BANGKOK INDEPENDENT WATCHMAKING EXHIBITION 2019 Part IV

 

นาฬิกากลุ่มอินดิเพนเดนซ์ จะมีรูปแบบและลักษณะที่ไม่ตายตัว แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญก็คือ ความโดดเด่นในด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเทคนิค รูปแบบ หรือวิธีการผลิต ตามแล้วแต่แบรนด์นั้นๆ จะสรรค์สร้างผลงานขึ้นมา ซึ่งสองแบรนด์อินดิเพนเดนซ์นี้ ก็เป็นอีกหนึ่งความโดดเด่น และสีสันของนาฬิกาในกลุ่มอินดิเพนเดนซ์ ที่จะนำมาจัดแสดงในงาน BIWE 2019 นี้ รวมทั้งสร้างนาฬิกาเรือนยูนีคพีซ เพื่อการประมูลสำหรับงานในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

 

Abraham-Louis Perrelet คือหนึ่งในบุคคลที่เป็นตำนานของโลกนาฬิกา ในฐานะที่เป็นผู้คิดค้นการใช้โรเตอร์เพื่อขึ้นลานสำหรับนาฬิกากลไกอัตโนมัติ ตั้งแต่ปี 1777 จนมาถึงยุคปัจจุบันในปี 1995 ที่กลไกแบบดับเบิลโรเตอร์ สร้างความโดดเด่นให้กับนาฬิกาของ PERRELET มากยิ่งขึ้น และสุดท้ายกับการเปิดตัวในปี 2009 กับนาฬิการุ่น Turbine ที่เป็นการปรับปรุงโครงสร้างของโรเตอร์ด้านหน้า ให้กลายเป็นลักษณะของใบพัด และใส่ภาพต่างๆ ที่น่าสนใจลงไปได้ โดยนาฬิการุ่น Turbine นี้ มีความพิเศษตรงที่หน้าปัดนาฬิกา จะมีลักษณะเรียบง่ายตามปกติ และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการแกว่งตัวเรือน นาฬิกาก็จะปรากฏภาพใต้ใบพัดบนหน้าปัด ออกมาอย่างชัดเจนและงดงาม

 

Screen Shot 2019 08 23 at 16.28.19

 

PERRELET Turbine Unique Piece for Thailand เกิดขึ้นจากการศึกษาแนวคิดทางวัฒนธรรมของไทย ซึ่งมีความเชื่อทางด้านจิตใจสูง ซึ่งภาพของเทพอารักษ์ ที่ได้จากทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทำให้ทาง PERRELET เชื่อมั่นว่าเหมาะสมที่จะจัดวางลงบนหน้าปัดนาฬิกายูนีคพีซเรือนนี้ เพื่อให้ผู้สวมใส่ได้มีเทพอารักษ์ประจำตัว เพื่อปกปักษ์รักษาให้ปลอดภัย และมีแต่ความสุขสวัสดี

 

ภาพของเทพอารักษ์สีทอง บนพื้นหน้าปัดสีดำ มีลักษณะตามภาพที่ปรากฏอยู่บนประตูของวัดสำคัญต่างๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีความหมายถึงการอารักษ์ขา และกั้นสิ่งชั่วร้ายไม่ให้ย่างกรายข้ามประตูได้ โดยตัวเลข 10 ที่ปรากฏอยู่บนหน้าปัด จะเป็นเลขสิบของไทย เพื่อสื่อความหมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ที่ 10 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

Screen Shot 2019 08 23 at 16.13.59

 

ตัวเรือนเยลโลว์โกลด์ขนาด 48 มิลลิเมตร เข็มนาฬิกาเคลือบสารซุปเปอร์-ลูมิโนว่า ทำงานด้วยกลไกอินเฮ้าส์อัตโนมัติคาลิเบอร์ P-331 ที่ความถี่ 28,800 รอบต่อชั่วโมง พลังสำรองลานนาน 48 ชั่วโมง พร้อมกระจกแซฟไฟร์ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ผลิตแบบยูนีคพีซเพียงเรือนเดียวในโลก ในราคารีเสริฟที่ 965,340 บาท

  

MATTHIAS NAESCHKE เริ่มผลิตนาฬิกาแบบตั้งโต๊ะออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกในปี 1984 ในเวริ์คช็อปเล็กๆ ที่บ้าน จากครอบครัวที่มีความรักและสนใจในนาฬิกาคล็อค ซึ่งแม้ว่า MATTHIAS NAESCHKE จะได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสมาชิกของ AHCI (Académie Horologère Des Créateurs Indépendants) ตั้งแต่ปี 1986 แล้วก็ตาม

 

Screen Shot 2019 08 23 at 16.13.14

  

Sebastian Naeschke ลูกชายเป็นผู้สานฝันของพ่อให้เป็นจริง เขาเรียนรู้แนวคิด วิธีการ และรูปแบบของนาฬิกาคล็อคทุกชนิด พร้อมนำมาสร้างสรรค์ใหม่ในรูปแบบที่แตกต่าง แต่ยังคงรูปแบบของวัฒนธรรมการผลิตแบบดั้งเดิมไว้ทุกประการ

 

MATTHIAS NAESCHKE Clock Unique Piece for Thailand สร้างขึ้นจากการศึกษา เรียนรู้ และทำความเข้าใจในวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมของไทย โดยสร้างให้แท่นกลไกทั้งด้านบนและฐานล่างมีลักษณะทรงแหลม ตามแบบจั่วของวัดไทย รวมไปถึงตัวเลขบนหน้าปัดแบบสเกเลตัน ที่สร้างเป็นเลขไทยทั้งหมด โดยเน้นที่เลข 10 ให้มีขนาดใหญ่กว่าเลขอื่นๆ อันหมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ที่ 10 ในรัชกาลปัจจุบัน 

Screen Shot 2019 08 23 at 16.13.37

 

นอกจากนี้ยังมีเลขไทยที่บริเวณฐานล่างระบุเป็นเลขไทย ตามปีพุทธศักราช 2562 เป็นเลขไทยเช่นกันเพื่อสื่อให้เห็นถึงความเป็นไทยอย่างชัดเจน โดยกลไกแบบสเกเลตันนี้ นับเป็นกลไกที่มีความบางมาก ในขณะที่ยังคงมีบาเรลที่บรรจุสปริงลานถึง 3 ชุดอยู่ในกลไกนี้ นอกจากนี้ยังมีความโดดเด่นของโดมกระจก ที่สร้างโดยช่างกระจกที่มากด้วยประสบการณ์ เพื่อให้มุมมองที่ชัดเจนในทุกด้าน ผนวกเข้ากับฐานไม้วอลนัทและเส้นเงินที่คาดอยู่ในตัวฐานไม้วอลนัท เพื่อความสวยงามและโดดเด่นยิ่งขึ้น โดยจะผลิตแบบยูนีคพีซเพียงเรือนเดียวในโลก ในราคารีเสริฟที่ 1,031,700 บาท

 

65919275 10211231856391597 1799816860116451328 n

 

นาฬิกาทั้งสองเรือนนี้ จะมีการประมูลขึ้นพร้อมกันกับอีก 6 เรือนในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2019 ที่ GAYSORN Urban Resort โดย Chirstie’s สำนักงานการประมูลชื่อดังระดับโลก พร้อมการพูดคุย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในเรื่องของนาฬิกาแนวอินดิเพนเดนซ์ กับช่างนาฬิกาและตัวแทนของแบรนด์ต่างๆ อย่างลึกซึ้ง