THE NEW WORLD TIME WATCH FROM PATEK PHILIPPE

 

ในบรรดาหลากหลายรูปแบบของนาฬิกาจาก PATEK PHILIPPE (ปาเต็ก ฟิลิปส์) นั้น หนึ่งในรูปแบบคอมพลิเคชั่นที่คนรักนาฬิกาต้องมีไว้ในครอบครองก็คือ นาฬิกาเวิลด์ไทม์ ซึ่งในงานบาเซิลเวิลด์ 2016 นั้น นอกจากทาง PATEK PHILIPPE จะเปิดตัวนาฬิกาเวิลด์ไทม์รุ่นใหม่มาแทนที่รุ่นเดิมแล้ว ทางแบรนด์ยังสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการเปิดตัวนาฬิการุ่นใหม่อีกรุ่นหนึ่งซึ่งเป็นการผนวกคอมพลิเคชั่นเวิลด์ไทม์เข้ากับกลไกโครโนกราฟออกมาพร้อมกันด้วย เชื่อแน่ว่าแฟนๆ ของ PATEK PHILIPPE คงไม่ลังเลที่จะเพิ่ม 2 รุ่นนี้ไว้ในคอลเลคชั่นส่วนตัว แต่จะนำมาไว้ในครอบครองได้เมื่อใดนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคลแล้วล่ะครับ

 

 

World Time Ref. 5230
โฉมใหม่หัวใจเดิม

 

นาฬิกาคอมพลิเคชั่นเวิลด์ไทม์ ของ PATEK PHILIPPE เป็นหนึ่งในประเภทนาฬิกาที่ได้รับความนิยมสูงสุดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนานแล้ว แม้จะมีรุ่นใหม่ๆ ออกมาตามกาลเวลา ความนิยมของทั้งรุ่นเดิมและรุ่นใหม่ก็ก้าวขนานกันไปอย่างสง่างาม อาจด้วยเพราะความงดงามคลาสสิกที่เคียงคู่มากับประโยชน์ใช้สอยซึ่งเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งกับนักเดินทางและผู้ทำธุรกิจระหว่างประเทศ ทั้งยังใช้งานได้อย่างสะดวกง่ายดายเป็นที่สุด

 

 

5230G 001 DEX

 

 

เมื่อไม่นานมานี้ ตารางไทม์โซนสากลได้มีการเปลี่ยนแปลงชื่อเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของบางไทม์โซนใหม่ ส่งผลให้ชื่อเมืองที่ปรากฎอยู่บนหน้าปัดของนาฬิกาเวิลด์ไทม์เดิมไม่ตรงกับตารางในทางสากล Patek Philippe จึงใช้โอกาสนี้ทำการปรับเปลี่ยนชื่อเมืองบนหน้าปัดนาฬิกาเวิลด์ไทม์ของตนให้อัพเดทถูกต้องตามที่สังคมโลกกำหนดพร้อมกับปรับรูปแบบการตกแต่งหน้าปัด และปรับเปลี่ยนตัวเรือนใหม่ในคราวเดียวกัน โดยออกมาเป็นนาฬิกาเวิลด์ไทม์รุ่นใหม่ที่ใช้รหัสเรียกขานว่า Reference 5230 ซึ่งเป็นการออกมาแทนที่รุ่น Reference 5130 เดิม

 

 

5230G 001 PRESS CMYK     5130G

 

Ref. 5230 (เรือนซ้าย) ใช้ตัวเรือนที่มีดีไซน์แตกต่างจาก Ref.5130 (เรือนขวา) อย่างเห็นได้ชัด

 

 

