Pre-SIHH 2018 เจเนอเรชั่นใหม่ของคอลเลคชั่น Kalpa จาก PARMIGIANI

 

นาฬิกาทรงเหลี่ยมแบบตอนโน ที่มีชื่อว่า Kalpa นั้นเป็นคอลเลคชั่นหลักของ Parmigiani แห่งเมืองเฟลอริเยร์ ของสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นนาฬิกาตระกูลแรกของแบรนด์ซึ่งเริ่มผลิตขึ้นตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา ด้วยดีไซน์ที่มีลักษณะเป็นตัวของตัวเองสูงเช่นนี้ทำให้ Kalpa กลายเป็นคอลเลคชั่นนาฬิกาที่มีคนรู้จักมากที่สุดของแบรนด์ ซึ่งหลังจากที่ผลิตจำหน่ายในแบบเดิมๆ กันมานานหลายปีแล้ว ปี 2018 นี้ก็ถึงคราวที่ทางแบรนด์จะสร้างสรรค์เจเนอเรชั่นใหม่ให้กับ Kalpa กันแล้ว

 

เจเนอเรชั่นใหม่ของ Kalpa ที่จะเปิดตัวในงาน SIHH 2018 นี้ เป็นการนำแบบฉบับดั้งเดิมของ Kalpa มาออกแบบใหม่ให้ดูทันสมัยขึ้นโดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของ Kalpa เอาไว้อย่างเหนียวแน่นทั้งรูปทรงของตัวเรือนและขาตัวเรือนทรงหยดน้ำ ซึ่งรุ่นที่เผยโฉมมาให้เห็นกันก่อนเริ่มงาน SIHH ก็คือ Kalpa Chronor, Kalpagraphe Chronometre และ Kalpa Hebdomadaire ในตัวเรือนโรสโกลด์ คู่กับสายหนังจระเข้สีดำคุณภาพสูงสุดเนี๊ยบที่ผลิตโดย Hermes

ตัวเรือนของเจเนอเรชั่นใหม่นี้ถูกออกแบบให้ความโค้งของขาตัวเรือนมีระดับที่ดูต่อเนื่องกับสายยิ่งขึ้น ทำให้ดูเรียบเนียนและเนี๊ยบกว่าเดิม อีกทั้งขาตัวเรือนยังถูกออกแบบให้เป็นหยดน้ำที่สั้นและหนายิ่งขึ้น เข้ากับรูปทรงเส้นสายที่มีความโค้งละมุนในทุกทิศทาง ซึ่งทำให้ดูรับพอดีกับความโค้งของข้อมือผู้สวมใส่ และในรุ่นโครโนกราฟก็มาพร้อมกับปุ่มกดที่ดีไซน์ใหม่มาเป็นทรงเหลี่ยมมนแทนทรงกลมแบบเดิม

 

อีกความเปลี่ยนแปลงสำคัญและเป็นไปในทิศทางที่คนรักนาฬิกาชื่นชอบก็คือ การที่ทุกรุ่นของ Kalpa เจเนอเรชั่นใหม่ล้วนใช้แต่กลไกที่มีรูปทรงเป็นแบบตอนโน ซึ่งช่างเหมาะเจาะกับตัวเรือนและสร้างความรู้สึกพิเศษได้มาก และถึงแม้ว่าจริงๆ แล้วกลไกบางคาลิเบอร์อย่างกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟที่ใช้ในรุ่น Kalpa Chronor กับ Kalpagraphe Chronometre จะมีพื้นฐานเป็นกลไกทรงกลมแต่ก็ถูกปรับลักษณะเพลทกับบริดจ์ให้ดูเป็นกลไกทรงเหลี่ยม และก็เป็นกลไกอินเฮ้าส์ด้วย ไม่เหมือนกับ Kalpa รุ่นก่อนบางรุ่นที่มองแล้วเห็นทันทีว่าเป็นกลไกทรงกลมซึ่งดูขัดกับรูปทรงของตัวเรือนและไม่ชวนให้พลิกด้านหลังมาดูกลไก ทั้งยังเป็นกลไกอัตโนมัติฟังก์ชั่นโครโนกราฟแบบมาตรฐานทั่วไปอีกต่างหากแม้จะมีการตกแต่งมาอย่างสวยงามก็ตาม ส่วนรุ่น Kalpa Hebdomadaire นั้นยังคงใช้กลไกไขลานทรงตอนโน ซึ่งเป็นกลไกที่ Mr. Michel Parmigiani สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1998 เหมือนเช่นเดิม ส่วนจะมีรุ่นกลไกอัตโนมัติออกมาทดแทนรุ่น Kalpa Grande กับ Kalpa XL เดิมหรือไม่นั้น คงต้องรอดูกันต่อไป

