ECO WATCH: รักษ์สิ่งแวดล้อม

 

เรื่องของพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวข้อและเรื่องราวที่สังคมโลกในปัจจุบันต่างตระหนักถึงความสำคัญ สิ่งของเครื่องใช้ตลอดจนเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ในปัจจุบันก็เริ่มถูกสร้างให้สามารถประหยัดพลังงานและลดการทำร้ายสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ตั้งแต่อาคารบ้านเรือน ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า แม้กระทั่งนาฬิกาเองก็ตาม

 

นาฬิกาข้อมือโดยเฉพาะประเภทกลไกควอตซ์ซึ่งใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เป็นกำลังในการขับเคลื่อนให้วงจรทำงาน มีส่วนที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมอยู่บ้างเหมือนกันเพราะสารพิษที่อยู่ในแบตเตอรี่นั้นย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงปัญหาในการกำจัดยามหมดอายุการใช้งาน ลองคิดดูว่าในปีหนึ่งๆ นั้นมีจำนวนแบตเตอรี่สำหรับนาฬิกากลไกควอตซ์ที่ต้องผลิตขึ้นและต้องถูกกำจัดเป็นจำนวนมากมายเพียงใด คิดแค่นาฬิกาที่อยู่บนข้อมือของผู้คนทั่วโลกก็เป็นจำนวนมหาศาลแล้ว

 

ด้วยความตระหนักถึงผลกระทบนี้ ทางผู้ผลิตนาฬิการายใหญ่แห่งประเทศญี่ปุ่น 2 ราย นั่นก็คือ Seiko กับ Citizen จึงได้พร้อมใจกันพัฒนาเทคโนโลยีที่จะลดความสิ้นเปลืองในการใช้แบตเตอรี่ในนาฬิกาข้อมือกลไกควอตซ์ของตัวเอง โดยค้นหาวิธีที่จะนำเอาพลังงานธรรมชาติมาแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่แบบชาร์จได้ หรือตัวเก็บประจุ ซึ่งจะช่วยลดขยะอิเล็กโทรนิกส์ในรูปของแบตเตอรี่ใช้แล้วอันเป็นภาระในการกำจัดและสร้างผลเสียให้กับสิ่งแวดล้อมลงได้มาก หากผู้คนหันมาใช้นาฬิกาข้อมือลักษณะนี้กันมากขึ้น

 

Seiko มีการต่อยอดพัฒนาการด้านการใช้พลังงานจากการเคลื่อนไหวข้อมือในลักษณะของกลไกอัตโนมัติที่ใช้การแกว่งของโรเตอร์มากักเก็บเป็นพลังงานมานานแล้ว โดยแทนที่จะเป็นการสร้างและกักเก็บพลังงานในลักษณะของลานเหมือนกับกลไกจักรกล Seiko ก็ได้คิดค้นให้การแกว่งของโรเตอร์เป็นการสร้างพลังงานร่วมกับชุดวงจรไฟฟ้าเพื่อให้เกิดประจุพลังงานไฟฟ้าไปเก็บไว้ในตัวเก็บประจุไฟฟ้า โดยเรียกกลไกนี้ว่ากลไกแบบ Kinetic (คิเนติก) ซึ่งเมื่อสวมใส่แล้วจะมีฟีลลิ่งคล้ายกับนาฬิกากลไกอัตโนมัติเพราะมีโรเตอร์แกว่งอยู่ภายในให้ผู้สวมใส่รู้สึกได้ แต่เมื่อมองเข็มวินาทีบนหน้าปัดจะเห็นว่าเดินเป็นจังหวะทีละวินาทีเช่นเดียวกับนาฬิกาแบบกลไกควอตซ์

 

Seiko Prospex Kinetic GMT Divers1

SEIKO Prospex Kinetic GMT Diver’s นาฬิกาดำน้ำ 200 เมตร ในตัวเรือนและสายสตีลทรงแกร่งรุ่นนี้

ใช้กลไกระบบ Kinetic ที่แปรพลังงานจากการเคลื่อนไหวข้อมือไปเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับการทำงาน

มาพร้อมฟังก์ชั่น GMT ที่จะแสดงค่าเวลาที่สองให้ทราบด้วยเข็มแบบ 24 ชั่วโมง

 

นอกจากกลไกแบบคิเนติกแล้ว Seiko ก็ยังพัฒนากลไกที่ใช้แสงสว่างไปแปลงเป็นประจุไฟฟ้าเก็บไว้ในแบตเตอรี่แบบชาร์จเพื่อเป็นพลังงานในการทำงานด้วยโดยเรียกกลไกควอตซ์พลังงานแสงของตนว่า Solar ขณะที่ค่าย Citizen ที่ใช้หลักการลักษณะเดียวกันในการแปลงแสงสว่างมาเป็นพลังงานในการขับเคลื่อนกลไกควอตซ์ของตัวเอง จะใช้ชื่อว่ากลไก Eco-Drive

 

นาฬิกาพลังงานแสงยุคปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นของ Seiko หรือ Citizen ก็ตาม จะไม่มีการเปิดแผงโซล่าร์เซลล์รับแสงให้เห็นกันชัดๆ เหมือนกับนาฬิกาพลังงานแสงในยุคก่อนๆ อีกแล้ว ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและลักษณะของการออกแบบหน้าปัดที่แนบเนียนจนแทบมองไม่เห็นความเป็นแผงโซล่าร์เซลล์หรือช่องที่ให้แสงผ่านไปยังแผงโซล่าร์เซลล์ด้านใน หากมองจากภายนอกจึงแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างไปจากนาฬิกาปกติทั่วไปเลย นอกจากคำว่า Solar หรือ Eco-Drive ที่มักจะมีการระบุเอาไว้บนหน้าปัดเพื่อบ่งบอกความเป็น Eco Watch เท่านั้น