ตัวเรือนของรุ่น 5230 มาในรูปทรงแบบ Calatrava (คาลาทราวา) ขนาด 38.5 มิลลิเมตร หนา 10.23 มิลลิเมตร ที่ออกแบบให้ขาตัวเรือนมีลักษณะคล้ายปีก มีขอบตัวเรือนที่ราบเรียบเกลี้ยงเกลา และปราศจากบ่าปกป้องเม็ดมะยม ทั้งหมดนี้ทำให้ตัวเรือนของรุ่น 5230 มีความแตกต่างจากตัวเรือนขนาด 39.5 มิลลิเมตร ของรุ่น 5130 เดิมอย่างเห็นได้ชัด โดยยังคงมีกระจกแซฟไฟร์กรุบนฝาหลังเพื่อเปิดโอกาสให้ชื่นชมความงดงามของงานขัดแต่งกลไกเหมือนเช่นเดิม ส่วนรูปแบบการตกแต่งบนหน้าปัดนั้น นอกจากจะมีการปรับเปลี่ยนชื่อเมืองของบางไทม์โซนบนจานวงแหวนแสดงชื่อเมือง 24 เมือง ที่เป็นพื้นสีขาวและใช้ตัวอักษรสีดำแล้ว ลายสลักกิโยเช่ตกแต่งด้วยมือบนแผ่นหน้าปัดก็มีการปรับรูปแบบใหม่ให้เป็นแบบลายเส้นสานบนพื้นแล็กเกอร์สีเทาชาร์โคลเกรย์ ซึ่งนำแบบอย่างของลวดลายมาจากหน้าปัดของนาฬิกาพกที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของ Patek Philippe รูปทรงของเข็มกับขนาดของหลักชั่วโมงทรงบาตองก็มีการปรับเปลี่ยน โดยเข็มชั่วโมงจะใช้เป็นรูปทรงสัญลักษณ์ของกลุ่มดาวกางเขนใต้ (เซาเทิร์น ครอส) และใช้เข็มนาทีแบบทรงเหลี่ยมเพชร ส่วนการแสดงเวลาแบบ 24 ชั่วโมงจะใช้จานวงแหวนสองสี พื้นสีเงิน ตัวเลขสีน้ำเงิน สำหรับช่วงเวลากลางวัน และพื้นสีดำ ตัวเลขสีขาว สำหรับช่วงเวลากลางคืน เพื่อความชัดเจนสูงสุดในการอ่านค่า

 

 

240 HU 228 PP verso 2

 

Calibre 240 HU

 

 

สำหรับกลไกที่บรรจุอยู่ภายในตัวเรือน ยังคงเป็น Calibre 240 HU กลไกอัตโนมัติ ขึ้นลานด้วยโรเตอร์ขนาดเล็กที่ทำจากทองคำ 22 กะรัต ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง กำลังสำรอง 48 ชั่วโมง คุณภาพมาตรฐาน ปาเต็ก ฟิลิปป์ ซีล ที่ติดตั้งโมดูลกลไกเวิลด์ไทม์ แสดงเวลา 24 ไทม์โซนด้วยจานวงแหวน 24 ชั่วโมงร่วมกับจานวงแหวนระบุชื่อเมือง 24 เมือง ปรับเลื่อนเวลาไทม์โซนจังหวะละ 1 ชั่วโมงด้วยปุ่มกด ณ ตำแหน่ง 10 นาฬิกา ซึ่งเป็นสิทธิบัตรของ Patek Philippe เหมือนเช่นที่ใช้ในรุ่น 5130 เดิม

 

5230G 001 proDproG

 

Reference 5230G-001 ตัวเรือนไวท์โกลด์

 

 

5230R 001 PRESS CMYK

 

Reference 5230R-001 ตัวเรือนโรสโกลด์

 


นาฬิกา World Time Reference 5230 เปิดตัวออกมาในงานบาเซิลเวิลด์ 2016 พร้อมกัน 2 แบบ คือ Ref. 5230G-001 ตัวเรือนไวท์โกลด์ พร้อมหลักชั่วโมงและเข็มไวท์โกลด์ คู่กับสายหนังจระเข้สีดำผิวเงา ล็อคด้วยบานพับไวท์โกลด์ และ Ref. 5230R-001 ตัวเรือนโรสโกลด์ หลักชั่วโมงและเข็มนาทีเป็นโรสโกลด์ คู่กับสายหนังจระเข้สีน้ำตาลช็อกโกแลตผิวเงา ล็อคด้วยบานพับโรสโกลด์

 

 

World Time Chronograph Ref. 5930
เมื่อสองคอมพลิเคชั่นยอดนิยมรวมอยู่ในนาฬิกาเรือนเดียวกัน

 

ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมคนรักนาฬิกาทั่วโลกถึงให้ความสนใจกับนาฬิการุ่นใหม่รุ่นนี้ เพราะลำพังนาฬิกาเวิลด์ไทม์หรือนาฬิกาโครโนกราฟของแบรนด์ ต่างก็ได้รับความนิยมอย่างหาที่สุดมิได้กันอยู่แล้ว เพราะต่างก็เป็นสิ่งที่คนรักนาฬิกาโดยเฉพาะแฟนๆ ของ PATEK PHILIPPE จะต้องมีไว้ในครอบครองด้วยกันทั้งคู่ การที่ทางแบรนด์ตัดสินใจนำเอาคอมพลิเคชั่นทั้งสองมารวมไว้ในนาฬิกาเรือนเดียวกันเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีในหลายมิติด้วยกัน เพราะนอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการพัฒนากลไกตลอดจนรูปแบบการดีไซน์และฝีมือการผลิตของ PATEK PHILIPPE ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้แฟนๆ ของแบรนด์ไม่พลาดที่จะเพิ่มเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของคอลเลคชั่นส่วนตัวแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยากจะซื้อนาฬิกาเพียงเรือนเดียว แต่ยังเลือกไม่ได้ว่าจะซื้อนาฬิกาเวิลด์ไทม์หรือนาฬิกาโครโนกราฟดี ตัดสินใจซื้อนาฬิกาทูอินวัน Ref. 5930 รุ่นนี้แทนได้ด้วย (ขอวงเล็บว่า ต้องเงินถึงด้วยนะครับ)

 

 

Patek Philippe P0996 1940

 

Ref. 1415-1 HU นาฬิกาเวิลด์ไทม์โครโนกราฟ ตัวเรือนเยลโลว์โกลด์ หน้าปัดสีเงินพร้อมสเกลพัลโซมิเตอร์บนหน้าปัด กลไก Calibre 13-130 HU ถูกผลิตขึ้นมาเพียงเรือนเดียวเมื่อราวทศวรรษที่ 1940 จากคำสั่งซื้อพิเศษ ปัจจุบันถูกเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ของ PATEK PHILIPPE

 

 

Patek Philippe Worldtimer Chronograph 5930G

 

Ref. 5930G-001 นาฬิกาเวิลด์ไทม์โครโนกราฟ รุ่นแรกที่ PATEK PHILIPPE บรรจุเข้าสู่สายการผลิตปกติ เปิดตัวที่งานบาเซิลเวิลด์ 2016

 

 

แฟนๆ PATEK PHILIPPE คงทราบกันดีว่า กลไกโครโนกราฟพร้อมคอมพลิเคชั่นเวิลด์ไทม์เช่นนี้ เป็นลักษณะกลไกที่ทาง PATEK PHILIPPE แทบไม่เคยผลิตออกมาเลย เพราะหลักฐานที่ปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์นั้นจะพบอยู่เพียงเรือนเดียวซึ่งถูกผลิตขึ้นราวทศวรรษที่ 1940 (ปัจจุบันถูกเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ของ PATEK PHILIPPE) จึงแทบจะเรียกได้ว่า World Time Chronograph (เวิลด์ไทม์โครโนกราฟ) รุ่นที่เปิดตัวออกมาที่งานบาเซิลเวิลด์ 2016 เป็นนาฬิกาแบบโปรดักชั่นปกติรุ่นแรกของ PATEK PHILIPPE ที่มีฟังก์ชั่นโครโนกราฟและเวิลด์ไทม์อยู่ในเรือนเดียวกัน กลไกที่ใช้กับนาฬิการุ่นนี้ เป็นการนำกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟพร้อมระบบคอลัมน์วีลและเวอร์ติคัลคลัตช์ ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง ขึ้นลานด้วยโรเตอร์ทองคำ 21 กะรัต Calibre CH 28-520 PS ของตน มาติดตั้งโมดูลเวิลด์ไทม์ซึ่งเป็นระบบกลไกที่เป็นสิทธิบัตรของตนเข้าไป โดยมีการปรับแต่งและปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนหลายชิ้น เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมเข้าด้วยกันแล้วก็จะกลายเป็นกลไกมาตรฐาน ปาเต็ก ฟิลิปป์ ซีล รหัสใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า Calibre CH 28-520 HU

 

 

