100 YEARS OF SEIKO WRISTWATCH

  

100 YEARS OF SEIKO WRISTWATCH - ความยิ่งใหญ่แห่งเรือนเวลาร่วมทวีป

 

Seiko เป็นแบรนด์นาฬิกาสัญชาติญี่ปุ่นอายุกว่า 130 ปีซึ่งมีความยิ่งใหญ่ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งเดียวจากภูมิภาคเอเชียที่สามารถเทียบชั้นกับแบรนด์เก่าแก่ของทางสวิตเซอร์แลนด์ได้เลย หรือหากจะวัดกันเรื่องเทคโนโลยีของกลไกแล้วอาจถือได้ว่าก้าวล้ำกว่ากันเสียด้วยซ้ำไป โดยปี 2013 นี้ ทาง Seiko ถือเป็นปีสำคัญของแบรนด์อีกปีหนึ่งเพราะเป็นปีแห่งการครบรอบ 100 ปี ของการผลิตนาฬิกาข้อมือของตน นับจากที่ได้เริ่มผลิตนาฬิกาข้อมือแบบแรกภายใต้ชื่อ Laurel ออกสู่ตลาดเมื่อ ค.ศ. 1913 เรามาทำความรู้จักกับนาฬิกาจากภูมิภาคเอเชียแบรนด์นี้ให้มากขึ้นกันสักนิดดีมั้ยครับ 

 

Kintaro Hattori

Kintaro Hattori

 

K. Hattori watch clock shop 1881

K. Hattori watch & clock shop ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.1881

 

หลักกิโลเมตรแรกอย่างเป็นทางการของ Seiko ถูกวางโดยชายหนุ่มอายุ 21 ปีชาวโตเกียวชื่อ Kintaro Hattori เมื่อเขาก่อตั้งร้านจำหน่ายและรับซ่อมนาฬิกาภายใต้ชื่อ K. Hattori watch & clock shop ขึ้นมาเมื่อ ค.ศ.1881 ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเพียงความตั้งใจที่จะทำธุรกิจด้านการขายและซ่อมนาฬิกาเท่านั้น แต่ความต้องการของเขาก็คือการผลิตนาฬิกาที่เป็นของชาวญี่ปุ่นแท้ๆ ขึ้นมาให้กับชาวญี่ปุ่นได้ใช้กันโดยไม่ต้องพึ่งพาสินค้าจากประเทศตะวันตก จึงเป็นที่มาแห่งโรงงานผลิตนาฬิกาของเขาซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อปี 1892 โดยใช้ชื่อว่า Seikosha และได้เริ่มผลิตนาฬิกาแขวนผนังกับนาฬิกาพกออกจำหน่าย จนมาถึงในปี 1913 ก็ได้ผลิตนาฬิกาข้อมือแบบแรกของตนขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า Laurel ซึ่งก็มีฐานะเป็นนาฬิกาข้อมือแบบแรกของผู้ผลิตนาฬิกาสัญชาติญี่ปุ่นด้วย ต่อมาในปี 1924 ก็ได้ใช้ชื่อ Seiko บนนาฬิกาข้อมือเป็นครั้งแรก 

 

 

1895 Pocket Watch

นาฬิกาพกผลิตโดย Seikosha จากปี 1895 

 

1913 LaurelS

 

1913 Laurel MV

นาฬิกาข้อมือแบบแรกของ Seiko ผลิตขึ้นในปี 1913 ภายใต้ชื่อ Laurel 

 

 

69

นาฬิกาข้อมือแบบแรกภายใต้ชื่อ Seiko ผลิตขึ้นในปี 1924 

 

 

จากนั้นเป็นต้นมา พัฒนาการของ Seiko ที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีการก่อตั้งโรงงานผลิตนาฬิกาและชิ้นส่วนเพิ่มเติมขึ้นมามากมายในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นในประเทศญี่ปุ่นเองหรือนอกประเทศก็ตาม ทั้งยังได้เข้าร่วมการแข่งขันความเที่ยงตรงของกลไกจักรกลในยุคทศวรรษที่ 1960 ซึ่งจัดขึ้นที่เนอชาแตล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเป็นโรงงานนอกประเทศสวิตเซอร์แลนด์โรงงานแรกที่ติดอันดับท้อปเทนของการแข่งขันประจำปี 1963 และติดอันดับท้อปเทนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1965 จนถึงปี 1967 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการจัดการแข่งขัน จากนั้นก็เข้าร่วมการแข่งขันที่เจนีวาในปี 1968 และก็ได้รับรางวัลตั้งแต่อันดับที่ 4 จนถึง 10 ทำให้ได้รับตำแหน่ง กลไกนาฬิกาข้อมือความเที่ยงตรงสูงระดับโครโนมิเตอร์ที่ดีที่สุด 

