ทองคำ.. ในโลกของเครื่องบอกเวลา

By Dr. Attawoot Papangkorn

 

ทองคำบริสุทธิ์ หรือทองคำ 24 เค จะมีลักษณะอ่อนนิ่ม เมื่อต้องการนำมาทำเป็นเครื่องประดับ จำเป็นต้องนำโลหะชนิดอื่นผสมเข้าไปด้วยเพื่อเพิ่มความแข็งแรง เช่น เงิน หรือทองแดง เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนในการผลิตด้วย มาตราวัดค่าของทองคำถูกเรียกว่า กะรัต (KARATS) หรือเค บางประเทศจะใช้เลข 3 หลัก เป็นเครื่องบอกลักษณะ และจำนวนทองคำที่ผสมอยู่ในโลหะนั้นๆ เช่น 750 หมายถึง 750/1000 เทียบเท่ากับ 18K (ทอง 18K นิยมนำมาผลิตนาฬิกามากที่สุด) 500 หมายถึง 500/1000 หรือ 12K เป็นต้น หลายท่านอาจสงสัยกันว่า คำว่าทองไมครอน, ทองหุ้ม, ทองแปะ, กะหลั่ยทอง หรือถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ที่มักพบเห็นบนตัวเรือนนาฬิกาวินเทจหลากหลายยี่ห้อเช่นคำว่า Rolled Gold Plate, Yellow Gold Filled, Rose Gold Filled, Plaque, 20 Micron, Electroplated คืออะไร รวมไปถึงคำว่า Solid Gold นั้นหมายความว่าอะไรกันแน่

 

5980 1R 001 1

 

โดยนาฬิกาทองคำแท้ทั้งเรือน ส่วนใหญ่จะเรียกกันว่า Solid Gold Watch ซึ่งถ้าเป็นทองปกติทั่วไป จะเรียกว่า Yellow Gold, ทองสีชมพู เรียกว่า Rose Gold และทองคำขาว จะเรียกว่า White Gold หรือถ้าเป็นแพลทตินัม ก็จะเรียกว่า Platinum (แพลทตินัมไม่ใช่ทองคำขาว แต่เป็นธาตุโลหะชนิดนึง) นาฬิกาประเภท Solid Gold นี้ดูง่าย เพราะส่วนใหญ่จะถูกตีเครื่องหมายที่ฝาหลังไว้ว่า เป็นนาฬิกาที่ทำด้วยทองคำกี่กะรัต ตัวอย่างเช่น นาฬิกาเรือนนี้ตัวเรือนเป็นทอง 18K Solid Gold หมายความว่า นาฬิกาเรือนนี้ ทำด้วยทองคำแท้ โดยมีเนื้อทองคำผสมในโลหะประมาณ 75.00% เป็นต้น ส่วนนาฬิกา 24K แทบจะไม่มีทำกัน เพราะเนื้อจะอ่อนนิ่มจนยากต่อการคงรูปร่างได้

 

AP Gold

 

ส่วนนาฬิกาทองแปะ คือการนำทองคำ (Solid Gold) มาติดแปะไว้บนผิวตัวเรือนนาฬิกา ส่วนใหญ่จะแปะไว้บนผิวตัวเรือนนาฬิกาด้านบน บริเวณฝาหลังจะไม่นิยมแปะกัน (เพื่อช่วยลดต้นทุน) โดยช่างจะนำทองคำแท้ๆ ตามน้ำหนักทองที่กำหนด เช่น 9K, 10K, 14K นำมารีดเป็นแผ่นแล้วนำไปกด รีด และทับให้แนบกับตัวเรือน โดยผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เนื้อทองและตัวเรือนแนบติดเป็นชิ้นเดียวกัน ตัวเรือนนาฬิกาอาจจะใช้โลหะอะไรก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ทองเหลือง หรือสตีล นาฬิกาทองแปะจึงมีลักษณะคล้ายนาฬิกาทองคำมาก เพราะมีพื้นผิวที่ถูกห่อหุ้มด้วยทองคำแท้ ตัวเรือนนาฬิกาที่ผ่านกระบวนการดังกล่าว จึงมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่ลอก ไม่ดำ นอกเสียจากว่าทองที่แปะจะสึกกร่อนไปตามสภาพการใช้งาน ซึ่งส่วนมากจะมีอายุการใช้งานหลายสิบปีเลยทีเดียว

