผลด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียงในการสร้างตัวเรือนกันน้ำของ Rolex ที่โด่งดังเป็นที่ยอมรับกันตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 20 เป็นต้นมา จากการที่ Mercedes Gleitze ว่ายข้ามช่องแคบอังกฤษได้สำเร็จโดยที่น้ำไม่เข้าไปทำความเสียหายให้กับนาฬิกา Oyster ที่สวมใส่แต่อย่างใด ชื่อเสียงด้านความทนทานสมบุกสมบันที่ได้รับยอมรับจากกองทัพและบทพิสูจน์ความแกร่งจากการใช้งานทางทหาร ตลอดจนการใช้งานในหน่วยสำรวจใต้ทะเลต่างๆ อย่างองค์กร Comex เป็นต้น รวมถึงการที่พี่เจมส์บอนด์นำไปสวมใส่เป็นนาฬิกาคู่ข้อมือในปฏิบัติการณ์ต่างๆ ในยุคแรกๆ ด้วย อีกอย่างที่น่าจะเป็นเหตุแห่งความขลังก็คือ การผลิตและพัฒนานาฬิการุ่นนี้อย่างต่อเนื่องโดยยังคงรูปลักษณ์ในสไตล์เดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งต่างกับ Fifty Fathoms ที่ช่วงแรกทำออกมาให้กับทหารใช้เป็นหลัก ก่อนที่จะนำกลับมาทำขายทั่วไปอย่างจริงจังในยุคปี 2000 และต่อยอดมาเป็น 500 Fathoms ที่กันน้ำได้ถึง 1,000 เมตร ด้านความแพร่หลายจึงไม่เท่ากับ Submariner แม้ตัวต้นกำเนิดจะเกิดในยุคเดียวกันก็ตาม

 

 

5015 1130 52 front blancpain sport collection 500 fathoms

 

(ซ้าย) Blancpain Fifty Fathoms ; (ขวา) 500 Fathoms ในยุคปัจจุบัน

 

 

จริงๆ แล้วในอดีตตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมาก็มีหลายแบรนด์ที่ทำนาฬิกาดำน้ำออกมากันนะครับเพียงแต่ว่ารูปแบบอาจจะไม่เป็นพิมพ์นิยมของนาฬิกาดำน้ำในปัจจุบันเหมือนกับ Submariner หรือ Fifty Fathoms ยกตัวอย่างเช่นนาฬิกาดำน้ำของ Longines ที่ถูกนำกลับมาทำใหม่ในนาม Legend Diver เมื่อไม่กี่ปีมานี้ในรูปลักษณ์ที่ถอดแบบมาจากต้นแบบในยุคทศวรรษที่ 1960 และ Aquatimer ของ IWC ที่ถือกำเนิดในปี ค.ศ.1967 หรือบางแบรนด์ก็มีหน้าตาสไตล์พิมพ์นิยมแต่เกิดช้ากว่าจึงไม่ถือเป็นต้นตำรับ อาทิ Breitling Superocean ที่เกิดในปลายยุคทศวรรษที่ 50 เป็นต้น แต่ทั้ง Aquatimer และ Superocean ต่างก็ได้รับการพัฒนาออกรุ่นใหม่ๆ มาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

 

 

lld iwc aquatimer automatic 2000 m divers 4 Breitling Superocean small

 

(ซ้าย) Longines Legend Diver (กลาง) IWC Aquatimer และ (ขวา) Breitling Superocean ในยุคปัจจุบัน

 

 

ส่วน Seamaster ของ Omega นั้นถึงจะเป็นซีรี่ส์ที่มีมานานมากแล้วแต่จะเห็นว่ามีลักษณะเป็นนาฬิกาดำน้ำชัดๆ ก็น่าจะเป็นในยุคทศวรรษที่ 1960 อย่างรุ่น Seamaster 120 กันน้ำได้ 120 เมตร Seamaster 300 กันน้ำได้ 200 เมตร ซึ่งกลายเป็นต้นแบบให้กับสไตล์ของ Seamaster รุ่นต่างๆ ในปัจจุบัน และตัวดังแห่งยุคทศวรรษที่ 1970 Seamaster 600 Ploprof ตัวเรือนทรงเอกลักษณ์ที่กันน้ำได้ 600 เมตร ที่ถูกนำกลับมาทำใหม่อีกครั้งเป็นรุ่น Seamaster Ploprof 1200 m ที่มากับคุณสมบัติกันน้ำได้ถึงระดับ 1,200 เมตร โดยเริ่มผลิตเมื่อไม่กี่ปีมานี้

 