 

 

1950sAssemblyline DainiSeikosha

ภายในโรงงานของ Seiko เมื่อยุคทศวรรษที่ 1950

 

 

นอกจากนี้ทาง Seiko ยังเป็นผู้นำในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับกลไกนาฬิกามาตั้งแต่ครั้งอดีต เช่น เป็นหนึ่งในผู้สร้างกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟแบบแรกของโลกขึ้นมาได้สำเร็จในปี 1969 โดยนำมาใช้ในนาฬิการุ่น 5 Sports Speed Timer ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่แบรนด์สวิสชื่อดังได้นำเสนอกลไกลักษณะเดียวกันออกสู่ตลาด และในปีเดียวกันนี้เองก็ได้นำเสนอนาฬิกาข้อมือกลไกควอตซ์แบบแรกของโลกออกมาด้วยรุ่น Quartz Astron และจากยุคทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา Seiko ก็ได้กลายเป็นผู้ผลิตนาฬิกาควอตซ์รายสำคัญของโลก แต่ก็ไม่เคยทิ้งการพัฒนากลไกจักรกลไปแต่อย่างใดเพราะยังคงผลิตทั้งกลไกไขลานและกลไกอัตโนมัติออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการคิดค้นกลไกรูปแบบใหม่ๆ อย่าง กลไกควอตซ์ที่ใช้พลังงานแสง กลไกคีเนติกที่เป็นกลไกควอตซ์ซึ่งชาร์จพลังงานเพิ่มให้กับแบตเตอรี่จากการเคลื่อนไหวของโรเตอร์หรือการขึ้นลาน หรือกลไกสปริงไดรฟ์ซึ่งเป็นกลไกแบบใหม่ที่ผสมผสานระหว่างความเที่ยงตรงของควอตซ์กับระบบขึ้นลานแบบกลไกจักรกลผนวกด้วยเทคโนโลยีที่ Seiko คิดค้นขึ้นซึ่งทำให้มีเข็มวินาทีที่เดินสุดเนียนหรือที่เรียกกันว่าเข็มสะกดวิญญาณและมีความเที่ยงตรงแม่นยำโดยไม่ต้องพึ่งพาแบตเตอรี่ใดๆ ไปจนถึงกลไกที่รับสัญญาณเวลาโดยตรงจากระบบ GPS 

 

128

5 Sports Speed Timer นาฬิกากลไกอัตโนมัติโครโนกราฟ รุ่นแรกๆ ของโลก เปิดตัวในปี 1969 

 

 

217

Quartz Astron นาฬิกาข้อมือกลไกควอตซ์รุ่นแรกของโลก เปิดตัวเมื่อปี 1969

ในราคาที่แพงมากเมื่อเทียบกับนาฬิกาจักรกลทั่วๆ ไปในสมัยนั้น 

 

 

318

นาฬิกาดิจิตัลกลไกควอตซ์ตัวเลข 6 หลัก จากปี 1973 

 

512

Professional Diver 600 นาฬิกาดำน้ำลึกระดับ 600 เมตร กลไกอัตโนมัติ จากปี 1975 

 

 

413

นาฬิกากลไกคีเนติก เปิดตัวเมื่อปี 1988 

 

ปัจจุบันกลุ่ม Seiko มีแบรนด์นาฬิกาอยู่ภายใต้สังกัดทั้งหมด 5 แบรนด์ คือ Seiko, Grand Seiko, Credor, Pulsar และ Lorus นอกจากนี้ยังมีบริษัทในเครือที่ทำการผลิตนาฬิกาแนวสปอร์ตและแนวแฟชั่นด้วย ซึ่งตัวอย่างของแบรนด์เหล่านี้ที่คนไทยพอรู้จักกันดีก็ได้แก่ Alba, Appetime, Asics, Issey Miyake, J.Springs และ Jill Stuart เป็นต้น

 