CH 28 520 524 PP RECTO CMYK HU

 

CH 28 520 524 PP RECTO CMYK HU CH

 

Calibre CH 28-520 HU

 

 

สำหรับด้านฟังก์ชั่นจับเวลานั้น ทาง PATEK PHILIPPE สร้างให้กลไกนี้สามารถจับเวลาได้สูงสุดที่ 30 นาที โดยแสดงผ่านเข็มนาทีจับเวลาขนาดเล็กภายในวงเคาน์เตอร์ ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ร่วมกับเข็มวินาทีจับเวลาที่อยู่กลางหน้าปัด พร้อมฟังก์ชั่นฟลายแบ็คที่สามารถสั่งการให้เริ่มจับเวลาครั้งใหม่ได้ทันทีโดยไม่ต้องกดปุ่มหยุดจับเวลาก่อน ส่วนระบบฟังก์ชั่นเวิลด์ไทม์นั้นจะแสดงเวลาของ 24 ไทม์โซนให้ทราบด้วยจานวงแหวน 24 ชั่วโมงร่วมกับจานวงแหวนระบุชื่อเมือง 24 เมืองทั่วโลก ซึ่งสามารถปรับเลื่อนเวลาไทม์โซนเป็นจังหวะละ 1 ชั่วโมง ได้อย่างสะดวกง่ายดายด้วยปุ่มกด ณ ตำแหน่ง 10 นาฬิกา เช่นเดียวกับที่คุ้นเคยกันดีในนาฬิการุ่นเวิลด์ไทม์ของ PATEK PHILIPPE และถึงแม้ว่ากลไกเครื่องนี้จะมีทั้งกลไกโครโนกราฟและกลไกเวิลด์ไทม์อยู่ด้วยกัน แต่ก็ยังคงให้กำลังสำรองได้ 50 – 55 ชั่วโมงเลยทีเดียว

 

 

5930G 001 DEX

 

นาฬิกา World Time Chronograph รุ่นนี้ใช้ตัวเรือนที่มีดีไซน์คล้ายกับนาฬิกา World Time Ref. 5230 ที่เปิดตัวออกมาพร้อมกัน แต่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย โดยวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ 39.5 มิลลิเมตร หนา 12.86 มิลลิเมตร พร้อมฝาหลังกรุกระจกแซฟไฟร์ มีรหัสประจำตัวเป็น Reference 5930

 

 

5930G 001 AMB GAUCHE CMYK

 

Reference 5930G-001

 

  

นาฬิกาแบบแรกสุดของรุ่นนี้เปิดตัวออกมาในงานบาเซิลเวิลด์ 2016 ด้วยรหัส Reference 5930G-001 ซึ่งใช้ตัวเรือนไวท์โกลด์ คู่กับหน้าปัดสีน้ำเงินที่ตกแต่งลายกิโยเช่ด้วยมือพร้อมติดตั้งแท่งหลักชั่วโมงไวท์โกลด์ โดยมีจานวงแหวนสำหรับแสดงเวลาแบบ 24 ชั่วโมงเป็นพื้นสีน้ำเงินพร้อมตัวเลขสีขาวสำหรับช่วงเวลากลางคืน ร่วมกับพื้นสีเงินพร้อมตัวเลขสีน้ำเงินสำหรับช่วงเวลากลางวันล้อมรอบ ขณะที่จานวงแหวนแสดงชื่อเมืองซึ่งอยู่วงรอบนอกสุดจะเป็นพื้นสีน้ำเงินที่พิมพ์ชื่อเมืองด้วยอักษรสีขาว โดยมีวงแหวนสีขาวพิมพ์สเกลวินาทีคั่นอยู่ระหว่างจานวงแหวนทั้งสอง เข็มชั่วโมงกับเข็มนาทีทรงดอฟีนเป็นวัสดุไวท์โกลด์พร้อมแถบขีดเคลือบสารเรืองแสง ซูเปอร์ลูมิโนว่า ส่วนเข็มจับเวลาจะเป็นวัสดุสตีลเคลือบโรเดียม สวมคู่มากับสายหนังจระเข้สีน้ำเงินเข้มผิวด้าน ล็อคด้วยบานพับไวท์โกลด์

 

By: Viracharn T.