 

 

Kalpa Chronor

 

Kalpa Chronor เป็นนาฬิกา ลิมิเต็ด เอดิชั่น ผลิตจำนวนจำกัด เพียง 50 เรือน ที่มาพร้อมกับความพิเศษของกลไก เพราะเป็นกลไกอินเฮ้าส์เครื่องใหม่ที่สร้างขึ้นจากทองคำ ซึ่งเป็นวัสดุที่เคยใช้ทำกลไกของรุ่น Tonda Chronor Anniversaire มาแล้ว แต่สิ่งที่พิเศษยิ่งขึ้นก็คือ กลไกคาลิเบอร์ PF365 เครื่องนี้ถือเป็นกลไกทองคำแบบแรกของโลกที่เป็นแบบขึ้นลานอัตโนมัติพร้อมระบบโครโนกราฟ กลไกเครื่องใหม่นี้ขึ้นลานด้วยโรเตอร์ขนาดใหญ่ติดตั้งอยู่กึ่งกลางตามแบบกลไกสมัยใหม่ และเป็นกลไกโครโนกราฟระดับสูงที่มีทั้งระบบคอลัมน์วีลและเวอร์ติคัลคลัตช์ ทั้งยังทำงานที่ความถี่สูงถึง 36,000 ครั้งต่อชั่วโมง และให้กำลังสำรองได้นานถึง 65 ชั่วโมง เท่าๆ กับกลไกไขลานโครโนกราฟของรุ่น Tonda Chronor Anniversaire นั่นเอง นอกจากนี้ยังได้รับการรับรองมาตรฐานความแม่นยำโครโนมิเตอร์อีกด้วย โดยบรรจุมาในตัวเรือนโรสโกลด์ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ คือ 48.2 x 40.4 มม. ติดตั้งหน้าปัดสีดำแบบเล่นระดับตกแต่งกิโยเช่บนบริเวณรอบนอกและมีพื้นวงหน้าปัดขนาดเล็กเป็นสีทอง 2 วง โดยมีรูปแบบเฉพาะตัวของแบรนด์อย่าง วงสเกลวินาทีขนาดเล็กแบบครึ่งวง กับช่องหน้าต่างวันที่ทรงโค้งเป็นจุดชวนชม

 

Parmigiani Fleurier 2018 Kalpa Chronor 1

 

Parmigiani Fleurier 2018 Kalpa Chronor 2

 

เพลทและบริดจ์ของกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟจับเวลา 12 ชั่วโมงของ Kalpa Chronor ทำจากทองคำโรสโกลด์ โดยมีการตกแต่งมาอย่างประณีตสวยงาม ส่วนชิ้นโรเตอร์นั้นเป็นทองคำ 22 เค ที่ตกแต่งกิโยเช่เป็นลายบาร์เลย์เกรนด์

 

 

 

Kalpagraphe Chronometre

 