ในเมื่อปีนี้เป็นปีครบรอบ 100 ปีของนาฬิกาข้อมือ Seiko ทั้งที ทาง Seiko ก็ย่อมไม่ให้ปีนี้ผ่านไปตามปกติเป็นแน่ จึงได้ออกนาฬิกาเวอร์ชั่นพิเศษฉลองครบรอบ 100 ปี มาถึง 6 รุ่นด้วยกัน ไล่มาตั้งแต่ Grand Seiko, Seiko Astron, Ananta Chronograph ไปจนถึง Premier, Sportura และ Velatura เรียกว่ามีให้เลือกเป็นเจ้าของกันอย่างหลากหลายเลยทีเดียวครับ ไม่ว่าจะเป็นในด้านกลไกรูปแบบต่างๆ ด้านรูปแบบของนาฬิกา ด้านฟังก์ชั่นการใช้งาน และด้านระดับราคาของแต่ละรุ่น สังเกตุดูจะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วจะมีลักษณะร่วมกันของสีที่ใช้ในการตกแต่งซึ่งก็คือสีโทนฟ้าไปจนถึงน้ำเงินครับ แต่ถ้าอยากได้รุ่นใดรุ่นหนึ่งไว้ในครอบครองก็คงต้องออกแรงหากันสักหน่อยเพราะแทบทุกรุ่นจะเป็นการผลิตในแบบจำนวนจำกัดตั้งแต่จำนวนสองหลักไปจนถึงสี่หลัก หรือบางรุ่นที่ไม่ได้ระบุจำนวนนั้นก็จะสิ้นสุดการผลิตในเดือนธันวาคมของปี 2013 นี้เท่านั้น 

 

 

712

Grand Seiko 44GS เรือนต้นฉบับจากปี 1967

 

129

Grand Seiko 44GS รุ่นรีเมค ปี 2013 ในภาพเป็นแบบตัวเรือนสตีล

 

 

Grand Seiko ไลน์นาฬิการะดับสูงของ Seiko ที่เปิดตัวครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 1960 ในเวอร์ชั่นพิเศษฉลองครบรอบ 100 ปีนาฬิกาข้อมือ Seiko นี้ เป็นรุ่น Grand Seiko 44GS ซึ่งเป็นการนำรูปแบบของรุ่น 44GS ในอดีตที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 1967 กลับมาผลิตใหม่อีกครั้งในแบบลิมิเต็ดเอดิชั่น ด้วยรูปแบบสุดคลาสสิกที่แทบจะถอดแบบมาจากรุ่นเดิมในทุกองค์ประกอบ ทั้งยังรักษาความคลาสสิกเอาไว้ด้วยการใช้กลไกไขลานอีกด้วย โดยยังสำรองพลังงานได้นานถึง 3 วันเมื่อขึ้นลานเต็มอีกต่างหาก มีออกมาทั้งหมด 4 แบบด้วยกัน คือ ตัวเรือนสเตนเลสสตีล ผลิต 700 เรือน และตัวเรือนไวท์โกลด์ 18k, เยลโลว์โกลด์ 18k กับโรสโกลด์ 18k อีกแบบละ 70 เรือน

 

130

 

และก็มีรุ่น 44GS ในรูปแบบที่ผสานดีไซน์แบบร่วมสมัยเข้าไปอย่างกลมกลืนในตัวเรือนพร้อมสายสเตนเลสสตีล เดินด้วยกลไกอัตโนมัติ ซึ่งมี 2 แบบ คือ หน้าปัดสีเงินผลิต 1,200 เรือน และหน้าปัดสีดำ ผลิต 700 เรือนด้วย 

 

 

131

 

218

 

Astron Kintaro Hattori Special Limited Edition มากับความไฮเทคเต็มรูปแบบด้วยการรวมเทคโนโลยีสุดล้ำของ Seiko เข้ามาไว้ในนาฬิการุ่นนี้ ตั้งแต่ระบบกลไกที่รับสัญญาณเวลามาจากระบบดาวเทียม GPS ซึ่งทำให้สามารถแสดงเวลาของทุกสถานที่ในโลกได้อย่างแม่นยำ พร้อมหน้าปัดย่อยแสดงเวลาที่สอง และยังบอกเวลาแบบเวิลด์ไทม์ได้อีก 26 เมืองสำคัญทั่วโลกอีกด้วย ส่วนการแสดงวันที่ก็จะเป็นแบบเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ที่ไม่จำเป็นต้องปรับตั้งเป็นรายเดือนหรือรายปี ไปจนถึงการทำงานด้วยพลังงานแสง ทั้งยังมีความพิเศษสุดๆ อยู่ที่การเป็นนาฬิกาแบบแรกของแบรนด์ที่มีการระบุชื่อของ Kintaro Hattori และคติพจน์ของเขา “One step ahead of the rest” ลงบนนาฬิกา โดยจะอยู่ที่ฝาหลังรอบโลโก้ S ซึ่งเป็นโลโก้ที่ Kintaro ได้จดทะเบียนไว้เมื่อปี 1900 ผลิตขึ้นในจำนวน 5,000 เรือน ในตัวเรือนไทเทเนี่ยมเคลือบดำพร้อมขอบตัวเรือนเซรามิกสีดำ ประดับเม็ดมะยมด้วยออนิกซ์ มาคู่กับสาย 2 เส้นให้สลับใช้งานได้ คือ สายไทเทเนี่ยมเคลือบดำกับสายหนังจระเข้สีดำ