 

9090classic watches day date yellow gold 0001 1200x1100

 

และสำหรับนาฬิกาทองหุ้ม คนไทยมักจะเรียกว่ากะหลั่ยทอง แต่ที่เมืองนอกอาจจะเรียกแตกต่างกันไปเช่น Rolled Gold Plated, Gold Filled, Gold Coated, Gold Plated, Electroplated แล้วแต่บริษัทผู้ผลิตจะใช้คำอะไรให้ดูเหมาะสม แต่ขั้นตอนการทำจะคล้ายๆ กัน ต่างกันบ้างในกรรมวิธี ซึ่งถ้าเป็นนาฬิกาประเภท Rolled Gold Plated จะมีกรรมวิธีคล้ายทองแปะ คือการนำแผ่นทองมารีดเป็นแผ่นบางๆ แล้วนำมาหุ้มตัวเรือน มีทั้งแบบหุ้มทั้งเรือน หรือหุ้มเฉพาะตัวเรือนด้านบน หลังจากนำตัวเรือนมาหุ้มทองคำแล้ว นาฬิกาทองหุ้มจะดูเนียนไม่แพ้นาฬิกาทองแปะเลย มีอายุการใช้งานมากกว่าหลายสิบปีเช่นกัน แต่นาฬิกาทองหุ้มประเภทนี้จะมีจุดที่แตกต่างจากนาฬิกาทองแปะตรงความหนาของทองที่นำมาหุ้มเท่านั้น  ส่วนใหญ่จะนิยมใช้เนื้อทอง 10K หรือ 12K

 

Unique Re edition Heuer 1158 CHN Ronnie Peterson auction Bonhams 1

 

ส่วนนาฬิกาประเภท Gold Filled คือการนำทองคำมาเติมในเนื้อโลหะของตัวเรือน ส่วนใหญ่จะเป็นพวกนาฬิกาโบราณที่นิยมทำกันเมื่อประมาณ 30-50 ปีที่ผ่านมา ส่วนการทำนาฬิกาแบบ Gold Plated หรือ แบบ Micron จะนิยมในนาฬิกาสมัยใหม่ซะมากกว่า คือการนำตัวเรือนไปชุบทองด้วยไฟฟ้า ค่าในการอ่านจะเรียกเป็นไมครอน เช่น 5-10 หรือ 20 ไมครอน  ขั้นตอนง่ายๆ คือให้โมเลกุลของทองไปเกาะบนเนื้อโลหะ ทองจะหนาหรือบางก็ขึ้นอยู่กับราคาของนาฬิกาเรือนนั้นๆ การทำนาฬิการะบบชุบทองด้วยไฟฟ้าสมัยก่อน ส่วนใหญ่จะชุบหนามาก บางเรือนหนาระดับทองหุ้ม หรือทองแปะเลยทีเดียว ช่างโบราณมักจะทำนาฬิกาทองชุบที่ความหนาประมาณ 10-20 ไมครอน ความหนาระดับนี้สามารถทำให้นาฬิกามีอายุการใช้งานได้นานนับสิบปีเช่นกัน แต่ปัจจุบันเนื่องจากราคาทองคำที่แพงขึ้น หรือปัญหาด้านต้นทุน ความหนาของทองจึงถูกลดลงเหลือประมาณ 1-5 ไมครอนเท่านั้น

 

MR G

 

ดังนั้นทองที่อยู่บนนาฬิกาจึงมีหลายประเภท และได้รับความนิยมแตกต่างกันไป (ราคาก็ต่างเช่นกัน) ซึ่งบางครั้งอาจชี้วัดได้ถึงคุณค่าที่ปริมาณหรือชนิดของทองคำที่อยู่บนนาฬิกาเรือนนั้นๆ โดยในบางกรณีคุณค่าของตัวนาฬิกาอาจมากกว่ากลไกด้วยซ้ำ และถ้าจะถามว่า Gold Watch ราคาควรสูงกว่านาฬิกา Steel Watch หรือวัสดุอื่นๆ มากหรือน้อยแค่ไหนคงตอบไม่ได้ แต่ผู้บริโภคเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสิน เพราะไม่ว่าจะทำจากวัสดุหรือกรรมวิธีแบบใด นาฬิกาทุกเรือนล้วนมีคุณค่าในแบบฉบับของตัวเองเสมอ

 

FD