อีกแบรนด์ที่นิยมกันก็คือ TAG Heuer ที่เริ่มผลิตนาฬิกาดำน้ำมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 โดยเริ่มแรกนั้นเป็นการผลิตให้กับตลาดนักดำน้ำโดยเฉพาะโดยมีชื่อ Spirotechnique ที่เป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับดำน้ำอยู่บนหน้าปัดด้วย ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 ก็มีการผลิตนาฬิกาดำน้ำลึกระดับ 1,000 เมตรในชื่อ Heuer 1000m Diver ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ได้ออกนาฬิกาดำน้ำซีรี่ส์ 2000รุ่นดัง จนเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็น TAG Heuer เมื่อกลางทศวรรษที่ 1980 แล้ว ทั้งสองซีรี่ส์นี้ก็ยังถูกผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยรุ่น 1000m Diver นั้นถูกยกสายการผลิตไปในปี 1990 ส่วนรุ่นซีรี่ส์ 2000 นั้นได้ถูกพัฒนาต่อเนื่องจนมาเป็นซีรี่ส์ Aquaracer ในทุกวันนี้ และอีกแบรนด์ที่เป็นที่นิยมและอยากกล่าวถึงในฐานะนาฬิกาดำน้ำเครื่องจักรกลคุณสมบัติครบครันในราคาสุดคุ้มค่าก็คือ Seiko ตระกูลไดเวอร์ ที่รู้จักกันดีในนาม Monster นั่นเอง ซึ่งเมื่อสืบค้นถึงฐานรากแห่งนาฬิกาดำน้ำของ Seiko แล้ว ก็สามารถย้อนไปได้ถึงปี ค.ศ.1965 ซึ่งเป็นปีกำเนิดของ Seikomatic Divers 62 MAS ซึ่งกันน้ำได้ถึงระดับความลึก 150 เมตร จากนั้นก็มีการผลิตนาฬิกาดำน้ำรุ่นต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ถือว่ามีช่ำชองไม่แพ้ฝั่งสวิสเลยทีเดียว

 

 

0509Aquaracer 500M Cal5 spd 20110919201450 b

 

(ซ้าย) TAG Heuer Aquaracer 500M และ (ขวา) Seiko Monster ในสมัยปัจจุบัน 

 

 

เมื่อพูดถึงนาฬิกาดำน้ำ จะไม่กล่าวถึงแบรนด์เชื้อชาติอิตาเลียนอันโด่งดังอย่าง Panerai คงไม่ได้ ที่ต้องแยกออกมาต่างหากเพราะต้นกำเนิดของนาฬิกา Panerai นั้น เป็นนาฬิกาเฉพาะกิจที่ถูกผลิตขึ้นในช่วงกลางทศวรรษที่ 1930 เป็นต้นมาโดยทำให้กับกองทัพเรืออิตาลีใช้กันซึ่งต่อมาก็ได้ทำให้กับกองทัพเรือประเทศอื่นๆ ด้วย หน้าตาของ Panerai จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกับนาฬิกาจากทางฝั่งสวิส นาฬิกา Panerai ถูกผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับตลาดทั่วไปครั้งแรกในปี ค.ศ.1993 ด้วยรุ่น Luminor, Luminor Marina และ Mare Nostrum Chronograph จากนั้นนาฬิกา Panerai ก็เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกนอกจากในอิตาลีเองซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการที่นักแสดงฮอลลีวู้ดชื่อดังในยุคนั้น ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน ได้พบกับนาฬิกา Panerai และบังเกิดความชื่นชอบโดยส่วนตัวเป็นอย่างมากจนถึงขนาดขอนำนาฬิกา Submersible ไปใส่เล่นภาพยนตร์เรื่อง Daylight จนปรากฎต่อสายตาคนทั่วโลกด้วย และในปี ค.ศ.1995 นาฬิกาเอดิชั่นพิเศษ Slytech ก็ถูกสร้างขึ้นมาด้วยกันสองแบบคือ Luminor Daylight หน้าปัดขาว และ Mare Nostrum Chronograph ซึ่งทั้งสองแบบจะมีคำ Slytech อยู่บนหน้าปัดพร้อมลายเซ็นของสตอลโลนสลักบนฝาหลัง โดยคำว่า Sly นี้ มาจากชื่อเล่นของสตอลโลนนั่นเอง ก่อนจะเปลี่ยนมือมาอยู่กับ Vendome Group เมื่อปี ค.ศ.1997 (ซึ่งต่อมาไม่นาน Vendome ก็ถูกรวมเข้ามาอยู่ในกลุ่ม Richemont โดยสมบูรณ์) จนกลายเป็นนาฬิกาสวิสเชื้อสายอิตาเลียนในที่สุด ส่วนผู้บริหารเดิมซึ่งก็คือ Dino Zei ก็ไปร่วมงานกับแบรนด์อิตาเลียน Anonimo ซึ่งเป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่กลับมาผลิตนาฬิการูปแบบเดียวกับนาฬิกาดำน้ำสมัยก่อนที่ทำให้กับกองทัพอิตาลีเช่นเดียวกันกับ Panerai 