ดูเผินๆ แล้ว Kalpagraphe Chronometre รุ่นนี้จะดูไม่ต่างกับ Kalpa Chronor ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะมันก็คือเวอร์ชั่นมาตรฐานของนาฬิกา Kalpa กลไกโครโนกราฟ เจเนอเรชั่นใหม่นั่นเอง ความแตกต่างที่เห็นได้จากด้านหน้าก็คือลักษณะการตกแต่งหน้าปัดที่แตกต่างกันเห็นได้ชัด เริ่มจากสีที่เป็นโทนน้ำเงินเข้มซึ่งมีลายบนขอบนอกของพื้นหน้าปัดเป็นขีดร่องแบบรัศมีซึ่งมีระยะเท่ากับสเกลนาที และพื้นวงหน้าปัดย่อยทั้งสองที่เป็นสีเดียวกับหน้าปัดขลับด้วยเส้นทองรอบวง ส่วนแท่งหลักชั่วโมงและเข็ม ตลอดจนสเกลต่างๆ ยังคงมีลักษณะเหมือนๆ กัน เช่นเดียวกับตัวเรือนโรสโกลด์ที่มีขนาดเท่ากันเป๊ะๆ นั่นก็คือ 48.2 x 40.4 มม. ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวเรือนขนาด 44.5 x 39.2 มม. ของ Kalpagraphe เจเนอเรชั่นเดิมแล้ว จะมีขนาดใหญ่กว่าพอดู

 

Parmigiani Fleurier 2018 Kalpagraphe Chronometre 1

 

Parmigiani Fleurier 2018 Kalpagraphe Chronometre 2

 

กลไกที่ใช้กับ Kalpagraphe Chronometre นั้นที่จริงแล้วก็เป็นกลไกเดียวกับ Kalpa Chronor นั่นเอง หากแต่เพลทกับบริดจ์นั้นไม่ได้ทำจากทองคำ แต่ทำจากทองเหลืองเคลือบโรเดียม และก็ไม่ได้มีการฉลุสเกเลตันเหมือนกับกลไกของ Kalpa Chronor ทั้งยังถูกตกแต่งมาอย่างเรียบง่าย ส่วนชิ้นโรเตอร์นั้นเป็นทองคำ 22 เค พร้อมตกแต่งกิโยเช่เป็นลายบาร์เลย์เกรนด์ตามแบบฉบับของแบรนด์ โดยใช้รหัสคาลิเบอร์ว่า PF362

 

 

 

Kalpa Hebdomadaire

 

Kalpa Hebdomadaire ก็คือนาฬิกา Kalpa ที่แสดงวินาทีด้วยเข็มขนาดเล็ก พร้อมฟังก์ชั่นวันที่และฟังก์ชั่นแสดงกำลังสำรอง ซึ่งดูเรียบร้อยและเรียบง่าย โดยสำหรับเจเนอเรชั่นใหม่นี้ นอกจากตัวเรือนใหม่ ขนาด 42.3 x 32.1 มม. แล้ว (เล็กกว่าขนาด 44.7 x 37.2 มม. ของเจเนอเรชั่นก่อนอยู่พอควร) ก็มีการปรับดีไซน์ของรายละเอียดต่างๆ บนหน้าปัดให้ดูทันสมัยและเรียบง่ายกว่าเจเนอเรชั่นก่อนด้วย โดยเวอร์ชั่นที่เห็นอยู่นี้เป็นตัวเรือนโรสโกลด์ คู่กับหน้าปัดสีดำที่มีพื้นวงนอกตกแต่งเป็นลายกิโยเช่ในลักษณะเดียวกับรุ่น Kalpa Chronor

 

Parmigiani Fleurier 2018 Kalpa Hebdomadaire 1

 

Parmigiani Fleurier 2018 Kalpa Hebdomadaire 2

 

Kalpa Hebdomadaire เจเนอเรชั่นใหม่นี้ยังคงใช้กลไกไขลาน อินเฮ้าส์ รูปทรงตอนโน กำลังสำรอง 8 วัน ความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง คาลิเบอร์ PF110 ซึ่งเป็นกลไกที่ Mr. Michel Parmigiani สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่ปี 1998 ที่เมื่อมองจากกระจกใสบนฝาหลังแล้วจะมองเห็นความงามน่าชมของดีไซน์กลไกและการตกแต่งลายโค้ตเดอเชอแนฟได้อย่างชัดเจน

 

 

 

By: Viracharn T.