 

 

132

 

219

หมวกเกราะโบราณสมัยไดเมียว ที่มาแห่งรูปแบบพระจันทร์เสี้ยวบนหน้าปัด

 

Ananta 100th Anniversary Chronograph ในตัวเรือนพร้อมสายสเตนเลสสตีล ผลิตจำนวน 300 เรือนรุ่นนี้นอกจากจะมีรูปแบบซึ่งนำแรงบันดาลใจจากเหล่าซามูไรญี่ปุ่นในอดีตมากลั่นกรองเป็นเส้นสายอันเฉียบคมงดงามของตัวเรือนและองค์ประกอบต่างๆ อันเป็นตัวตนแห่งคอลเลคชั่น Ananta แล้ว จะมีความพิเศษอยู่ที่พื้นหน้าปัดที่ถูกเพ้นท์แล็กเกอร์สีน้ำเงินเข้มด้วยมือโดยศิลปินผู้เชี่ยวชาญอย่างประณีตและมีภาพพระจันทร์เสี้ยวสีนวลอยู่ที่ขอบด้านซ้ายซึ่งนำรูปแบบมาจากงานตกแต่งของหมวกเกราะโบราณสมัยไดเมียว เมื่อราวศตวรรษที่ 17 ทำงานด้วยกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟ

 

 

133

 

Premier Kinetic Direct Drive 100th Anniversary Edition มากับตัวเรือนสตีลเคลือบดำพร้อมหน้าปัดสลับสีระหว่างน้ำเงินเข้มกับดำ ทำงานด้วยกลไกคีเนติกแบบไดเร็กไดรฟ์ที่นอกจากใช้โรเตอร์สร้างกำลังลานแล้วยังสามารถขึ้นลานด้วยเม็ดมะยมได้ด้วยโดยมีมาตรแสดงกำลังสำรองให้เห็นกันชัดๆ บนหน้าปัด ผลิตจนถึงเดือนธันวาคม 2013 เท่านั้น

 

 

220

 

Velatura Kinetic Direct Drive Moon Phase 100th Anniversary Edition มาในตัวเรือนสตีลเคลือบโรสโกลด์ ขอบตัวเรือนเคลือบสีน้ำเงิน เข้ากับพื้นหน้าปัดสีน้ำเงินเข้ม ทำงานด้วยกลไกคีเนติกแบบไดเร็กไดรฟ์เช่นกัน แต่นอกจากจะแสดงกำลังสำรองให้ทราบด้วยเข็มแล้ว ยังมาพร้อมเข็มแสดงวันที่ วัน เวลาแบบ 24 ชั่วโมง และจานแสดงมูนเฟสอีกด้วย ผลิตจนถึงเดือนธันวาคม 2013 เช่นกัน

 

 

319

 

Sportura Kinetic Perpetual Calendar 100th Anniversary Edition ใช้ตัวเรือนสตีลเคลือบโรสโกลด์ร่วมกับขอบตัวเรือนที่ถูกเคลือบเป็นสีน้ำเงิน มากับกลไกคีเนติกเพอร์เพทชวลอันโด่งดังที่จะแสดงค่าปฏิทินในรูปแบบสุดคลาสสิกเฉกเช่นนาฬิกาจักรกลสุดซับซ้อนด้วยหน้าต่างแสดงวันที่ขนาดใหญ่แบบ 2 หลักที่เรียกกันว่าบิ้กเดท แสดงเดือนด้วยเข็ม และแสดงลีพเยียร์ผ่านช่องหน้าต่างทรงสวย และยังให้เข็มแสดงเวลาแบบ 24 ชั่วโมงมาด้วย กลไกนี้มีฟังก์ชั่นสำคัญอีกอย่างคือ เมื่อไม่ได้ใช้งานนาฬิกาครบ 24 ชั่วโมง นาฬิกาก็จะเข้าสู่สลีพโหมดโดยจะหยุดเดินเพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน (สามารถเก็บพลังงานเอาไว้ได้นานถึง 4 ปีเลยทีเดียว) และจะกลับมาทำงานใหม่อีกครั้งโดยชี้บอกไปที่เวลาในปัจจุบันโดยอัตโนมัติเมื่อหยิบนาฬิกามาใช้งาน ผลิตจนถึงเดือนธันวาคม 2013 เท่านั้น

 

By: Viracharn T.