 

Seiko Prospex Aviation Solar Chronograph1

SEIKO Prospex Aviation Solar Chronograph นาฬิกาสปอร์ตสไตล์นักบินในตัวเรือนและสายสตีลทรงบึกบึนพร้อมระบบสเกลสไลด์รูลสำหรับคำนวณค่าต่างๆ

ที่ใช้ในการบิน ซึ่งมีขุมพลังเป็นกลไกควอตซ์พร้อมฟังก์ชั่นโครโนกราฟที่ใช้แสงสว่างในการสร้างพลังงาน 

 

และสำหรับผู้ที่เกรงว่าหากไม่ได้นำมาสวมใส่บ่อยๆ แล้ว นาฬิกาพลังงานแสง หรือนาฬิกาคิเนติก จะหยุดเดิน ทำให้ต้องเสียเวลานำมาผึ่งแสงจัดๆ หรือเขย่าปลุก แล้วก็ตั้งเวลาใหม่ อันนำมาซึ่งความยุ่งยากในการใช้งานนั้น ปัจจุบันนี้หายห่วงได้แล้ว เพราะทาง Seiko และ Citizen ตระหนักถึงความจริงในข้อนี้ดี จึงได้พัฒนาให้กลไกควอตซ์พลังงานแสงของตัวเองให้สามารถเก็บประจุไฟเพื่อรักษาการเดินของนาฬิกาเอาไว้ได้เป็นเวลานานหลายเดือน ส่วนกลไกคิเนติกรุ่นใหม่ๆ นั้น ทาง Seiko ก็ได้พัฒนาให้มีระบบประหยัดพลังงานและระบบออโต้รีเลย์ เพื่อให้นาฬิกาหยุดเดินเมื่อวางไว้เฉยๆ โดยไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน และมีหน่วยความจำที่พร้อมจะสั่งการให้นาฬิกากลับมาทำงานในเวลาปัจจุบันได้ทันทีเมื่อหยิบนาฬิกาขึ้นมาสวมใส่ใช้งาน ด้วยระบบนี้จึงทำให้มีประจุไฟเพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงให้วงจรรักษาเวลายังคงทำงานอย่างต่อเนื่องได้เป็นเวลาหลายเดือน

 

Seiko Astron GPS Solar Chronograph1

SEIKO Astron GPS Solar Chronograph นาฬิกาสปอร์ตขอบตัวเรือนเซรามิกเรือนงามที่ล้ำหน้าด้วยกลไกควอตซ์โครโนกราฟพลังงานแสงซึ่งติดตั้งเทคโนโลยีการรับสัญญาณเวลาจากระบบดาวเทียม GPS อันรวมไปถึงการแสดงค่าวันที่ที่จะถูกปรับตั้งตามสัญญาณเวลาไปพร้อมกัน ในภาพเป็นรุ่นตัวเรือนและสายวัสดุไทเทเนี่ยมน้ำหนักเบาเคลือบสีดำ

 

นี่คือตัวอย่างเทคโนโลยีสมัยใหม่ของนาฬิกายุคปัจจุบันที่มีส่วนในการลดขยะซึ่งเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังถูกพัฒนาควบคู่ไปกับความสะดวกในการใช้งานอีกด้วย โดยทั้ง Seiko และ Citizen ต่างก็ผลิตนาฬิกาที่ใช้กลไกลักษณะนี้ออกมาให้เป็นเจ้าของกันในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาเดรสหรู นาฬิกาสไตล์ลำลอง หรือนาฬิกาสปอร์ตลักษณะต่างๆ ทั้งยังมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่แตกต่างกันให้เลือกอีกมากมาย ตั้งแต่ฟังก์ชั่นบอกเวลาธรรมดา ฟังก์ชั่นโครโนกราฟ ฟังก์ชั่นจีเอ็มที ไปจนถึงฟังก์ชั่นซับซ้อนอย่างเพอร์เพทชวลคาเลนดาร์ และล้ำสุดๆ กับนาฬิกาพลังงานแสงที่บอกเวลาได้อย่างแม่นยำที่สุดไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนโลกด้วยการรับสัญญาณเวลาจากระบบดาวเทียม GPS โดยนาฬิกาที่นำมาให้ชมกันในบทความนี้ล้วนเป็นนาฬิกาประเภทที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมรุ่นใหม่ๆ ของทั้ง 2 แบรนด์นี้

 

Citizen EcoDrive Satellite Wave F1001

CITIZEN Eco-Drive Satellite Wave F100 นาฬิกาสปอร์ตกึ่งเดรสเรือนหรูในวัสดุตัวเรือนและสายไทเทเนี่ยมรุ่นนี้ใช้กลไกระบบ Eco-Drive พลังงานแสง ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีการรับสัญญาณเวลาจากระบบดาวเทียม GPS ซึ่งรวมไปถึงการแสดงค่าวันกับวันที่ที่จะแสดงอย่างถูกต้องแม่นยำไปพร้อมกับค่าเวลา ทั้งยังเพิ่มความมั่นใจในการใช้งานด้วยการมอบมาตรแสดงกำลังสำรองมาให้บนหน้าปัดเป็นการตอบโจทย์เพื่อมิให้ต้องคอยกังวลเรื่องนาฬิกาหยุดเดิน