 

PAM 00000s1 PAM 00382s1

(ซ้าย) Panerai Luminor Base Logo 44mm (PAM 00000) และ

(ขวา) Luminor Submersible 1950 3 Days Automatic Bronzo 47 mm (PAM 00382) ในสมัยปัจจุบัน 

 

 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา Panerai พุ่งขึ้นสู่ความนิยมในระดับสูง ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร โดดเด่นด้วยขนาดที่ใหญ่โตซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในนาฬิกาที่ทำให้ผู้คนหันมานิยมนาฬิกาเรือนใหญ่กันในปัจจุบัน นาฬิกาดำน้ำของ Panerai ได้แก่ นาฬิกาตระกูล Luminor ที่มีกระเดื่องกดเม็ดมะยมและตัวครอบเม็ดมะยมอันเป็นเอกลักษณ์ โดยมีรุ่นย่อยให้เลือกมากมายแตกต่างที่หน้าตาเล็กน้อยหรือฟังก์ชั่นที่ต่างออกไป และมีรุ่นที่มาพร้อมขอบตัวเรือนหมุนได้ในชื่อรุ่นว่า Luminor Submersible ด้วย

 

ทุกวันนี้ แบรนด์นาฬิกาต่างๆ ในทุกระดับราคาต่างมีไลน์นาฬิกาดำน้ำไว้ให้เป็นเจ้าของด้วยกันทั้งนั้น คุณสมบัติของแต่ละแบบก็แตกต่างกันออกไป เริ่มตั้งแต่ลุคเหมือนนาฬิกาดำน้ำแต่กันน้ำได้ในระดับเบาะๆ เพียง 200 เมตร เดินด้วยเครื่องควอตซ์หรือเครื่องจักรกลก็สุดแท้แต่ เพิ่มพูนคุณสมบัติและฟังก์ชั่นไปเรื่อยๆ จนถึงระดับสูงๆ ที่กันน้ำได้ลึกเกินระดับ 1,000 เมตร ซึ่งคุณสามารถเลือกกันได้ตามความชื่นชอบและกำลังกระสุนครับ แต่ขอแนะนำคุณสมบัติหลักพื้นฐานที่นาฬิกากันน้ำควรมีไว้เป็นแนวทางดังนี้ครับ

 

1. ใช้เม็ดมะยมขันเกลียวหรือมีระบบป้องกันน้ำเข้าทางเม็ดมะยมแบบอื่นที่เชื่อถือได้ เช่น แบบกระเดื่องของ Panerai เป็นต้น
2. ใช้ฝาหลังขันเกลียว 
3. กระจกหน้าปัดแซฟไฟร์คริสตัลเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนเพื่อความชัดเจนในการมองเห็นใต้น้ำ 
4. ขอบตัวเรือนหมุนได้ทิศทางเดียวพร้อมสเกลและตัวเลขนาทีเคลือบสารเรืองแสงเพื่อความชัดเจนในการมองเห็นใต้น้ำเพื่อประโยชน์ในการวัดค่าเวลา 
5. เข็มและหลักชั่วโมงเคลือบสารเรืองแสงเพื่อความชัดเจนในการมองเห็นใต้น้ำ 
6. สายยางหรือสายสตีลพร้อมบัคเกิ้ลแบบปรับความยาวได้สำหรับใส่ทับเว็ทสูทได้อย่างสะดวก พร้อมระบบล็อกสายอย่างแน่นหนากันหลุด 
7. มีคุณสมบัติในการกันน้ำได้ในระดับความลึกอย่างน้อย 200 เมตร ขึ้นไป

 

หลายท่านอาจแย้งว่าไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติดังที่ว่าก็ได้ เพราะไม่ได้ใส่ไปดำน้ำที่ไหน แต่แหม ซื้อนาฬิกาดำน้ำทั้งทีก็น่าจะเลือกนาฬิกาที่มีคุณสมบัติเป็นนาฬิกาดำน้ำจริงๆ ดีกว่าไหมครับ เพราะเอาเข้าจริงแล้วแม้จะเป็นนาฬิกาที่ระบุว่ามีการกันน้ำที่ระดับ 200, 300, 500 เมตร หรือลึกกว่านั้นก็ตาม พวกซีลต่างๆ ก็จะเสื่อมสภาพ มีคุณสมบัติการกันน้ำได้ในระดับที่ต่ำลงไปตามอายุและสภาวะการใช้งาน ดังนั้นคุณสมบัติที่ครบครันตั้งแต่ต้นนั้น น่าจะให้ความมั่นใจกับการใช้งานได้มากกว่าครับ

 

 

By: Viracharn T.